Main Idea
- แรงงาน หรือ พนักงาน คือ ส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนิน หรือเติบโตก้าวหน้าต่อไปได้
- แต่ในยามที่ต้องประสบปัญหาภาวะวิกฤตเช่นนี้ บางครั้งก็อาจกลับกลายเป็นรายจ่ายที่หนักและสาหัส สำหรับธุรกิจที่เว้นช่วงไม่มีรายได้เข้ามา ในขณะที่รายจ่ายยังมีอยู่เช่นเดิม
- จะทำยังไงให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็ดูแลพนักงานให้ก้าวข้ามวิกฤตไปด้วยกันได้ ลองไปฟังกลยุทธ์และคำแนะนำจาก “กุลวัชร ภูริชยวโรดม” เจ้าของร้านอาหาร CHOUNAN หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้ยอดขายหายไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังสามารถรักษาพนักงานให้อยู่คู่กับธุรกิจต่อไปได้กัน
ด้วยภาวะวิกฤตของโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ถือเป็นเรื่องหนักใจให้กับผู้ประกอบการธุรกิจหลายคน ก็คือ ปัญหาด้านแรงงานคนหรือพนักงาน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่าย Fixed Cost และต้นทุนของธุรกิจที่ต้องจ่ายเป็นประจำทุกเดือน แต่เมื่อรายได้ไม่มีเข้ามา รายจ่ายกลับเท่าเดิม หนึ่งในวิธีแก้ไขปัญหาที่หลายธุรกิจต้องตัดสินใจเลือกทำ ก็คือ การลดหรือปลดจำนวนพนักงานลง เพื่อลดรายจ่าย ซึ่งถ้าเลือกได้คงไม่มีผู้ประกอบการคนใดอยากทำแบบนี้แน่นอน แต่จะมีทางใดไหมที่ธุรกิจก็อยู่รอดได้ ขณะเดียวกันพนักงานก็ยังมีงานทำ เพื่อประคับประคองให้ผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกันได้
ลองไปฟังเคสตัวอย่างจาก “กุลวัชร ภูริชยวโรดม” เจ้าของ CHOUNAN (โชนัน) ร้านอาหารญี่ปุ่นจานด่วน หนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยอดขายหายไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับยังสามารถรักษาพนักงานให้อยู่คู่กับธุรกิจต่อไปได้แบบ “How to (ไม่) ทิ้ง” กัน
- ปรับลดพนักงานเท่าที่จำเป็น หารายได้เสริมทดแทนให้
ก่อนที่จะเล่าถึงรูปแบบโมเดลการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในยามวิกฤต กุลวัชรเล่าถึงรูปแบบธุรกิจ และการบริหารจัดการภายในองค์กรให้ฟังก่อนว่า CHOUNAN คือ ร้านอาหารญี่ปุ่นจานด่วน ซึ่งมีเมนูเด่น คือ ข้าวหน้าเนื้อ หมู และอื่นๆ เป็นอาหารจานเดียวที่สามารถรับประทานได้ง่าย โดยเปิดดำเนินการมาร่วมสิบปีแล้ว ปัจจุบันมีสาขาเปิดให้บริการทั้งหมด 18 แห่ง โดยส่วนใหญ่เปิดให้บริการอยู่ในศูนย์การค้าต่างๆ ซึ่งเมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มระบาดมากขึ้น ห้างสรรพสินค้าต้องปิดตัวลงชั่วคราว จึงส่งผลกระทบต่อยอดขายกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ต้องหายไป ที่ยังพอเปิดขายได้ในตอนนี้ คือ แบบซื้อกลับและส่งดิลิเวอรีให้กับลูกค้าเป็นหลัก
โดยเมื่อตั้งแต่สถานการณ์เริ่มส่อเค้ารุนแรงขึ้น สาขาแห่งต้องปิดตัวลงชั่วคราว บริษัทได้พยายามวางนโยบายที่จะรักษาพนักงานเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งวิธีการที่กุลวัชรเลือกนำมาใช้ คือ การปรับลดชั่วโมงการทำงานของพนักงานพาร์ทไทม์ลง เพื่อรักษาพนักงานประจำไว้ แต่ขณะเดียวกันก็ใช้วิธีหารายได้เสริมเข้ามาให้ โดยการติดต่อกับคู่ค้าหรือพาร์ตเนอร์ธุรกิจที่ต้องการแรงงานเสริม เพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปแทน
“ต้องอธิบายรูปแบบธุรกิจให้ฟังก่อนว่าโชนันเอง เรามีการรับพนักงานทำงานไว้ 2 ส่วน คือ พนักงานประจำและพนักงานพาร์ทไทม์ โดยเรามีพนักงานทั้งหมดกว่า 200 คน เป็นพนักงานพาร์ตไทม์ประมาณ 130 คน ที่เหลือ 70 กว่าคน คือ พนักงานประจำ ซึ่งที่ต้องทำในรูปแบบนี้เนื่องจากง่ายกับการบริหารจัดการของเรามากกว่า เพราะร้านอาหารเป็นธุรกิจที่มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวกว่าออฟฟิศทั่วไป อย่างบริษัททั่วไปอาจทำแค่ 8 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นร้านอาหารจ คือ 10 ชั่วโมง อีกอย่างเราเป็นร้านเล็กๆ ด้วย การใช้พนักงานในลักษณะพาร์ตไทม์จึงสะดวกมากกว่า ทั้งที่จริงแล้วหากนับเป็นรายได้ที่เขาได้รับ ก็แทบจะไม่แตกต่างจากรายเดือนเลย ด้วยการวางโครงสร้างไว้แบบนี้ พอเกิดวิกฤตขึ้นมา จึงทำให้เราปรับตัวได้ค่อนข้างง่าย
โดยเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นมา เราจึงเลือกที่จะตัดพนักงานรายชั่วโมงออกก่อน เพราะร้านเราเกือบ 20 สาขาถูกปิดเกือบทั้งหมด ทำให้แทบไม่มีรายได้เข้ามา งานก็ไม่มีให้เขาทำ แต่ไม่ใช่แค่ตัดไปแล้วจบ เรายังช่วยแก้ปัญหาและหาทางออกให้กับเขาด้วย โดยติดต่อกับคู่ค้าของเราเองที่ยังต้องการแรงงานคนไปช่วยทำงานเสริมในธุรกิจช่วงนี้ เช่น CPF ที่ต้องการกำลังคนไปช่วยเสริมใน CP เฟรซมาร์ต หรือ GET เองที่ช่วงนี้ต้องการคนขับไปช่วยส่งอาหารดิลิเวอรี ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการมากในขณะนี้ หรือแม้แต่ Day work ที่ต้องการรวบรวมคนเข้าไปช่วยทำงานพาร์ตไทม์ในธุรกิจต่างๆ ผมคิดว่าในเมื่อเราไม่สามารถจ่ายเงินให้กับเขาได้เหมือนเดิม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม หน้าที่ของเรา คือ ทำยังไงให้คนของเรายังมีรายได้อยู่ จากคนที่เขาพร้อมจะจ่ายแทนเราได้”
- จริงใจ ปรึกษาหารือ หาแนวทางร่วมกัน
หลังจากการพยายามแก้ไขปัญหา โดยตัดรายชั่วโมงในการจ้างของพนักงานพาร์ตไทม์ออกไป และช่วยเหลือโดยการหางานใหม่ให้ทำแทนเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปแล้ว สิ่งที่กุลวัชรต้องมาแก้ไขต่อไป คือ การดูแลพนักงานประจำที่ยังเหลืออยู่ ขณะเดียวกันก็ต้องพยุงธุรกิจให้ไปรอดได้ด้วย
“วิธีการแรกที่เรานำมาใช้กับพนักงานประจำก่อน คือ ขออาสาสมัครที่เต็มใจออกก่อน โดยเริ่มเตรียมการตั้งแต่ก่อนห้างจะปิด จนเมื่อห้างปิดลงจริงๆ ก็มาคุยกันต่อว่าจะเอายังไงกันต่อไปดี ซึ่งวิธีการที่เราหาข้อสรุปร่วมกัน คือ ทุกคนยอมลดเงินเดือนของตัวเองลงครึ่งหนึ่งในช่วยนี้ เพื่อมาช่วยเหลือบริษัท อย่างตัวผมเองก็ลดลงไปกว่า 70 -80 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่การปรับลดนี้ เราไม่ได้ลดเพียงแค่เงินเดือนอย่างเดียว แต่ลดปริมาณการทำงานให้เขาลงด้วย ซึ่งในส่วนรายได้ที่ขาดหายไป หากเขาสนใจที่จะทำงานเสริมเพื่อหารายได้เพิ่ม ก็สามารถไปสมัครทำกับพาร์ตเนอร์ของเราเหมือนกับพนักงานพาร์ตไทม์ได้
“ต้องยอมรับว่า ถึงแม้เราจะใช้วิธีการนี้ แต่ด้วยรายได้ที่เหลือเข้ามาเพียง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ทำให้การจ่ายเงินของเราก็ติดขัดเหมือนกัน เรามีการผ่อนจ่ายให้เป็นรอบๆ โดยคิดว่ายังไงก็ดีกว่าไม่จ่ายเลย หรือให้ทุกคนกลับไปบ้าน แล้วไปว่ากันต่อกับชีวิตตัวเอง ต้องยอมรับว่ามีพนักงานอยู่สู้กับเราเยอะมาก มีการลาออกไปน้อยมาก ไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ หรือช่วงไหนที่เดือดร้อนกันจริงๆ จ่ายเงินให้เขาไม่ทัน เราก็อนุญาตให้พนักงานสามารถกินข้าวในร้านได้วันละ 2 มื้อ อย่างน้อยก็เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับเขา โดยเราก็สัญญาว่าในวันที่เราสามารถฟื้นตัวและกลับมาได้ เราจะนำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่ขาดหายไปกลับมาชดเชยให้กับเขา ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าวันไหน แต่ผมว่าพนักงานเข้าใจ เพราะเราได้แสดงความจริงใจออกไปให้เขาเห็นแล้วว่า เราจะไม่ทิ้งเขาและไม่เอาเปรียบเขาในวันที่เขาลำบากและเราก็ลำบาก มันทำให้เราได้ใจจากพนักงานกลับมา”
- สื่อสารเป็นระยะ บอกให้รับรู้ถึงสถานการณ์ความเป็นจริง
โดยอีกข้อที่กุลวัชรมองว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในช่วงวิกฤต ก็คือ การสื่อสารที่รวดเร็ว ฉับไว ทันต่อสถานการณ์
“เรื่องบริหารจัดการคนเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเซนซิทีฟ โดยเฉพาะกับการต้องบริหารจัดการคนหมู่มาก แต่สำหรับในองค์กรเราเอง เรามีการสื่อสารกันเป็นระยะๆ ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤต สถานการณ์ดูไม่น่าไว้วางใจ ยอดขายลดจะทำยังไงกันดี เริ่มมีมาตรการจะปิดแล้วนะจะวางแผนกันยังไง จนกระทั่งปิดร้านแล้วนะเราจะแก้ไขกันยังไงดี เราพยายามแบ่งเฟสในการสื่อสารให้พนักงานได้ทราบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมมองว่าสิ่งนี้การที่ทำให้พนักงานได้ร่วมรับรู้สถานการณ์ความเป็นไปของธุรกิจไปกับเรา จะทำให้เขาเข้าใจ ไม่ตื่นตระหนก การแก้ไขปัญหาก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น
- เก็บเงินไว้ จ่ายให้น้อยที่สุด เจรจาประนอมหนี้ นำเงินมาช่วยเหลือพนักงานก่อน
ในข้อสุดท้าย หลังจากพยายามช่วยเหลือตัวเองในทุกทางแล้ว สิ่งที่กุลวัชรทำต่อไปเพื่อพยายามรักษาพนักงานไว้กับธุรกิจให้ได้มากที่สุด ก็คือ การพยายามเจรจาประนอมหนี้กับคู่ค่า เพื่อตัดรายจ่ายที่สามารถรอได้ หรือไม่จำเป็นออกไปก่อน เพื่อนำเงินส่วนที่เหลือมาช่วยพนักงานให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้
“อย่างที่บอกว่าเราเอาพนักงานไว้ก่อน ดังนั้นรายจ่ายต่างๆ ที่สามารถประนอมหนี้ต่อรองได้ เราทำทุกทาง เพื่อยืดระยะเวลาออกไปก่อน เก็บเงินไว้ แล้วจ่ายให้น้อยที่สุด เราต้องดิ้นทุกทาง เพื่อให้รอด ผมว่าคู่ค้าทุกคนต่างต้องช่วยเหลือกันในเวลานี้ ซึ่งต้องบอกว่าเราได้รับเมตตาช่วยเหลือจากพาร์ตเนอร์หลายคนมาก เช่น สุรพล ฟู้ด, CPF, พิชัย ฟู้ด แต่สำหรับซัพพลายเออร์รายเล็กๆ ที่เดือดร้อนเหมือนกัน เราก็พยายามจ่ายให้ แล้วนำเงินที่ก้อนที่เหลือนั้นมาดูแลพนักงานก่อน เพราะในเมื่อเราเองยังได้รับความช่วยเหลือ ดังนั้นในส่วนของพนักงานที่เราต้องรับผิดชอบดูแล เราก็ต้องช่วยเหลือเขากลับไปด้วย ซึ่งมันอาจไม่ได้มากเหมือนก่อนหน้านั้น แต่ก็ทำให้เขาอยู่ได้ในภาวะเช่นนี้ เรามองว่าถ้าเขาไม่ลำบาก ยังดูแลตัวเองได้ เขาก็จะไม่ไปเป็นภาระให้กับคนอื่นเช่นกัน”
โดยสุดท้ายกุลวัชรได้ฝากแง่คิดของการดูแลพนักงานในยามวิกฤตว่า ไม่ใช่เพียงแค่หน้าที่ที่ต้องช่วยเหลือดูแลเท่านั้น แต่การพยายามรักษาคนเอาไว้ ยังช่วยให้ธุรกิจไปต่อได้อย่างรวดเร็ว ไม่สะดุด และราบรื่นเมื่อวันที่ธุรกิจฟื้นกลับคืนมาได้เป็นปกติเหมือนเดิมด้วย
“เราหวังไว้ว่าการที่เราพยายามพยุงรักษาคนของเราไว้ให้ได้ ในวันหนึ่งที่ธุรกิจสามารถกลับมาได้เหมือนเดิม เราจะสามารถกลับมาได้เร็ว เพราะการที่เราต้องไปหาคนใหม่ เพื่อเริ่มต้นทุกอย่างใหม่หมด อาจกลายเป็นวิกฤตหรือปัญหาให้กับธุรกิจเราอีกครั้งก็ได้ ซึ่งเราเป็นธุรกิจบริการด้วย ดังนั้นคน คือ หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจเลย เราเชื่อว่าการที่เรามีพนักงานที่ดี พร้อมทั้งกายและใจ เพื่อกลับมาทำงาน จะสามารถทำให้เราฟื้นตัวกลับมาได้รวดเร็วนั่นเอง
“เราอาจกลับมาในรูปแบบของโมเดลธุรกิจใหม่แบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยการเปิดรับพาร์ตเนอร์เพื่อมาเป็นตัวแทนในการบริหารจัดการสินค้าและจัดส่งในรัศมีที่กำหนด โดยบริษัทจะเป็นผู้ทำตลาด รับออร์เดอร์ พร้อมจัดส่งวัตถุดิบให้ ซึ่งใครก็สามารถทำได้ ไม่ว่าจะทำงานอยู่บ้าน เป็นร้านอาหารเล็กๆ หรือโรงแรม ขอแค่มีครัวพร้อม และจัดส่งได้ โดยไม่ต้องเสียค่าแรกใดๆ จ่ายแค่ค่าวัตถุดิบเท่านั้น โดยจะเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มดิลิเวอรี ChouNan : Web Ordering System ที่เราได้วางระบบไว้ ซึ่งเราเชื่อว่าด้วยบิสิเนสโมเดลนี้จะทำให้เราสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วแน่นอน” เจ้าของร้าน CHOUNAN กล่าวทิ้งท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี