Main Idea
- ถ้าพูดถึงแบรนด์กระดาษถ่ายเอกสาร หนึ่งในชื่อแบรนด์อันดับต้นๆ ที่คนไทยจะนึกถึง แน่นอนว่าต้องมีชื่อของ ‘Double A’ รวมอยู่ด้วยแน่นอน
- เพราะไม่เพียงแต่คุณสมบัติที่โดดเด่น เรียบ ลื่น พิมพ์งานไม่ติด ไม่สะดุดแล้ว รู้ไหมว่า Double A ยังเป็นแบรนด์กระดาษถ่ายเอกสารรายแรกของไทยที่ให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ด้วย ตั้งแต่ยุคที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่มีใครให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อ หรือเลือกใช้กระดาษแบบมีคุณภาพด้วยซ้ำ
เคยคิดเล่นๆ ไหมว่ากับสินค้าบางอย่างที่เราเองอาจใช้งานจนเคยชิน โดยไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่า มันมีชื่อเรียกว่าอะไร ผลิตจากที่ไหน หรือใครเป็นผู้ผลิต แต่แล้ววันหนึ่งจากความเคยชินที่เราคุ้นเคย กลับมีผู้ลุกขึ้นมาสร้างความแตกต่างให้เห็นและรู้ว่าจากสินค้าที่เคยคิดว่าใช้ยี่ห้อไหนก็ได้ เพราะคงออกมาเหมือนๆ กันหมด จริงๆ แล้วกลับมีความแตกต่างเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ จนทำให้เราต้องหันกลับมามอง
ปรากฏการณ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นมาแล้วกับ “Double A” กระดาษถ่ายเอกสารรายแรกที่หันมาสร้างแบรนด์อย่างจริงจัง และชูจุดเด่นคุณภาพของกระดาษที่สามารถใช้งานได้ลื่นไหล ไม่ติดขัด ไม่สะดุด จนทำให้ผู้บริโภคชาวไทยหันมาให้ความสำคัญกับการเลือกใช้กระดาษถ่ายเอกสารกันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้คู่แข่งกระดาษถ่ายเอกสารอื่นๆ ตื่นตัวรุกทำตลาดกันมากขึ้นด้วย
จากโรงสีข้าว สู่ธุรกิจผู้ผลิตกระดาษครบวงจร
แบรนด์กระดาษ Double A ก่อตั้งขึ้นมาโดย “กิตติ ดำเนินชาญวนิชย์” พ่อค้าขายข้าวและเจ้าของโรงสีคนไทยเชื้อสายจีนที่มีการส่งออกข้าวไปยังหลายประเทศทั่วโลกในชื่อบริษัท “ซุ่นฮั่วเส็ง” อยู่มาวันหนึ่งเมื่อกิจการค้าข้าวเติบโตไปได้ด้วยดี จึงอยากบุกเบิกแตกไลน์ธุรกิจอื่นเพิ่มเข้ามา จนมาให้ความสนใจกับธุรกิจผลิตกระดาษครบวงจร ซึ่งในขณะนั้นไทยเองมีการนำเข้ากระดาษจากต่างประเทศมาใช้จำนวนมาก จึงทำให้มีราคาค่อนข้างสูง
โดยเริ่มจากดำเนินการทดลองวิจัยผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษขึ้นมาเมื่อปี 2532 พร้อมกับการปลูกสวนยูคาลิปตัส ซึ่งได้เริ่มมาก่อนหน้านั้นแล้ว และจัดตั้งบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด ขึ้นมาในปี 2534 (เปลี่ยนเป็นมหาชนจำกัดปี 2537) และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เมื่อ 3 พฤษภาคม 2553 จนถึงปัจจุบันนี้
ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่หากจะทำให้ครบวงจรได้ ตั้งแต่การเพาะปลูกวัตถุดิบหรือต้นยูคาลิปตัส การผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษสำเร็จรูปออกมา จึงไม่ค่อยมีผู้ใดลงมาเล่น เพราะกว่าจะตามทันต้องใช้เวลาในการเพาะปลูกวัตถุดิบอยู่หลายปี จึงจะสามารถนำมาใช้งานได้ แต่หากสามารถทำได้และเริ่มต้นก่อน ก็จะเป็นโอกาสให้ธุรกิจได้ในระยะยาว โดยว่ากันว่าหลังจากที่ดั๊บเบิ้ล เอ ได้มีการจัดตั้งธุรกิจขึ้นมา ก็ช่วยให้ไทยมีปริมาณกระดาษใช้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ ช่วยให้ลดการนำเข้า จึงทำให้กระดาษมีราคาถูกลง ขณะเดียวกันยังส่งออกเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศกลับเข้ามาด้วย
สร้างแบรนด์กระดาษถ่ายเอกสารรายแรกของไทย
โดยดั๊บเบิ้ล เอ ไม่ได้เป็นเพียงผู้ผลิตและจำหน่ายกระดาษเพียงเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ด้วย โดยในปี 2543 ได้มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์กระดาษ Double A ขนาด A4 80 แกรมขึ้นมาครั้งแรก พร้อมกับการลุกขึ้นมาสร้างแบรนด์ของตัวเอง
โดยชูจุดเด่นของการเป็นกระดาษถ่ายเอกสารคุณภาพที่มีความเรียบ เนื้อกระดาษไม่บางจนเกินไป จึงสามารถพิมพ์ออกมาได้ลื่นไหล ไม่สะดุด หรือติด เวลาเขียนหรือลบก็ไม่เป็นขุย และเมื่อนำมาบวกกับการทำตลาดรูปแบบแหวกแนวไม่เหมือนใคร ทั้งในมุมของฟังก์ชั่นการใช้งานและการบอกเล่าที่สนุก ตลก เข้าใจง่าย จึงทำให้คนส่วนใหญ่จดจำภาพของกระดาษ Double A ได้ไม่ยาก
ซึ่งจริงๆ แล้วก็นำมาจาก Pain Point ในการใช้งานของผู้บริโภคที่มีมานาน แต่ไม่ใครหยิบขึ้นมาพูด จากจุดนี้เองจึงทำให้ Double A กลายเป็นกระดาษถ่ายเอกสารรายแรกของไทย ที่มีการสร้างแบรนด์ขึ้นมาอย่างจริงจัง และทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อและเลือกใช้กระดาษถ่ายเอกสารกันมากขึ้น โดยจากการเปิดตัวสร้างแบรนด์ครั้งแรกไปแล้วนั้น Double A ได้มีการรุกตลาดสร้างแบรนด์เพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่ในเมืองไทยเท่านั้น ยังมีการจับมือร่วมกับพาร์ตเนอร์ระดับโลกหลายคน เพื่อขยับสู่โกบอลแบรนด์ อาทิ การร่วมทำ MV กับวง “OK Go” วงดนตรีอินดี้แนว Alternative Rock จากอเมริกา โดยใช้เครื่องปริ้นต์กว่า 567 เครื่อง เพื่อสั่งพิมพ์กระดาษออกมาพร้อมกันให้ลื่นไหล ไม่สะดุด
จากต้นกระดาษคันนา สู่ตลาดโลก
นอกจากการเป็นผู้ผลิตกระดาษครบวงจรรายใหญ่ของไทยแล้ว Double A ยังได้มีการขยายตลาดไปยังต่างประเทศด้วย ทั้งการส่งออกเพื่อจำหน่าย รวมถึงการเข้าไปลงทุนสร้างฐานการผลิต เพื่อกระจายออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ที่โดดเด่น คือ การเข้าไปซื้อกิจการโรงงานกระดาษ Alizay (อลิเซ่) ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2556 ซึ่งเคยเป็นโรงงานผลิตกระดาษขนาดใหญ่ของฝรั่งเศสมาก่อน ภายหลังเกิดวิกฤตจึงต้องขายให้กับรัฐบาล
จากการเข้าไปบริหารดูแลจัดการของ Double A ครั้งนั้น นอกจากเป็นการช่วยเหลือแรงงานคนฝรั่งเศสเองให้มีงานทำ ยังเป็นการวางฐานการผลิตสำคัญ เพื่อกระจายไปยังตลาดแอฟริกา ตะวันออกกลาง เพื่อลดต้นทุนการขนส่งที่มากขึ้นด้วย ปัจจุบัน Double A มีการจำหน่ายแล้วกว่า 130 ประเทศทั่วโลก
โดยวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตกระดาษนั้น นอกจากจะได้มาจากการไร่เพาะปลูกของบริษัทเองแล้ว ดั๊บเบิ้ล เอ ยังได้สร้างโมเดลการทำธุรกิจที่แตกต่าง ซึ่งมีหลายประเทศให้ความสนใจกับโมเดลนี้ นั่นคือ การให้เกษตรกรชาวไทยได้ใช้พื้นที่ว่างจากการเพาะปลูก รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เช่น คันนา ริมบ่อน้ำ ทางเดิน ฯลฯ มาปลูกต้นยูคาลิปตัส หรือเรียกกันขึ้นมาว่า “ต้นกระดาษ” ยนอกจากจะเป็นแนวทางในการลดใช้ทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังได้สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน รวมถึงมีวัตถุดิบป้อนเข้ามามากพอ โดยที่บริษัทไม่ต้องบริหารจัดการดูแลเองทุกอย่าง ซึ่งอายุ 4 – 5 ปีก็สามารถตัดขายให้กับโรงงานได้แล้ว
ปัจจุบันนี้บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ ไม่ได้ดำเนินธุรกิจในรูปแบบของผู้ผลิตกระดาษเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีการขยายต่อยอดธุรกิจออกไปอีกหลายส่วนด้วย อาทิ การเปิดแฟรนไชส์ร้านถ่ายเอกสาร ‘ดั๊บเบิ้ล เอ ก๊อปปี้ เซ็นเตอร์’, ร้านขายเครื่องเขียนอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน ‘ดับเบิ้ล เอ สเตชั่นเนอรี่’ ซึ่งบางส่วนได้มีการผลิตสินค้าขึ้นมาเอง อาทิ กาวแท่ง, โพสต์-อิท, บริการพิมพ์งานผ่านมือถือ ‘Double A Fastprint’ รวมถึงการแตกแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มเติม ได้แก่ Quality และShih-Tzu
โดยในปี 2561 บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) มีรายได้อยู่ที่ 21,992 ล้านบาท กำไร 2,320 ล้านบาท ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่กว่า 60 -70 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังคงมาจากกระดาษ 80 แกรม หรือกระดาษถ่ายเอกสารนั่นเอง
ไม่น่าเชื่อว่า 30 กว่าปีที่ผ่านมา ดั๊บเบิ้ล เอ จะบันทึกเรื่องราวการทำธุรกิจได้อย่างน่าสนใจเอาไว้มากมาย โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างตัวตนของแบรนด์ ใครจะคิดว่าจากกระดาษถ่ายเอกสารที่ใช้กันทั่วไป โดยไม่สนใจว่าคุณภาพจะเป็นอย่างไร วันหนึ่งเมื่อถูกนำเสนอให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นและเห็นความแตกต่าง จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันมาให้ความสำคัญกับการเลือกใช้กระดาษได้มากขึ้น ซึ่งหากย้อนกลับไปในวันนั้นถ้าไม่มีการสร้างแบรนด์ Double A ขึ้นมา ทุกวันนี้เราอาจยังใช้กระดาษถ่ายเอกสารรูปแบบเดิมๆ อยู่ก็ได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี