Main Idea
- การมาเยือนของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิต และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในสังคมมากมาย โดยเฉพาะกับธุรกิจต่างๆ ที่บางแห่งต้องปิดตัวลงชั่วคราว บ้างก็ยอดขายลด จนแทบไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่เกิดขึ้น
- ด้วยเหตุนี้ภาครัฐ สถาบันการเงิน หน่วยงาน และภาคเอกชน จึงได้พยายามออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ เพื่อให้สามารถพยุงดำเนินกิจการต่อไปได้ และรักษาเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคงต่อไป
การมาของโรคระบาดไวรัสโคโรนา (COVID-19) ได้ขยายผลกระทบวงกว้าง ส่งผลทั้งต่อชีวิตผู้คน ธุรกิจ ห้าง ร้าน และหน่วยงานต่างๆ มากมาย จนถึงระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งในตอนนี้ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะจบลงได้เมื่อใด จากความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนเองต่างต้องออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภาคธุรกิจต่างๆ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อกลับมาฟื้นตัวให้เร็วมากที่สุด จะมีอะไรน่าสนใจบ้างนั้น ไปติดตามกันเลย
ธนาคารแห่งประเทศไทย
- ให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงทุกประเภท MLR, MOR และ MRR ลง 0.40 เปอร์เซ็นต์
- พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ SME ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาททุกราย เป็นเวลา 6 เดือน
- สนับสนุนสินเชื่อใหม่ (soft loan) เพื่อเสริมสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษ 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี นาน 2 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก โดยสามารถขอกู้ได้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562
- ปรับลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำลูกหนี้บัตรเครดิตจากเดิม 10 เปอร์เซ็นต์ เป็น 5เปอร์เซ็นต์ ในปี 2563 และ 2564 โดยอัตโนมัติ และ 8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2565 และ 10 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2566 และโครงการเพิ่มเติมปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล โดยให้แบ่งชำระรายเดือน ระยะเวลา 48 เดือน ลดอัตราดอกเบี้ยลง 6เปอร์เซ็นต์ หรือจาก 18 – 28 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 12 – 22 เปอร์เซ็นต์
สำนักงานประกันสังคม
- ปรับลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและลูกจ้างมาตรา 33, มาตรา 39 พ.ร.บ.ประกันสังคม โดยมาตรา 33 นายจ้างจ่ายสมทบเหลือ 4 เปอร์เซ็นต์ จากปกติ 5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนลูกจ้างจ่ายสมทบ 1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งไม่มีนายจ้าง ลดการส่งเงินสมทบจาก 221 บาท/เดือน เป็น 86 บาท/เดือน
- ขยายเวลาการนำส่งเงินสมทบให้แก่นายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 สำหรับงวดเดือนมี.ค.-พ.ค.63 ออกไปอีก 3 เดือน
- ลูกจ้างจากกิจการที่ถูกรัฐสั่งให้หยุดชั่วคราว ไปจนถึงถูกเลิกจ้าง หรือลาออกเอง เนื่องจากกิจการถูกสั่งปิด กองทุนประกันสังคมจะจ่ายเงินชดเชยที่ 62 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รายวัน (ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน) ตลอดระยะเวลาที่หยุดกิจการ แต่ไม่เกิน 90 วัน (ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน) สำหรับลูกจ้างที่สถานประกอบการหยุดกิจการ แต่นายจ้างยังคงจ่ายเงินให้ถือว่าเป็นผู้ประกันตนที่ไม่เข้าข่ายจะได้รับเงินชดเชย เพราะธุรกิจยังมีสภาพคล่อง
กรมสรรพากร
- ขยายเวลายื่นแบบและชำระภาษีออกไปจนถึง 31 สิงหาคม 2563
- ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 1.5 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเดือนเม.ย. – ก.ย. และหลังจากนั้นจะคิดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 2 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เดือน ต.ค.2563 - ธ.ค.2564
- ผู้ประกอบการที่กู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ของรัฐบาล สามารถหักรายจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มได้ 1.5 เท่า ตั้งแต่เม.ย. - ธ.ค.2563
- สนับสนุนให้เอสเอ็มอีจ้างงานต่อเนื่อง โดยสามารถนำรายจ่ายค่าจ้างพนักงานมาหักรายจ่ายได้ 3 เท่า สำหรับค่าจ้างตั้งแต่เม.ย. - ก.ค.2563
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินช่วยโควิด-19 สามารถหักรายจ่ายได้ไม่เกิน 2เปอร์เซ็นต์ของกำไรสุทธิ และผู้ประกอบการ VAT ที่บริจาคทรัพย์สินช่วยโควิด-19 จะได้รับยกเว้น VAT ตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.2563 - 5 มี.ค.2564
ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าก๊าซ
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ประกาศลดค่าไฟฟ้าอัตรา 3 เปอร์เซ็นต์ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทรวม 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.) และขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและที่ให้เช่าพักอาศัยระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ออกไป เป็นต้องชำระล่าช้าได้ไม่เกิน 6 เดือน โดยไม่คิดค่าปรับดอกเบี้ย
นอกจากนี้ยังกฟภ. และกฟน. ยังได้มีการปรับลดค่าไฟรอบสองเพิ่มเติม ดังนี้
1. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยประเภทที่ 1.1.1 (ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์) ที่มีหน่วยการใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วย ให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 3 เดือน (มี.ค. – พ.ค. 2563)
2.ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยประเภท 1.1.2 (ติดตั้งมิเตอร์เกิน 5 แอมป์) และ 1.2 (อัตราเลือก) รวมถึงผู้ใช้ไฟเกิน 150 หน่วย ให้พิจารณาตามการใช้ไฟของหน่วยเดือนฐาน โดยหากเป็นกฟภ. ให้ใช้ของเดือนมี.ค. ส่วนกฟน.ให้ใช้ของเดือนก.พ.เป็นเดือนฐานในการคำนวณ
โดยหากมีการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหน่วยเดือนฐาน ให้จ่ายค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริงในเดือนนั้นๆ
- หากมีการใช้ไฟฟ้ามากกว่าหน่วยในเดือนฐาน แต่ไม่เกิน 800 หน่วย ให้จ่ายเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าในเดือนฐาน เช่น ในเดือนฐานมีการใช้ไฟ 500 หน่วย แต่เดือนนี้มีใช้ไฟไป 700 หน่วย ก็ให้จ่ายแค่ 500 หน่วยเท่านั้น
- หากมีการใช้ไฟฟ้าเกิน 800 หน่วย แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟในเดือนฐาน บวกกับหน่วยที่เกินมาจากเดือนฐาน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าไฟฟ้าจริง เช่น มีเดือนนี้มีการใช้ไฟไป 1,000 หน่วย ก็ให้นำ 500 (หน่วยเดือนฐาน) + (1,000 - 500 x 50%) = 750 หน่วย นี่คือ ยอดที่ต้องชำระ
- แต่หากมีการใช้ไฟฟ้าเกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟในเดือนฐาน บวกกับหน่วยที่เกินมาจากเดือนฐาน ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าไฟฟ้าจริง เช่น มีเดือนนี้มีการใช้ไฟไป 3,500 หน่วย ก็ให้นำ 500 (หน่วยเดือนฐาน) + (3,500 - 500 x 70%) = 2,600 หน่วย นี่คือ ยอดที่ต้องชำระ
- การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และการประปานครหลวง (กปน.) ลดค่าน้ำประปา 3 เปอร์เซ็นต์ ให้กับผู้ใช้น้ำทุกประเภทเป็นเวลา 3 เดือน โดยกปภ.เริ่มตั้งแต่รอบการใช้งานเดือนเม.ย. - มิ.ย.63 ส่วนกปน. ตั้งแต่รอบการใช้งานเดือน พ.ค.-ก.ค.63 รวมถึงยังขยายระยะเวลาการชำระค่าน้ำประปา สำหรับผู้ใช้น้ำที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจโรงแรม และกิจการที่ให้เช่าพักอาศัย โดยไม่คิดดอกเบี้ย ผ่อนชำระได้นานถึง 6 เดือน โดยไม่มีการตัดมิเตอร์น้ำ ติดต่อแจ้งความประสงค์ได้ที่สำนักงานสาขาในพื้นที่
- บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ปรับลดราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือนลง 45 บาทต่อถัง (ขนาด 15 กิโลกรัม) และลดราคาขายปลีกเอ็นจีวี 3 บาทต่อกิโลกรัมให้กับรถโดยสารสาธารณะเป็นเวลา 3 เดือน โดยยังตรึงราคาเอ็นจีวีออกไปอีก 5 เดือนนับจากเดือน เม.ย.นี้
กรมการท่องเที่ยว
คืนหลักประกันของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว 70เปอร์เซ็นต์ของวงเงินประกัน
ประเภททั่วไป จากอัตราเดิม 200,000 บาท ให้คิดอัตราใหม่ 60,000 บาท (คืน 140,000 บาท)
ประเภทนำเที่ยวจากต่างประเทศ จากอัตราเดิม 100,000 บาท ให้คิดอัตราใหม่ 30,000 บาท (คืน 70,000 บาท)
ประเภทในประเทศ จากอัตราเดิม 50,000 บาท ให้คิดอัตราใหม่ 15,000 บาท (คืน 35,000 บาท)
ประเภทเฉพาะพื้นที่ จากอัตราเดิม 10,000 บาท ให้อัตราใหม่ 3,000 บาท (คืน 7,000 บาท)
โดยผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวสามารถติดต่อยื่นเอกสารได้ที่สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์สาขาที่สถานประกอบธุรกิจนำเที่ยวตั้งอยู่
คมนาคม
- การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ยกเว้นการชำระค่าตอบแทนการใช้พื้นที่ ค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ค่าบริการ และค่าบำรุงรักษาส่วนกลาง เป็นเวลา 2 เดือนสำหรับผู้เช่าพื้นที่ที่ถูกสั่งปิดตามประกาศรัฐบาล หรือพิจารณาขยายระยะเวลาตามสถานการณ์ ส่วนผู้เช่าพื้นที่ที่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ แต่มีผู้ใช้บริการลดลง ให้ลดค่าตอบแทนการใช้พื้นที่ค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ค่าบริการ และค่าบำรุงรักษาส่วนกลาง ร้อยละ 50 เป็นเวลา 4 เดือน
- ผู้ใช้บริการที่จอดรถรายเดือนในแนวสายทางรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) ได้รับการชดเชยระยะเวลาจอดรถตามจำนวนวันที่คงเหลือหลังวันที่ 26 มีนาคม 2563 โดยผู้ใช้บริการจะได้รับการรักษาสิทธิ์จอดรถรายเดือน สามารถต่ออายุจอดรถรายเดือนได้จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่สภาวะปกติ
ประกันภัย
- คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้บริษัทประกันวินาศภัย (Non-Motor) สามารถกำหนดให้ผู้เอาประกันภัยเลือกลด หรือระงับความคุ้มครองจากการเสี่ยงภัยของกรมธรรม์ประกันภัยบางส่วน ตามการเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงภัยและตามที่ธุรกิจหยุดประกอบกิจการ โดยบริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยจากส่วนความคุ้มครองที่ลดลง
- ให้บริษัทประกันภัยรถยนต์ พิจารณาลดเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่จะต่ออายุในปีถัดไปได้ไม่เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงพิจารณาขยายระยะเวลาการคุ้มครองเพื่อชดเชยช่วงเวลาที่รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว เนื่องจากไม่มีการใช้รถ
- ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการขนส่ง สามารถแจ้งหยุดการใช้รถกรณีรถยนต์ที่เอาประกันภัยไม่ได้มีการใช้เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 30 วันขึ้นไป โดยสามารถขอคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัยในช่วงระยะเวลาที่หยุดใช้รถยนต์ หรือสามารถนำเบี้ยประกันภัยที่ได้รับคืนมาขยายระยะเวลาเอาประกันภัยได้
- ให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการขนส่ง ได้รับส่วนลดอัตราเบี้ยประกันภัยได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของจำนวนเบี้ยประกันภัย รวมถึงสามารถแบ่งชำระเบี้ยประกันภัยรถยนต์เป็นรายงวดได้ สำหรับผู้ประกอบการฯ ที่มีการทำสัญญาหรือมีการชำระเบี้ยประกันภัยตามสัญญาตั้งแต่วันที่มีผลบังคับ 20 มี.ค. - 30 มิ.ย. 2563
มาตรการอื่นๆ
- โครงการ “เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ” ธนาคารกสิกรไทยใช้งบราว 500 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน ปรับลดดอกเบี้ยให้ธุรกิจ โดยไม่ต้องจ่ายคืนทีหลัง เพื่อให้เจ้าของกิจการสมทบอีก 50 เปอร์เซ็นต์ ช่วยไม่ให้เลิกจ้างพนักงานราว 1.5 หมื่นคนทั่วประเทศ
- โครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จำนวน 10,000 คน โดยไม่จำกัดวุฒิการศึกษา อายุ สาขาวิชาที่จบ และประสบการณ์ ค่าตอบแทนเดือนละ 9,000 บาท ในระยะเวลา 5 เดือน เพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงานจากวิกฤต พร้อมเรียนรู้พัฒนาทักษะประกอบอาชีพต่างๆ โดยให้กระจายทำงานภายใต้หน่วยงานของ อว. จำนวน 42 หน่วยงาน ทั้งนี้ต้องเป็นบุคคลที่ไม่ได้รับสิทธิมาตรการเยียวยา 5,000 บาท และเกษตรกรผู้ได้รับเงินเยียวยาช่วงโควิด-19
- โครงการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ผลผลิตผลไม้ในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก โดย EXIM BANK เพื่อชดเชยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ลูกค้าที่เป็นผู้ส่งออกผลไม้ในอัตราร้อยละ 3 และโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง (ยางแห้ง) โดยชดเชยอัตราดอกเบี้ยผู้ประกอบกิจการยางในอัตราร้อยละ 3 รวมถึงออกสินเชื่อ EXIM เพื่อผู้ส่งออกทางอ้อม ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ Prime Rate -1.25
- โครงการ Food Paradise รวมความอร่อย รวมใจ ช่วยเกษตรและเอสเอ็มอีไทยฝ่าภัยโควิด-19 เทสโก้ โลตัส เปิดพื้นที่ฟรีให้เกษตรกรและผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาจากกระทรวงพานิชย์ มาจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารสดและอาหารแห้ง โดยไม่เสียค่าเช่าพื้นที่เป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน โดยนำร่องในระยะแรกที่เทสโก้ โลตัส 57 สาขาทั่วประเทศ ในระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม 2563 โทร: 02-7979000 ต่อ 5826
- กระทรวงอุตสาหกรรม ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้ผู้ประกอบการโรงงาน ล่าสุดเตรียมดำเนินการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต มอก. เพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ
- กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) โดยสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าไลฟ์สไตล์ เปิดตัวเฟซบุ๊คเพจ “สไตล์ ดีไอทีพี” เพื่อเป็นช่องทางให้กับผู้ส่งออกกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่น อัญมณีและเครื่องประดับ ที่เป็นสมาชิกและเคยเข้าร่วมกิจกรรมกับ DITP สามารถฝากร้านประชาสัมพันธ์ขายสินค้าแก่ผู้บริโภคทั่วไป
www. smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี