ลุกให้เร็ว! 5Ps สูตรฟื้นธุรกิจ หลังสิ้นพิษวิกฤตไวรัส

TEXT  :  วันวิสา งามแสงชัยกิจ





Main Idea
 
  • แม้วันนี้ไวรัส COVID-19 ยังคงเล่นงานผู้คนอย่างไม่เลือกหน้า และเป็นมือสังหารที่ล้มธุรกิจไปไม่น้อย แต่ทุกอย่างย่อมมีวันสิ้นสุด การมองไปข้างหน้าจึงเป็นโอกาสและแสงสว่างที่รออยู่ตรงปลายอุโมงค์ 
 
  • การหาคำตอบตามกลยุทธ์ 5Ps จึงเป็นอีกตัวช่วยที่จะทำให้ผู้ประกอบการรู้ว่า คุณอยู่ตรงไหน ต้องปรับอย่างไร และต้องเตรียมพร้อมแบบไหน เพื่อให้ลุกขึ้นสู้ได้อีกครั้งหลังสิ้นพิษ COVID-19 

___________________________________________________________________________________________



     เพราะไม่มีใครรู้ว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เช่นนี้ ที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทายทางธุรกิจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าหายหน้ากลายเป็นศูนย์ การหยุดชะงักของซัพพลายเชน การว่างงาน ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และความไม่แน่นอนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา 

     ทว่าทุกสรรพสิ่งเมื่อมีเกิดก็ย่อมมีดับ ธุรกิจก็เช่นกันที่ต้องลุกขึ้นยืนให้ได้ด้วยการเริ่มวางรากฐานสำหรับการฟื้นตัวนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่วันนี้ โดยทางเว็บไซต์ Harvard Business Review ได้หยิบเอากลยุทธ์ 5Ps (Plan, Ploy, Pattern, Position, และ Perspective) ของนักทฤษฎีการจัดการชื่อดังอย่าง Henry Mintzberg มาปรับใช้ เพื่อให้ได้ 5Ps (Position, Plan, Perspective, Projects, และ Preparedness) ที่พร้อมกรุยทางให้กับเจ้าของกิจการในการหาคำตอบ เพื่อเดินหน้าธุรกิจได้อีกครั้งเมื่อเรื่องราวต่างๆ คลี่คลายลง 
และ 5Ps ที่ว่านั้นคือ..... 





1. Position: ธุรกิจคุณอยู่ ณ จุดไหน ตำแหน่งใด ในระหว่างและหลังเกิดการระบาดของไวรัส?


     เพื่อให้การวางกลยุทธ์ในการฟื้นธุรกิจเป็นไปได้ดี สิ่งแรกที่ต้องรู้คือ แบรนด์ หรือองค์กรของเรานั้นอยู่ในตำแหน่งไหนของวงการ โดยการหาคำตอบจากคำถามเหล่านี้ เช่น คุณเป็นใครในตลาดที่ทำอยู่ คุณสวมบทบาทใดในระบบนิเวศ และใครคือคู่แข่งหลักของคุณ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องรู้อีกว่าตัวเองนั้นอยู่ในจุดไหน สามารถปิดกิจการและเปิดใหม่ในรูปแบบธุรกิจที่เหมือนเดิมหลังจากจบโรคระบาดครั้งนี้ได้หรือไม่ มีโอกาสที่จะล้มละลายหรือช่วงชิงความได้เปรียบจากการพัฒนาโปรดักต์หรือมีไอเดียใหม่ๆ ในช่วงที่เกิดการระบาดหรือไม่ เพราะแม้ว่าจะมีหลายธุรกิจที่ต้องเจอกับศึกหนักในครั้งนี้ แต่ก็ยังมีอีกหลายธุรกิจที่น่าจับตามองและเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก เช่น อุปกรณ์สำนักงานสำหรับการทำงานที่บ้าน อุปกรณ์หรือเครื่องมือสื่อสารที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ ไปจนถึงบริการจัดส่งถึงบ้าน ที่เรียกได้ว่ามาแรงแซงโค้งอยู่ในช่วงเวลานี้ 





2. Plan: คุณมีแผนจะฟื้นตัวอย่างไร?


     แผนที่ว่าคือแนวทางปฏิบัติที่ชี้ไปยังตำแหน่ง (Position) ที่ผู้ประกอบการหวังเอาไว้ว่าจะทำให้สำเร็จ ซึ่งควรอธิบายสิ่งที่ต้องทำในวันนี้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในวันพรุ่งนี้ โดยในบริบทปัจจุบัน คำถามก็คือ อะไรคือสิ่งที่คุณต้องทำเพื่อฝ่าวิกฤติและกลับไปทำธุรกิจได้อีกครั้งเมื่อสถานการณ์สิ้นสุดลง อย่าลืมว่าการขาดแผนจะยิ่งทำให้สับสนมากขึ้นในสถานการณ์ที่สับสนอยู่แล้ว ที่สำคัญ ในการร่างแผนขึ้นมาสักแผน ต้องมองให้กว้าง คิดให้ลึก และมองให้ไกล 





3. Perspective : มุมมองต่อวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของคุณจะเปลี่ยนไปอย่างไร?


     มุมมองในที่นี้หมายถึงวิธีที่องค์กรมองโลกและตัวเอง แน่นอนว่าวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ ไม่ว่าจะของแบรนด์ บริษัท หรือองค์กรจะเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดในครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นวิกฤตที่ทั้งหลอมรวมใจของผู้คนให้รักและสามัคคีกันมากขึ้น และจำใจต้องแยกหรือทิ้งคนบางส่วนเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนของแรงงาน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของกิจการมีมุมมองและวิสัยทัศน์อย่างไร องค์กรเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตนี้แบบไหน สถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่จะทำให้พนักงานรวมตัวกันหรือแยกจากกัน? และพวกเขาจะเห็นองค์กรแตกต่างไปหรือไม่เมื่อเรื่องนี้จบลง คำตอบที่ได้จะทำให้ผู้ประกอบการรู้ว่า ต้องทำอย่างไร บริหารแบบไหนถึงจะประสบความสำเร็จและอยู่รอดได้เมื่อการระบาดสิ้นสุดลง 





4. Projects : โปรเจกต์ไหนที่คุณจะทำ เปิดตัว หรือร่วมมือกับคนอื่น? 


     คำตอบที่ได้จาก 3 ข้อข้างต้น จะชี้ให้เห็นว่ามีโปรเจกต์ไหนบ้างที่สามารถแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเกิดไวรัสในครั้งนี้ได้ ซึ่งความท้าทายนั้นอยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญและการรวบรวมความคิดว่าสิ่งไหนควรทำก่อนหรือหลัง ระวังการเริ่มต้นโปรเจกต์หลายชิ้นที่ต้องใช้ทรัพยากรที่สำคัญอย่างเดียวกัน เช่น ในแง่ของบุคลากรอย่างผู้จัดการระดับสูงหรือแผนกอย่างไอที นอกจากนี้ การริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ที่มีจำนวนมากเกินไปยังก่อให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากร ซึ่งจะทำให้กลยุทธ์ที่วางไว้เกิดความล่าช้าหรือต้องตกขบวนไปอีกด้วย 




5. Preparedness : คุณเตรียมพร้อมแค่ไหนที่จะทำแผนและโปรเจกต์ให้สำเร็จ?


     สิ่งสำคัญสุดท้ายที่ต้องทำคือ การประเมินการเตรียมพร้อมขององค์กร คุณพร้อมและสามารถทำโปรเจกต์ที่วางไว้ให้สำเร็จได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าองค์กรมีการปรับรูปแบบการทำงานไปสู่การทำงานจากบ้านหรือระยะไกล ซึ่งการเตรียมพร้อมในระดับบุคคล ทีม และองค์กรนั้นมีความแตกต่างกัน ทั้งในแง่ของทรัพยากรที่อยู่ในมือของแต่ละคน ความเร็วและคุณภาพในการตัดสินใจ ล้วนเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กร 


     ทั้ง 5Ps นั้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนดำเนินการในปัจจุบันและอนาคตได้ พึงระวังไว้ว่า ผู้บริโภคจะจดจำวิธีการตอบสนองของแบรนด์ บริษัท และองค์กรในช่วงวิกฤตแบบนี้อย่างขึ้นใจ ดังนั้น เพื่อให้ทุกการกระทำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การเตรียมพร้อมเดินหน้าก่อน ย่อมทำให้การปล่อยหมัดออกไปในครั้งหน้ามีโอกาสเข้าเป้าสูงขึ้นอย่างแน่นอน    


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย