FOODOTEL สูตรผสมธุรกิจที่ลงตัว เมื่อ ‘โรงแรม’ กับ ‘ข้าวแกง’ เดินทางมาพบกัน

TEXT : นิตยา สุเรียมมา

 



Main Idea


 
  • “ข้าวแกง” หนึ่งในอาหารที่คุ้นเคยกันดีของคนไทย เคยมีใครคิดบ้างไหมว่าวันดีคืนดีอาหารหลักประจำชาติที่บริโภคกันเป็นประจำอยู่ทุกวันนี้ จะกลายมาเป็นคอนเซปต์เพื่อสร้างโรงแรมแห่งหนึ่งขึ้นมาได้
 
  • “FOODOTEL” คือ โรงแรมคอนเซปต์ข้าวแกงแห่งแรกของไทย ที่นำธุรกิจโรงแรม (Hotel) และร้านข้าวแกง (Food) มาบวกผสมรวมกัน เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมอาหารของไทยให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
 
 


     กรุงเทพมหานคร หนึ่งในเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก โดยนอกจากศิลปวัฒนธรรมอันงดงามของโบราณสถานหลายแห่งแล้ว กรุงเทพฯ ยังได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเมืองแห่งสตรีทฟู้ดที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารการกินมากมาย ซึ่งจากจุดนี้เองที่ทำให้ ณัฐพล พงศ์พลาญชัย หนุ่มสถาปนิกได้คิดนำมาสร้างเป็นแนวทางในการทำธุรกิจโรงแรมของครอบครัว จนกลายเป็นโรงแรมคอนเซปต์ข้าวแกงแห่งแรกของไทยขึ้นมา ภายใต้ชื่อว่า “FOODOTEL” (ฟูโดเทล) การรวมกันที่ลงตัวของธุรกิจโรงแรมและร้านข้าวแกงนั่นเอง
               




     “ธุรกิจนี้เริ่มต้นขึ้นจากการที่ครอบครัวมีตึกแถวและไม่ได้ใช้งาน ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านของเรา เลยลองมาคิดกันว่าหากจะปรับปรุงรีโนเวทขึ้นมาให้เกิดประโยชน์ เราจะทำเป็นอะไรขึ้นมาดี สุดท้ายก็ได้คำตอบว่าทุกคนอยากทำธุรกิจโรงแรม ตอนแรกคอนเซปต์ไม่ได้มาลงตัวที่ข้าวแกงเลยซะทีเดียว เราพยายามมองบริบทของกรุงเทพฯ ก่อนว่ามีจุดเด่นอะไรบ้าง ซึ่งเราค้นพบว่าอาหารหรือสตรีทฟู้ดก็เป็นหนึ่งในเรื่องเด่นของกรุงเทพฯ


     “กระทั่งเมื่อมีไอคอนสยามเข้ามาทำให้ความเป็นอยู่ของชุมชนเราเปลี่ยนแปลงไป จากย่านพักอาศัยก็กลายเป็นพื้นที่ธุรกิจมีพนักงานออฟฟิศเข้ามาทำงานมากมาย ก็เลยมองกันว่าถ้าทำเป็นธุรกิจโรงแรม+อาหารด้วยก็น่าจะดี จากนั้นจึงมาคิดต่อว่าจะเลือกอาหารแบบใดดีที่เอื้อทั้งต่อตัวโรงแรมเอง และตอบโจทย์คนทำงานแถวนี้ให้สามารถเข้ามารับประทานได้สะดวก ซึ่งเราพบว่าข้าวแกง คือ คำตอบ เพราะเป็นอาหารที่กินได้ง่ายและใช้เวลาไม่มาก ขณะเดียวกันเราก็ได้สื่อสารให้แขกต่างชาติได้รู้จักกับอาหารไทยมากยิ่งขึ้นด้วย” ณัฐพลเล่าถึงที่มาให้ฟัง
 



 
  • โรงแรมรสชาติข้าวแกง

     โดยชื่อของ FOODOTEL เกิดจากการผสมรวมกันของคำว่า Food + Hotel รวมกัน ซึ่งนอกจากจะแปลกแตกต่างไม่เหมือนใครแล้ว ยังทำให้  FOODOTEL กลายเป็นโรงแรมคอนเซปต์ข้าวแกงแห่งแรกของเมืองไทยขึ้นมาด้วย ซึ่งการนำข้าวแกงมาใช้เป็นไอเดียสร้างจุดเด่นให้กับโรงแรม หากไม่นับรวมชื่อสุดครีเอทแล้ว สิ่งที่แขกผู้เข้าพักจะสัมผัสได้ถึงความแตกต่าง เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่การเสิร์ฟข้าวแกงเป็น Breakfast ให้กับลูกค้า การประดับตกแต่งและดัดแปลงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ จากอุปกรณ์ในครัว ไปจนถึงสบู่ แชมพู ก็ยังนำคอนเซปต์ข้าวแกงมาใช้ด้วย





     “หลักสำคัญในการบริหารจัดการธุรกิจที่เราต้องการมอบให้แขกผู้เข้าพัก คือการบริการที่เป็นกันเอง มีความสะดวกสบาย ขณะเดียวกันเราอยากสร้างประสบการณ์เข้าพักที่แตกต่างให้กับเขาด้วย เพราะแขกที่เข้าพักกับเรากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเรามองว่าข้าวแกงเป็นเหมือนหัวใจของธุรกิจ และโรงแรมเป็นเหมือนแขนขาที่คอยทำหน้าที่ซัพพอตสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้น


     โดยนอกจากจะเสิร์ฟข้าวแกงเป็นอาหารเช้าแล้วให้เขาแล้ว การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ ของประดับตกแต่งต่างๆ เราก็พยายามทำให้เข้ากับคอนเซปต์ด้วย คือ Stay Local – Eat Local โดยนำมาจากวัสดุอุปกรณ์ที่เห็นอยู่ในครัวไทย อาทิ ครกหินจากอ่างศิลาเราก็ดัดแปลงนำมาทำเป็นอ่างล้างหน้า สากหินก็ทำเป็นที่แขวนผ้า ตะหลิวไม้เอาไปยิงเลเซอร์ใช้เป็นป้ายหน้าห้อง ครกไม้ก็นำไปผ่าครึ่งติดผนังทำเป็นที่ใส่รีโมต ไปจนถึงครีมอาบน้ำเราก็ทำเป็นกลิ่นต้มยำด้วย ซึ่งจากเสียงตอบรับส่วนใหญ่ เขาค่อนข้างสนุกกับสิ่งต่างๆ ที่เราซ่อนเป็นกิมมิกเอาไว้ มันคือ การสื่อสารรูปแบบหนึ่งที่ช่วยให้เขารู้จักเมืองไทยมากขึ้น โดยไม่ต้องผ่านคำพูด แต่ผ่านสิ่งของเครื่องใช้เหล่านี้แทน ในส่วนของโครงสร้างของตึกแถวเราไม่เปลี่ยนอะไรมาก แค่ปรับเปลี่ยนนิดหน่อย เพราะเราต้องการให้เขาสัมผัสกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยแบบจริงๆ ด้วย”
 



 
  • ข้าวแกงบรรยากาศโรงแรม

     จากในส่วนของโรงแรมแล้ว มาดูในส่วนของร้านข้าวแกงธุรกิจที่สองกันบ้าง โดยณัฐพลเล่าให้ฟังว่า แม้วัตถุประสงค์ของร้านข้าวแกงจะทำมาเพื่อซัพพอตลูกค้าของโรงแรมเป็นหลัก แต่ลูกค้าตัวจริงที่เข้ามาใช้บริการปริมาณมาก คือ ลูกค้าจากภายนอกด้วย ทั้งกลุ่มครอบครัวที่ต้องตื่นแต่เช้าไปทำงานและไปเรียน และพนักงานออฟฟิศที่ทำงานอยู่ในละแวกใกล้เคียงนี้





     โดยเอกลักษณ์ความโดดเด่นของข้าวแกง FOODOTEL นั้นมีองค์ประกอบหลายอย่างด้วยกัน อย่างแรกเริ่มตั้งแต่สถานที่ตั้งเอง ซึ่งตั้งอยู่ในด้านหน้าของโรงแรมที่มีการออกแบบตกแต่งไว้อย่างสวยงามผิดกับบรรยากาศร้านข้าวแกงทั่วไปที่เราเคยเห็นมา อย่างที่สอง คือ คุณภาพของอาหาร ซึ่งมีการนำระบบและมาตรฐานระดับโรงแรมมาใช้ เพราะลงมือปรุงโดยเซฟที่จบหลักสูตรจากโรงแรมระดับ 5 ดาว


     และอย่างที่สาม ก็คือ ราคาที่ย่อมเยา แม้จะใช้วัตถุดิบคุณภาพดี บรรยากาศที่นั่งก็สบาย ถ่ายรูปสวย แต่ราคาที่จำหน่าย คือ 40 – 60 บาทเท่านั้น โดยหากเป็นข้าว+กับข้าว 1 จะอยู่ที่ราคา 40 บาท หากเพิ่มกับข้าวก็จะบวกเข้าไปอีกเมนูละ 10 บาท เรียกว่าราคาริมทาง แต่บรรยากาศระดับโรงแรมทีเดียว เมนูขายดี คือ ไข่พะโล้ ต้มข่าไก่ ไก่ต้มขมิ้น บัวลอยเผือก





     “จากฟีดแบ็กกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับ คือ แขกค่อนข้างสนุก และรู้สึกตื่นเต้นว่าในแต่ละวันเขาจะได้กินอะไร โดยถึงจะเป็นร้านข้าวแกง แต่เราก็นำระบบและมาตรฐานของโรงแรมเข้ามาใช้ ซึ่งพี่สาวที่เรียนด้านอาหารมาจากโรงแรมโอเรียนเต็ลจะเป็นผู้ดูแลในส่วนนี้ โดยในส่วนของรสชาติข้าวแกงนั้นของเราจะออกไปทางกลมกล่อม ไม่ได้เผ็ดโดด ต่างชาติกินได้ คนไทยก็กินอร่อย สำหรับลูกค้าบางคนที่ยังไม่กล้าลอง เราก็มี Breakfast แบบปกติไว้สำรองให้ ในอนาคตหลังผ่านช่วงวิกฤตไวรัสนี้ไปแล้ว เราอาจจะเพิ่มเติมเมนูที่คนไทยชื่นชอบเพิ่มมากขึ้นด้วย เพราะลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการมากของร้านข้าวแกงเรา คือ คนไทย”
               




     และนี่คือ เรื่องราวของโรงแรมคอนเซปต์ร้านข้าวแกงแห่งแรกของไทย สูตรผสมที่ลงตัวของธุรกิจจากการนำ 2 สิ่งมาผสานรวมกัน จนเกิดเป็นการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน สร้างความโดดเด่นให้กับธุรกิจขึ้นมาได้
 
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย