Main Idea
- วันนี้ผู้ประกอบการโรงแรมในภูเก็ตกำลังบอบช้ำ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการปิดเมืองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง แต่สำหรับเลือดนักสู้อย่างพวกเขา ยังคงเตรียมความพร้อมเพื่อรอวันฟื้นคืนกลับมาอย่างมีความหวัง
- ประสบการณ์ในครั้งนี้กำลังให้บทเรียนครั้งใหญ่แก่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ที่จะต้องปรับเกมรุกและเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจในอนาคต โดยเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นหน่วยธุรกิจ ที่ทุกแผนกสามารถสร้างรายได้และอยู่ด้วยตัวเองได้
- SME Thailand พูดคุยกับ “ก้องศักดิ์ คู่พงศกร” นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ ถึงเกมรุกใหม่ของการท่องเที่ยวภูเก็ตและธุรกิจโรงแรมไทย หลังสิ้นพิษโควิด-19 เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการไทยเรียนรู้และปรับตัวไปด้วยกัน
จังหวัดภูเก็ต คือเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกสูงถึงปีละ 14 ล้านคน สร้างมูลค่าทาง
เศรษฐกิจประมาณ 4 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีผู้ประกอบการโรงแรมอยู่ประมาณ 3 พันแห่ง รวมห้องพักประมาณ 1 แสนห้อง
ทว่าในวันที่โควิด-19 มาเยือน รายได้ของพวกเขาไม่ใช่แค่ขาดหายไป แต่เป็นครั้งแรกที่ผู้ประกอบการโรงแรมภูเก็ตซึ่งเคยรับนักท่องเที่ยวอย่างคึกคัก กำลังมีรายได้เท่ากับ “ศูนย์” ขณะที่ยังมีต้นทุนพนักงานและค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ต้องแบกรับ เป็นรอยช้ำที่สาหัสสากรรจ์ในฤดูกาลที่น่าจะเป็นโอกาสทำเงินของพวกเขา
SME Thailand พูดคุยกับ “ก้องศักดิ์ คู่พงศกร” นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ เพื่อบอกเล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเกมรุกบทใหม่ของการท่องเที่ยวภูเก็ตและธุรกิจโรงแรมไทย หลังสิ้นพิษโควิด-19 เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการไทยเรียนรู้และปรับตัวไปด้วยกัน
หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอดจนมาตรการต่างๆ ที่ออกมา ส่งผลต่อธุรกิจโรงแรมภูเก็ตในวันนี้อย่างไรบ้าง
ก้องศักดิ์ : ตอนนี้ก็ค่อนข้างจะย่ำแย่กัน เพราะไม่มีรายได้ รายได้เป็นศูนย์เพราะโรงแรมปิด ส่วนรายจ่ายก็ยังมีอยู่ในเรื่องของคนงาน และค่าบำรุงตัวโรงแรมให้พร้อมให้บริการอยู่ตลอดเวลา จริงๆ พวกเราเริ่มเจอปัญหามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่ตอนนั้นธุรกิจมีผลกระทบจากตลาดจีนตลาดเดียว ช่วงนั้นอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (Occupancy Rate) โดยรวมอยู่ที่ประมาณ
60-70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ลดจากปกติที่ควรจะอยู่ที่ 90 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงกุมภาพันธ์ พอมามีนาคมลดลงเหลือ 30 เปอร์เซ็นต์ จากปกติก็จะอยู่ที่ 90 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกัน ติดลบไปแล้ว 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการรันธุรกิจที่ 30 เปอร์เซ็นต์ ก็เท่ากับขาดทุนแล้ว มาเมษายนหายไป 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพฤษภาคมก็ตีไป 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนมิถุนายนปกติจะเป็นช่วงโลว์ซีซันอยู่แล้ว เราคาดหวังว่ากรกฎาคมน่าจะกลับมาสู่ระดับเดิม คาดว่าโดยรวมปีนี้ตัวเลขทั้งปีน่าจะหายไปที่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์
แต่มีความกังวลว่าน่าจะหายไปมากกว่านั้น เนื่องจากถ้าดูในเรื่องของสภาพการแข่งขัน ภูเก็ตเจอการแข่งขันในประเทศด้วยกันเอง จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ขณะที่เราก็โตช้าลง จากเดิมปี 2561 โตประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ พอปี 2562 โตแค่หลักกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ปี 2563 คาดว่าจะโตแค่เลข 1 หลักด้วยซ้ำ ในยอดตัวเลขนักท่องเที่ยว เพราะมันอิ่มตัวมากแล้ว โดยปี 2562 เรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาภูเก็ตประมาณ 14 ล้านคน สร้างมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท
ผู้ประกอบการโรงแรมภูเก็ตมีการปรับตัวเพื่อรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรกันบ้าง
ก้องศักดิ์ : ก็พยายามปรับตัวโดยการลดต้นทุนเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตเมื่อธุรกิจเปิดกลับมาเราจะปรับตัวกันหลายๆ อย่าง โดยจะเริ่มเชื่อว่าต้นทุนเป็นสิ่งที่สำคัญ รู้แล้วว่าความไม่แน่นอนของสภาพธุรกิจ ถ้าเราแบกรับต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ไว้เยอะๆ ก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงสูง และปรับตัวกันไม่ได้ ฉะนั้นผมก็เชื่อเหมือนธุรกิจอื่นๆ คือ จากนี้โรงแรมจะต้องนำเทคโนโลยี นำ AI ระบบอัตโนมัติ เข้ามาใช้เพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยประหยัดในเรื่องค่าจ้างพนักงาน รวมถึงเซฟต้นทุนด้านอื่นๆ เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ โดยใช้ระบบการจัดการ รวมถึงใช้เซ็นเซอร์ต่างๆ ในการควบคุม เพื่อลดค่าใช้จ่ายลง นอกจากนี้การนำเทคโนโลยีมาใช้ นอกจากจะช่วยลดคนงาน ลดต้นทุนลง ขณะเดียวกันยังไปเพิ่มประสบการณ์การบริการให้กับลูกค้าอีกด้วย
ขณะเดียวกันเราก็ใช้เวลาที่ว่างตอนนี้มาทำการพัฒนาโรงแรม รีโนเวท ในส่วนที่ไม่เคยทำได้ เช่น สระว่ายน้ำ ห้องพักที่ไม่สามารถปิดได้ทั้งหมดในตอนที่มีลูกค้า แต่ก็ไม่ใช่ทุกโรงแรมจะทำอย่างนี้ได้ เพราะการรีโนเวทต้องใช้เงิน หลายๆ โรงแรมตอนนี้เอาแค่เงินสดให้พอจ่ายเงินเดือนลูกน้องยังไม่มีเลย ฉะนั้นการรีโนเวทก็น่าจะทำได้แค่บางโรงแรมที่มีศักยภาพเท่านั้น เพื่อที่เมื่อสถานการณ์ฟื้นคืนกลับมาก็จะมีความพร้อมในการให้บริการได้
จากสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น รวมถึงความท้าทายใหม่ๆ ที่เข้ามา มองว่าการท่องเที่ยวภูเก็ตจากนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ก้องศักดิ์ : จากนี้เราคงต้องมองตลาดให้ชัดขึ้นว่าภูเก็ตจะขายอะไร จุดขายที่แท้จริงของภูเก็ต เราขายธรรมชาติ ขายความสวยงามของหาดทราย ในอดีตคนก็มาแค่นอนเล่มริมหาด ลงเรือไปเกาะแก่งต่างๆ ดำน้ำ ดูปะการัง แต่ว่ามันยังมีนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มหนึ่งที่มาเพื่อทำกิจกรรม โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีน ซึ่งในอดีตเราไปเพิ่มตัวเลขด้วยปริมาณนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยอะๆ พอนักท่องเที่ยวเข้ามาโรงแรมก็ต้องรีบสร้าง สร้างไม่ทันก็เกิดโรงแรมผิดกฎหมายตามมา ประกอบกับยังมี Airbnb ผมว่าภูเก็ตต้องซ่อมสร้างตัวเองก่อน คือต้องกลับมาดูเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ซ่อมสิ่งที่พังให้กลับมาสมบูรณ์ ซ่อมธรรมชาติของเรา พอซ่อมเสร็จก็สร้าง ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ขึ้นมาใหม่ อย่างที่เราเคยอยากมี เช่น แก้ปัญหารถติดโดยมีรถไฟฟ้ารางเบา ควรมีถนนเส้นใหม่ มีท่าเรือน้ำลึก มีสนามบินแห่งที่สองที่พังงา หรือที่คุยกันมานานว่าต้องสร้างภูเก็ตให้เป็น Medical Hub (ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ) เป็น MICE City อะไรต่างๆ ซึ่งเหล่านี้ต้องใช้งบประมาณของภาครัฐทั้งสิ้น
แต่การสร้างพวกนี้ขึ้นมามันคุ้มค่า เพราะว่าปัจจุบันรายได้จากการท่องเที่ยวภูเก็ตอยู่ที่ 4 แสนล้านบาทต่อปี ถ้าคุณลงทุนสักแสนล้านบาทก็คิดเป็นแค่ 25 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้การท่องเที่ยวเท่านั้น แต่มันจะสร้างภูเก็ตจาก 4 แสนล้าน ให้คูณสอง คูณสามขึ้นไปเรื่อยๆ กลับมาในอนาคตคุณอาจจะได้หนึ่งล้านล้านจากการท่องเที่ยวภูเก็ตก็ได้ แต่ว่าถ้ามองแค่ภูเก็ตความเย้ายวนในการลงทุนอาจจะไม่มาก รัฐบาลต้องมองภูเก็ตเป็นคลัสเตอร์ นั่นคือ ภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นกลุ่มท่องเที่ยวอันดามันและเชื่อมโยงกัน ซึ่งเชื่อว่าได้ประโยชน์มหาศาลอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ยังรวมถึงการพัฒนาที่เที่ยวใหม่ๆ ขึ้นมา ภูเก็ตถ้าย้อนกลับไปดูอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ๆ จับต้องได้ใน 20 ปีย้อนหลังแทบไม่มีเลย เราขายโปรดักต์เก่ามาโดยตลอด ผมว่าวันนี้ของเก่ายังดึงดูดได้ แต่เรามีนักท่องเที่ยวถึงปีละ 14 ล้านคน แต่มีแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำแค่ Top5 ซึ่งคนต้องไปในที่เดียวกันก็ทำให้เกิดความแออัด ทำไมเราไม่สร้างให้เป็น Top20 มีที่เที่ยวที่น่าสนใจอีก 20 ที่ แทนที่ทุกวันนักท่องเที่ยวจะลงไปนอนแต่ชายหาด เป็นโลว์บัดเจ็ท เสียค่าเตียงแค่ไม่กี่ร้อย ทำไมไม่ให้เขาจ่ายเยอะขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ก็มีโอกาสได้เงินจากกระเป๋าเขามากขึ้น ซึ่งถ้าสามารถปลดล็อกอย่างมีระบบให้สามารถสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ จุดขายใหม่ๆ ขึ้นมา ก็จะทำให้รองรับนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น และทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามามีความสุขให้มากที่สุด จนอยากกลับมาซ้ำอีก
มองว่าผู้ประกอบการโรงแรมในยุคต่อจากนี้ ต้องปรับโมเดลการทำธุรกิจอย่างไร เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงในอนาคต
ก้องศักดิ์ : จากนี้ธุรกิจโรงแรมต้องรู้จักการบริหารความเสี่ยงในภาวะวิกฤต ต้องสามารถควบคุมต้นทุน ขณะที่พนักงานซึ่งเป็นต้นทุนหลักที่ควบคุมไม่ได้ ในอนาคตก็คงต้องใช้การเอาท์ซอส (Outsource) มากขึ้น ในอดีตเราก็มี เอาท์ซอส รปภ. พนักงานบัญชี เริ่มมีเอาท์ซอสแม่บ้าน
ผมเชื่อว่าโรงแรมจะแบ่งเป็นส่วนมากขึ้นในอนาคต โดยในโรงแรมหนึ่งโรงแรม เมื่อก่อนเราจะมองเป็นหนึ่งธุรกิจ แต่ในอนาคตต้องมองหนึ่งโรงแรมเป็น 3-5 ธุรกิจ อย่าง สปาก็แยกออกมาเป็นหนึ่งบริษัท ที่บริหารโดยพนักงานสปา ร้านอาหารก็แยกออกไปอีก และร้านอาหารก็มีความจำเป็นต้องอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง ลูกค้าโรงแรมถือเป็นส่วนหนึ่งของลูกค้าร้านอาหาร แต่ก็ต้องมีการหาลูกค้าข้างนอกเข้ามาทานด้วย ผมว่าต้องมองโรงแรมเป็นส่วนๆ ยามเกิดวิกฤตแต่ละส่วนต้องสามารถเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าให้เร็ว เมื่อก่อนเราจะรอแต่ลูกค้าโรงแรม แต่อนาคตภาพนี้จะเปลี่ยนไป อย่างวันนี้เราจะเห็นหลายโรงแรมผันตัวเองมาทำอาหารส่งขาย มีพนักงานส่งอาหารเอง หรือโรงแรมมีแผนกซักรีด ถ้าแขกโรงแรมเราลดลง หรือหายไปบางกลุ่ม ก็อาจปรับบริการไปรับจ้างซักรีดจากโรงแรมอื่นก็ได้ เพื่อให้พนักงานอยู่ได้ และมีเงินหล่อเลี้ยงพนักงานในช่วงวิกฤตได้ เชื่อว่าจากนี้ผู้ประกอบการโรงแรมจะทำธุกริจโดยมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และปรับตัวได้เร็วขึ้น
นี่คือวิสัยทัศน์ของนายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ ที่คลุกคลีอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มาเกือบ 20 ปี และยอมรับว่าวิกฤตครั้งนี้สาหัสที่สุดตั้งแต่เคยเจอมา จนได้แต่ยอมรับชะตากรรม และเตรียมความพร้อมกับกระแสการท่องเที่ยวที่จะฟื้นคืนกลับมาในอนาคต โดยฝากทิ้งท้ายถึงผู้ประกอบการโรงแรมว่า ให้เตรียมความพร้อมในเรื่องของแผนธุรกิจ และแผนการตลาด แม้ในเวลานี้จะเปิดให้บริการไม่ได้ แต่ก็อย่าทิ้งด้านการตลาดโดยอาจผลิตคอนเทนต์ ทำแคมเปญออกมา รวมถึงสร้างจุดขายใหม่ๆ ขึ้นมาในโรงแรมของตัวเอง เพื่อที่เมื่อการท่องที่ยวเริ่มกลับมา ทุกคนจะได้ปล่อยของและบุกตลาดได้ทันทีนั่นเอง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี