ฟังกูรูชวน SME เปิดหลังบ้าน รีดธุรกิจให้ LEAN สู้วิกฤต!

TEXT : รุจรดา วัฒนาโกศัย
 

 
 

Main Idea
 
  • ในช่วงเวลาที่ภาวะวิกฤตยังดำเนินต่อไปเช่นวันนี้ หลายธุรกิจได้รับผลกระทบหนักทั้งขาดรายได้และต้องแบกรับต้นทุน ส่วนหนึ่งอาจเพราะธุรกิจไม่ได้เตรียมความพร้อมและไม่มีแผนเพื่อรองรับหรือลดความเสียหาย
 
  • หลักการ Lean ที่กำเนิดในญี่ปุ่นช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่หลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะกลายมาเป็นตัวช่วยธุรกิจไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้
 
 


     ในช่วงเวลานี้ธุรกิจยังคงเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤตอย่างหนักหน่วง และยังไม่มีท่าทีจะบางเบาลงได้ง่ายๆ หลายธุรกิจต้องขาดรายได้และแบกรับต้นทุนชนิดที่แทบจะเดินต่อไปไม่ไหว ในสถานการณ์เช่นนี้ ธุรกิจสามารถลดความรุนแรงของผลกระทบหรืออาจพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ เพียงแค่ลองนำหลักการ “Lean” เข้ามาใช้ ลองมาทำความเข้าใจเรื่องนี้ไปพร้อมกัน
 


          
     
     ย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดของแนวคิด Lean นั้นเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ช่วงปี ค.ศ. 1980 หลังจากแพ้สงครามโลกทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นย่ำแย่ทั้งประเทศ ไม่มีทรัพยากร จึงมองหาวิธีการที่จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความสูญเสีย (Waste) น้อยที่สุด จนกระทั่งสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจขึ้นมาได้ ฉะนั้น หากผู้ประกอบการไทยใช้หลักการเดียวกันก็น่าจะช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้เช่นเดียวกัน
 

     บรรยง ชาญพิพัฒนชัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจด้วยแนวคิด Lean ชี้ให้เห็นแนวทางการอยู่รอดของเศรษฐกิจในยุคนี้ ว่ามี 2 แนวทาง โดยแบ่งเป็นการปรับปรุงการทำงานหน้าบ้านและหลังบ้าน
หน้าบ้าน คือ การพยายามทำให้มียอดขายและมีเงินหมุนเวียนเข้ามาหล่อเลี้ยงธุรกิจ โดยมอง 2 เรื่องนั่นคือ
 




     1.ปรับช่องทางการขาย ที่ต้องปรับตัวกันอย่างมโหฬาร หากธุรกิจสามารถจัดจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ได้ก็ควรทำ แต่ต้องคำนึงถึงต้นทุนในการใช้บริการแพลตฟอร์มและโลจิสติกส์แต่ละราย ซึ่งจะมีค่าบริการแตกต่างกันไป


     “บางคนอาจมองว่าต้นทุนแพงขึ้นเมื่อเข้าร่วมในแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ต้องมีส่วนแบ่งถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่เงินจำนวนนั้นจะเก็บก็ต่อเมื่อมีคนสั่งซื้อ โดยที่สินค้าและบริการของเราจะได้ขึ้นไปอยู่บนหน้าแพลตฟอร์มของเขา มีคนทำโฆษณาให้ หากเป็นร้านอาหารเมื่อผู้บริโภคเปิดเข้ามาหาร้านอาหารแล้วเห็นชื่อร้านเราอยู่ใกล้กับร้านที่เขาหา ก็ทำให้เขาจดจำร้านของเราไปด้วย ถึงยังไม่สั่งจากร้านเราในครั้งนี้ ก็อาจสั่งในครั้งถัดไปเพราะชื่อร้านเราติดอยู่ในหัวเขาแล้ว”
 




     2. ปรับสินค้า
มองดูสินค้าของตัวเองว่าเป็นไปได้ไหมที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปผลิตสินค้าที่มีความต้องการสูงในปัจจุบัน แต่ในกรณีที่ไม่สามารถปรับไลน์ผลิตได้ อาจจะมองถึงการปรับขนาดสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ให้เล็กลง ราคาก็จะลดลง ทำให้มีโอกาสขายได้มากขึ้นหรือลดลงต้นทุนลงได้ด้วย 


     บรรยงบอกว่า การทำธุรกิจไม่ว่าตรงไหนก็ตามที่มีกระบวนการ (Process) ก็สามารถประยุกต์ใช้เรื่อง Lean ได้ทั้งนั้น ซึ่งโดยปกติ SME มักเน้นมองเรื่องการจัดการหน้าบ้าน จนลืมมองกระบวนการหลังบ้านที่มีต้นทุนแฝงอยู่เยอะมาก ซึ่งหากนำหลักการ Lean มาใช้จะช่วยลดต้นทุนโดยที่ไม่ลดคุณภาพของสินค้าลงได้ โดยมีหลักการสำคัญคือต้องหาให้เจอว่าในกระบวนการผลิตนั้นมีความสูญเสีย (Waste) อยู่ที่ใดบ้าง
 




     ลองสมมติว่าตัวเองเป็นลูกค้า แล้วเดินดูทีละขั้นตอนของกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้น เช่น หากผลิตขนม ก็เดินดูกระบวนการตั้งแต่รับวัตถุดิบ การตรวจสอบคุณภาพ สายการผลิต จนกระทั่งบรรจุภัณฑ์ แล้วถามตัวเองหากเป็นลูกค้าจะยอมจ่ายให้แต่ละขั้นตอนนั้นหรือไม่ เช่น การตรวจสอบคุณภาพซ้ำ 2 ครั้งเพื่อความมั่นใจในสินค้าทำให้มีต้นทุนเพิ่มมากขึ้นและทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น หากตอบตัวเองว่าไม่ยอมจ่าย เพราะเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตที่ต้องผลิตให้ดีซึ่งจะทำให้ไม่ต้องตรวจสอบเยอะ ก็จะสามารถกำจัดขั้นตอนนั้นออกไป เป็นการลดความสูญเปล่าในกระบวนการผลิต


     ปัญหาของผู้ประกอบการ คือ ความเคยชินกับกระบวนการทำงานปกติ ส่วนใหญ่มักมองไม่ค่อยออกว่าจะปรับปรุงการทำงานอย่างไร เมื่อพูดถึงการลดต้นทุนก็มักนึกถึงการลดแรงงานคน หรือ ลดคุณภาพสินค้าและบริการ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วควรลดความสูญเปล่าหรือสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นต้องทำ


     ในธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ต้นทุนหลักๆ มักมาจากค่าแรงงาน บรรยงแนะนำให้ผู้ประกอบการมองหา “คอขวด” (Bottle Neck) ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการผลิต ยกตัวอย่างโรงงานผลิตน้ำดื่มที่สามารถผลิตได้วันละ 1,000 ขวด ควรต้องหาให้เจอว่าจำนวน 1,000 ขวดเกิดขึ้นที่กระบวนการไหน เช่น หากมีการผลิต 3 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกผลิตได้ 1,500 ขวด ขั้นตอนที่ 2 ทำได้ 1,000 ขวด และขั้นตอนที่ 3 บรรจุน้ำดื่มได้ 1,200 ขวด แสดงว่าคอขวดของการผลิตอยู่ที่ขั้นตอนที่ 2 หากอยากมียอดขายมากกว่า 1,000 ขวดก็ไปขยายการผลิตที่จุดที่ 2





     คำถามต่อมาคือ จะขยายการผลิตโดยไม่เพิ่มต้นทุนได้อย่างไร ถ้าหากพิจารณาจากการทำธุรกิจที่ใช้แรงงานเป็นหลัก การใช้วิธี Line Balancing ย้ายคนจากจุดที่มีกำลังการผลิตเกินอย่างขั้นตอนที่ 1 หรือขั้นตอนที่ 3 มาเพิ่มกำลังการผลิตที่ขั้นตอนที่ 2 มากขึ้น ก็จะทำให้ไลน์การผลิตเกิดความสมดุล กำลังการผลิตสูงขึ้นโดยที่ไม่ต้องเพิ่มต้นทุนอะไรเลย เป็นอีกหนึ่งเทคนิคการบริหารจัดการที่ผู้ประกอบการควรนำไปพิจารณา


     ในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว สิ่งที่ได้เพิ่มเติมจากการทำกระบวนการ Lean ในตอนนี้ ธุรกิจจะได้คนทำงานที่มีทักษะหลากหลายมากขึ้น (Multi-skill) หากมีการสลับสับเปลี่ยนหน้าที่ หรือความต้องการสินค้าเปลี่ยนก็สามารถสลับคนมาทำงานได้ทุกจุด ก็จะเป็นผลดีกับธุรกิจได้มากขึ้น
 
 

 www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย