“มณีอินเนอร์แวร์” ผู้ใช้เวลา 2 สัปดาห์ พลิกธุรกิจชุดชั้นในสู่ ‘หน้ากากผ้าสะท้อนน้ำ’

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
 
  • ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ แถมยังเป็นสัปดาห์ที่กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์วิกฤต คุณคิดว่าจะสามารถสร้างสรรค์อะไรให้เกิดขึ้นได้บ้าง
 
  • สำหรับ “มณีอินเนอร์แวร์” ผู้ผลิตชุดชั้นในสตรี และแอคทีฟแวร์ ที่อยู่ในตลาดมากว่า 15 ปี พวกเขาใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ พลิกธุรกิจเดิม มาทำหน้ากากผ้าปิดจมูก ก่อนต่อยอดสู้นวัตกรรมหน้ากากผ้าสะท้อนน้ำ สนองบุคลากรทางการแพทย์ ในสถานการณ์โควิด-19ได้อย่างเยี่ยมยุทธ์



     ระหว่างที่เจอกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 หลายคนจมอยู่กับความบอบช้ำ บางคนเลือกที่จะอยู่นิ่งๆ เพื่อรอให้วิกฤตพ้นผ่าน แต่สำหรับบางคนกลับเลือกใช้นาทีนั้นแจ้งเกิดธุรกิจใหม่ เพื่อให้กิจการที่สร้างมายังคงอยู่รอดและเติบโตได้ท่ามกลางวิกฤตร้อน


     เรากำลังพูดถึง “มณีอินเนอร์แวร์” ผู้ผลิตชุดชั้นในสตรี และแอคทีฟแวร์ ที่ใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ในการพลิกธุรกิจเดิม มาทำหน้ากากผ้าปิดจมูก ก่อนต่อยอดสู้หน้ากากผ้าสะท้อนน้ำ นวัตกรรมใหม่ที่ป้องกันสารคัดหลั่งและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนองบุคลากรทางการแพทย์ ในสถานการณ์โควิดได้อย่างเยี่ยมยุทธ์





     เบื้องหลังการปรับตัว มาจากผู้ประกอบการนักสู้ที่ชื่อ “มณี เจนจรรยา” กรรมการ บริษัท มณีอินเนอร์แวร์ จำกัด อดีตพนักงาน บมจ.ไอ.ซี.ซี อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ทำงานกับแบรนด์ชุดชั้นในวาโก้ (Wacoal) มากว่าสิบปี ภายหลังสามีรู้จักกับคนไต้หวันจึงลาออกมาลงทุนทำธุรกิจชุดชั้นในร่วมกัน ก่อนแยกตัวออกมาทำ “มณีอินเนอร์แวร์” ซึ่งนับถึงวันนี้ก็อยู่ในตลาดมากว่า 15 ปีแล้ว 


     โควิด-19 เป็นวิกฤตที่หนักหน่วง แต่ก็ไม่ใช่วิกฤตแรกของ มณีอินเนอร์แวร์ เธอเล่าให้ฟังว่า ธุรกิจเดิมคือการเป็นโออีเอ็มผลิตชุดชั้นในให้กับลูกค้าในตลาดโลก ในช่วงหนึ่งธุรกิจชุดชั้นในมีปัญหา โดยตลาดโลกเริ่มไม่ดี ลูกค้าซื้อได้น้อยลง ขณะที่ยังต้องไปสู้กับคู่แข่งอย่างจีน และเวียดนาม ที่มีกำลังการผลิตสูงลิ่ว และค่าแรงถูกกว่า แตกต่างจากโรงงานผลิตไทยๆ ที่พวกเขาทำได้จำนวนน้อย แถมต้นทุนแพง ถ้ายังขายในราคาถูกก็คงสู้กับยักษ์ในตลาดโลกไม่ได้
การปรับตัวแรกจึงพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากชุดชั้นในธรรมดา ก็ปรับมาเป็นชุดชั้นในสตรีเกรดพรีเมียม  เพื่อให้สอดคล้องกับค่าแรงและข้อจำกัดด้านกำลังการผลิตที่มีอยู่





     เวลาเดียวกันก็หาโอกาสใหม่ๆ จากผลิตภัณฑ์ที่ตลาดกำลังต้องการ นั่นคือ แอคทีฟแวร์  หรือเสื้อผ้าออกกำลังกาย ทำให้ธุรกิจที่จะตกไปตามตลาดโลก พอมีช่องทางให้ยังคงเติบโตได้ กิจการเล็กๆ จึงประคับประคองตัวเองมาได้เรื่อยๆ โดยมีแรงงานอยู่ประมาณ 100 คน มีลูกค้าหลักคือ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร  ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส มีสัดส่วนส่งออกอยู่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือทำตลาดในประเทศ
               

     แต่โควิด-19 เป็นวิกฤตที่ดูจะหนักหน่วงกว่าทุกรอบที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการปิดห้างสรรพสินค้า เส้นเลือดหลักที่หล่อเลี้ยง มณีอินเนอร์แวร์ ก็หยุดลงแค่นั้น
               

     มณีเล่าให้เราฟังว่า ตลาดหลักของเธอ คือร้านค้าที่จำหน่ายอยู่ในห้างสรรพสินค้าต่างๆ เมื่อห้างปิดทำให้ส่งสินค้าให้ลูกค้าไม่ได้ ธุรกิจจึงหยุดชะงักตามไปด้วย
               

     หลายคนเจอสถานการณ์นี้อาจเลือกที่จะอยู่นิ่งๆ เพื่อรอโชคชะตาจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ไม่ใช่กับมณีอินเนอร์แวร์ เพราะในเวลา 2 สัปดาห์ ที่เริ่มเห็นสัญญาณโควิด-19 พ่นพิษหนัก สิ่งที่พวกเขาทำคือปรับไลน์การผลิตชุดชั้นในและแอคทีฟแวร์ มาออกผลิตภัณฑ์ใหม่หน้ากากผ้าปิดจมูกสินค้าสุดฮิตในโควิด-19
               

     มณีบอกว่าเมื่อสินค้าเดิมทำไปก็ไม่มีตลาด แต่ภาระขององค์กรคือยังมีลูกน้องต้องดูแล เธอจึงกลับมามองต้นทุนที่มีพบว่า พนักงานมีทักษะในการเย็บที่ดีมากอยู่แล้ว เพราะการทำชุดชั้นในเป็นงานละเอียด และหลายขั้นตอน  จึงเห็นโอกาสที่จะทำผ้าปิดจมูก เลยลองทำแพทเทิร์นแล้วไปเสนอลูกค้าดู เริ่มต้นก็เลือกใช้ผ้าที่มีคุณภาพดี เกรดพรีเมี่ยม มาทำหน้ากาก เช่น ผ้าอ้อมเด็ก ผ้าสาลู ผ้ามัสลิน
               




     จากนั้นก็ได้ร่วมกิจกรรมการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หน้ากากผ้ากับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงได้พัฒนานวัตกรรม “หน้ากากผ้าสะท้อนน้ำ” ป้องกันสารคัดหลั่งจากการไอ จาม เสมหะ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะปราศจากสารประกอบฟูลออโรคาร์บอนที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดยตอบโจทย์เรื่องดีไซน์ที่สวยงามตามความเชี่ยวชาญของมณีอินเนอร์แวร์อีกด้วย โดยสามารถผลิตได้ถึง 40,000 ชิ้นต่อเดือน
               

     เส้นเลือดที่เคยถูกตัดขาด เลยมีเลือดเส้นใหม่เข้ามาหล่อเลี้ยง แถมยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตลาดกำลังต้องการอย่างสูงมากในวันนี้
               

     เมื่อถามว่าทำไมถึงปรับตัวได้เร็ว ทั้งที่เจอวิกฤตมาอย่างหนักหน่วง เธอบอกว่า
               

     “ท้องหิว เลยต้องพยายาม”
               




     และย้ำว่า ไม่ท้อ เพราะชีวิตต้องเดินต่อ แม้การทำหน้ากากผ้า อาจไม่ได้ทำให้มีกำไรมากมาย แต่เธอมองว่า อย่างน้อยก็ยังมีรายได้หล่อเลี้ยงลูกน้อง สามารถรักษาตัวธุรกิจไว้ได้ และยังได้ร่วมทำบุญโดยนำสินค้าไปบริจาคให้หมอและบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลที่ขาดแคลน ที่สำคัญยังเห็นโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่สินค้าใหม่เพื่อสร้างรายได้ในอนาคตได้อีกด้วย
               

     เมื่อถามว่าแผนธุรกิจของมณีอินเนอร์แวร์จากนี้คืออะไร เธอบอกแค่ว่า คงไม่ใช่การวางแผนยาวๆ อีกต่อไป แต่ต้องทำทุกอย่างในตอนนี้ให้ดีอย่างต่อเนื่อง เธอว่า วันนี้หลายๆ ธุรกิจถูกหักปากกาเซียนไปหมดแล้ว ยุคนี้เป็นการสร้างตำราเล่มใหม่ และแน่นอนว่ามณีอินเนอร์แวร์ก็จะสู้ด้วยตำราที่มาจากการเรียนรู้ของพวกเขาในวันนี้
               

     ระหว่างที่หลายคนกำลังบอบช้ำกับโควิด-19 และหวาดกลัวกับอนาคต ทำอย่างไรให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน มณีบอกหัวใจ 3 ข้อ นั่นคือ
               
  •      หนึ่งใจต้องสู้
               
  •      สองต้องมองรอบข้างว่าเขาไปทางไหน
 
  •      สามต้องก้าวเดินไปตามทางที่มองว่าดี ตามกำลังความสามารถที่มี สุดท้ายก็จะสำเร็จเอง
               

     เธอทิ้งท้ายไว้แค่นั้น



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย