คุยกับ “Scooter Barber Shop” ร้านตัดผมอินดี้เมืองเลย ในวันที่โควิดฯ มาเยือน

TEXT & PHOTO : นิตยา สุเรียมมา
 
 

 
 
Main Idea
 
  • ในสถานการณ์ที่ COVID-19 กำลังระบาดหนักเช่นเวลานี้ ทำให้หลายอาชีพหลายธุรกิจต้องได้รับผลกระทบต่อเนื่องไปตามๆ กัน หนึ่งในนั้น คือ “ธุรกิจร้านตัดผม” ที่ถูกสั่งปิดหรือให้จำกัดผู้เข้าใช้บริการ ส่งผลต่อรายได้ที่ลดลงเป็นจำนวนมาก
 
  • “Scooter Barber Shop” ร้านตัดผมอินดี้เล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ตัวเมืองจังหวัดเลย คืออีกหนึ่งร้านที่ได้รับผลกระทบ จากปกติมีลูกค้าวันละ 40 - 50 คน ต้องจำกัดเหลือเพียงแค่ 5 คน! ในวันที่ไวรัสตัวร้ายย่างกรายมาเยือนเช่นนี้ พวกเขาต้องปรับตัวอย่างไรไปหาคำตอบกัน
 
 
      
         
     จากถนนนกแก้วในตัวเมืองจังหวัดเลย ขับลัดเลาะไปตามถนนเลียบคลองชลประทาน ก่อนจะเลี้ยวขวาและเลี้ยวซ้ายอีกสัก 2-3 ที คือ ที่ตั้งของ “Scooter Barber Shop” ร้านตัดผมชายที่ซ่อนตัวอยู่ในชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งแม้เส้นทางจะยากสลับซับซ้อน ตัวร้านไม่ได้ตั้งอยู่ติดริมถนนใหญ่ แต่ในวันหนึ่งๆ ก็มีลูกค้าทั้งขาจรและประจำแวะเวียนมาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 40 – 50 คนทีเดียว ทว่าเมื่อสถานการณ์ COVID-19  ระบาดจากร้านที่เคยคึกคักรับลูกค้าได้ครึ่งชั่วโมงต่อ 1 คน ธนพล สุพรมอินทร์ หรือ “เบนซ์” หนุ่มอินดี้เจ้าของร้านกลับเลือกที่จะรับลูกค้าให้เหลือเพียงวันละ 5 คน เพื่อลดความสุ่มเสี่ยงและความปลอดภัยทั้งต่อตัวเขาและลูกค้าเอง กระทั่งมีนโยบายจากภาครัฐประกาศออกมาจนต้องปิดพักกิจการไปชั่วคราวอย่างในวันนี้ก็ตามที
               




     “ที่ร้านจะมีช่างทั้งหมด 3 คนรวมตัวผมด้วย ปกติวันหนึ่งเราจะรับลูกค้าอยู่ที่ประมาณ 40 - 50 คน เปิดร้านตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 2 ทุ่มทุกวัน ใช้เวลาตัดเฉลี่ยครึ่งชั่วโมงต่อ 1 คน ซึ่งเรามีบริการครบวงจรทั้งบาร์เบอร์และชาลอน ตัดได้ทั้งผมผู้ชาย และผู้หญิง ตัด สระ เซ็ต ซอย ยืดผม ทำสีครบทุกอย่าง พนักงานที่นี่ไม่มีเงินเดือน แต่จะใช้วิธีแบ่งกันคนละครึ่ง 50  : 50 สมมติทำได้ 1,000 บาท ก็เอาไปเลย 500 บาท อีกครึ่งก็แบ่งเป็นรายได้ให้ร้าน นอกจากตัดที่ร้านเรายังมีบริการเดลิเวอรีรับตัดถึงที่บ้านให้ด้วยในพื้นที่ตัวเมืองเลย สำหรับลูกค้าที่ไม่ว่างมาตัดที่ร้าน"
               




     จากร้านที่เคยรับคนได้เนืองแน่น ก่อนหน้าที่จะถูกสั่งปิดงดให้บริการ พวกเขาปรับกลยุทธ์รับ COVID-19 ด้วยการเปิดให้บริการรับตัดแค่วันละ 5 คน และทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด คือ ตัดในพื้นที่เปิดและห้ามไม่ให้แออัด


     “ถ้าไม่ร้อนเกินไปเราก็ปิดแอร์ เปิดหน้าต่าง เปิดพัดลมตัด เวลาตัดอยู่ในร้านก็ให้มีแค่ช่าง 1 คน และลูกค้า 1 คนเท่านั้น เวลาตัดก็ให้ใส่แมสก์ ใส่ถุงมือ ห้ามไม่ให้มีลูกค้าเข้ามานั่งรอในร้าน ตอนนี้ก็เลยใช้ระบบให้โทรเข้ามาจองคิว ถึงเวลาก็มาเลย ไม่ต้องมานั่งรอก่อน จากเฉลี่ยเคยตัดครึ่งชั่วโมงต่อ 1 คน ก็เปลี่ยนเป็นคนละชั่วโมงแทน เพื่อให้เราได้มีเวลาทำความสะอาดร้าน เช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์เตรียมพร้อมสำหรับลูกค้าคนต่อไปทุกครั้ง พอครบ 5 คน ก็ปิดร้านเลย เพื่อลดความเสี่ยง ส่วนพนักงานอีก 2 คนที่ร้านในตอนนี้ก็ให้เขารับจ้างตัดอยู่ที่บ้านได้เลยดูแลตัวเองกันไป รายได้ได้มาก็ไม่ต้องแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้ร้าน” เขาบอก
               




     หากไม่นับรวมเหตุการณ์จากไวรัส COVID-19  ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ Scooter Barber Shop ถือเป็นอีกร้านตัดผมในตัวเมืองเลยที่มีความน่าสนใจหากอยากมาใช้บริการรวมถึงเรื่องราวของตัวธุรกิจเอง ตั้งแต่การจัดตกแต่งร้านที่โดดเด่น การดึงลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการได้มากกว่า 40 – 50 คน ทั้งที่ไม่ได้ตั้งอยู่ติดริมถนนใหญ่ การเดินทางมาก็ค่อนข้างซับซ้อน แถมตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนเล็กๆ ที่ไม่คิดว่าน่าจะมีลูกค้าแวะเข้ามาใช้บริการได้มากขนาดนี้
               




     เบนซ์เล่าให้ฟังว่าที่ตั้งร้านในปัจจุบันนี้ คือที่ดินส่วนหนึ่งในบริเวณบ้านของเขาเอง เริ่มจากความตั้งใจของคุณแม่ที่ไม่อยากให้ออกไปเปิดร้านทำธุรกิจไกลๆ ที่ไหนอีก จึงแนะนำให้ลองเปิดที่บ้าน แรกๆ ก็คิดแค่ว่าให้พอค่าข้าวค่าน้ำค่าไฟ แต่ด้วยสไตล์การทำงานที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และไม่หยุดเรียนรู้นำสิ่งใหม่ๆ มาเสนอให้กับลูกค้าอยู่เสมอ การพัฒนาให้รับตัดผมได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง การมีบริการให้เลือกแบบครบวงจร จึงทำให้เขาสามารถสั่งสมลูกค้าประจำมาได้เป็นหลายร้อยคน และสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่องทั้งขาประจำและขาจร
               




     “ที่นี่หากเฉลี่ยลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ คือลูกค้าขาประจำ อีก 10 เปอร์เซ็นต์ คือลูกค้าขาจรที่มาทำธุระที่เมืองเลยบ้าง บางคนก็เป็นนักท่องเที่ยวและอยากหาร้านตัดผม ซึ่งพอเขาลองเสิร์ชในกูเกิลจะเห็นร้านเราแรกๆ ก็เลยแวะเข้ามาใช้บริการ ซึ่งด้วยทำเลจริงๆ ของเราเรียกว่ามายากทีเดียว หลายคนมาครั้งแรกก็บ่น แต่เพราะเขาเชื่อใจ ก็เลยมาใช้บริการ พอได้มาลองตัดครั้งหนึ่งแล้วชอบ ก็เลยมาประจำต่อเนื่องเรื่อยๆ ซึ่งลูกค้าของเรามีทั้งนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน มาเป็นครอบครัวก็มี เพราะเราสามารถทำได้ทุกอย่างไม่ว่าตัดผมผู้หญิงหรือผู้ชาย มาที่เดียวก็ครบจบเลย ไม่ต้องไปหลายร้าน”
               




     โดยเบนซ์เล่าย้อนที่มาของการเริ่มต้นอาชีพช่างตัดผมให้ฟังว่า ตัวเขาเองเป็นคนชอบเซ็ตจัดทรงผมและเข้าร้านตัดผมอยู่บ่อยๆ เฉลี่ยเดือนละ 2 – 3 ครั้ง จนมาเจอเพื่อนที่เป็นช่างทำผมจึงให้ช่วยสอนให้ จากนั้นก็หุ้นทำธุรกิจเปิดร้านตัดขึ้นมา จนเริ่มอิ่มตัวและตัวเขาเองเริ่มมีครอบครัวมีลูก จึงได้แยกออกมาเปิดร้านของตัวเองอยู่ที่บ้าน
               

     “ผมเป็นคนชอบตัดแต่งทรงผมตัวเองมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ตอนมัธยมก็มีลองตัดให้เพื่อนแลกค่าขนมค่าน้ำกินเล่นบ้าง จนโตขึ้นแรกๆ ก็ลองทำอาชีพอื่นมาหลายอย่างด้วยกัน อาทิ เปิดร้านกาแฟ ขายเสื้อผ้า รับราชการ จนสุดท้ายก็มาลองเป็นช่างตัดผม เพราะเป็นสิ่งที่ชอบ ไม่คิดเหมือนกันว่าจะเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ดีจนถึงทุกวันนี้”
               




     อย่างที่เล่าไปว่าที่นี่สามารถตัดผมได้หลากหลายรูปแบบ รับลูกค้าได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งถือเป็นการสร้างโอกาสธุรกิจ แต่เบนซ์เล่าว่าลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้บริการก็ยังเป็นผู้ชายมากกว่าหรือถ้าเป็นผู้หญิงก็นิยมมาตัดทรงสั้น โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร้านของเขามีลูกค้าเข้ามาใช้บริการต่อวันค่อนข้างมาก เป็นเพราะโดยเฉลี่ยแล้วลูกค้าผู้ชายจะนิยมตัดผมถี่กว่าลูกค้าผู้หญิง โดยเฉลี่ย คือ เดือนละ 1 ครั้ง จำนวนลูกค้าจึงเยอะกว่าร้านซาลอนที่รับตัดผมลูกค้าผู้หญิงทั่วไป และด้วยความที่เป็นผมสั้นจึงทำได้ง่ายกว่า ตัดได้รวดเร็วกว่า เฉลี่ย 1 หัวต่อครึ่งชั่วโมงก็เสร็จแล้ว จึงทำให้ได้ปริมาณลูกค้าเยอะกว่า แต่ขณะเดียวกันราคาค่าบริการก็ถูกกว่าด้วย โดยเริ่มต้นที่ 80 – 160 บาท สำหรับการตัดและเซ็ตผมทั่วไป               
               




     นอกจากความครบครันในการให้บริการ ที่นี่ยังมีสไตล์การตกแต่งร้านที่เป็นเอกลักษณ์น่าสนใจ รวมถึงการสร้างกิมมิกเล็กๆ น้อยๆ ให้กับร้าน ยกตัวอย่าง การตกแต่งร้านด้วยข้าวของวินเทจ เช่น เก้าอี้ตัดผมเก่า การเพนต์ลายผนัง การตั้งชื่อเมนูให้บริการไม่เหมือนใคร เช่น หล่อวินเทจ ก็คือทรงวินเทจ, หล่อเบาๆ คือ ทรงนักเรียน, หล่อมาก คือ สระ ตัด เซ็ต, หล่อหยิกๆ คือ ดัดหยิก เป็นต้น
               

     และนี่คือหนึ่งในเรื่องราวของธุรกิจที่เราอยากนำเสนอเพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการที่กำลังผจญกับพิษ COVID-19  จนมองไม่เห็นทางออก เพื่อที่จะได้มีพลังข้ามผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปพร้อมกัน ถึงแม้ในวันนี้ร้าน Scooter Barber Shop จะต้องพักปิดให้บริการชั่วคราวไปก่อนก็ตาม
               




     “จริงๆ ตอนแรกที่ได้ข่าวการระบาด ก็เริ่มกลัวนะ แต่ที่ตอนนั้นยังตัดสินใจเปิดอยู่ เหตุผลเรื่องรายได้ก็แค่ส่วนหนึ่ง  วัตถุประสงค์หลักมาจากเสียงเรียกร้องจากลูกค้ามากกว่า แต่เราก็ต้องเตรียมพร้อมเซฟตัวเองและเซฟลูกค้าด้วย ทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด แต่ตอนนี้ คือ ขอปิดไปก่อนทำตามประกาศมาตรการของภาครัฐที่ขอความร่วมมือมา ยังไงก็เพื่อเซฟตัวเองเซฟครอบครัวไว้ก่อนดีกว่า ช่วงนี้ก็ถือว่าพักผ่อนกันไป ได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ก็ถือเป็นสิ่งที่ดีแล้ว” หนุ่มช่างตัดผมอินดี้ฝากทิ้งท้ายไว้
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย