PHOTO : Wasoo
Main Idea
- ยิ่งโลกร้อนมากขึ้นเท่าไหร่? แผ่นฉนวนกันความร้อนก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น สำหรับที่พักอาศัย โดยเฉพาะสถานการณ์ในปัจจุบันที่เราต้องทำงานอยู่บ้านแทนการไปออฟฟิศ ดังนั้นจึงต้องหาอุปกรณ์เพื่อช่วยดับความร้อนที่เกิดขึ้นทั้งกายและใจ
- Wasoo คือแบรนด์รักษ์โลกจากเชียงใหม่ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ พวกเขาได้นำเอาฟางข้าวมาผสมกับกระดาษเหลือใช้เพื่อสร้างเป็นแผ่นกันความร้อนและแผ่นซับเสียง ที่ไม่เพียงดีต่อโลกเท่านั้น หากแต่ยังดีต่อสุขภาพของผู้ใช้งานอีกด้วย
ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์รักษ์โลกออกมามากมายหลากหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากวัสดุทดแทนพลาสติก บางผลิตภัณฑ์ถูกสร้างมาจากขยะทั้งบนบกและในน้ำ หรือสิ่งของเหลือใช้ที่จะต้องถูกทิ้งหรือกำจัดในอนาคต ซึ่งการนำพวกมันมาใช้ใหม่ ไม่เพียงช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่านั้น ทว่ายังเป็นการสร้างจุดเด่นเพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อโลกซึ่งมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้อีกด้วย
Wasoo เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่หันมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากสิ่งของเหลือใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรอย่าง “ฟางข้าว” เพราะแม้ว่าพวกมันจะถูกนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์หรือนำไปทำเป็นปุ๋ยชีวภาพได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณทั้งหมดเท่านั้น ส่งผลส่วนที่เหลือจะต้องถูกเผาทำลายอันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนอย่างเลี่ยงไม่ได้ wasoo จึงได้กลายร่างฟางข้าวสู่ผลิตภัณฑ์ตกแต่งผนังที่มีคุณสมบัติพิเศษอย่าง การดูดซับเสียงและเป็นฉนวนกันความร้อนได้ถึง 23 องศาเซลเซียส ในความหนาเพียงแค่ 1 เซนติเมตรเท่านั้น
“กรรจิต นาตไตรภพ” เจ้าของแบรนด์เล่าถึงที่มาให้ฟังเราว่า เริ่มแรกนั้นเธอได้มีการวิจัยผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นฉนวนกันความร้อนคุณภาพดีที่ทำมาจากฟางข้าวและใช้กระดาษรีไซเคิลเป็นตัวประสาน ซึ่งยังมาพร้อมคุณสมบัติกันความร้อนได้ดีกว่าฉนวนกันความร้อนที่มีขายในท้องตลาดอย่าง ใยแก้ว โฟม หรือพลาสติก ซึ่งวัสดุเหล่านั้นไม่เพียงไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น หากแต่ยังทำลายสุขภาพของผู้อยู่อาศัยอีกด้วย
ด้วยคุณสมบัติที่เชื่อว่าดีและตอบโจทย์ทั้งผู้ใช้และโลก เธอจึงคาดหวังว่าแบรนด์คงต้องไปได้ดี แต่ทว่ากลับไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เมื่อในเวลานั้นผู้คนไม่ยังค่อยเล็งเห็นถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและใส่ใจสุขภาพเท่ากับปัจจุบัน จึงทำให้งานชิ้นนั้นถูกปัดตกไปหลายครั้ง
“เมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อน เรื่องของกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมยังไม่มากเท่าตอนนี้ และคนก็ไม่ค่อยป่วยเพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นเมื่อเราไปเสนอฉนวนกันความร้อนที่ดีต่อสุขภาพกับผู้รับเหมาหรือว่าสถาปนิกเขาก็ไม่ได้สนใจในประเด็นนี้มากนัก เขาบอกว่าใยแก้วที่นำมาใช้จะถูกติดกับฝ้าเพดานและจะไม่ตกลงมาสร้างผลกระทบให้กับผู้ใช้งานแน่นอน ในเวลานั้นก็เลยรู้สึกว่างานนี้มันขายยากพอสมควร จากนั้นไม่นานเราก็ได้ผลวิจัยอีกหนึ่งตัวคือความสามารถในการซับเสียงก้องสะท้อนในห้องได้ ในช่วงแรกเราจึงชูเรื่องการเป็นวัสดุในการซับเสียงก่อนเพราะได้รับความสนใจมากกว่า” เธอเล่าถึงเส้นทางที่ไม่ได้ง่าย
ทว่าเมื่อเทรนด์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น บวกกับโลกที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ จึงส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่เคยอยู่นอกสายตา กลายเป็นที่สนใจมากขึ้น โดยเฉพาะความสามารถในการกันความร้อนได้ถึง 23 องศาเซลเซียส ในความหนาเพียงหนึ่งเซนติเมตร ซึ่งมีคุณสมบัติพอๆ กับใยแก้วที่มีความหนาถึง 3 นิ้ว ด้วยความบางและน้ำหนักเบา จึงเพิ่มพื้นที่ในการใช้งานได้มากกว่า อีกทั้งยังสามารถซับเสียงก้องสะท้อนในห้องได้ ซ้ำยังเป็นวัสดุไม่ก่อให้เกิดการลามไฟ ปลวกไม่กิน และยังนำไปรีไซเคิลต่อเป็นปุ๋ยให้ดินได้เมื่อไม่ต้องใช้งานพวกมันอีกแล้ว
กรรจิต เล่าต่อว่า นอกจากวัสดุอย่างฟางข้าว ก็ได้มีการนำกะลากาแฟ (เยื้อหุ้มกาแฟ) มาใช้ในผลิตภัณฑ์อีกด้วย
“ที่ผ่านมาเชียงใหม่เราถูกส่งเสริมให้มีการปลูกกาแฟ อีกทั้งประเทศไทยยังมีการส่งออกกาแฟสูงถึง 300 ตันต่อปี ขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคในประเทศก็มีมากถึง 700 ตันต่อปี จึงส่งผลให้มีกะลากาแฟถูกทิ้งทุกวัน ซึ่งกะลากาแฟนั้นเป็นวัสดุเหลือใช้ที่ย่อยสลายได้ยาก เราจึงได้ทดลองนำมาทำแผนฉนวนกันร้อนที่สามารถให้คุณสมบัติใกล้เคียงกับฟางข้าว แต่ให้พื้นผิวที่ต่างออกไป ดังนั้นแผ่นฟางข้าวและแผ่นกะลากาแฟ จึงมีพื้นผิวแตกต่างกัน”
จากคุณสมบัติที่ใช่ สู่พื้นผิวที่แตกต่าง วันนี้เธอยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีสารเคลือบผิวโดยใช้ครั่งและมีการใช้สีจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยสีที่นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์มีทั้งหมด 5 สี คือ สีดำจากมะเกลือ สีน้ำเงินจากฮ่อมหรือคราม สีแดงจากฝาง สีเขียวจากเพกาผสมฮ่อมหรือคราม และสีม่วงจากฝางผสมฮ่อมหรือครามนั่นเอง
ผลิตภัณฑ์น้ำดีที่ใส่ใจต่อโลกและสุขภาพของผู้คน รับประกันคุณภาพและความปลอดภัยด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศนวัตกรรมข้าวไทยปี 2560 สาขาอุตสาหกรรมโดยมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และยังคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จาก nsb innovation award 2006 10 โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มาครองได้อีกด้วย
ในอนาคตกรรจิตมีเป้าหมายที่ต้องการสร้างธนาคารฟางข้าว โดยเป็นการร่วมกันทำงานกับเทศบาล ด้วยการรับซื้อฟางข้าวจากชาวนาเพื่อเพิ่มมูลค่าฟางข้าวให้กับเกษตรกรได้นำมาขายและลดการเผาทุกครั้งหลังจากเก็บเกี่ยวนั่นเอง
นี่คือตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า วันนี้ยังมีโอกาสทางธุรกิจให้กับผลิตภัณฑ์รักษ์โลกอีกมาย ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการว่าจะสังเกตเห็นช่องว่างและโอกาสที่มีอยู่มากน้อยแค่ไหน โดยเริ่มจากมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น และลงมือสร้างสรรค์วิธีแก้ด้วยผลงานในเชิงธุรกิจ บางทีการที่เราอยากทำเพื่อส่วนรวมก็อาจสร้างผลิตภัณฑ์ที่พลิกความสำเร็จให้กับเรา เหมือนที่ Wasoo ค้นพบในวันนี้ก็เป็นได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี