“ผมมองว่าอาหารก็คือยา อาหารยิ่งบริสุทธิ์มากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นยาอายุวัฒนะมากเท่านั้น” นี่คือสิ่งที่ ธนเดช แสงวัฒนกุล เจ้าของอุดมชัยฟาร์ม ฟาร์มไก่ไข่แห่งหนึ่งในสระบุรีได้แสดงความเห็นออกมาหลังจากฟาร์มของเขาเคยผ่านวิกฤตไข้หวัดนกระบาดในเมืองไทย เมื่อประมาณปี 2546 จนต้องประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงใหม่ทั้งหมด แต่ใครจะไปคาดคิดกันล่ะว่าฟาร์มไก่อุดมชัยที่ครั้งหนึ่งเคยมีแม่ไก่จำนวนครึ่งล้าน จะยอมดาวน์ไซส์ธุรกิจของตัวเองให้เล็กลงจนเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์
“เมื่อจำนวนไก่มีน้อยลง แต่พื้นที่ในการเลี้ยงมีเท่าเดิม เราก็สามารถดูแลไก่ที่เหลือ 5 หมื่นตัวได้อย่างเต็มที่และมีคุณภาพ นอกจากนั้น เรายังตั้งใจว่าจะเลี้ยงไก่แบบออร์แกนิก หรือการเลี้ยงไก่แบบอินทรีย์ ซึ่งต้องเริ่มจากการคัดเลือกวัตถุดิบหรืออาหารสัตว์ที่ไม่ใช่จีเอ็มโอ ไม่ใช้สารเคมี ยาเร่งและยาปฏิชีวนะกับไก่ จุดนี้ผมมองว่ามันเป็นการประกอบธุรกิจที่ตอบโจทย์ในแง่ของความสุข และยังตอบแทนสังคมด้วยสินค้าที่มีคุณภาพ ปราศจากสารปนเปื้อน”
ในมุมมองของ ธนเดช อาหารถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เขาจึงพยายามให้แม่ไก่ได้กินอาหารอย่างมีความสุข พร้อมกับเน้นย้ำตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าต้องไม่โกงอาหารแม่ไก่ เพราะโดยทั่วไปการเลี้ยงไก่ในเชิงพาณิชย์ ผู้ประกอบการมักจะลดต้นทุนของอาหารด้วยการใช้มันสำปะหลังแทนข้าวโพด แต่ผู้เลี้ยงมักลืมคิดว่าอาหารราคาถูกอาจไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายของไก่เสมอไป ถ้าเปรียบให้เห็นภาพก็คือ คนที่ได้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่กับไม่ครบ ถ้าตั้งครรภ์แล้วคลอดบุตรออกมา บุตรย่อมมีความแข็งแรงต่างกัน
ดังนั้น ถ้าไม่โกงอาหารสัตว์ ไก่ในฟาร์มได้กินอาหารที่ดี เลี้ยงดูให้เขามีความสุข ปลอดโรค และสารเคมี ไข่ที่ออกมาก็มีความปลอดภัยในแง่ของไข่ที่ปราศจากสารตกค้างตามไปด้วยนั่นเอง และนี่จึงเป็นที่มาของฉายา ฟาร์มไข่ไก่อารมณ์ดี
ประกอบกับในปี 2548 ที่เจ้าของฟาร์มอุดมชัยเริ่มต้นการเลี้ยงไก่แบบออร์แกนิก กระแสของตลาดที่กำลังตอบรับสินค้าเพื่อสุขภาพก็บูมขึ้นมาพอดี การปรับเปลี่ยนวิธีเลี้ยงไก่ของอุดมชัยฟาร์มจึงเป็นโอกาสให้ฟาร์มไข่ไก่แบบอินทรีย์แห่งแรกในประเทศไทยที่เลี้ยงไก่แบบไม่กักขังทรมาน เน้นการอยู่กับธรรมชาติ และไม่ใช้สารเคมีจนได้ไข่ไก่ที่มีคุณภาพ สามารถแจ้งเกิดขึ้นมาได้
“เรื่องธรรมชาติกับสิ่งแวดล้อมก็ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เราทำธุรกิจก็ต้องเป็นมิตรกับชุมชน ซึ่งตามปกติแล้วการเลี้ยงไก่ในบ้านเราจะมี 2 แบบหลักๆ คือ เลี้ยงแบบโรงเรือนปิด พวกนี้จะสร้างมลภาวะเยอะ เนื่องจากเลี้ยงในปริมาณที่มาก แออัด พอไก่ขับถ่ายของเสียออกมาก็จะมีปัญหาเรื่องกลิ่นกับแมลงวัน อีกแบบ คือ เลี้ยงแบบโรงเรือนเปิดหรือแบบที่ผมทำอยู่ บางคนมองว่าแบบโรงเรือนเปิดนั้นล้าสมัย แต่ผมมองว่าแบบโรงเรือนเปิดนี่แหละที่จะสามารถอยู่รอด และอยู่ได้แบบยั่งยืนด้วย”
“หลายคนสงสัยว่าแบบโรงเรือนเปิดทำไมอากาศถึงไม่แพร่กระจายไปสร้างปัญหาให้กับชุมชน นั่นเป็นเพราะผมเลี้ยงแบบไม่แออัด เลี้ยงตามหลักออร์แกนิกสากล คือ 1 ตารางเมตรมีไก่ 5 ตัว จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องความชื้นแฉะกับเชื้อรามาคอยกวนใจเหมือนการเลี้ยงแบบโรงเรือนปิด นอกจากนั้น จุดเด่นของฟาร์มอุดมชัยยังมีน้ำหมักชีวภาพผลิตเอง ที่ใช้แทนวิตามินให้กับไก่ รวมถึงใช้ดับกลิ่นต่างๆ ได้ด้วย จุดนี้ทำให้ฟาร์มสามารถลดต้นทุนค่ายารักษาโรคต่างๆ ได้มากทีเดียว”
ฟาร์มไก่อุดมชัยถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ยึดวิถีความพอเพียง และตั้งใจตอบแทนสังคมด้วยไข่ไก่เพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง เพราะนอกจากการดำเนินธุรกิจโดยไม่พึ่งพาระบบทุนนิยมที่ต้องคอยซื้อยาปฏิชีวนะ ยาเร่งต่างๆ แล้ว การปลูกต้นไม้เพื่อเป็นร่มเงาให้กับไก่แทนการใช้พัดลมหรือแอร์ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการลดพลังงานไฟฟ้า ประหยัดค่าใช้จ่าย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
อีกสิ่งที่ทำให้ ธนเดช มีความเชื่อมั่นและมั่นใจในฟาร์มไข่ไก่แบบอินทรีย์มากขึ้นทุกวันก็คือ การได้เห็นผู้บริโภคมีความสุขเมื่อได้มาซื้อไข่ในฟาร์ม นอกจากนั้น ยังมีอีกกรณีหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเขา เมื่อมีผู้แพ้ไข่และถูกสั่งห้ามรับประทานไข่จากแพทย์ สามารถรับประทานไข่ไก่จากอุดมชัยฟาร์มได้ และจากวันนั้นจนถึงวันนี้เวลาได้ผ่านไปหลายปีแล้ว แต่ลูกค้ารายนั้นยังสามารถรับประทานไข่ไก่อารมณ์ดีได้โดยไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด
“ต้องจำไว้เสมอว่า You are What you eat คือ คุณกินอะไรก็ได้อย่างนั้น ไก่ก็เหมือนกัน ถ้าอาหารมีคุณภาพ ความปลอดภัยสูง ไข่ออกมาก็จะปราศจากสิ่งนั้นๆ ด้วย อย่าคิดว่าไข่ไก่ 1 ฟองมีสารอาหารเหมือนๆ กัน มันไม่ใช่ ตรงนี้ต้องมาวิเคราะห์ดีๆ ซึ่งทุกวันนี้ไข่ไก่ของอุดมชัยฟาร์มก็ยังส่งวิเคราะห์เพื่อตรวจคุณภาพอย่างต่อเนื่องทุก 6 เดือน”
ช่วงที่เกิดวิกฤตน้ำท่วม ไข่ไก่ในเมืองไทยขาดตลาดจนราคาในตลาดสูงขึ้นเป็นฟองละ 5-10 บาท ตามแต่ละท้องที่ แต่อุดมชัยฟาร์มยังยึดมั่นในหลักพอเพียง มีคุณธรรมในการประกอบอาชีพไม่ได้ฉกฉวยโอกาสนี้ขึ้นราคาไข่แม้ต้องขับรถอ้อมไปส่งไข่ด้วยระยะทางที่ไกลกว่าเดิมมาก แต่ท้ายที่สุดแล้ว การทำธุรกิจโดยใช้ความสุขเป็นตัวตั้ง ได้เห็นรอยยิ้มและความสุขของผู้บริโภคเป็นกำไร พร้อมกับใช้วิถีพอเพียงในการบริหารธุรกิจ ก็ทำให้เจ้าของฟาร์มไข่ไก่อารมณ์ดีไม่จำเป็นต้องเพิ่มราคา หรือเพิ่มกำลังการผลิตให้เหนื่อยเหมือนระบบทุนนิยม ลูกค้ามีเท่าไหร่ เขาผลิตเท่านั้น ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงที่สูงเหมือนเมื่อก่อนที่มีไก่ 5 แสนตัว และยังสามารถควบคุมคุณภาพได้เป็นอย่างดี
คงไม่ใช่แม่ไก่ของอุดมชัยฟาร์มอย่างเดียวแล้วกระมังที่อารมณ์ดี เพราะเจ้าของเองก็ทั้งอารมณ์ดีและใจดี ผู้บริโภคเองเมื่อได้รับประทานไข่ไก่ก็ย่อมอารมณ์ดีไปตามๆ กันอย่างแน่นอน
K SME Inspired