VANZTER ไอเดียจากสิงห์นักบิด! สุนทรียะของเด็กแว้น สู่แบรนด์ของแต่งบ้าน

TEXT : พิมพ์ใจ พิมพิลา

PHOTO : พิมพ์ใจ พิมพิลา และ VANZTER

 

 

Main Idea
 
 
  • คำว่า "เด็กแว้น" ของแต่ละคนอาจมีความหมายมุมมองที่แตกต่างกันไปตามประสบการณ์หรือข่าวสารที่ได้รับมา ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักเป็นแง่เสียมากกว่าแง่ดี
 
  • แต่จริงๆ แล้วในความแว้นที่หลายคนเข้าใจ กลับมีมุมมองความคิดสร้างสรรค์ เทคนิคงานประดิษฐ์ที่น่าสนใจ เพียงแต่บางครั้งเราอาจมองข้ามไปเท่านั้น
 
  • ด้วยเหตุนี้ “VANZTER” แบรนด์สินค้าของแต่งบ้านที่ได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาถึงพฤติกรรมและเรื่องราวชีวิตของเด็กแว้น จึงได้หยิบนำมาสร้างสรรค์เป็นธุรกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่ออยากจะนำเสนอศิลปะและหัตถกรรมที่ถูกซ่อนอยู่ในกลุ่มเด็กแว้นเหล่านี้ออกมาให้คนทั่วไปได้รับรู้
 



 
     ถ้ากล่าวถึง “เด็กแว้น” ใครหลายคนคงนึกถึงเสียงท่อดังๆ น่ารำคาญ ซึ่งมักจะตามมาด้วยเสียงสาปแช่งจากชาวบ้าน โดยเฉพาะในเวลายามค่ำคืนที่ควรเป็นเวลาแห่งการพักผ่อนและความสงบเงียบ





     นั่นเป็นเพียงมิติเดียวที่ทุกคนมองเห็น แต่หากมองลึกเข้าไปในความน่ารำคาญและเสียงก่นด่า ยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้น คือ เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ เคยนึกสงสัยกันบ้างไหมว่า เสียงท่อที่ดังแสบหู ตัวท่อที่มันวาว สีสันสะดุดตาสะดุดใจที่เราเห็นนี้ จริงๆ แล้วอาจเป็นงานฝีมือระดับขั้นเทพที่หากใครไม่ได้เข้ามาเป็นเด็กแว้นก็อาจไม่เข้าใจ หรือเข้าถึงงานสร้างสรรค์ที่เป็นเทคนิครู้กันเฉพาะกลุ่มของเหล่าแว้นสเตอร์


     “VANZTER” ธุรกิจที่มีเป้าหมาย เพื่อต้องการนำเสนอให้เห็นถึงความสร้างสรรค์ งดงาม และเป็นเอกลักษณ์ที่ถูกสร้างโดยเด็กแว้นเหล่านั้น โดยการนำเทคนิคหรือหัตถกรรมในการตกแต่งท่อรถมาต่อยอดเป็นงานศิลปะ ไปจนถึงการออกแบบให้กลายเป็นสินค้าตกแต่งบ้านสุดแหวกที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน





     โดยผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้เกิดจากร่วมมือกันระหว่าง พัทธมน ศุขเกษม และ ศิรินภา ประจักษ์โก จุดเริ่มต้นเกิดจากการทำธีสิสระดับปริญญาโทของพัทธมน จึงทำให้เธอได้เข้าไปสัมผัสกับการใช้ชีวิตของเด็กแว้นกลุ่มใหญ่ จนสุดท้ายเธอได้มองเห็นถึงความงามของท่อไอเสียที่ไม่ได้มีแค่เสียงดังรบกวนกับควันโขมงยามเมื่อรถถูกขับเคลื่อนออกไปเท่านั้น


     “จริงๆ ทำธีสิสปริญญาโทเกี่ยวกับเรื่องเด็กแว้น โดยเราเรียนดีไซน์ แต่มีความสนใจประเด็นเกี่ยวกับสังคม จึงจับสองอย่างนี้มาร่วมกัน ทีนี้ก็มีการรวมทีมกับพี่ศิรินภา เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์นี้ขึ้นมา โดย VANZTER คือ การนำเอาประเด็นทางสังคมมาดีไซน์เป็นของตกแต่งบ้าน เพราะมุมมองของเด็นแว้นที่คนส่วนใหญ่นึกถึงมักจะมองในพฤติกรรมเชิงลบ แต่เราอยากออกแบบงานให้คนมองแล้วเข้าใจว่าจริงๆ แล้ว พวกเขาเหล่านั้นทำอะไรกัน มีเทคนิคอะไร มีสไตล์แบบไหน โดยที่เราจะเล่ามันอยู่ในรูปแบบของอย่างอื่นแทนที่ไม่ใช่แค่ท่อไอเสีย หรือบนตัวรถมอเตอร์ไซต์” พัทธมนเล่า





     ด้วยแนวคิดดังกล่าว สินค้าของ VANZTER จึงออกมามีลักษณะออกมาคล้ายคลึงกับส่วนประกอบบางอย่างของรถมอเตอร์ไซต์ ยกตัวอย่างเช่น แจกันที่ทำออกมามีลักษณะคล้ายกับท่อรถ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมากจากการแต่งท่อของเหล่าเด็กแว้น แน่นอนว่าหากไปอยู่บนท้องถนน นี่อาจเป็นงานประดิษฐ์ที่ผิดกฏหมายและไม่ผ่านมาตรฐานมอก. พาลให้ร้านที่รับปรับแต่งมีความผิดต้องปิดร้านไปด้วย แต่หากนำมาดัดแปลงใช้เป็นเทคนิคทำของตกแต่งบ้าน สร้างสรรค์งานดีไซน์ต่างๆ นอกจากไม่ผิดกฏหมายแล้ว ยังกลับสร้างรายได้ให้กับช่างได้อีกด้วย





     นอกจากนี้ความเป็นเอกลักษณ์ของงานคราฟต์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเป่าสี เชื่อมท่อ หรือการนำวัสดุที่มีคุณสมบัติพิเศษมาใช้อย่างคาดไม่ถึง เช่น ไทเทเนียม วัสดุสำคัญที่ถูกใช้กับท่อของเด็กแว้นจริงๆ ซึ่งเมื่อนำมาเป่าไฟแล้วจะทำให้เกิดสีต่างๆ อีกทั้งไทเทเนียมยังเป็นวัสดุที่มีความปลอดภัยเป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้คนมากกว่าวัสดุอื่นๆ เพราะมีน้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี ไม่เป็นสนิม ทนต่อการกัดกร่อน


     จากความตั้งใจดังกล่าว พัทธมนและศิรินภาจึงมีความคิดที่จะนำเทคนิค ศิลปะงานคราฟต์เหล่านี้ไปต่อยอดในระดับอุตสาหกรรม เช่น เทคนิคการยิงทราย เพื่อสร้างทางเลือกและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยมองว่าหากงานสามารถกระจายออกไปได้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะทำให้ผู้คนสามารถสัมผัสกับความงดงาม ความสร้างสรรค์ เทคนิคการตกแต่งที่ไม่เหมือนใครออกมาให้ทุกคนได้รู้จัก รวมถึงเรื่องราวต่างๆ ของเหล่าเด็กแว้นที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังชิ้นงานเหล่านั้นได้มากกว่าที่จะมองแต่แง่ลบเพียงด้านเดียว





     “การที่เราทำตรงนี้ออกมา อย่างน้อยๆ เมื่อเขาได้มาเห็นสิ่งเหล่านี้ จากที่เคยคิดว่าเท่แค่ในกลุ่ม แต่เมื่อชิ้นงานได้เผยแพร่ออกมาให้คนทั่วไปได้รับรู้ด้วย อาจทำให้เขาเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจกับตัวเองมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยให้มุมมองภาพลักษณ์ของเด็กแว้นอาจเปลี่ยนไปในอีกมิติหนึ่ง ที่คนทั่วไปอาจไม่เคยมองเห็น ซึ่งการเล่าเรื่องผ่านวัตถุผ่านชิ้นงานน่าจะแสดงความเป็นตัวเขาออกมาได้ดีกว่า เราดีใจที่ได้ใช้ตรงนี้เป็นพื้นที่หนึ่งให้เขาได้แสดงตัวตนออกมาอย่างสร้างสรรค์”


     และจากที่ได้ออกร้านนำผลิตภัณฑ์ไปจัดแสดงเผยแพร่ตามงานต่างๆ ทำให้พวกเธอได้รู้ว่ากลุ่มคนที่ให้ความสนใจส่วนใหญ่ นอกจากจะชื่นชอบแนวคิดที่สร้างสรรค์ เทคนิคการทำ และความสวยงามไม่เหมือนใครแล้ว ยังมีความเข้าใจ รวมถึงต้องการทำความเข้าใจใหม่ในความเป็นตัวตนของเด็กแว้นเหล่านั้นด้วย ซึ่งในอนาคตพวกเธอเองก็อยากที่จะพัฒนาชิ้นงานให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ด้วยการใส่เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เข้าไป แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์สไตล์แว้น อย่างเช่นการไล่เฉดสีสันของไทเทเนียม เป็นต้น





     “เป้าหมายหลักๆ ของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมา คือ เราอยากสื่อให้เห็นว่าไม่ควรทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะบางครั้งกลุ่มคนที่ถูกมองข้ามไปเหล่านั้น เขาอาจมีสุนทรียะบางอย่างซ่อนอยู่ รวมถึงอะไรอีกหลายอย่างที่เราไม่เคยรับรู้ ซึ่งถ้างานเหล่านี้สามารถเข้าไปในระบบอุตสาหกรรมได้ จะสามารถขับเคลื่อนความเข้าใจเหล่านี้ให้กระจายออกไปได้มากยิ่งขึ้น ทั้งผู้คนทั่วไปได้เข้าใจในความเป็นเด็กแว้นมากขึ้น รวมถึงตัวเด็กแว้นเองที่สามารถเข้าใจตัวเองและสังคมมากยิ่งขึ้น ทำในสิ่งที่สร้างสรรค์เป็นผลดีทั้งกับตัวเองและผู้อื่น”





     การทำธุรกิจทุกวันนี้ เราไม่ควรนำเสนอแค่คุณภาพของผลิตภัณฑ์เท่านั้น เพราะผู้บริโภคในยุคนี้มักจะเลือกซื้อสินค้า จากการที่สินค้านั้นสร้างหรือทำอะไรเพื่อส่วนรวมบ้างด้วย เหมือนเช่นกับ VANZTER ที่ต้องการเปิดมุมมองขับเคลื่อนความเป็นเด็กแว้นในอีกแง่มุมหนึ่งให้คนทั่วไปได้รับรู้ ซึ่งหากไม่เข้ามาสัมผัสก็อาจไม่มีทางเข้าใจได้ และเมื่อพวกเขาได้รับการดูแลและแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี คุณภาพชีวิตของเขาก็จะดีขึ้น ปัญหาของสังคมก็จะลดน้อยลง
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย