ต้องรอด! เปิดแผน 'ริเวอร์แคว วิลเลจ’ โรงแรม 4 ทศวรรษ สู้ไวรัส COVID-19

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : River Kwai Village Hotel  





Main Idea
 
 
  • “ริเวอร์แคว วิลเลจ” คือโรงแรมแห่งแรกใน จ.กาญจนบุรี ที่เปิดให้บริการมานานถึง 45 ปี มีลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติ ผู้ชื่นชอบในธรรมชาติและกิจกรรมที่หลากหลาย แวะเวียนมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
 
  • วันนี้พวกเขากำลังเจอกับวิกฤตครั้งใหญ่ เมื่อ COVID-19  พ่นพิษใส่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างหนักหน่วง ส่งผลให้ลูกค้าทรุดฮวบลงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนตลอดหลายปีที่ผ่านมา และคาดว่าพิษจากบาดแผลนี้จะยาวนานถึงสิ้นปีนี้
 
  • ติดตามแผนรับมือไวรัส COVID-19 ของโรงแรมรุ่นเก๋า ที่บริหารโดยทายาทรุ่นใหม่ กับเกมที่ทั้งยากและท้าทาย กับเป้าหมายที่มีแค่คำว่า “ต้องรอด” เท่านั้น     



     โรงแรมขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ บนพื้นที่นับ 500ไร่ ติดกับแม่น้ำแคว แม่น้ำสายประวัติศาสตร์สำคัญของจังหวัดกาญจนบุรี มีชื่อที่ผู้คนคุ้นกันดีว่า “ริเวอร์แคว วิลเลจ” (River Kwai Village Hotel ) นี่คือโรงแรมแห่งแรกของเมืองกาญจน์ที่เปิดให้บริการนานถึง 45 ปี มีห้องพักประมาณ 270 ห้อง ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของทายาทรุ่น 2 และ 3
               

      ในยุคที่รุ่งเรือง ริเวอร์แคว วินเลจ เคยต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่แวะเวียนมาไม่ขาดสาย โดยเป็นต่างชาติประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ครอบคลุมแทบทุกกลุ่มทั้งยุโรป และเอเชีย สายสงบ สายปาร์ตี้ และกลุ่มที่ชื่นชอบกิจกรรมแอดเวนเจอร์ สำหรับลูกค้าคนไทยที่มีอยู่ 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นทั้งกลุ่มครอบครัว ลูกค้าองค์กรที่มาจัดกิจกรรมเอาท์ติ้ง ตลอดจนการประชุมสัมมนาของหน่วยงานภาครัฐพวกเขาก็รองรับได้ เคยรับนักท่องเที่ยวชนิดที่ไม่หวาดไม่ไหว ถึงขนาดต้องทุ่มเงินสร้างตึกใหม่เพื่อขยายบริการมาแล้วเมื่อ 5 ปีก่อน และยังมีการปรับเปลี่ยนให้ดูทันสมัยขึ้นทุกๆ 5 ปี
               




      แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยน จากโรงแรมที่เคยมีรถบัสนักท่องเที่ยวเข้ามาวันละ 5-10 คัน  พนักงานรับมือได้สบาย มาวันนี้บางวันมีลูกค้าต่างชาติเท่ากับ “ศูนย์” พนักงานที่มีอยู่ได้แต่นั่งเหงา ลูกค้าต่างชาติหายไปแล้วกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่เป็นการจองล่วงหน้า และคาดว่าเดือนมีนาคม-พฤษภาคม นักท่องเที่ยวต่างชาติจะหายไปถึง 80 เปอร์เซ็นต์
               

      “จริงๆ เรามีปัญหามาเรื่อยๆ โดย 2-3 ปีมานี้ เรามีปัญหา PM2.5 เพราะเมืองกาญจน์มีการเผาอ้อยกันเยอะมาก ก็ค่อนข้างกระทบกับการท่องเที่ยว  แต่ PM2.5  ก็ยังไม่หนักเท่า COVID-19 เพราะตอนนั้นลูกค้าต่างชาติเราไมได้ลด มีแต่คนไทยที่หายไป อย่างกลุ่มประชุมสัมมนาพอเห็นว่าอากาศไม่เฟรชก็เปลี่ยนไปจัดที่อื่น  แต่ COVID-19 เรารับต่างชาติทุกชาติ อย่างลูกค้าจีน เกาหลีนี่ตัดไปได้เลย ไม่มีแน่นอน ส่วนยุโรป เขาก็กลัวที่จะเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้เหมือนกัน รัสเซียที่เคยมาเมืองไทยเยอะๆ ก็ตกลงไป ปัจจุบันลูกค้าต่างชาติเราหายไปแล้วครึ่งหนึ่ง และเชื่อว่าเดือนมีนาคม-พฤษภาคม จะหายไป 80 เปอร์เซ็นต์แน่นอน สำหรับยอดจองใหม่ ส่วนคนไทยก็หายไปเพราะต้องรอดูสถานการณ์ คาดว่าใน 100 เปอร์เซ็นต์ ลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติเราจะหายไปถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ และเชื่อว่าสถานการณ์นี้จะกินเวลายาวทั้งปีนี้แน่นอน กว่าจะกอบกู้อะไรกลับมาได้ ก็ต้องปลายปี”
               




      “วีรวัฒน์ เจียรจิตเลิศ” ทายาทรุ่น 3   โรงแรม ริเวอร์แคว วิลเลจ กาญจนบุรี บอกโจทย์โหดหินที่พวกเขากำลังเผชิญ และยอมรับว่าหนักสุดตั้งแต่มาสานต่อธุรกิจครอบครัวเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน
               

      COVID-19 หนักกว่าการหายไปของลูกค้ารัสเซียจากปัญหาเศรษฐกิจและค่าเงิน สาหัสกว่าการหายไปของลูกค้าคนจีนหลังข่าวเรือนักท่องเที่ยวล่มเมื่อ 2 ปีก่อน และรุนแรงกว่าปัญหาฝุ่น PM2.5  หลายเท่า ซ้ำยังล้มแผนดึงนักท่องเที่ยวตลาดใหม่อย่างอินเดีย ที่กำลังหอมหวานเสียชะงัด และนั่นคือโจทย์ที่ผู้ประกอบการอย่างเขาต้องรีบแก้
               




       “ถามว่าลูกค้าหายไปเราเตรียมแผนรองรับอย่างไร ก่อนอื่นเลยก็ต้องประหยัด รัดเข็มขัด เท่าที่เราจะทำได้ก่อน จากนั้นก็ลดค่าใช้จ่ายของบริษัทลง วันนี้ลูกค้ากรุ๊ปทัวร์หายากขึ้น ก็ต้องมาหาลูกค้าที่เป็น FIT (Free Individual Travelers) และลูกค้าในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยการลดราคาลงมาแรงๆ เพื่อเอามาอุดรอยรั่วจากลูกค้าต่างชาติที่หายไป ตอนนี้เราต้องมาคิดว่าจะขายยังไงเพื่อให้คนไทย และองค์กรต่างๆ หันมาเที่ยวภายในประเทศ เพราะตอนนี้คนไทยออกนอกประเทศกันไม่ได้ ขณะที่สงกรานต์ก็จะหยุดยาวอีก คราวนี้แหล่ะเขาจะกลับมาเที่ยวในประเทศมากขึ้น มันยังมีโอกาสในวิกฤตอยู่”

               



       ในส่วนของพนักงานเขาบอกว่าก็ต้องมีการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ ให้พนักงานรู้ว่าปีนี้สถานการณ์ของโรงแรมจะเป็นอย่างไร จากแผนเดิมที่เคยตั้งใจว่าจะขยายตลาดโดยดึงชาติใหม่ๆ เข้ามา  เมื่อเจอกับ COVID-19 ก็คงต้องพับแผนไว้ก่อน และไม่ว่าลูกค้าจะมามากหรือน้อย สิ่งที่โรงแรมต้องรักษาไว้ก็คือมาตรฐานที่ต้องไม่ต่างจากวันที่ลูกค้ายังคงคึกคัก
               




      “เราต้องคุยกับพนักงานว่าจะรักษามาตรฐานของเราไว้ได้อย่างไร สมมติถ้าแขกเข้ามา เราจะเพิ่มบริการของเราอย่างไรเพื่อดึงความสนใจเขา และดึงยอดขายจากคนที่มาแล้วยังไงได้บ้าง รวมถึงการดันราคาให้ต่ำลง  เพื่อให้มีกรุ๊ปเข้ามาพอให้มีรายรับเข้ามาบ้าง แม้ว่าจะน้อยและเป็นทางอ้อมก็ตาม ผมมองว่าธุรกิจโรงแรมวันนี้ถ้าไม่มีแขก เราก็ต้องประหยัด แต่เมื่อเปิดออกมาแล้ว เราก็ต้องมาคิดต่อว่าจะทำยังไงให้ดึงลูกค้ากลับมาให้ได้มากที่สุด เพื่อชดเชยจากส่วนที่เราสูญเสียไปใน 7-8 เดือนนี้ เราจะต้องรักษามาตรฐานของโรงแรมไว้ และการที่พนักงานช่วงนี้ไม่มีงานทำ ก็ต้องให้เขาไม่สูญเสียเวลาไปเปล่าๆ เราทำได้แค่นี้ รักษาและหาช่องทางที่จะดึงนักท่องเที่ยวในประเทศไทยกลับมา อย่างที่บอกว่าเศรษฐกิจอย่างนี้คนอาจจะมาเที่ยวน้อยลง และหลายโรงแรมพอเขาไม่ได้ลูกค้าต่างชาติก็ต้องมาหาลูกค้าคนไทยด้วยกันเอง เป็นปลาบ่อเดียวกัน แม้แต่ละที่จะมีจุดเด่นไม่เหมือนกันก็ตาม แต่สุดท้ายก็ต้องมาแย่งกันมากขึ้นอยู่ดี ฉะนั้นเราต้องเตรียมโรงแรมของเราให้พร้อมที่สุด”
               

     หนึ่งในกลยุทธ์หาตลาดในช่วงวิกฤต คือการออกบูธในงานต่างๆ เช่น งาน “SCB เที่ยวไทย ไปด้วยกัน” ที่จัดโดย SCB ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศ (ททท.) สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว และสมาคมโรงแรมไทย เพื่อกระตุ้นบรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงงานไทยเที่ยวไทย โดยหวังดึงลูกค้าคนไทยให้กลับมาเที่ยวในประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการท่องเที่ยวอย่างพวกเขา เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้
               




      ในฐานะทายาทธุรกิจ เขาบอกว่าตั้งใจที่จะเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวตั้งแต่แรก โดยเลือกเรียนมาทางด้านการโรงแรมมาโดยตรง ถามว่าตั้งใจให้ธุรกิจครอบครัวในยุคของเขาเติบโตไปได้ไกลขนาดไหน วีรวัฒน์ บอกเราว่า ขอแค่ยังรักษามาตรฐานของโรงแรมให้ดีต่อไปให้ได้ เพราะยอมรับว่าที่คนรุ่นก่อนทำไว้นั้นดีมากอยู่แล้ว หน้าที่ของเขาก็แค่รักษา และดูแลให้ดี รวมถึงต่อยอดไปสู่ตลาดใหม่ๆ แม้จะเจอวิกฤตหนักอีกกี่ครั้ง ก็ไม่คิดถอดใจหรือทดท้อ


     “ผมจะยังรักษามาตรฐานและต่อยอดลูกค้าไปยังชาติใหม่ๆ เพราะตลาดมีการหมุนเวียนเปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ จากเมื่อก่อนเป็นยุโรป มารัสเซีย จากนั้นก็มาจีน จากจีนเดี๋ยวก็หมด ก็ต้องไปชาติอื่น ซึ่งเราไม่ท้ออยู่แล้ว ยิ่งเจออะไรใหม่ๆ ยิ่งสนุก ความสนุกของวิกฤตครั้งนี้ก็คือ เราต้องเซอร์ไวฟ์ (Survive)  ต้องอยู่รอดให้ได้” เขาบอกในตอนท้าย
 

      วิกฤต COVID-19 อาจเล่นงานผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยให้เจ็บหนัก แต่สำหรับพวกเขา ยังพร้อมที่จะปรับตัวและต่อสู้ เพื่อให้ยังคงอยู่รอด เพื่อรอวันที่จะกลับมาผงาดได้อีกครั้ง เมื่อสถานการณ์นิ่งสงบ และทุกอย่างกลับมางดงามเหมือนเดิมแล้ว
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย