คุยกับ ‘สรรพรส’ ส่องวิธีทำร้านวีแกนให้แตกต่างอย่างตอบโจทย์

TEXT กองบรรณาธิการ

 
 

Main Idea

           
  • ธุรกิจร้านอาหารมีการแข่งขันที่สูง แม้จะเป็นอาหารทางเลือกรับเทรนด์คนรักสุขภาพซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ถ้าไม่แตกต่างและตอบโจทย์ก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ได้
 
  • SME Thailand Online ชวนพูดคุยกับ “ชุติมณฑน์ ศิวาวุธ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ร้านสรรพรส ร้านอาหารสุขภาพเล็กๆ ในย่านอารีย์ที่ทะลายกำแพงความคิดเปลี่ยนอาหารสุขภาพมาเป็นอาหารประจำวัน ที่ทานง่าย ในราคาย่อมเยา ใช้ความต่างสร้างธุรกิจให้เกิดได้
 
 

     วันนี้คนหันมารักสุขภาพกันมากขึ้น ส่งผลให้มีร้านอาหารเพื่อสุขภาพเกิดขึ้นตามมามากมาย แต่ถามว่าจะมีสักกี่
ร้านที่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ เมื่อภาพจำที่คนมีต่ออาหารสุขภาพหรืออาหารวีแกน คือ อาหารที่ราคาแพง เข้าถึงยาก แถมรสชาติยังไม่ค่อยจะอร่อยเท่าไรอีกด้วย
               




     หนึ่งในร้านที่เกิดขึ้นเพื่อมาทลายกำแพงนี้ก็คือ “สรรพรส” ร้านอาหารสุขภาพเล็กๆ ในย่านอารีย์ ที่ถูกอกถูกใจทั้งลูกค้าคนไทยและต่างชาติ โดย “ชุติมณฑน์ ศิวาวุธ” หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้านสรรพรส บอกเราถึงช่องว่างเล็กๆ ที่เห็นเป็นโอกาสธุรกิจใหม่ หลังจากที่เธอและเพื่อนซึ่งมีปัญหาสุขภาพมาก่อน ตัดสินใจปรับวิถีการกินอาหารของตนเอง โดยลองมาหมดทุกเมนูสุขภาพไม่ว่าจะเป็น อาหารคลีน มังสวิรัติ หรือแม้กระทั่งอาหารวีแกน แต่พบว่า พอทานไปเรื่อยๆ ติดต่อกันสักระยะ จะทานยากขึ้น เพราะอาหารประเภทนี้ราคาค่อนข้างสูง เข้าถึงยาก และส่วนมากจะ “ไม่อร่อย” และนั่นคือที่มาของร้านสรรพรส


     “เราพยายามทำให้อาหารวีแกนของเราทานง่าย สามารถหาทานได้ทุกวัน ไม่ใช่เรื่องซับซ้อน ขายในราคาที่ย่อมเยาจับต้องได้ เพราะเชื่อว่าอาหารที่ดีต่อสุขภาพไม่จำเป็นต้องแพง” เธอบอก
               






     สรรพรสเริ่มต้นเปิดร้านด้วยคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนและแตกต่าง พวกเขาตั้งใจทำร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ที่มีพื้นฐานจากความเป็นไทย แล้วพัฒนาต่อยอดมาเป็นอาหารวีแกน หรือ  Plant-based meat (เนื้อจากพืช) ซึ่งนอกจากจะช่วยในเรื่องของสุขภาพแล้ว ยังช่วยในเรื่องของการลดปัจจัยการผลิตบางอย่างที่ซับซ้อนลงมา ตลอดจนยังช่วยให้ผู้คนดูแลสิ่งแวดล้อมผ่านอาหารของสรรพรสได้อีกด้วย
               

     จากจุดขายที่แตกต่าง และยึดมั่นในความต่างนั้น ทำให้วันนี้สรรพรสกลายเป็นร้านที่ได้ใจทั้งลูกค้าชาวไทย และต่างชาติ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีเมนูโปรดแตกต่างกันไป ด้วยการสร้างสรรค์แต่ละเมนูให้มีความพิเศษ เป็นอาหารเพื่อสุขภาพแนวไทยฟิวชั่น ใช้วัตถุดิบที่เป็นเกษตรอินทรีย์



 

   โดยเมนูที่เป็น Plant-based meat หรือเนื้อที่ทำมาจากพืช ก็จะใช้คำว่า “แสร้งว่า” เพื่อเรียกเมนูนั้นๆ เช่น แสร้งว่าเนื้อไฉไล แสร้งว่าเนื้อ แสร้งว่าไก่ แสร้งว่าหมู  ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกสั่งอาหาร Plant-based  หรือวีแกนของพวกเขาได้ตามใจชอบ และคัสโตไมซ์ให้เข้ากับความต้องการของตนเอง หรือ ทานตามเซ็ตที่ทางร้านจัดไว้ได้ในระดับราคาและรสชาติที่ต้องการได้เช่นกัน


     สำหรับวัสดุที่ใช้เป็นภาชนะ พวกเขาเลือกใช้กาบหมาก ที่คงทนและสามารถนำมารียูสได้ ล้างทำความสะอาด  ใช้ได้ถึง 5-6 ครั้ง เพื่อช่วยลดขยะ และยังได้ช่วยเหลือชุมชนที่ทำภาชนะจากกาบหมากอีกด้วย
               




     ในวันนี้ธุรกิจร้านอาหารมีการแข่งขันที่สูง แต่การเลือกพัฒนาธุรกิจให้แตกต่าง และตอบโจทย์ลูกค้าเป้าหมายได้ ก็จะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสแจ้งเกิดและเติบโตได้เหมือนที่สรรพรสพิสูจน์ให้เห็นแล้ว
               

     “ธุรกิจอาหารในทุกวันนี้การแข่งขันสูง แต่ที่เราอยู่รอดได้ เพราะเรามีความแปลกใหม่ แตกต่าง คิดค้นเมนูใหม่ๆ ให้ลูกค้าได้ลองทาน เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงตัวอาหารวีแกนหรืออาหาร Plant-based  ได้ง่ายขึ้น เราจะต้องพัฒนาตลอด ไม่หยุดนิ่ง เราจะต้องมีความแปลกใหม่ โดยที่ยังมีความเป็นตัวตนของเราอยู่ นั่นคือการเป็นร้านอาหารวีแกนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพ ‘สรรพรส’ ว่าเราเป็นมากกว่าร้านอาหารร้านหนึ่ง” เธอสรุปในตอนท้าย
 
 



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย