พลิกวิกฤตเป็นโอกาส! เปิดแผน “ธุรกิจท่องเที่ยว” รับมือ COVID-19 เพิ่มแต้มต่ออนาคต

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
  • Economic Intelligence Center (EIC) ประเมินว่า การระบาดของโรค COVID-19 จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปี 2020 ลดลงเหลือเพียงราว 37 ล้านคน หรือลดลง 7.1 เปอร์เซ็นต์ (YOY) ขณะที่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึง ภาคส่งออก การผลิต รวมถึงการบริโภคภายในประเทศ จน EIC ปรับลดคาดการณ์  GDP ปีนี้ จาก 2.7 เปอร์เซ็นต์  เหลือ 1.8 เปอร์เซ็นต์  (YOY)
 
  • สำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรม COVID-19 ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นวิกฤตที่ซ้ำรอยเหตุการณ์ในอดีตมาแล้ว พวกเขาจึงพร้อมผลักให้เป็นโอกาส ด้วยการหาตลาดใหม่มาทดแทน และรับมือด้วยกลยุทธ์ ประหยัด หารายได้ ยืดค่าใช้จ่ายออกไป หยุดพัก มองหาโอกาสใหม่ๆ สร้างคนให้พร้อม เพื่อจะได้ออกวิ่งหลังหมดพิษ  COVID-19



     “COVID-19 ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเป็นวิกฤต แต่เราต้องผลักให้เป็นโอกาสให้ได้ โดยการหาตลาดใหม่มาทดแทน”
               

     นี่คือคำกล่าวของ “สุจินต์ เจียรจิตเลิศ” อุปนายกสมาคม ประธานฝ่ายการตลาด และประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมโรงแรมไทย ระหว่างขึ้นเวที เสวนา “ชี้ทางรอดธุรกิจท่องเที่ยว” ซึ่งจัดโดยกลุ่มธุรกิจ SME ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อช่วยผู้ประกอบการโรงแรมและการท่องเที่ยวไทยให้ฟื้นจากพิษไข้ COVID-19
               




     หลังไวรัสสายพันธุ์ใหม่เข้ามาเล่นงานสุขภาพของผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยอย่างสาหัสสากรรจ์ บางรายลูกค้าหายไปเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ จนถึงขั้นต้องปิดให้บริการชั่วคราว หลายรายยังร้อนๆ หนาวๆ เพราะไม่แน่ใจความยืดยาวของสถานการณ์นี้ แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ยังมีกำลังและพลังที่จะปรับตัวเพื่อรับมือกับเรื่องนี้ 
               
 

     ประสบการณ์ในอดีต เพิ่มภูมิต้านทานรับมือ COVID-19


     ที่ผ่านมาผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยไม่ได้เพิ่งเจอกับวิกฤต แต่พวกเขาเผชิญหน้ามาแล้วทั้งการถูกดิสรัปต์จากระบบการจองห้องพักที่คนเปลี่ยนไปจองผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ และเลือกเข้าพักตามเซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์หรือคอนโดมีเนียมให้เช่า แทนโรงแรมมากขึ้น นักท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมจากการเที่ยวเป็นหมู่คณะ มาท่องเที่ยวแบบ FIT (Free Individual Traveler) ลุยเดี่ยวกันมากขึ้น บวกกับสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ที่ทำให้ชาวจีนตระหนก ไม่กล้าเดินทางออกนอกประเทศแต่เลือกรัดเข็มขัดกันมากขึ้น เจาะมาเฉพาะวิกฤตที่เกี่ยวกับไวรัส ก็ผ่านมาหมดแล้วทั้ง โรคซาร์ส เมอร์ส จนมาถึง COVID-19
               

     “วิกฤตครั้งนี้ไม่ได้ใหญ่ที่สุด แต่ที่ผ่านมาเราเจอวิกฤตใหญ่ๆ มาแล้วถึง 4  ครั้ง นั่นคือ ซาร์ส เมอร์ส ทัวร์ศูนย์เหรียญ จนมา COVID-19  มองว่านี่เป็นโอกาสที่เราจะได้สร้างอิมเมจใหม่ๆ และมองหาตลาดใหม่ๆ ให้กับเราด้วยซ้ำ”
               




      คำกล่าวจาก “ณิษาภัทร สุวรรณคัมภีระ” General Manager บริษัท นิวหลงไท้ จำกัด แห่ง Elegant Bangkok Hotel โรงแรมในเครือ จอมเทียน ฮอลิเดย์ อินพัทยา สะท้อนความเข้มแข็งของผู้ประกอบการโรงแรมไทยที่มีต่อสถานการณ์วิกฤต โดยธุรกิจของพวกเขาครอบคลุมทั้งบริษัททัวร์ รถบัสนำเที่ยว โรงแรม และการแสดงโชว์ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจีนเป็นตลาดหลัก มีห้องพักทั้งเครือรวมประมาณ 2 พันห้อง และอยู่ระหว่างการขยายห้องพักเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งการที่ลูกค้าหายไปถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ คือความเหนื่อยล้าอย่างสาหัสที่จะต้องรับมือและผ่านพ้นไปให้ได้
               

      “จังหวะนี้มันเป็นโอกาสที่เราจะได้ขยายมาโปรโมตตัวเองกับกลุ่มลูกค้าคนไทยมากขึ้น อย่างการมาออกงานที่ SCB เราจัดโปรโมชั่นที่เขาไม่มีสิทธิเจอได้ในสถานการณ์ทั่วไป โดยลด 60-80 เปอร์เซ็นต์  จองเป็นกลุ่มยังมีของรางวัลให้ ซึ่งวันเดียวมีลูกค้าจองไปแล้วกว่าร้อยราย การมาออกงานยังเป็นโอกาสที่เราจะได้ให้ข้อมูล ให้ราคาพิเศษ และได้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ มองว่าเวลานี้ผู้ประกอบการต้องมีไอเดีย โดยเราอาจให้เขามาเที่ยวตอนนี้เลยไม่ได้ ฉะนั้นคุณเปิดไปเลยถึงสิ้นปีให้เขามาใช้ได้ ขณะที่โรงแรมเราก็ต้องทำความสะอาด ต้องดูแลตัวเอง และดูแลพนักงานของเราให้ดี ในส่วนของผู้ประกอบการด้วยกันก็ต้องจับมือกันไว้แน่นๆ อย่างโรงแรมที่อยู่ใกล้ๆ กัน ก็อาจมาจัดกิจกรรมช่วยกันกระตุ้นเพื่อให้คนเข้าไปในพื้นที่เยอะๆ ให้ดูมีสีสัน ไม่ต้องแข่งขันกันเอง นี่ไม่ใช่การคิดบวกนะ แต่มองว่ามันเป็นสถานการณ์ที่เราจะช่วยกันได้ อย่าง ลูกค้าไปเที่ยวเชียงใหม่พักที่คุณ แล้วอยากลงมาพัทยา ก็มาพักที่เราจะได้ราคาพิเศษ แบบนี้เป็นต้น” เธอบอกแนวคิดรับมือสถานการณ์วิกฤต
               

     นอกจากการอยู่รอดด้วยกลยุทธ์การตลาด และโอกาสจากลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เธอบอกว่า ช่วงนี้เป็นเวลาที่ผู้ประกอบการต้องมาให้ความสำคัญกับพนักงาน เพราะเมื่อสถานการณ์ฟื้นกลับมาดี โรงแรมจะได้มีคนคุณภาพมาทำงานให้


     “มันเป็นช่วงเวลาที่เราต้องดูแลทั้งลูกค้าภายใน(พนักงาน) และภายนอกของเรา ถามว่าเจ็บไหม เจ็บ แต่เราต้องหาทางไปต่อให้ได้ โดยพนักงานถ้าเรายังรักษาเขาไว้ได้  เราจะได้พนักงานแบบ 3in1 เลยนะ เช่น วันนี้แม่บ้านจะมีเวลามากขึ้น เขาก็มีโอกาสไปเรียนรู้งานในแผนกอื่นๆ เลยกลายเป็นว่าเราได้เพิ่มศักยภาพให้กับคนของเราเอง ให้เขามีมัลติสกิล (Multi-Skill)  ยิ่งทำให้เขามีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น ระหว่างนั่นก็มีแผนอื่นๆ มาเพิ่มเติมรวมถึงการออกมาโรดโชว์ต่างๆ เชื่อว่าเราจะผ่านมันไปได้ วันนี้เราจะไม่มานั่งร้องไห้ ถ้าพูดว่ามันหนักแล้วยังไม่ยอมขยับก็เหมือนคนป่วยที่ไม่ยอมไปหาหมอ มันก็จะยิ่งฟุบลง สุดท้ายคุณจะได้แค่ประชุมแต่ไม่มีทางออก แน่นอนว่าเราไม่อยากเป็นอย่างนั้น” เธอบอกในตอนท้าย
               


     ได้เวลาหยุดพัก เพื่อรีโนเวทโรงแรมใหม่
               

      ในบรรดาโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากการหายไปของลูกค้าคนจีน มีชื่อของ H5 Luxury Hotel  และ O2 Luxury Hotel  ในสมุทรปราการรวมอยู่ด้วย โดยที่นี่รับลูกค้าต่างชาติที่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ และในจำนวนนั้นคือลูกค้าจีนเกือบทั้งหมด ช่วงพีคสุดๆ เคยรับลูกค้าจนล้นถึงขนาดต้องแบ่งไปโรงแรมอื่นก็มี แต่วันนี้ลูกค้าจีนเท่ากับ “ศูนย์” ถึงขนาดต้องปิดให้บริการชั่วคราว 
               

     “โรงแรมเรา H5 Luxury Hotel  มี 437 ห้อง ส่วน O2 เพิ่งเปิดใหม่ มี 194 ห้อง ที่ผ่านมาก็มีช่วงที่ลูกค้าจีนดรอปไป อย่างทัวร์ศูนย์เหรียญหรือเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต แต่ยังไม่หนักขนาดนี้ ตอนนั้นลูกค้าหายไปประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังพอประคับประคองธุรกิจได้อยู่ แต่ครั้งนี้ผลกระทบเยอะมาก โดยเฉพาะเราอยู่ในโซนสมุทรปราการ ซึ่งเป็นโซนที่นักท่องเที่ยวจีนเยอะอยู่แล้ว และไม่มีตลาดอื่นมารองรับ เราจึงตัดสินใจ ปิดปรับปรุง H5 ประมาณ 2 เดือน โดยให้สิทธิพนักงานในการหยุดในช่วงเวลานี้ และทำการรีโนเวทโรงแรม  พร้อมคลีนนิ่งให้สะอาด ส่วนถ้ามีลูกค้าจองเข้ามาก็จะให้ไปพักที่ O2 ซึ่งปกติราคาสูงกว่า H5 แต่ให้เขาพักในราคา H5 โดยเราจะแจ้งกับแขกว่าเรามีการปิดปับปรุงเพื่อทำความสะอาดโรงแรมเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเขา”
               




     “นวพร จรดล” Revenue Manager สังกัดฝ่ายขายและการตลาด โรงแรม H5 และ O2 บอกแนวทางการรับมือของหนึ่งในโรงแรมที่เจอวิกฤตหนักในครั้งนี้ โดยในส่วนของพนักงาน พวกเขาใช้โอกาสในช่วงเวลานี้จัดเทรนนิ่งพนักงาน จัดกิจกรรมสันทนาการ เพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างความพร้อมให้กับคนทำงาน เพื่อที่เมื่อธุรกิจฟื้นกลับมาจะได้เดินหน้าได้อย่างไม่สะดุด ด้วยกำลังพลของพวกเขา
                               
               

      ใช้ไอเดียเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ต่อยอดสู่บริการใหม่
               

      แม้จะไม่ได้รับนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากเหมือนโรงแรมอื่น แต่การหายไปของลูกค้าต่างชาติซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ทั้ง มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ จากความวิตกที่มีต่อ COVID-19 ก็กระทบต่อรายได้ที่ลดลงของโรงแรม Golden Beach Hotel ชะอำ หัวหิน  จน “นราพร ตันตราชีวธร” ทายาทรุ่น 2 ที่ดำรงตำแหน่ง Director of Marketing  Communication โรงแรม Golden Beach Hotel ชะอำ หัวหิน และ โรงแรม Family resort เขาใหญ่ ต้องหันมาปรับกลยุทธ์เพื่อแก้เกมไวรัสสายพันธุ์ใหม่
                 




     การปรับตัวที่ว่าคือการขยายไปจับตลาดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าอินเดีย ที่ยังมีความน่าสนใจ หลังที่ผ่านมามีการเข้ามาจัดงานแต่งงานที่เมืองไทยจำนวนมาก แม้งานแต่งจะถูกจัดในโรงแรม 5-6 ดาว แต่ทีมงานที่มาจัดงานก็เลือกพักโรงแรมในระดับรองลงมา และนั่นคือโอกาสของ Golden Beach รวมถึงตลาดใหม่ๆ อย่าง ลัตเวีย และโปแลนด์ ที่มีกำลังซื้อ และไม่กลัวการใช้เงิน ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่ยังคงมีความน่าสนใจอยู่
                 

     ปีนี้โรงแรม 4-5 ดาว ต่างลงมาแข่งกันลดราคา ขณะที่ตลาดประชุมสัมมนาก็ลดจำนวนลงเรื่อยๆ ซึ่งกระทบต่อธุรกิจของ Golden Beach นั่นคือที่มาของการคลอดโปรเจ็กต์ใหม่ ทำคอร์สสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง และเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี ทั้งยังเป็นเทรนด์ในอนาคตที่ยังเติบโตต่อไปได้อีกด้วย 
               




     ในส่วนของโรงแรมก็มีการเปิดชั้นดาดฟ้าเป็น “รูฟท็อปบาร์” จุดนัดพบแห่งใหม่ในชะอำ ด้วยบรรยากาศวิว 360 องศา แห่งเดียวในชะอำ ซึ่งนั่นคือจุดขายใหม่ที่พวกเขาเชื่อว่า จะดึงให้ผู้คนเลือกมาใช้บริการ Golden Beach มากขึ้นหลังจากนี้
               

     “ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึง ชะอำ หัวหิน ต่างชาติอาจยังไม่ค่อยรู้จักเท่าไรเมื่อเทียบกับพัทยา เราเลยพยายามทดลองหลายๆ อย่าง ตอนนี้พวกเราอาจต้องช่วยๆ กัน รวมตัวกันจัดกิจกรรมเพื่อดึงคนเข้ามา และอาจต้องไปเพิ่มตลาดใหม่ แต่มันคงต้องใช้เวลา แต่ก็ต้องปูทางไว้ก่อน และคงต้องดิ้นอีกหลายเฮือก
               




     ตั้งแต่มาช่วยธุรกิจครอบครัว มองว่าปีนี้หนัก เพราะว่าเป็นกันทั้งโลก ถึงแม้เราจะเน้นตลาดคนไทยก็จริง แต่เวลาที่โรงแรม 4-5 ดาวลดราคาลงมาเราก็ได้รับผลกระทบ แล้วอำนาจการซื้อก็อยู่ที่ลูกค้าด้วย คือราคามันก็ต้องถูก แต่เราก็สู้นะ โดยเราจะยังรักษาการบริการที่ดีที่สุดไว้ให้ได้” เธอบอกการรับมือกับสารพัดโจทย์หินในวันนี้
 
               

     ประหยัด หารายได้ ยืดค่าใช้จ่ายออกไป


     ถามถึงแนวทางรับมือกับ COVID-19 “สุจินต์ เจียรจิตเลิศ” อุปนายกสมาคม ประธานฝ่ายการตลาด และประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมโรงแรมไทย บอกว่า ต้องยึด  3 นโยบาย คือ ประหยัด หารายได้ และยืดค่าใช้จ่ายออกไป


      “สำหรับเราชาวโรงแรม เราเจอมาแล้วหลายวิกฤตและเราพร้อมที่จะสู้กับมัน ในช่วงที่นักท่องเที่ยวน้อยพวกเราเลือกจะใช้เงินเพื่อรีโนเวทโรงแรมให้เหมาะสมกับยุคสมัย รวมถึงมีการเตรียมตัวว่า หลังจากการจองบุ๊กกิ้งแรกของคนจีนกลับเข้ามา เราจะเตรียมตัวอย่างไร ควรจะดูแลเรื่องความสะอาดอย่างไร ใช้น้ำยาตัวไหน อุณหภูมิในการซักควรจะเป็นอย่างไร ถึงจะให้ผู้เข้าพักเข้ามาแล้วรู้สึกสบายใจ และมีกลิ่นอายของความสะอาด นอกจากนี้เราต้องหาตลาดที่เข้ามารองรับในระยะยาว อย่างอินเดีย ซึ่งทางด้านการท่องเที่ยวเขาเป็นยักษ์ที่เพิ่งตื่น และปัจจุบันก็เข้ามาประเทศไทยแล้วประมาณกว่าล้านคน นอกจากอินเดีย เรายังมีตลาดอาเซียน ซึ่งมองข้ามไม่ได้เลย แม้จะรู้สึกว่าอยู่ใกล้ แต่ยิ่งอยู่ใกล้นี่แหล่ะตัดสินใจง่าย แค่เดินทางมาเสาร์-อาทิตย์ กินข้าวมันไก่ เดินทางกลับด้วยตั๋วโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ก็คุ้มแล้ว” สุจินต์ บอก
                 

     ด้าน “พิกุล ศรีมหันต์” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ SME ธนาคารไทยพาณิชย์ บอกว่า การแพร่ระบาดของไวรัส COVID- 19 ได้สร้างวิกฤตด้านการท่องเที่ยวให้กับผู้ประกอบการไทยทั้งกลุ่มโรงแรม ที่พัก และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง รวมถึงนักท่องเที่ยวไทยชะลอการเดินทางท่องเที่ยวเช่นกัน ในขณะที่ผู้ประกอบการยังคงต้องแบกรับภาระต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ


      เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ธนาคารได้ออก 3 มาตรการช่วยเหลือ “ช่วยพัก ช่วยขาย ช่วยลดต้นทุน” คือ 1.ช่วยพัก โดยออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินโดยพักชำระเงินต้นให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะเวลาสูงสุด 12 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระในเบื้องต้นให้กับผู้ประกอบการ  2.ช่วยขาย โดยจับมือกับพันธมิตรอย่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) และสมาคมโรงแรมไทย (THA) จัดงาน “SCB เที่ยวไทย ไปด้วยกัน” เพื่อช่วยกระตุ้นบรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศ โดยจะจัด Roadshow ไปยังสำนักงานองค์กรพันธมิตรต่างๆ เป็นต้น และ 3.ช่วยลดต้นทุน โดยการเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรด้านต่างๆ เพื่อช่วยธุรกิจลดต้นทุนในระยะยาว ผ่านการทำ Business Matching ให้ผู้ประกอบการจับคู่เจรจาธุรกิจกับกลุ่มคู่ค้า รวมทั้งผู้พัฒนาเทคโนโลยีในการบริหารจัดการธุรกิจซึ่งมีประสิทธิภาพ อาทิ ระบบบริหารจัดการห้องพัก ระบบประหยัดพลังงาน ระบบบัญชี เป็นต้น

               

                

     ยังมีความท้าทายในการทำธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมในปีนี้ ขณะที่พิษของ COVID-19 ก็ยังคงจะส่งผลต่อเนื่อง ไม่ได้หายไปในเร็ววันนี้ เช่นเดียวกับข้อมูลจาก Economic Intelligence Center (EIC) ที่ประเมินว่า การระบาดของโรค COVID-19 จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปี 2020 ลดลงเหลือเพียงราว 37 ล้านคน หรือลดลง 7.1 เปอร์เซ็นต์ YOY ขณะที่ COVID-19 ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจไทยในด้านอื่นๆ อาทิ ภาคการส่งออก การผลิต รวมถึงการบริโภคภายในประเทศอีกด้วย โดย EIC ปรับลดคาดการณ์  GDP จาก 2.7 เปอร์เซ็นต์  เหลือ 1.8 เปอร์เซ็นต์  YOY ในปี 2020


     สำหรับ SME ไทย ข้อมูลเหล่านี้มีไว้ให้ปรับตัว เพื่อที่จะหาทางหนีทีไล่ได้ทัน แม้แต่การพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในสถานการณ์ที่สุดโหดหินในปีนี้ เช่นเดียวกับที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรมเหล่านี้ได้ทำมันให้เราเห็นแล้ว
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย