เจาะเส้นทาง ‘ขวัญธารา’ OTOP ลอยฟ้า จากสมุนไพรพื้นบ้าน สู่สินค้าขึ้นเครื่อง ทำได้ยังไง?

Text & Photo : นิตยา สุเรียมมา





Main Idea
 
  • ‘ขวัญธารา’ แบรนด์สินค้าโอทอปที่หยิบเอาสมุนไพรอย่าง ‘มะไฟจีน’ พืชพื้นบ้านของจังหวัดน่านมาสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม จนเกิดเป็นเครื่องสำอางจากมะไฟจีนแบรนด์แรกและแบรนด์เดียวในไทยอยู่ ณ ขณะนี้ แถมยังเป็นโอทอปลอยฟ้า ถูกคัดเลือกให้ไปวางจำหน่ายอยู่ในหน้าแค็ตตาล็อกของการบินไทย
 
  • แต่กว่าจะประสบความสำเร็จอย่างในทุกวันนี้ได้ ต้องผ่านเส้นทางการทำธุรกิจมาหลายสตเปด้วยกัน เรื่องราวความเป็นมาจะเป็นอย่างไรนั้น ลองไปฟัง ธารารัตน์ ศรีจันทร์ดี ผู้นำวิสาหกิจชุมชนขวัญธารามาบอกเล่าให้ฟัง
 


 
                
     หนึ่งในหน่วยธุรกิจที่ถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตในทุกวันนี้ ก็คือ เหล่าผู้ประกอบการ SME ที่มีอยู่มากกว่าร้อยละ 90 ของประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นย่อมมีสินค้าโอทอป หรือสินค้าจากชุมชนต่างๆ รวมอยู่ด้วยแน่นอน แต่การจะเปลี่ยนจากสินค้าพื้นบ้านให้กลายเป็นสินค้ายอดนิยม หรือแม้กระทั่งทำให้เกิดเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนต่อชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ทำยังไงจึงจะกลายเป็นสินค้าโอทอปที่มีคุณภาพ ต่อยอดและเติบโตต่อไปได้ในระยะยาว





     วันนี้เรามีตัวอย่างของ ‘ขวัญธารา’ (KWANTARA) แบรนด์โอทอปที่หยิบเอาสมุนไพรอย่าง ‘มะไฟจีน’ พืชพื้นบ้านของจังหวัดน่านมาสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม จนกลายเป็นเครื่องสำอางจากมะไฟจีนแบรนด์แรกและแบรนด์เดียวในไทยอยู่ ณ ขณะนี้ แถมยังเป็นโอทอปลอยฟ้า ถูกคัดเลือกให้ไปวางจำหน่ายอยู่ในหน้าแค็ตตาล็อกการบินไทย ผ่านสายตานักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกด้วย กว่าจะมาเป็นที่รู้จักและเติบโตอย่างนี้ได้ สเตปเส้นทางธุรกิจของขวัญธาราจะเป็นเช่นไร ทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ ลองไปฟัง ธารารัตน์ ศรีจันทร์ดี ผู้นำวิสาหกิจชุมชนขวัญธารามาบอกเล่าให้ฟัง
 

...มองหาอัตลักษณ์ท้องถิ่น สร้างจุดเด่นขึ้นมา...


     ธารารัตน์ เล่าให้ฟังว่าจุดเริ่มต้นอับดับแรกหลังจากที่เธอและเพื่อนๆ ในชุมชนคิดอยากทำธุรกิจ สร้างรายได้ขึ้นมาเพิ่มขึ้นให้กับตนเองและคนในชุมชน คือ การมองหาอัตลักษณ์หรือจุดเด่นที่มีของท้องถิ่น เพื่อนำมาสร้างเอกลักษณ์ให้ตัวสินค้า ซึ่งเธอพบว่าในอำเภอภูเพียง พื้นที่ตั้งของชุมชนนั้นมีการเพาะปลูกต้นมะไฟจีนอยู่จำนวนมาก จึงได้คิดอยากนำมาผลิตเป็นสินค้าออกวางขาย โดยเริ่มต้นขึ้นมาจากสมาชิก 12 คน และจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขวัญธาราขึ้นมา เมื่อปี 2559 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท สร้างแบรนด์ ‘ขวัญธารา’ ขึ้นมา โดยใช้ตราสัญลักษณ์เป็น ‘เสี้ยวดอกขาว’ ดอกไม้ประจำจังหวัดน่าน
 
 



...คิดนอกกรอบ ทำสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน…
               

     แต่คิดว่าหากยังทำในรูปแบบเดิมๆ ซึ่งโดยปกติแล้วมักมีการนำไปทำบ๊วยอมแก้เจ็บคอ ทำลูกหยี ทำน้ำผลไม้ แยมผลไม้ ก็คงไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและความแตกต่างขึ้นมาได้ ธารารัตน์จึงนึกถึงการผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวเองมีความสนใจอยู่แล้ว และมองว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มที่ฉีกออกมา ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน อีกทั้งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้หลายเท่าตัว
               

     “การที่เราทำตามคนอื่น ก็ไม่ได้มีการสร้างความแตกต่าง เราต้องเดินตามรอยเท้าเขา ไม่มีโอกาสที่จะสร้างรอยเท้าใหม่ของตัวเองขึ้นมาได้ ส่วนแบ่งตลาดที่มีอยู่ก็น้อยลง แต่ถ้าเริ่มจากทำของตัวเองที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ครั้งแรกอาจจะเหนื่อยหน่อย เพราะต้องสร้างการรับรู้เพื่อให้เป็นที่รู้จัก แต่ถ้าสามารถทำได้ เราจะกลายเป็นคนเดียวคนแรกที่เขารู้จักในผลิตภัณฑ์นี้”
 




...ทำทั้งที ก็ทำให้ดีไปเลย...


     โดยครั้งแรกหลังจากตัดสินใจเลือกที่จะทำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแล้ว ก็พุ่งเป้ามองไปที่การผลิตเครื่องสำอางที่ใช้กับใบหน้าเลย เพราะมองว่าเป็นระดับสินค้าที่ขายได้ราคามากกว่าเครื่องสำอางอื่นๆ ที่ใช้กับตัว อาทิ แชมพู ครีมทาผิว ครีมอาบน้ำ ฯลฯ


     “เราคิดว่าทำทั้งทีก็ควรทำให้ดีไปเลย ทำตัวที่สุดยอด สามารถสร้างมูลค่าเยอะๆ ได้ไปเลยดีกว่า ถ้าเราเริ่มจากครีมอาบน้ำ ครีมทาตัว ก่อน ด้วยราคาที่ไม่ได้สูงมาก อีกทั้งน้ำหนักที่เยอะกว่า เวลาไปออกงานแสดงสินค้า ไปทำตลาดให้เป็นที่รู้จักในช่วงแรก ก็อาจลำบากในการขนส่ง ดังนั้นถ้าเปิดตัวเราก็อยากทำให้คนรู้จักเราเลย จึงเลือกทำตัวที่ดีที่สุดก่อน”
 




...ทำแบบชาวบ้าน แต่คิดแบบวิชาการ…
               

     แต่ด้วยความที่เป็นสิ่งใหม่ ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ถึงแม้จะหยิบเอกลักษณ์ที่มีในท้องถิ่นมาสร้างจุดเด่นก็ตามที แต่ถ้าจะให้เกิดการยอมรับได้ ก็ต้องผ่านการรับรองจากหน่วยงาน หรือบุคคลที่น่าเชื่อถือว่าสามารถพิสูจน์เห็นผลได้จริง ดังนั้นจึงต้องอาศัยผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้พิสูจน์และวิจัยออกมาให้ เพื่อทำผลยืนยันให้ออกมาน่าเชื่อถือ
               

     “ถึงเราจะพอมีความรู้ศึกษาการทำเครื่องสำอางมาระดับหนึ่ง แต่เราก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่จบมาโดยตรง ไม่มีใบเบิกทางให้เกิดการยอมรับได้ จึงต้องอาศัยหน่วยงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาช่วยตั้งสูตรตำรับให้ ซึ่งพอทำตรงนี้ออกมาแล้ว ก็จะทำให้สินค้าของเราเป็นที่ยอมรับ คนก็กล้าทดลองใช้


     “โดยครั้งแรกที่ทำเป็นเซรั่มบำรุงผิวหน้าออกมา เราให้สถาบันตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (IQS) โดยการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกกรรมภาคที่1 เป็นผู้ตั้งสูตรตำรับให้ ซึ่งผลมะไฟจีนมีคุณสมบัติมีฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบของผิวหนัง มีวิตามินซี ต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงช่วยชะลอการเกิดออกซิเดชั่นสามารถลดริ้วรอยก่อนวัยได้ อย่างที่บอกด้วยความแปลกใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน เมื่อสามารถทำออกมาได้สำเร็จ จึงทำให้ได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดี ซึ่งหลังจากผลิตเป็นเซรั่มออกมาแล้ว เราจึงค่อยขยายเป็นผลิตภัณฑ์อื่นตามมา ได้แก่ โฟมมูสล้างหน้า ครีมทาผิว ครีมทามือ แชมพู สบู่เหลว”
 




...มีแผนสำรอง เพื่อเอาตัวรอดเสมอ...
               

     แต่อย่างที่บอกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน จึงอาจต้องใช้ระยะเวลาในการวิจัยค้นคว้า ซึ่งในระหว่างรออาจทำให้เสียโอกาส สูญเสียรายได้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายแรงงานคน ค่าต้นทุนการผลิตที่ลงไป อาทิ อาคารผลิต เครื่องจักร เตรียมรออยู่แล้ว ธารารัตน์จึงได้ใช้วิธีผลิตสินค้าอื่นที่ไม่ซับซ้อน ได้รับการยอมรับเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้วออกมาขายก่อน เพื่อสร้างรายได้ให้กับกลุ่ม
               

     “ถึงความตั้งใจแรกของเรา คือ อยากผลิตเครื่องสำอางจากมะไฟจีนเลย แต่เพราะด้วยความที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน จึงต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์วิจัย ในช่วงระหว่างที่รออยู่เกือบปีนั้น เราจึงคิดผลิตสินค้าอื่นออกมาขายก่อน เพื่อสร้างรายได้เข้ามาให้กับกลุ่ม โดยเราเลือกทำเจลว่านหางจระเข้ และมาร์กหน้ามะขามก่อน ซึ่งมีผลวิจัยออกมามากมายว่ามีสรรพคุณดีต่อร่างกายยังไงเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้ว ทุกวันนี้ก็ยังผลิตอยู่ เพราะเป็นสินค้าตัวแรกที่เราผลิตและยังมีลูกค้าต้องการใช้อยู่”
 

...ยืนบนลำแข้งตัวเองให้ได้ก่อน ไม่ต้องรอให้ใครมาช่วย...
               

     โดยตั้งแต่เริ่มแรกสิ่งที่ธารารัตน์คิดเอาไว้ก็คือ เมื่อตัดสินใจทำแล้ว ก็ลงมือทำเลยให้เต็มที่ เริ่มต้นลงมือทำด้วยตัวเองก่อน ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากใคร และวันหนึ่งเมื่อทำดีแล้ว มีผู้มาพบเห็น ก็จะยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือเอง เพราะเห็นคุณค่าในสิ่งที่ได้ลงมือทำไป โอกาสต่างๆ ก็จะเข้ามาเอง
               




     “ตั้งแต่เริ่มแรกเลย คือ เมื่อตัดสินใจที่จะทำกันแล้ว เราเริ่มต้นและลงมือทำด้วยตัวเองเลย โดยยังไม่ต้องรอให้ใครมาสนับสนุน เราต้องพยายามยืนด้วยตัวเองให้ได้ก่อน และเมื่อถึงเวลาถ้าจะมีคนเข้ามาช่วยสนับสนุนเติมปีก เติมแข้งขาให้ก็ค่อยว่ากันอีกที ซึ่งในทุกวันนี้เราได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานหลายแห่งด้วยกัน สิ่งสำคัญ คือ เราต้องเตรียมความพร้อมเอาไว้ และไม่หยุดเรียนรู้ เมื่อเขาเข้ามาสนับสนุนแล้ว เราต้องดึงเอาองค์ความรู้และสิ่งที่ต้องการจริงๆ นำเสนอออกไปได้ เพื่อมาตอบโจทย์ให้ธุรกิจของเรา ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เราพัฒนาต่อยอดขึ้นไปอีกได้เรื่อยๆ ”
               

     และจากความมุ่งมั่นพยายามนั่นเอง จึงทำให้ขวัญธาราได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ประกอบการคุณภาพได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย อาทิ สุดยอด SME ประจำจังหวัดน่าน, รางวัลเหรียญทองแชมป์เปี้ยน สุดยอดผลิตภัณฑ์โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รางวัลที่ 1 จังหวัดน่าน ผลิตภัณฑ์เด่นจังหวัด (PSO), รางวัลรองชนะเลิศ ครีเอทีฟ คอสเมติกโดยสมาคมเครื่องสำอางแห่งประเทศไทย รวมถึงโอกาสที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปเป็นหนึ่งในสินค้าโอทอปที่ได้ลงแนะนำอยู่ในเว็บไซต์ Thailandmall.com และแค็ตตาล็อกของสายการบินไทย เป็นสินค้าขึ้นเครื่อง เสิร์ฟความน่าสนใจให้กับลูกค้าต่างชาติได้
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย