Main Idea
- “ไมลอทท์ แลบบอราทอรีส์” คือผู้ผลิตสินค้าเครื่องสำอางและความงาม ซึ่งเป็นที่ยอมรับของแบรนด์ชั้นนำระดับโลก โดยสามารถผลิตสินค้าได้สูงถึงกว่า 70 ล้านชิ้นต่อเดือน ส่งออกไปในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก และอยู่ในตลาดความงามมานานถึง 30 ปี
- หลักคิดที่ชัดเจนตั้งแต่ต้น คือใช้การผลิตโดยคนไทย ในเมืองไทย โดยใช้เทคโนโลยีจากญี่ปุ่น และคุณภาพมาตรฐานแบบญี่ปุ่น เพื่อสร้างการยอมรับในระดับสากล เพราะเชื่อว่าเครื่องสำอางยังเป็นธุรกิจ Sunrise สามารถขายได้ทั่วโลก จึงต้องทำให้แบรนด์ต่างชาติยอมรับและเข้ามาผลิตที่เมืองไทยให้ได้
แบรนด์เครื่องสำอางชั้นนำกว่า 100 บริษัททั่วโลก ผลิตที่เมืองไทย ในโรงงานที่ชื่อ “ไมลอทท์ แลบบอราทอรีส์”ผู้ผลิตสินค้าเครื่องสำอางคุณภาพสูงถึงเดือนละกว่า 70 ล้านชิ้น ส่งออกไปในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก และดำรงคงอยู่ในตลาดความงามมานานถึง 30 ปี
นี่คือเรื่องราวของผู้ประกอบการพันธุ์แกร่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้ ในอุตสาหกรรมที่โลกต่างยกให้เป็น Sunrise ตลาดที่ยังมีอนาคตสดใส ท่ามกลางอุตสาหกรรมมากมายที่กำลังอยู่ในช่วงขาลงอย่างวันนี้
เราได้รู้จักพวกเขามากขึ้น จากคำบอกเล่าของ “รุ่งระวี กิตติสินชัยกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมลอทท์ แลบบอราทอรีส์ จำกัด กับเกมรุกธุรกิจ ที่เลือกเดินให้ถูกตั้งแต่ก้าวแรก
จุดเริ่มต้นของโรงงานไทยมาตรฐานญี่ปุ่น
ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 30 ปีก่อน บริษัท ไมลอทท์ แลบบอราทอรีส์ จำกัด ถือกำเนิดขึ้น โดยการร่วมทุนกับบริษัท ไมลอทท์ คอสเมติก คอร์เปอเรชัน (Milott Cosmetic Corporation) ประเทศญี่ปุ่น โดยจุดประสงค์ก็เพื่อ ใช้การผลิตโดยคนไทย ในฐานการผลิตเมืองไทย โดยใช้เทคโนโลยีและคุณภาพมาตรฐานในแบบญี่ปุ่น มาสนองตอบในตลาดรับจ้างผลิต (OEM) สินค้าเครื่องสำอางและความงาม ให้เป็นที่ยอมรับของแบรนด์ชั้นนำระดับโลก
“หลักคิดที่ชัดเจนของเราตั้งแต่ 30 ปีก่อน ตอนที่เริ่มธุรกิจ คือใช้การผลิตคนไทย ผลิตที่เมืองไทย โดยใช้เทคโนโลยีจากญี่ปุ่น และคุณภาพมาตรฐานญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นการดำเนินการตั้งแต่การสร้างโรงงาน จนกระทั่งถึงกระบวนการทำงานทุกอย่าง ต้องระดับคุณภาพญี่ปุ่นเท่านั้น เพราะเรามองว่า ในอนาคตเครื่องสำอางเป็นสินค้าที่ Sunrise สามารถขายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเราต้องผลิตสินค้าที่ทำให้แบรนด์ต่างชาติยอมรับและเข้ามาผลิตที่เมืองไทยให้ได้”
รุ่งระวี บอกถึงจุดเริ่มต้น ของการเลือกไปร่วมทุนกับญี่ปุ่น เพื่อก่อร่างสร้างธุรกิจนี้ขึ้น เพราะหากย้อนไปเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ในเรื่องของสินค้าเครื่องสำอางและความงาม ญี่ปุ่น ถูกยกให้ดีที่สุดในโลก และทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นเช่นนั้น แม้จะมีตลาดใหม่อย่างเกาหลีแซงหน้าไปบ้างตามเทรนด์การตลาด
ฉะนั้นการสร้างโรงงานให้ต่างชาติยอมรับจึงเริ่มตั้งแต่วันแรก โดยทำให้ได้มาตรฐานในแบบญี่ปุ่น ลงทุนด้านเครื่องมือ เครื่องจักรที่ทันสมัย เธอบอกว่า แม้แต่ถังผสมสูตรก็ยังนำเข้าจากญี่ปุ่นด้วยซ้ำ แม้ต้องแบกรับกับราคาที่สูงลิ่ว รวมถึงการทุ่มเทกับอุปกรณ์ของห้องแล็บต่างๆ ให้มีความพร้อม
“สำหรับธุรกิจนี้ ถ้าเราคิดจะผลิตสินค้าแล้วเครื่องไม้เครื่องมือไม่พร้อม ไม่ทันสมัย และไม่มีความหลากหลาย ลูกค้ามาคุยแค่ครั้งเดียวแล้วกลับเลยนะ เพราะมองว่าเรายังไม่พร้อม” เธอบอกโจทย์ที่ท้าทายตั้งแต่ต้น
เจ้าแห่งระบบประกันคุณภาพ
ในการผลิตสินค้าทั่วไป “คุณภาพ” คือสิ่งที่หลายแบรนด์ต้องตระหนักถึง แต่เมื่อไรที่ต้องผลิตสินค้าเครื่องสำอางและความงาม คำว่าคุณภาพที่ว่า จะต้องทวีความเข้มข้น หนักหน่วง มากกว่าเดิมอีกหลายเท่า
“ระบบประกันคุณภาพ ต้องบอกว่าสำคัญมากๆ เพราะเวลาลูกค้าต่างชาติมาเจอเรา ชุดแรกที่มาคือสำรวจโรงงาน จากนั้นเขาจะดูเลยว่า คุณมีระบบประกันคุณภาพอะไรบ้าง GMP ไม่ต้องพูดถึง ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่คุณต้องมี และตอนนี้ GMP คนไทยไม่ได้ด้วยนะ แต่ต้องเป็น ISO22716 ซึ่งเป็น GMP เฉพาะคอสเมติก หรืออย่าง ISO9001 ไม่ต้องพูด คุณต้องมี สมัยก่อนแค่นี้ก็พอแล้ว แต่วันนี้สิ่งที่ลูกค้าคอนเซิร์น ไม่ใช่แค่ตัวสินค้าเท่านั้น เขายังคอนเซิร์นไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะฉะนั้น ISO14001 ต้องมา ซึ่งอันนี้เราก็ทำมากว่าสิบปีแล้ว เพราะลูกค้าโกลบอลแบรนด์ เขาให้ความสำคัญถึงเรื่องนี้แล้ว”
ถ้าใครมองว่ามาตรฐานแค่นี้ก็พอ รับรองว่าไม่ใช่กับ ไมลอทท์ แลบบอราทอรีส์ พวกเขาบอกว่า เรื่องของชีวอนาและความปลอดภัยของพนักงานก็สำคัญ สมัยก่อนคนอาจให้ความสำคัญกับ SHE (Safety- Health- Environment )แต่วันนี้ทำแค่นี้ไม่พอ แต่ต้องยกระดับสู่มาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยหรือ ISO45001 ด้วย
หนึ่งในเรื่องที่แบรนด์ทั่วโลกกำลังตระหนักถึง คือเรื่องการคุ้มครองแรงงาน และความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งปัจจุบัน ไมลอทท์ แลบบอราทอรีส์ ได้รับการรับรองจาก SEDEX องค์กรและระบบการจัดการเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน และความปลอดภัยในการทำงาน เรียบร้อยแล้ว
มาตรฐานต้องรับกับความต้องการในแต่ละประเทศ
การมีมาตรฐานเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ใช่มาตรฐานอะไรก็ได้ รุ่งระวีบอกเราว่า ด้วยความที่ลูกค้าต่างชาติมีความหลากหลาย และแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันไป ฉะนั้นระบบคุณภาพที่ว่าจะต้องสอดรับไปกับความต้องการในแต่ละประเทศที่สินค้านำไปจำหน่ายด้วย
“อย่างเช่น ถ้าเราจับกลุ่มประเทศมุสลิม แน่นอน HALAL ซึ่งเราเป็นคอสเมติกเจ้าแรกที่ได้รับการอนุมัติ HALAL ของบริษัทผู้ผลิต ซึ่งปัจจุบันเราได้ HALAL LPPOM MUI จากอินโดนีเซีย ซึ่งถือว่าหินที่สุด เพราะว่าเขาเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะฉะนั้นเขาจะซีเรียสเรื่องการใช้วัตถุดิบ เครื่องไม้เครื่องมือที่จะต้องไม่มีการปนเปื้อน หรือขัดตามหลักศาสนา เพราะฉะนั้นอันนี้ต้องมีการสอบถามกลับไปถึงที่มาของวัตถุดิบว่าเป็นอย่างไร แพ็กเกจจิ้งเป็นอย่างไร กระบวนการผลิตเป็นอย่างไร คนที่ทำงานเป็นอย่างไร ต้องมีกระบวนการอะไรต่างๆ เยอะไปหมด ซึ่งตรงนี้เราก็สามารถทำได้ และทุกปีเราได้เกรดเอ นี่เป็นตัวอย่างที่บอกว่า ความต้องการเฉพาะพื้นที่ของแต่ละประเทศมีผล เพราะฉะนั้นในเรื่องการประกันคุณภาพต้องครอบคลุมไปถึงตรงนี้ด้วย”
รุ่งระวี บอกเราอีกว่า แม้แต่การส่งออกไปแต่ละประเทศก็มีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าต้องการส่งสินค้าไปยุโรป ก็ต้องมี BRC (British Retail Consortium) ไปญี่ปุ่นก็ต้องมีใบรับรอง JAPAN : QUASI DRUG ถ้าไม่มีไม่เจรจาต่อ แน่นอนว่า มาตรฐานพวกนี้ พวกเขามีครอบคลุมทั้งหมดแล้ว
การวิจัยและพัฒนาคือหัวใจของธุรกิจ
นอกจากเรื่องของโรงงานและคุณภาพมาตรฐานที่เหนือชั้น อีกหัวใจสำคัญที่จะทำให้ลูกค้ายอมรับได้ คือ การวิจัยและพัฒนา (R&D) ต้องแข็งแกร่งด้วย ซึ่ง R&D ในที่นี้ไม่ใช่แค่การพัฒนาสูตร แต่ยังรวมไปถึงเรื่องแพ็กเกจจิ้งด้วย
“คำว่าสูตรนี่ชัดเจนเลย อย่างถ้าเราจะไปประเทศมุสลิมก็ต้องได้ HALAL ซึ่งตอนนี้ R&D ของเรา มีสูตรเยอะมากโดยนโยบายคือพยายามทำให้เป็น HALAL ทั้งหมด อย่างการเลือกวัตถุดิบที่ไม่มีปัญหาเรื่อง HALAL เพราะมองว่าเวลาขายของเราไม่ได้เน้นขายแค่ประเทศเดียว บางครั้งอาจขายไปประเทศพม่า เวียดนาม ปรากฏสินค้าเกิดขายดี เลยอยากขยายไปมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย ซึ่งถ้าได้ HALAL คุณสามารถไปได้เลย โดยเรามีเอกสาร มีหลักฐานในการที่จะตรวจสอบกลับได้ว่า สินค้าเราเป็น HALAL และผลิตจากโรงงานที่ได้รับการรับรองเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ R&D ของเรายังมีการพัฒนาเรื่องแพ็กเกจจิ้งด้วย เพราะตอนนี้กระแสรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมสำคัญ โดยเราได้พัฒนาร่วมกับซัพพลายเออร์ อย่าง ยูนิลีเวอร์ ในการใช้แพ็กเกจจิ้งรีไซเคิล อันนี้ก็เหมือนกัน เราต้องมีความยืดหยุ่นและต้องอัพเดทตัวเองอยู่เสมอเพื่อให้ทันสมัย ต้องรู้ว่าในโลกนี้เขาเป็นยังไง เขาคอนเซิร์นเรื่องอะไรกัน แล้วปรับตัวให้ทัน” เธอบอก
ในการทำงานกับลูกค้าที่หลากหลาย เรื่องของความลับทางการค้าสำคัญ รุ่งระวีบอกเราว่า ที่ ไมลอทท์ แลบบอราทอรีส์ มีการใช้ซอฟต์แวร์ช่วยในการบริหารจัดการ ใช้ระบบการปฏิบัติการ SAP ในการทำงาน ใช้โค้ดภายใน (Internal Code) ในการประสานงานต่างๆ เพื่อรักษาความลับของลูกค้า เหล่านี้เป็นต้น
สร้างคนที่ใช่ เพื่อองค์กรที่แข็งแกร่ง
เมื่อถามว่าอะไรคือหัวใจสำคัญที่สุดขององค์กร รุ่งระวี ยกให้เรื่อง “คน” เธอบอกว่า ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาเมื่อ 30 ปีก่อน ไมลอทท์ แลบบอราทอรีส์ ให้ความสำคัญกับเรื่องของคน ที่ต้อง ซื่อสัตย์ โปร่งใส และมีวินัย
“พนักงานต้องซื่อสัตย์ คุยอะไรต้องทำได้แบบนั้น ต้องมีความโปร่งใส ไม่ว่าจะตัวสินค้าหรืออะไรก็ตามจะต้องไม่มีการแพร่งพรายออกไปข้างนอก เขาต้องมีจรรยาบรรณในการทำงาน และมีวินัย สามารถรักษาคำมั่นที่ให้กับลูกค้าได้” เธอบอก
ในฐานะที่อยู่ในวงการเครื่องสำอางและความงามมานานกว่า 3 ทศวรรษ รุ่งระวี บอกว่า เธอมั่นใจอย่างมากว่า บริษัทในประเทศไทยสามารถผลิตสินค้าที่ดี และให้เกิดการยอมรับจากลูกค้าต่างชาติได้ โดยสิ่งสำคัญ คือ คนไทยด้วยกันต้องช่วยกัน เพราะเค้กก้อนนี้ใหญ่มาก แม้จะมีการแข่งขันที่สูง แต่เค้กมันใหญ่ขึ้นเพราะคนที่ใช้สินค้ากลุ่มนี้อายุน้อย และทุกเพศสามารถใช้ได้ ฉะนั้นถ้าผู้ประกอบการไทยช่วยเหลือกัน ก็จะเติบโตและมีโอกาสอีกมากในธุรกิจที่มีอนาคตนี้
“ความสามารถในการผลิตสินค้าเครื่องสำอางในไทย ยังมีโอกาสอีกเยอะมาก ขณะที่วันนี้เรายังมีหน่วยงานภาครัฐที่จะส่งเสริมในเรื่องของวัตถุดิบและอะไรต่างๆ ซึ่งถ้าเราร่วมมือกันอย่างจริงจัง เชื่อว่าประเทศเราจะยังเป็นแหล่งผลิตที่จะส่งออกไปต่างประเทศได้ และมีจุดขาย นอกเหนือจากนั้นเรายังมีคนที่เก่งๆ ความสามารถ ในการที่จะรวมพลังกันผลิตและส่งออกสินค้าเครื่องสำอางและความงาม เพื่อช่วยกันส่งเสริมธุรกิจในบ้านเราให้เติบโตต่อไปได้” เธอบอกความเชื่อมั่นในตอนท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี