Main Idea
- บนโลกใบนี้ยังมีวัสดุที่ถูกกองทิ้งไว้โดยไม่มีใครแลเห็น แต่กลับมีชายหนุ่ม 2 คนได้หยิบเอาวัตถุดิบที่เรียกว่าผ้า Dead Stock ไปจนถึงเสื้อยืดมือสองหรือผ้าทอของชนเผ่าต่างๆ มาใส่ดีไซน์จนกลายเป็นสินค้าแฟชั่นสุดคูลที่เหมาะกับการเดินทาง
- เพราะบางครั้งความสวยงามอาจเกิดจากความไม่สมบูรณ์แบบที่ค่อยๆ ผสมกลมกลืนกัน ใส่ใจลงไป ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปจนกลายเป็นผลงานที่สวยงามและเต็มไปด้วยความตั้งใจอย่างแบรนด์ ZAYAN ที่พวกเขาไม่ได้อยากจะเดินไปข้างหน้าด้วยตัวคนเดียวแต่จะพาวัสดุเหลือใช้ไปด้วยกันกับพวกเขา
บนโลกใบนี้ยังมีวัสดุที่ถูกกองทิ้งไว้โดยไม่มีใครแลเห็น แต่กลับมีชายหนุ่ม 2 คนได้หยิบเอาวัตถุดิบที่เรียกว่าผ้า Dead Stock ไปจนถึงเสื้อยืดมือสองหรือผ้าทอของชนเผ่าต่างๆ มาใส่ดีไซน์จนกลายเป็นสินค้าแฟชั่นสุดคูลที่เหมาะกับการเดินทาง และนี่คือแบรนด์ที่เริ่มต้นจาก Passion ของนักเดินทางอย่าง ‘ZAYAN’ ธุรกิจน้ำดีที่เกิดจาก ธนกร บินซายันและ ธนากร ก๊กเครือ สองผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ซึ่งชอบการท่องเที่ยวและบังเอิญได้พบเจอกับแหล่งผ้า Dead Stock เมื่อเห็นแล้วจึงเกิดความคิดว่า น่าจะนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์อะไรสักอย่างได้
ธนกรเริ่มเรียนรู้การตัดเย็บเสื้อผ้าเพิ่มเติมและในช่วงแรกก็ทดลองทำเพื่อใส่เองรวมถึงให้คนใกล้ตัวได้ลองใส่ จากนั้นก็ได้ทดลองขายบนโลกออนไลน์และขยับขยายจากการที่ TCDC ได้เข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมเรื่องขององค์ความรู้ต่างๆ ให้แน่นขึ้น จนแบรนด์ ZAYAN กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะของแบรนด์ Fashion Accessory ซึ่งจะเน้นหนักไปที่หมวกและกระเป๋าในสไตล์ลุยๆ เท่ๆ เหมาะสำหรับคนที่รักการแต่งตัวหรือนักเดินทาง โดยพวกเขามีการออกแบบให้สินค้าเหมาะกับการเดินทาง ใส่ฟังก์ชันเข้าไป อาทิ พกพาง่าย พับได้ไม่เสียทรง กันน้ำ เป็นต้น
จุดเด่นอีกอย่างของแบรนด์ ZAYAN คืองานของพวกเขาเป็นงาน ‘ผ้าต่อ’ หรือว่า Patchwork ที่จะหยิบเศษผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาผสานกลมกลืนให้กลายเป็นสินค้าสร้างสรรค์ ซึ่งธนากรได้เล่าถึงแนวคิดของแบรนด์ให้ฟังว่า
“เริ่มต้นคือเราเห็นผ้า Dead Stock ถ้าเราไม่เอามาใช้ ผ้าพวกนั้นก็จะยังคงเป็นผ้า Dead Stock อยู่แบบนั้น ก็เลยคิดว่าน่าจะสร้างให้เกิดประโยชน์ได้แล้วก็ไม่ได้สร้างขยะเพิ่ม เป็นการใช้อะไรที่มีอยู่แล้ว ใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปแล้วกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง ส่วนตัวเต๋า (ธนกร) เป็นคนที่ชอบเดินทาง ชอบไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยว เราก็ดีไซน์ลุคที่ออกมาเป็นลุคท่องเที่ยว ใส่ไปลุยๆ แต่อาจจะไม่ได้สมบุกสมบันมากขนาดนั้น เรายังมีความเป็นแฟชั่น เหมือนทุกคนแต่งตัวแล้วก็หยิบสินค้าของเราใส่เสริมเข้าไป เราอยากให้แฟชั่นของเรามีความยั่งยืน ไม่ใช่ Fast Fashion ที่ใส่ครั้งเดียวแล้วจบ” ธนากรเล่า
นอกจากการนำผ้า Dead Stock มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แล้ว พวกเขายังมีการหยิบเอาผ้าพื้นเมืองจากการพบเจอระหว่างการเดินทางมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงานอีกด้วย เพราะไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่งานของพวกเขาคือการทดลอง
“เรามีการทดลองหลายอย่าง เช่น บางทีเราไปท่องเที่ยวแล้วถ้าไปเจอผ้าพื้นเมืองของสถานที่นั้นก็จะหยิบเอาผ้าผืนนั้นมาผลิตเป็นงานของเรา บางทีเราก็ไม่ได้ค้นหาวัสดุอะไรที่ใหม่มาก อาจจะมีผ้าแบบ Traditional มีงาน Patchwork มีงาน Upcycling ด้วย ถ้าจะเอาคำสวยๆ คือพวกเราเคยคิดกันว่าในขณะที่โลกก้าวไปข้างหน้าแต่เราไม่ได้ก้าวไปข้างหน้าตามโลก เราอยากจะพาสิ่งที่อยู่ข้างหลังตามไปด้วยกัน เราจะไม่ทิ้งเรื่องพวกนั้น แต่ถ้าถามว่าแบรนด์เราช่วยเหลือโลกขนาดนั้นเลยหรือเปล่า อาจจะไม่ใช่ ใช้แล้วรู้สึกรักษ์โลกเลยหรือเปล่า ก็อาจจะไม่ใช่ บางทีผ้า Dead Stock ถ้าเราไม่ทำอะไร มันก็อยู่แบบนั้นหรือถ้าเรามัวแต่หาวัสดุใหม่เรื่อยๆ แล้วชาวพื้นเมืองที่เคยทำผ้าของเขา แล้วเราไม่นำมาใช้ Know-how ของเขาก็จะหายไปอย่างนั้นเหรอ?
เราเลยหยิบสิ่งเหล่านี้มาใช้แล้วผสมผสานกลมกลืนให้กลายเป็นสไตล์ของเรา เช่น คอลเลกชันล่าสุดที่ไปออกงาน Bangkok Design Week เป็นงานทดลองที่เอาเสื้อยืดมือสองที่มีอยู่ในท้องตลาดแบบที่กองเป็นภูเขามาทดลองให้กลายเป็นกระเป๋า หมวก ใส่ดีไซน์และสีที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์เราเข้าไป พยายามที่จะคำนึงถึงสิ่งที่มันเหลือทิ้ง เราอาจจะไม่ได้แก้ปัญหาให้โลกได้ขนาดนั้น เราแค่พยายามที่จะดึงมันมาใช้ ทำเท่าที่เราทำได้” ธนากรเล่าถึงการทดลองที่นำมาสู่โปรดักต์คูลๆ ของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม เสน่ห์ของแบรนด์ ZAYAN อาจไม่ใช่การที่พวกเขาออกตัวว่าเป็นแบรนด์รักษ์โลกจ๋า เพราะสิ่งที่พวกเขาทำมันมาจากเจตนารมณ์ลึกๆ ข้างในที่อยากใช้วัสดุเหล่านั้นมาสร้างให้เกิดสิ่งใหม่ แต่เสน่ห์ที่แท้จริงของพวกเขามาจากการดีไซน์ ความคราฟท์ของกระบวนการผลิตที่ทำมือทุกชิ้น ไปจนถึงสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์จนคว้าใจลูกค้าได้อย่างอยู่หมัด
“เราไม่ได้ออกตัวไปในลักษณะรักษ์โลก ถามว่ารักษ์โลกไหม เราก็มีความ Upcycling แต่ก็มีวัสดุใหม่เข้าไปผสมอยู่ด้วย เราไม่ใช่แบรนด์ที่เจอแล้วจะทำให้คุณรักษ์โลกได้เลย แต่เราอยากนำเรื่องของสไตล์ รสนิยม ดีไซน์เป็นตัวนำ ส่วนเรื่องรักษ์โลกเป็นองค์ประกอบที่อยู่ในใจเราอยู่แล้ว เราพยายามช่วยเท่าที่เราช่วยได้ เช่น ถ้าเรากินกาแฟแล้วเลี่ยงแก้วพลาสติกไม่ได้ ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นไม่เอาฝาหรือไม่เอาหลอดแทน แบรนด์เราเป็นแบบนั้น สิ่งที่ทำให้ลูกค้าเข้ามาแล้วพอใจกับสินค้าของเรา เขาไม่ได้ชอบเพราะเราเป็นแบรนด์รักษ์โลกแต่ชอบสไตล์ของเรา มีรสนิยมแบบนี้ เอกลักษณ์แบบนี้ โทนสีแบบนี้มากกว่า”
โดยธนากรได้ปิดท้ายว่า พวกเขาเริ่มต้นด้วยแนวคิดของนักออแบบจึงไม่ได้ใช้ธุรกิจเป็นที่ตั้ง แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นใช้ใจเป็นตัวนำในการสร้างแบรนด์ ZAYAN ของพวกเขา
“แบรนด์สำหรับเราสองคนคือเรามาสายดีไซน์ นักออกแบบ ไม่ได้เอาธุรกิจเป็นตัวนำ เรารู้สึกว่าการทำอะไรที่ทำด้วยใจ ความชอบและเราสนุกกับงาน ก็จะส่งผลให้เราทำมันออกมาได้ดีและมีคนมองเห็น รับรู้ได้ว่าสิ่งที่เราทำขึ้นมาเต็มไปด้วยความตั้งใจ”
เพราะบางครั้งความสวยงามอาจเกิดจากความไม่สมบูรณ์แบบที่ค่อยๆ ผสมกลมกลืนกัน ใส่ใจลงไป ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปจนกลายเป็นผลงานที่สวยงามและเต็มไปด้วยความตั้งใจอย่างแบรนด์ ZAYAN ที่พวกเขาไม่ได้อยากจะเดินไปข้างหน้าด้วยตัวคนเดียวแต่จะพาวัสดุเหลือใช้ไปด้วยกันกับพวกเขา
สำหรับใครที่มีไอเดียรักษ์โลกดีๆ สามารถส่งเมลมาแบ่งปันกับพวกเราได้ที่ sme_thailand@yahoo.com โดยวงเล็บมาด้วยว่า (แชร์ไอเดียรักษ์โลก) เพื่อร่วมในพันธกิจ SME Save The World Project ไปพร้อมกับพวกเราทุกคน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี