“มโนห์รา” ข้าวเกรียบสู้ชีวิต จากชายหาดแดนใต้ สู่ตลาดกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

TEXT : นิตยา สุเรียมมา
 




 
 
Main Idea
 
  • “มโนห์รา” จากข้าวเกรียบแดนใต้ที่เริ่มต้นขายจากริมชายหาดสมิหลา จังหวัดสงขลา ที่เริ่มต้นธุรกิจขึ้นเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว จากพี่น้องสู้ชีวิตสองคนที่มีอาชีพทำขนมขาย
 
  • มาวันนี้ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์แบบไทยๆ บวกกับความอุตสาหะของผู้ริเริ่มที่ไม่ยอมย่อท้อต่ออุปสรรคง่ายๆ จึงทำให้ข้าวเกรียบแดนใต้แห่งนี้ สามารถวางจำหน่ายอยู่ในร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า รวมถึงส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้มากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก สร้างรายได้ให้บริษัทถึงปีละกว่าหลายร้อยล้านบาท



 
 ...เพราะความขยันไม่เคยทำให้ใครอดตาย…


     คำกล่าวนี้เป็นจริงได้เสมอ โดยเฉพาะกับเส้นทางการทำธุรกิจที่ต้องพบกับอุปสรรคนานัปการ และหนทางเริ่มต้นก็มักไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เมื่อสามารถผ่านพ้นมาได้ก็จะพบกับความสดใสรออยู่ที่ปลายทาง





     เหมือนเช่นกับเรื่องราวของ “ข้าวเกรียบมโนห์รา” ข้าวเกรียบรสชาติไทยๆ ที่จุดเริ่มต้นนั้นมาจากข้าวเกรียบแบบบ้านๆ ที่ใส่ถุงพลาสติกใสขายอยู่ริมชายหาด แต่ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์แบบไทยๆ ไปจนถึงความอุตสาหะพากเพียรของผู้ริเริ่ม ทำให้วันนี้ข้าวเกรียบที่ว่านั้นถูกวางขายอยู่ในร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ไปจนถึงโกอินเตอร์ส่งไปขายไกลถึงตลาดเมืองนอก และเติบโตเป็นธุรกิจหลักร้อยล้านขึ้นมาได้


     ย้อนไปเมื่อกว่า 50 ปีก่อน ณ ริมชายหาดสมิหลา จังหวัดสงขลา “อภิวัฒน์ วังวิวัฒน์” เด็กหนุ่มคนหนึ่งที่อาศัยอยู่กับพี่สาวเพียงสองคน และมีรายได้จากการทำขนมขาย วันหนึ่งเมื่อเก็บเงินได้จนสามารถเปิดร้านขายของชำเป็นของตัวเอง เขาซึ่งปกติมักช่วยพี่สาวเอาขนมไปขายอยู่แล้ว ก็เกิดความคิดชักชวนพี่สาวให้ทำข้าวเกรียบทอดขาย เนื่องจากเห็นว่าน่าจะสร้างรายได้มากกว่าขนมไทยที่ขายอยู่ แถมยังสามารถเก็บรักษาได้นานกว่า ไม่เสียง่ายอีกด้วย โดยนอกจากจะวางขายในร้านขายของชำแล้ว ตัวเขาเองก็นำไปเร่ขายในราคาห่อละ 1 บาท เพื่อเก็บเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นทุนเล่าเรียนด้วย ซึ่งในขณะนั้นเขากำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น มศ.5





     ด้วยรสชาติข้าวเกรียบที่เป็นเอกลักษณ์และการออกไปเร่ขายโดยตรง ทำให้เข้าถึงลูกค้าได้ง่าย  เลยเป็นที่รู้จักมากขึ้นของชาวสงขลา จนมีการติดต่อขอซื้อเพื่อนำไปขายต่อในเวลาต่อมา


     กระทั่งเมื่อได้เข้ามาสอบเรียนต่อมหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานคร ด้วยความที่ในตอนนั้นยังมีฐานะยากจน อภิวัฒน์ จึงต้องมาอาศัยอยู่ในวัดมหาธาตุ ระหว่างนั้นเขาก็มองหาลู่ทางอาชีพหารายได้เพิ่มไปด้วย เพื่อส่งตัวเองเรียน จึงได้คิดนำข้าวเกรียบจากพี่สาวที่จังหวัดสงขลามาขาย โดยให้พี่สาวส่งตัวข้าวเกรียบที่ยังไม่ทอดขึ้นรถไฟมาให้


     จากนั้นเขาจึงลองนำมาทอดขายที่สนามหลวง ซึ่งในยุคนั้นเป็นตลาดนัดยอดนิยมของคนกรุง ซึ่งเมื่อลูกค้าได้ลองชิมจากที่ทอดกันสดๆ บวกกับรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์แบบไทยๆ จึงทำให้ข้าวเกรียบของเขาเป็นที่รู้จักในเวลารวดเร็ว และโด่งดังไปทั่วพระนคร





     เมื่อเห็นโอกาสธุรกิจว่าน่าจะไปได้ดี ทั้งยังมีผู้คนสนใจติดต่อขอซื้อเป็นจำนวนมาก อภิวัฒน์ จึงตัดสินใจสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ เพื่อนำมาผลิตขายแบบจริงจัง โดยในครั้งแรกนั้นตั้งใจว่าจะใช้ชื่อแบรนด์ว่า “ข้าวเกรียบสงขลา” เพราะมีต้นกำเนิดมาจากที่นั่น แต่เนื่องจากเป็นชื่อจังหวัด จึงไม่สามารถจดได้ ภายหลังเขาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ข้าวเกรียบมโนห์รา” ซึ่งสื่อความหมายถึงภาคใต้ได้เช่นกัน


     และจากนั้นมาชื่อของข้าวเกรียบมโนห์ราก็กระโดดเข้ามาโลดแล่นอยู่ในตลาดเมืองไทย มีการปรับปรุงแพ็กเกจจิ้งให้มีความทันสมัย ได้มาตรฐาน  จนสามารถเข้าไปวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้าต่างๆ ได้ เท่านั้นยังไม่พอเขายังได้มองไปถึงการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย โดยเลือกไปโรดโชว์ต่างประเทศกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจุดเด่นที่เขานำไปเสนอ คือ ความเป็นสินค้าไทย





     ปัจจุบันเมื่อก้าวมาสู่ยุคที่ทายาทเข้ามาช่วยบริหารจัดการ ข้าวเกรียบมโนห์รา ก็เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถึงแม้ไม่มีการโฆษณาออกมาให้เห็นมากสักเท่าไหร่ แต่ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ก็ทำให้มีสัดส่วนต่างประเทศอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ ในประเทศ 70 เปอร์เซ็นต์ ส่งออกไปขายในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก อาทิ จีน  ญี่ปุ่น ฮ่องกง บังกลาเทศ อังกฤษ อเมริกา อินเดีย เป็นต้น รวมถึงตลาดเอเชีย และ CLMV เพื่อนบ้านเราด้วย


     โดยปัจจุบันมีสินค้ามากกว่า 50 รายการ มีให้เลือกหลายรสชาติ อาทิ กุ้ง ปู ปลา เผือก ฟักทอง ทั้งยังขายในแบบพร้อมรับประทานและแบบพร้อมทอด ที่ลูกค้าสามารถนำไปทอดกินเองได้ด้วย ซึ่งนอกจากข้าวเกรียบก็ยังมีขนมแปรรูปอื่นๆ ด้วยอีก 2-3 แบรนด์ อาทิ ออร์เดิฟ และ ฟีบัสโรล  เป็นต้น


     โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ในปี 2560 ได้เปิดเผยรายได้ของ บริษัท มโนห์รา อุตสาหกรรม จำกัด อยู่ที่ 415 ล้านบาท และบริษัท มโนห์รา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด อยู่ที่ 286 ล้านบาท


     และนี่แหละ เรื่องราวของ มโนห์รา ข้าวเกรียบคนสู้ชีวิตที่พากเพียร ไม่ยอมแพ้ จนวันหนึ่งสามารถขยับตัวเองจากข้าวเกรียบที่ขายอยู่ชายหาด สู่แบรนด์ข้าวเกรียบที่ผลิตขายในระดับอุตสาหกรรม จนปัจจุบันวางจำหน่ายทั่วประเทศ และส่งออกไปขายในหลายสิบประเทศทั่วโลกได้
 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย