Photo : กานดากิจรุ่งเรือง
Main Idea
- “กานดากิจรุ่งเรือง (เทียนแก้ว)” ร้านวัสดุก่อสร้างเล็กๆ ย่านรังสิต คลอง 11 ที่โด่งดังในโลกออนไลน์กับการใช้แพ็กเกจจิ้ง Reuse แบบจริงจัง ใช้ทุกอย่างให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
- นี่เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า การดูแลใส่ใจสิ่งแวดล้อมคือเรื่องของทุกคนที่สามารถช่วยกันได้ ไม่ว่าจะเป็นรายบุคคล หรือแม้แต่ธุรกิจร้านค้าที่มีระบบการทำงานซับซ้อน ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
คงไม่ใช่เรื่องแปลกในวันนี้หากจะพูดถึงพฤติกรรมรักษ์โลก ตั้งแต่ลดการใช้ คิดก่อนทิ้ง นำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ไปจนถึงการคัดแยกเพื่อรีไซเคิลอย่างถูกวิธี ในกลุ่มของคนรุ่นใหม่หรือคนยุคนี้ที่ต่างหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น แต่ถ้าพูดถึงร้านค้าหรือธุรกิจการจะหันมาใส่ใจดูแลรักษ์โลกกันมากขึ้นถึงขั้นชนิดที่ว่าจริงจังเก็บเหล่าวัสดุถุงซองแพ็กเกจจิ้งต่างๆ ที่ใช้แล้วให้นำกลับมาใช้ซ้ำได้ใหม่ สร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งหรือหลายๆ ครั้งก่อนทิ้งแล้วละก็ คงเป็นเรื่องยาก และไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากคงเพิ่มความยุ่งยากให้กับการทำธุรกิจอยู่ไม่น้อย
แต่สำหรับ “กานดากิจรุ่งเรือง” (เทียนแก้ว) ร้านวัสดุก่อสร้างเล็กๆ ย่านรังสิต คลอง 11 ที่ก่อตั้งมานานหลายสิบปีตั้งแต่รุ่นแม่และรับช่วงสานต่อธุรกิจจากคนรุ่นลูกในเจเนอเรชันที่ 2 สิ่งเหล่านี้เป็นจริงและเกิดขึ้นได้ แถมทำมานานตั้งแต่เมื่อสิบปีที่แล้ว! แพ็กเกจจิ้ง Reuse กับร้านวัสดุก่อสร้างมาเกี่ยวข้องกันได้ยังไง อยากรู้ตามมาเลย
- #ลดโลกร้อนเริ่มต้นจากร้านค้า
“ศศิกานต์ ศรีประทีปบัณฑิต” ผู้ริเริ่มไอเดียบรรเจิดในการนำแพ็กเกจจิ้งเหลือใช้ให้กลายมาเป็นแพ็กเกจจิ้งใช้จริงในธุรกิจเล่าที่มาให้ฟังว่า กิจการร้านวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างดังกล่าวนี้สร้างขึ้นมาจากน้ำพักน้ำแรงของคุณแม่เธอ เป็นร้านค้าเล็กๆ ดั้งเดิมในชุมชนที่ทำการค้าขายกันมานาน จนวันหนึ่งเมื่อคุณแม่เสียชีวิตลง เธอซึ่งทำงานประจำจึงได้กลับมาช่วยพี่ๆ น้องๆ สานต่อกิจการของครอบครัว ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ธุรกิจ แต่เพื่อส่งต่อมิตรภาพอันยาวนานของลูกค้าเก่าแก่มากมาย ระหว่างแม่กับลูกค้ามาสู่คนอีกรุ่นหนึ่งด้วย เหมือนเช่นที่เธอได้เขียนบันทึกไว้ในเพจของร้านเพื่อบอกเล่าเรื่องราว “ร้านของแม่” ให้ฟัง
เมื่อมีโอกาสได้เข้ามาคลุกคลีอย่างจริงจัง สิ่งหนึ่งที่ศศิกานต์มองเห็นและอยากเปลี่ยนแปลงก็คือ การเลือกใช้แพ็กเกจจิ้งให้คุ้มค่าที่สุด เพื่อลดการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ และไม่ก่อให้เกิดขยะโดยไม่จำเป็น ซึ่งส่วนหนึ่งก็เริ่มมาจากความสนใจส่วนตัวที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วด้วย
“รูปแบบธุรกิจเดิมของเราก็เหมือนกับธุรกิจสมัยก่อนที่ไม่ได้มีระบบวิธีคิดอะไรมาก อย่างตะปูชั่งกิโลที่เลอะน้ำมันเขาก็หยิบเอาถุงก๊อปแก๊บใหม่ไปใช้ชั่งเลย ในขณะที่ยังมีถุงหรือแพ็กเกจจิ้งที่ใช้แล้ว แต่ยังมีประโยชน์ใช้ซ้ำได้ถูกทิ้งจำนวนมากอยู่ทุกวันๆ เราจึงค่อยๆ เข้าไปเริ่มเปลี่ยน อะไรที่รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องใช้ของใหม่ เราก็ไม่ใช้ อะไรที่ยังมีประโยชน์และเอากลับมาใช้ซ้ำได้ เราก็ใช้” เธอเล่า
- #มองทุกอย่างเป็นแพ็กเกจจิ้ง
ความเปลี่ยนแปลงในการเลือกใช้แพ็กเกจจิ้งของร้านกานดากิจรุ่งเรือง ค่อยๆ เริ่มเปลี่ยนไปทีละจุด โดยอะไรที่เปลี่ยนได้เลยก็ปรับเปลี่ยน และบางอย่างก็ต้องดูที่ความเหมาะสมในการใช้งานด้วย
“เราเริ่มต้นเปลี่ยนจากถุงใส่น็อตใส่ตะปูชั่งกิโลก่อน จากเดิมที่จะใช้ถุงใหม่ใส่เลย ก็ให้เปลี่ยนมาใช้ถุงเก่าที่ไม่ได้เลอะมาก หรือพวกแพ็กเกจจิ้งซองขนมต่างๆ เอามาล้างทำความสะอาด แล้วก็เอาไปใช้ต่อ จากนั้นก็เริ่มมองไปที่พวกน็อตที่สะอาดขึ้นมาหน่อย จากเดิมจะใช้พวกถุงร้อนที่เป็นถุงน้ำจิ้มเล็กๆ ใส่แล้วแม็กแยกไว้เป็นแพ็กๆ เราก็ใช้เป็นพวกเศษพลาสติกแผ่นใหญ่ๆ ที่ใช้ห่อสินค้าเข้ามาขายในร้าน เช่น ถุงห่อบันได เวลาฉีกออกมาแล้วจะขาดไม่เป็นถุง เราก็ลงทุนซื้อเครื่องซีลมาซีลให้เป็นถุงเล็กๆ พอเรามีถุงทดแทน ก็ทำให้ไม่ต้องเอาถุงใหม่เข้ามาในระบบ ไม่ต้องสร้างขยะ เราก็ยกเลิกซื้อถุงแบบนั้นไปเลย หรือยางหนังยางรัดของทุกวันนี้ก็ไม่ได้ซื้อแล้ว แต่จะใช้วิธีตัดแกนกระดาษทิชชู หรือซองขนมที่ยาวๆ ออกเป็นวงๆ เพื่อใช้รัดของแทน หรือพวกหนังยางจากถุงแกง ถุงก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ เราก็เก็บเอาไว้ใช้ ทำให้ไม่ต้องซื้อมาเพิ่ม”
โดยทุกวันนี้ถุงพลาสติกในร้านกานดากิจรุ่งเรืองจะแบ่งการใช้งานออกเป็นเกรดต่างๆ ตั้งแต่ถุงที่เอาไว้ใส่ของเลอะ เช่น น็อต ตะปูชั่งกิโล, ถุงที่เอาไว้ใส่ของสะอาด และที่มีค่าที่สุดในร้าน คือ ถุงหูหิ้วใหม่ ซึ่งหากไม่จำเป็นก็จะใช้ให้น้อยที่สุด เพราะสินค้าบางอย่างก็จำเป็นต้องใช้ถุงที่แข็งแรง ไม่ฉีกขาดง่าย เช่น สินค้าที่เป็นวัตถุอันตรายพวกทินเนอร์ กรดเกลือ เป็นต้น
ซึ่งแนวคิดในการเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งใช้แล้ว ให้กลายมาเป็นแพ็กเกจจิ้งที่ใช้ซ้ำได้อีกครั้งเริ่มต้นจากวิธีคิดง่ายๆ คือ มองทุกอย่างให้เป็นแพ็กเกจจิ้ง ก่อนที่จะนำไปทิ้งให้มองก่อนยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้อีกหรือไม่ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าที่สุดในการใช้งาน
“เราจะมองทุกอย่างเป็นแพ็กเกจจิ้งก่อน ขอแค่ให้ยังใช้ใส่ของได้ ก็จะเก็บไว้ก่อน แล้วค่อยนำมาดัดแปลงภายหลัง อย่างบางอันใส่ใช้ของได้ แต่ติดตรงไม่มีหู ไม่สามารถหิ้วไปได้ เราก็ไปหาเชือกมาร้อยใส่เป็นหูหิ้วให้ คือ เรามองว่าถุงชิ้นหนึ่งมีการเดินทางของมัน อยู่ที่ว่าเราจะให้มันเดินทางไปต่อเรื่อยๆ หรือเปล่า เพราะแต่ละใบมีอายุการใช้งานที่นาน ถ้าใช้ครั้งเดียวทิ้ง ก็น่าเสียดาย”
แต่ถึงแม้จะอยากนำแพ็กเกจจิ้งเก่ากลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าไหร่ก็ตาม ศศิกานต์เล่าว่าทุกอย่างก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง คือ ต้องใช้งานได้จริง สามารถดูแลรักษาให้ลูกค้าถือกลับไปได้อย่างปลอดภัย
“ในเมื่อเราตั้งใจที่จะใช้แพ็กเกจจิ้งแบบนี้ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำให้ลูกค้าเดือดร้อน เช่น ลูกค้าต้องไม่รอนาน เพราะบางทีเราก็ต้องคิดตอนนั้นเลยว่าใส่ถุงแบบไหนไปดีถึงจะเหมาะ ต้องลองผิดลองถูกกันไป เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องให้เขาสามารถถือสินค้ากลับไปได้อย่างปลอดภัย คือ ฟังก์ชันการใช้งานต้องได้ด้วย ลูกค้าบางคนเข้าใจ เห็นก็ชอบ เออแปลกดีนะ เก๋ดี เพราะส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในชุมชนคุยเล่น พูดเล่นกันอยู่บ่อยๆ แต่คนที่ไม่เข้าใจก็มี บางทีเขาก็ถามว่าไม่อายเหรอใช้ถุงแบบนี้ หงุดหงิดบ้างก็มี เราก็ต้องอธิบายบ้างให้เขาเข้าใจ”
โดยแพ็กเกจจิ้งที่นำมาใช้ Reuse ใหม่ทุกวันนี้ ได้แก่ แผ่นพลาสติก ซองขนม กาแฟ แก้วน้ำพลาสติก ถุงผงซักฟอก ขวดน้ำพลาสติก แกนกระดาษทิชชู กระดาษห่อเหรียญ ฯลฯ ซึ่งหลังจากเก็บรวบรวมไว้เบื้องต้นแล้ว จึงจะทำความสะอาดและคัดแยกคุณสมบัติ เพื่อหารูปแบบการใช้งานที่เหมาะสม อาทิ ซองขนมที่มีความหนาก็จะนำไปใช้ใส่ตะปู โดยแหล่งวัตถุดิบที่ได้จะมาจาก 3 ช่องทางหลัก คือ 1.จากแพ็กเกจจิ้งที่ติดมากับสินค้าต่างๆ ภายในร้าน 2.จากลูกค้าที่มาซื้อสินค้า 3.ขยะทั่วไปที่สร้างขึ้นในชีวิตประจำวันในแต่ละวัน ซึ่งทุกกระบวนการศศิกานต์จะเริ่มต้นลงมือทำด้วยตัวเองก่อน เพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่าง
“บางทีลูกค้าซื้อของที่ต้องใส่แพ็กเกจจิ้งแยกของใครของมัน เช่น ปลั๊กไฟ ซื้อที 1-2 โหล รวมถุงที่ต้องทิ้งทั้งหมด คือ 20-30 ใบแล้ว เราก็คุยกับเขาว่าไหนๆ จะต้องทิ้งอยู่แล้ว งั้นทิ้งตรงนี้ดีกว่าเราจะได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อ เขาก็ยินดี เราก็ต้องรีบตัดออกให้เร็ว เพื่อที่เขาจะไม่ได้เสียเวลา แล้วเราก็จะได้ถุงมาใส่ของได้อีกตั้ง 20-30 ใบ โดยทุกอย่างเราจะเริ่มต้นลงมือทำให้ลูกน้องเห็นเองก่อน อย่างล้างถุงเราก็ล้างเองก่อน ถุงพลาสติกที่ซีลไว้ใช้เราก็ทำเอง ส่วนหนึ่งเพราะไม่อยากเพิ่มงานให้กับเขา อีกส่วนก็อยากให้เขาค่อยๆ เรียนรู้และตระหนักได้ด้วยตัวเอง บางทีอันไหนตึงไปเราก็จะปิดตาข้างหนึ่ง ค่อยๆ ปรับกันไปทั้งคู่ จนทุกวันนี้เริ่มก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมองไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น”
- #คิดเรื่องเล่นให้เป็นเรื่องใหญ่
ศศิกานต์เล่าว่า เป็นเวลากว่าสิบปีแล้วตั้งแต่กลับมาช่วยดูแลกิจการของครอบครัวที่เธอเฝ้าเพียรนำแพ็กเกจจิ้ง เหลือใช้มา Reuse ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเคล็ดลับที่ทำให้สามารถทำมาจนถึงทุกวันนี้ได้ ก็คือ เธอมองว่าเหมือนการเล่นเกมอย่างหนึ่งที่ต้องแก้ไขโจทย์ที่เข้ามาตลอดเวลา
“จริงๆ ที่ทำให้มาใส่ใจเรื่องนี้เริ่มมาจากพื้นฐานความสนใจส่วนตัวด้วย คือ เราเป็นคนชอบประดิษฐ์ทำโน่นทำนี่อยู่แล้ว เห็นอะไรที่ยังใช้ประโยชน์ได้ ก็จะเก็บเอาไว้ก่อน แล้วค่อยนำมาใช้ประโยชน์ในภายหลัง พอตอนคิดว่าจะดัดแปลงเอามาใช้อะไรดี จะใส่ให้ลูกค้าเอากลับไปยังไง ก็เหมือนเราได้เล่นเกม ได้ลองแก้โจทย์อยู่เรื่อยๆ”
โดย ณ วันนี้จากสิ่งที่เพียรพยายามทำมา ก็ดูเหมือนว่าจะเกิดผลขึ้นมาแล้ว
“เราเริ่มเปิดเพจของร้านขึ้นมาเมื่อกลางปีก่อน วัตถุประสงค์ไม่ใช่เพื่อขายของ แต่เพื่ออยากถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ในสิ่งที่เราเผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้าง รวมถึงอยากจดบันทึกบอกเล่าเรื่องราวที่น่ารักๆ ของลูกค้าคนในชุมชนนำเสนอออกไป เป็นมิตรภาพที่เรามีสืบต่อกันมาตั้งแต่รุ่นแม่ โดยในเพจจะมีอัลบั้มหนึ่งชื่อว่า “Sasiko Reuse” เราจะถ่ายรูปเก็บรวบรวมแพ็กเกจจิ้งต่างๆ ที่เคยทำเอาไว้ เผื่อใครสนใจอยากเอาไปทำบ้าง ซึ่งแรกๆ ก็มีคนเข้ามาดูบ้าง มียอดไลก์แค่ 70 กว่าไลก์ และยอดแชร์อีกนิดหน่อย แต่พอช่วงต้นปีที่ผ่านมาอาจจะเพราะด้วยกระแสการงดใช้ถุงพลาสติก เลยทำให้คนเข้ามาดูและได้รับความสนใจมากขึ้น จนเพิ่มยอดไลก์ขึ้นมากว่า 3,400 ไลก์ และยอดแชร์อีกกว่า 3,300 แชร์ มีสื่อต่างๆ ติดต่อเข้ามาเพื่อขอนำเรื่องไปลงหลายแห่งด้วยกัน
“มีคนเข้ามาขอบคุณในสิ่งที่เราทำ ขอบคุณที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเขา เขาจะนำไปทำตามบ้าง ซึ่งทำให้เราหายเหนื่อยเลยกับสิ่งที่พยายามทำมาตลอด เพราะจุดประสงค์ของเราจริงๆ คือ อยากให้คนเอาไปทำต่อ ซึ่งมันดีทั้งต่อตัวเราเอง ลดต้นทุน และช่วยโลกได้ด้วย”
และสุดท้ายหญิงสาวทายาทร้านขายวัสดุก่อสร้างยังได้ฝากแนวคิดสำหรับธุรกิจหรือร้านค้าที่อยากนำวิธีการดังกล่าวไปปรับใช้บ้างว่า
“อย่างแรกคือ ให้เริ่มจากการเก็บก่อน ลองมองดูว่าก่อนที่เราจะทิ้งจริงๆ แล้วสิ่งนั้นยังใช้ประโยชน์ได้อีกหรือไม่ ฟังก์ชันการใช้งานของมันยังมีอยู่ไหม จากนั้นจึงค่อยมาดูต่อว่าจะเอามาปรับใช้กับธุรกิจของเราได้ยังไงบ้าง แต่หากไม่ได้เราก็สามารถเก็บแล้วส่งต่อให้กับคนที่เขาสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งโชคดีที่เราทำกิจการแบบนี้ทำให้สามารถเอาของ Reuse มาใช้ซ้ำได้ โดยที่คนไม่ค่อยถือสา ซึ่งหากเป็นบ้างธุรกิจก็อาจจะยากหน่อย เช่น ธุรกิจอาหาร เราจึงอยากให้มีร้านที่ไม่ต้องเน้นการใช้แพ็กเกจจิ้งมากเหมือนอย่างเรา เช่น ร้านขายของชำ ได้ลองเอาไปทำดูบ้าง ซึ่งหากมีหลายร้านช่วยกันทำจึงจะเกิดพลัง เกิดการเปลี่ยนแปลง และช่วยโลกได้เยอะมากขึ้น”
และนี่คือ เรื่องราวของร้านวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างที่ชื่อว่า “กานดากิจรุ่งเรือง (เทียนแก้ว)” ที่จริงจังกับทุกเรื่องในการใช้แพ็กเกจจิ้ง Reuse และแสดงให้เห็นว่าการช่วยกันรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวและเป็นเรื่องของทุกคน แม้แต่ในธุรกิจก็สามารถทำได้ เหมือนเช่นกับแฮชแท็กที่เธอได้เขียนไว้ในเพจและเรานำมาตั้งเป็นหัวข้อในบทความครั้งนี้ เธอทำได้ คุณก็ทำได้ เชื่อสิ!
สำหรับใครที่มีไอเดียรักษ์โลกดีๆ สามารถส่งมาแชร์กับพวกเราได้ที่อีเมล sme_thailand@yahoo.com โดยวงเล็บมาด้วยว่า (แชร์ไอเดียรักษ์โลก) เพื่อร่วมในพันธกิจ SME Save The World Project ไปพร้อมกับพวกเราทุกคน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี