“ฟางไทย” ผู้เปลี่ยนฟางข้าวในนา ให้กลายเป็นแผ่นกระดาษหนึ่งเดียวในโลก

Text & Photo : นิตยา สุเรียมมา
 

 
 
Main Idea
 
  • การได้กลับไปอยู่อาศัย ใช้ชีวิตบั้นปลายในบ้านเกิด เป็นความใฝ่ฝันของหนุ่มสาวหลายคนที่ต้องจากบ้านมาไกล ไม่ว่าจะเพื่อร่ำเรียนหนังสือ หรือทำงานก็ตาม
 
  • ทว่าการจะกลับไปได้อย่างสวยงามและเกิดการยอมรับได้นั้น ก็ต้องมีอาชีพหรือธุรกิจมารองรับด้วย และจะดีไม่น้อยถ้าได้ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น แรงงานในชุมชน ตลอดจนสิ่งของที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างธุรกิจน้ำดี ที่จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่ง “ฟางไทย” กระดาษและบรรจุภัณฑ์จากเศษฟางข้าว คือหนึ่งในตัวอย่างนั้น


 
     ทุกวันนี้มีหนุ่มสาวและผู้คนจำนวนไม่น้อยที่คิดอยากกลับไปสร้างเนื้อสร้างตัวทำธุรกิจอยู่ที่บ้านเกิด อาจเพราะความผูกพันกับวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส และไม่อยากแข่งขันกับคนในเมือง แต่ทว่าการจะกลับไปได้อย่างสวยงามและให้เกิดการยอมรับได้นั้น ต้องผ่านบทพิสูจน์หลายบทด้วยกัน





     เหมือนเช่นชีวิตของ “จารุวรรณ คำเมือง” หญิงสาวชาวจังหวัดลำปาง ที่คิดอยากกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิด โดยเริ่มต้นทำธุรกิจจากเศษวัสดุเหลือใช้ในชุมชน จนสามารถกลายเป็นผู้ผลิตกระดาษจากเศษวัสดุธรรมชาติที่ไม่ใช้สารเคมีใดๆ และส่งออกไปขายยังหลายประเทศทั่วโลก ภายใต้ชื่อ “Fang Thai Factory” ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นเพียงหนึ่งเดียวในไทย หรือในโลก ณ ขณะนี้ก็ว่าได้ 


 
  • เริ่มจากศูนย์ ต่อยอดจากเศษ (ฟาง)

     จากชีวิตที่ต้องจากบ้านมาร่ำเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ วันหนึ่งอยากกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิด จารุวรรณเล่าให้ฟังว่า เธอและแฟนหนุ่มจึงคิดอยากหาอาชีพมารองรับ ด้วยความที่เป็นเด็กรุ่นใหม่หากจะให้กลับไปทำไร่ทำนาเหมือนคนรุ่นก่อน ก็คงไม่ใช่สิ่งที่ถนัดนัก เธอจึงลองมองหาสิ่งที่พอจะทำได้ จนมาพบกับเศษฟางข้าวที่เหลือจากการทำนาในแต่ละครั้ง ซึ่งโดยปกติหากไม่เก็บเอาไปขายเพื่อปลูกผัก ให้วัวกิน ก็จะถูกเผาทำลาย กลายเป็นปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมตามมา จึงคิดอยากนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยนึกไปถึงกระดาษ ซึ่งตอนเริ่มต้นเธอว่า ไม่ได้มีความรู้อะไรเลย อาศัยแค่เรียนจากในอินเตอร์เน็ตและไปดูงานจากแหล่งผลิตกระดาษต่างๆ เท่านั้น จนทำให้ค้นพบว่าต้นทุนหลักของการทำกระดาษ ก็คือ สารเคมีและสีย้อม


     “ตอนนั้นที่ตัดสินใจเริ่มธุรกิจ เราไม่มีเงินทุนเลย พอลองไปศึกษาดูงานคนที่เขาทำกระดาษสากัน ไปถามเขาว่าต้นทุนหลักคืออะไรบ้าง เขาตอบว่าต้นทุนหลักมาจากสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตและสีที่นำมาย้อม กิโลกรัมหนึ่งตก 1,000 – 2,000 บาท ซึ่งเรามองว่าถ้าต้นทุนสูงขนาดนั้นเราทำไม่ได้แน่นอน อีกข้อที่สำคัญคือ ในเมื่อเราคิดอยากช่วยแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม คือลดการเผาฟางลง แต่หากเรากลับมาใช้สารเคมีในการผลิตอีกก็เท่ากับว่าจริงๆ แล้วเราไม่ได้ช่วยอะไรโลกเลย จากสองข้อนี้เราจึงคิดกันว่าจะไม่ใช้สารเคมีในการผลิต พอดีแฟนเรียนมาทางด้านวิศวอุตสาหการเลยทดลองทำเครื่องมือมาใช้ทดแทนสารเคมี ซึ่งเป็นการลงทุนครั้งเดียวและระยะยาว ไม่เหมือนกับใช้สารเคมีที่ต้องจ่ายใหม่ทุกครั้งที่มีการผลิต จริงๆ แล้วงานวิจัยที่นำฟางข้าวมาผลิตกระดาษนั้นมีอยู่หลายชิ้น แต่ส่วนใหญ่ยังใช้สารเคมีในการผลิตอยู่ แต่ของเราคือกระดาษจากฟางข้าวบริสุทธิ์ที่ทำมาจากธรรมชาติล้วนๆ เลย”


     ด้วยความที่ไม่ได้มีเงินทุนมากมายนัก การทำธุรกิจในช่วงแรกของจารุวรรณจึงเป็นลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป เรียกว่าอะไรทำได้ก็ทำ เพื่อหาเงินมาจุนเจือธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตขึ้นมาได้


     “ช่วงแรกยอมรับเลยว่าลำบากมาก เรียกว่าต้องกัดฟันยอมสู้กันเลยทีเดียว เพราะเราไม่ได้มีรายได้จากส่วนอื่นเลย อะไรที่ทำแล้วได้เงินเพื่อเอามาใช้ในธุรกิจเราทำหมดทุกอย่าง พอดีเรียนจบมาด้านภาษาอังกฤษธุรกิจ เลยไปรับจ้างสอนให้กับโรงเรียนพระในหมู่บ้าน ได้เงินมาเดือนละ 5,000 บาท ก็เอามาจ้างน้องคนหนึ่งให้คอยทำกระดาษให้วันละ 10 -20  แผ่นบ้าง ทำเก็บไว้เวลามีงานก็เอาไปผลิตเป็นสินค้าต่างๆ ออกมาขาย เราใช้วิธีแบบนี้มาตลอด ซึ่งช่วงแรกโดนดูถูกเยอะมาก บางคนว่าจะกลับมาอยู่บ้านนอกทำไม อุตส่าห์ไปเรียนถึงกรุงเทพฯ แล้ว กลับมาทำงานลำบากทำไม ทำไมไม่ทำอยู่ห้องแอร์สบายๆ บางคนรู้ว่าเราอยากทำธุรกิจ ก็พูดว่าเป็นไปไม่ได้หรอก คนที่จะทำธุรกิจได้ คือ คนที่มีเงินแล้วรวยแล้ว แต่เราไม่มีจะทำได้ยังไง ครั้งแรกที่ได้ยินเรียกว่าจุกน้ำตาแทบตกเลย แต่เราก็ใช้คำพูดเหล่านั้นแหละเพื่อเป็นแรงผลักดันตัวเอง เพื่อวันหนึ่งจะได้ทำให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นมันผิด และจะได้ไม่ไปใช้คำพูดแบบนี้กับใครอีก” เธอเล่า


     โดยในช่วง 1 – 2 ปีแรกนั้น สินค้าที่ผลิตออกมาส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าแฮนด์เมด อาทิ โคมไฟ พวงกุญแจ ของที่ระลึก เนื่องจากกระดาษที่ผลิตได้ยังมีลักษณะค่อนข้างหยาบ ยังไม่เหมาะที่จะนำไปผลิตเป็นแพ็กเกจจิ้งหรือใช้เขียนใช้พิมพ์ได้


     กระทั่ง 3  ปีผ่านไปเมื่อพัฒนากระดาษให้สามารถใช้งานได้ดีขึ้น มีความเรียบและละเอียดมากยิ่งขึ้น จึงเริ่มหันมาผลิตภาชนะและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากลูกค้าเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นวัสดุที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ ทำให้เริ่มจับความต้องการของลูกค้าได้ และยังเป็นการเปิดโอกาสสู่ตลาดต่างประเทศด้วย



 
  • ปั้นธุรกิจโตได้ด้วยคำถาม
     โดยจารุวรรณเล่าว่า ตลอดระยะเวลาที่เธอได้ไปออกงานแสดงสินค้านั้น นอกจากจะเป็นการเผยแพร่สินค้าให้เป็นที่รู้จักได้มากขึ้นแล้ว ยังทำให้ได้รับโจทย์ใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้พัฒนาธุรกิจไปได้อีกด้วย 


     “สิ่งที่มีค่ามากที่สุดในช่วงตลอด 3 ปีแรก ที่เราได้ไปออกบูธตามงานแสดงสินค้าต่างๆ ก็คือ คำถาม และKeyword  ต่างๆ จากลูกค้า โจทย์ที่เขาถามหรือให้เรามาเหมือนเป็นครูให้เรากลับมาคิด ประเมินถึงความเป็นไปได้ และทดลองทำ เคยมีครั้งหนึ่งจำได้เลยตอนออกบูธแรกๆ เราไม่รู้จะทำสินค้าอะไรดี เพื่อไปวางขาย เลยลองเอากระดาษมาวาดรูปพระธาตุ รูปวัด และรูปต่างๆ แล้วไปซื้อพวงกุญแจที่สมัยก่อนจะใส่รูปดารา และมาแกะออกเอากระดาษของเราใส่ลงไปแทน คนเดินผ่านมาเห็นนึกว่าแจกฟรี ก็เดินหยิบกันใหญ่ จึงทำให้เรากลับมาคิดว่าจะต้องทำอะไรที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกระดาษของเราได้มากกว่านี้”




     ซึ่งกว่าจะทำให้ผู้คนเข้าใจและยอมรับในตัวสินค้าได้ จารุวรรณเล่าว่า มีอยู่หลายครั้งทีเดียวที่เธอต้องลงมือทำให้เห็นด้วยตัวเอง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าและซัพพลายเออร์ต่างๆ


     “ในช่วงแรกที่เราจะทดลองทำแพ็กเกจจิ้ง ไม่มีโรงงานไหนกล้าเอาไปพิมพ์ผลิตให้เลย เพราะถ้าพูดถึงกระดาษจากฟางข้าว เขาก็จะนึกภาพไปถึงกระดาษสา และคิดว่ามันต้องไม่สามารถผลิตได้แน่ๆ และอาจทำให้เครื่องเขาเสียหายได้ เราก็เลยทดลองทำด้วยตัวเองให้เห็นเลย ลงทุนซื้อเครื่องปริ้นเตอร์มาเอาแบบบ้านๆ ธรรมดานี่แหละ ใส่กระดาษและลองปริ้นออกมา ปรากฏว่าสามารถทำได้ เราก็เลยเอากระดาษแผ่นนี้ไปให้ซัพพลายเออร์ดู เมื่อเขาเห็นว่าเราเองยังทำได้ ความกลัวขความกังวลต่างๆ ก็จะหายไปและกล้าที่จะทดลองผลิตให้


     “โดยหลังจากช่วงที่เราเริ่มผลิตภาชนะและบรรจุภัณฑ์ได้แล้ว ก็ได้รับคำแนะนำจากพี่คนหนึ่งว่าให้ลองประกวดโครงการ Unido ซึ่งเป็นโครงการขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติกับกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ผลปรากฏออกมาว่าเราได้รางวัลที่ 2 ของประเทศ ทำให้มีสิทธิได้ไปแข่งต่อที่ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา จนในที่สุดก็สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศกลับมา พอกลับมาก็ทำให้เป็นที่รู้จักในองค์กรต่างๆ มากขึ้น รวมถึงโอกาสดีๆ ที่เข้ามา อาทิ การติดต่อเข้ามาของ TCDC เพื่อนำตัวอย่างวัสดุของเราไปจัดแสดงวางอยู่ในห้องสมุด 13 เมืองใหญ่ทั่วโลก ซึ่งนับเป็นช่องทางการตลาดที่ดีกับแบรนด์มากทีเดียว หรือแม้แต่ล่าสุดที่ได้เข้าประกวดในโครงการ SEED Low Carbon Award 2019 และได้รับรางวัลชนะเลิศด้านบรรจุภัณฑ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ในชุมชน ก็ทำให้ชื่อเสียงของเราเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นในสายตาชาวโลก”



 
  • เศรษฐกิจแย่ แต่รักษ์โลกยังบูม
      ในขณะที่โลกกำลังตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเศรษฐกิจทรงๆ ทรุดๆ จารุวรรณเล่าจากประสบการณ์ที่เธอได้สัมผัสมากับตัวเองว่า ในตลาดสินค้ารักษ์โลกกลับได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น โดยดูจากยอดของออร์เดอร์ที่สั่งซื้อเข้ามา จนทำให้ไม่สามารถผลิตได้ทันตามที่ต้องการ


     “เศรษฐกิจโลกอาจจะแย่ แต่สำหรับสินค้ารักษ์โลกแล้วกลับบูมขึ้นนะ อาจเพราะคนหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นด้วย ซึ่งทุกวันนี้สินค้าที่เราขายเป็นหลัก คือ เยื้อกระดาษ เพื่อส่งป้อนให้โรงงานผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นความตั้งใจของเราตั้งแต่แรกเลยที่อยากทำกระดาษ เพราะเรามองว่ามันสามารถสร้างให้เกิดอิมแพคสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ในปริมาณมาก โดยส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังต่างประเทศมากกว่าขายในเมืองไทย กำลังการผลิตของเราทุกวันนี้อยู่ที่ 1 ตันต่อวัน แต่เรากำลังจะพัฒนาเพิ่มขึ้นให้เป็น 20 ตันต่อวันได้เร็วๆ นี้ เพราะมีความต้องการอยู่สูงมากในตลาดโลก ปัญหาตอนนี้ คือ ไม่สามารถผลิตให้ทันได้มากกว่า เพราะขาดกำลังการผลิตและเงินทุนในการต่อยอด”


     ณ ปัจจุบันฟางข้าวที่นำมาใช้ในกิจการของฟางไทย แฟคตอรี่  ได้แก่ หมู่บ้านในตำบลหัวเสือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของธุรกิจ และบางแห่งในตำบลแม่ทะ โดยนอกจากจะรับซื้อฟางข้าวจากในพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว อนาคตยังได้คิดรูปแบบโมเดลธนาคารฟางข้าวขึ้นมาด้วย เพื่อกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ โดยใช้เป็นจุดรวบรวมฟางข้าวจากชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จากนั้นทางบริษัทจะติดต่อเข้ามารับซื้อจากธนาคารอีกต่อหนึ่ง เงินก็จะหมุนเวียนกลับคืนมาสู่ชาวบ้าน เรียกว่าวินๆ ด้วยกันทุกคน
 

     “เรามองว่าสิ่งนี้น่าจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน การออกกฎข้อห้ามว่าช่วงเดือนนี้ห้ามเผานะไม่งั้นโดนจับ อาจทำให้ชาวบ้านกลัวมากกว่าที่จะเลิกทำเพราะจิตสำนึก และสุดท้ายเขาก็จะลักลอบเผาในช่วงอื่นอยู่ดี แต่หากเราชี้ให้เขาเห็นภาพได้ว่า ทำไมเขาจึงไม่ควรเผา เช่น ถ้าหยุดเผาเขาจะมีรายได้จากการขายฟางนะ ซึ่งไมใช่แค่สร้างกับชุมชนหรือชาวนา แต่พอเราส่งออก ก็สร้างรายได้กับประเทศชาติได้ด้วย สุดท้ายพอบริษัทจ่ายภาษี ภาษีก็กลับคืนไปสู่ชุมชนเหมือนเดิม ซึ่งเรามองว่า นี่คือ การแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน” เธอย้ำ




     ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานั้น จารุวรรณและฟางไทย แฟคตอรี่ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น นั้นมีอยู่จริง ขอเพียงไม่หยุดคิดและพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้มีหนทางเดินไปต่อได้


     “สิ่งที่เราพยายามจะทำมาตลอด วันนี้เรียกได้ว่าสำเร็จไปได้ระดับหนึ่งแล้ว จากเริ่มแรกเรามีคนงานเพียงแค่ 6 คน ทำกันอยู่หลังบ้าน แต่ตอนนี้กำลังสร้างโรงงานผลิตเล็กๆ ขึ้นมา มีการจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 25 คน ช่วยสร้างงานให้กับชุมชนได้มากขึ้น ลดการเผาฟางลงได้จำนวนหนึ่ง โดยเรามองว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ได้กลับมาและมีค่ามากที่สุด ก็คือ ได้สร้างคน การที่เรานำงานตรงนี้เข้ามานอกจากช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้ว ยังช่วยให้เขาได้เพิ่มทักษะในชีวิตเพิ่มขึ้นด้วย รวมถึงแนวคิดและทัศนคติที่เปิดกว้างมากขึ้น จากที่ลองสังเกตด้วยตัวเอง แรกๆ ให้ทำอะไร เขาจะไม่กล้าทำ ไม่กล้าตัดสินใจ แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็น เดี๋ยวจะลองดู ซึ่งเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้น และซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะอยู่ติดตัวเขาไปตลอดจนถึงนำไปถ่ายทอดสู่ลูกหลานที่กำลังจะเติบโตขึ้นมาใหม่ได้ด้วย”


     และสุดท้ายเหนือสิ่งอื่นใดคือ เธอได้กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดได้อย่างมีความสุข และทำสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้
 
 

     สำหรับใครที่มีไอเดียรักษ์โลกดีๆ สามารถส่งมาแชร์กับพวกเราได้ที่อีเมล sme_thailand@yahoo.com  โดยวงเล็บมาด้วยว่า (แชร์ไอเดียรักษ์โลก) เพื่อร่วมในพันธกิจ SME Save The World Project ไปพร้อมกับพวกเราทุกคน
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย