PHOTO : นิตยา สุเรียมมา
Main Idea
- ความล้มเหลวกับการทำธุรกิจเป็นของคู่กัน สำหรับบางคนแล้ว พวกเขาต้องล้มมามากกว่าหนึ่งครั้ง แต่ทุกครั้งที่ล้มยังพร้อมที่จะลุกขึ้นมาสู้ต่อ ไม่ยอมถอดใจให้กับอุปสรรคปัญหาไม่ว่าจะหนักหนาแค่ไหนก็ตาม
- เช่นเดียวกับ “พงษ์ลัดดา ศรีสะอาด” ผู้ปลุกปั้นกาแฟยอดดอย ที่อยู่ในตลาดมากว่า 20 ปี ตลอดเส้นทางธุรกิจเธอประสบความสำเร็จ เติบโต และกลับมานั่งนับหนึ่งใหม่อยู่หลายครั้ง แต่ไม่เคยคิดยอมแพ้ โดยหวังว่าจะได้นำพาแบรนด์ไทยไปวางขายในต่างแดนได้ในสักวัน
ในการทำธุรกิจคุณเคยล้มมาแล้วกี่ครั้ง สำหรับผู้ประกอบการบางคน ชีวิตของพวกเขาเต็มไปด้วยบาดแผล และพร้อมที่จะล้มอีกบ่อยครั้ง แต่ทว่าไม่เคยถอดใจหรือคิดยอมแพ้
เช่นเดียวกับ “พงษ์ลัดดา ศรีสะอาด” ผู้ก่อตั้งแบรนด์กาแฟยอดดอย ที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ตลอดเส้นทางการทำธุรกิจเธอประสบความสำเร็จ เติบโต และกลับมานั่งนับหนึ่งใหม่อยู่หลายครั้ง กับบททดสอบที่แสนสาหัสสากรรจ์ และท้าทายน้ำอดน้ำทนอยู่ตลอดเวลา
มาทำความรู้จักเธอไปพร้อมกัน
แรงบันดาลใจในการทำธุรกิจของ พงษ์ลัดดา เริ่มต้นขึ้นเมื่อกว่า 20 ปีก่อน โดยเธอเห็นรุ่นพี่ในวงการ อย่าง แบล็คแคนยอน และบ้านใร่กาแฟ ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจกาแฟ ท่ามกลางอุตสาหกรรมอื่นที่ประสบปัญหา บวกความชื่นชอบในกาแฟ จึงเกิดแรงบันดาลใจที่อยากทำกาแฟกับเขาบ้าง
ด้วยความที่พี่ชายไปแต่งงานกับคนเชียงราย แหล่งปลูกกาแฟที่สำคัญของประเทศ เธอจึงคิดนำกาแฟเชียงรายมาเปิดตลาด โดยเริ่มจากยังไม่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง เธอใช้วิธีไปเอากาแฟแบรนด์ดังคุณภาพดีจากเชียงรายมาชงขาย ด้วยความซื่อจึงขึ้นป้ายว่า กาแฟเชียงราย ต่อท้ายด้วยชื่อแบรนด์ดัง เพียงเพราะคิดว่าอยากช่วยๆ กันโปรโมท ปรากฏว่ากลับถูกเจ้าของแบรนด์สั่งห้ามใช้ เธอบอกว่าตนนั้นรู้สึกคับแค้นใจอย่างมาก ถึงขนาดตัดสินใจไปจด “แบรนด์ยอดดอย” ของตัวเองในเวลาไม่กี่เดือนต่อมาทันที
ยุคทองของยอดดอย เกิดขึ้นเมื่อตอนห้างใหญ่อย่างเดอะมอลล์ชักชวนให้ไปเปิดคอนเนอร์เล็กๆ ในเดอะมอลล์ทุกสาขา โดยไม่มีค่าเช่าแต่ใช้วิธีแบ่งเปอร์เซ็นต์จากการขายกัน เธอว่าสำหรับแบรนด์ที่ทุนน้อยนั่นคือโอกาสที่จะได้ลืมหูลืมตา เพราะใช้เงินตกแต่งร้านเพียงน้อยนิด แลกกับพื้นที่ได้แจ้งเกิด
จุดขายของร้านน้องใหม่ในยุคนั้น คือการตกแต่งบูธด้วยไม้ ดีไซน์ตามแบบภาคเหนือ เจ้าของสวมชุดผ้าชาวเขา ยืนขายกาแฟ สร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ยอดดอยในวันนั้น ทุกอย่างเหมือนจะไปได้สวย แต่พายุลูกใหญ่ก่อเค้าขึ้นหลังจากนั้น เมื่อแบรนด์ยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน และเชนกาแฟจากเกาหลี เริ่มเข้ามาบุกตลาดประเทศไทย แบรนด์เล็กๆ อย่างยอดดอย ต้องย้ายมุมหนีทุกๆ 3 ปี
จากย้ายนี้เริ่มถูกกดดันจนหมดอำนาจต่อรอง ยิ่งเมื่อเจ้าของพื้นที่ขอเสนอค่าเช่าที่สูงขึ้น ขอให้เปลี่ยนสไตล์ให้เข้ายุคเข้าสมัย ขณะที่การแข่งขันก็รุนแรงขึ้นทุกปี ค่าแรงก็สูงขึ้นเท่าทวี จนแบรนด์เล็กเริ่มสู้ต่อไม่ไหว จึงค่อยๆ ทยอยปิดตัวไปจนเหลืออยู่แค่ 1 สาขา
ฟ้าหลังพายุก็ดูส่องสว่างขึ้น เมื่อห้างใหญ่เซ็นทรัลกำลังจะไปเปิดสาขาที่เชียงราย จึงชักชวนให้ยอดดอยในฐานะกาแฟเชียงรายไปเปิดร้านที่นั่นด้วย และมีข้อเสนอให้ยอดดอยได้เปิดในเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ห้างดังในยุคนั้นอีกด้วย นั่นเป็นครั้งแรกที่จากแบรนด์ในมุมเล็กๆ จะได้เปิดเป็นร้านเหมือนกับใครเขา และยังมีโอกาสอยู่ในห้างใหม่ของเชียงรายใกล้กับแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่างสตาร์บัคส์อีกด้วย
แต่ทว่าฝันที่สวยงามก็ดับสลายลงอีกครั้ง
เมื่อร้านที่เชียงรายขายดีแค่เดือนแรกนอกนั้นก็อยู่แบบประคับประคอง ส่วนร้านที่กรุงเทพเปิดมาได้แค่ไม่กี่เดือนก็ต้องเจอกับน้ำท่วมใหญ่ (ปี 2554) หลังจากนั้นลูกค้าเปลี่ยน ของที่เคยขายได้กลับขายไม่ได้ จนต้องตัดสินใจปิดไปหลังเปิดมาได้แค่ประมาณ 6 เดือน
การที่เคยยิ่งใหญ่อาจทำให้ SME หลายคนไม่กล้าเผชิญกับความล้มเหลว แต่สำหรับ พงษ์ลัดดา เธอบอกว่า การทำธุรกิจอย่าเอาแต่หน้า ถ้าเห็นแนวโน้มเริ่มไม่ดีต้องกล้าตัดใจ ยอมขาดทุนเท่านี้ดีกว่าเป็นหนี้ถูกเขาฟ้องร้อง
ร้านที่เชียงรายขายดีกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยากสนับสนุนกาแฟท้องถิ่น แต่ค่าเช่าที่สูงลิ่ว กับยอดนักท่องเที่ยวที่ลดลง ทำให้พวกเธอเปิดต่อได้อีกแค่ประมาณ 2.5 ปี สุดท้ายก็ต้องโบกมือลาห้างใหญ่ไป ต้องย้ายมาเปิดร้านเล็กๆ อยู่ตรงหอนาฬิกาเชียงราย
หากใครคิดว่าพายุลูกนี้จะจบลงแล้ว บอกเลยว่าไม่ เมื่อวันนี้ร้านเดียวที่ยังเหลืออยู่กำลังจะปิดตัวลงในอีกไม่ช้า
วันนี้ พงษ์ลัดดา อยู่เชียงราย เธอเช่าที่เล็กๆ ของชาวบ้าน ทำกาแฟที่เธอรัก เข้าไปคุยกับเกษตรกรเพื่อขอให้เปลี่ยนมาทำออร์แกนิก แล้วส่งผลผลิตให้กับเธอ เพราะเธอเชื่อว่า ออร์แกนิก ดีต่อทั้งตัวเกษตรกร ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม เธอเปลี่ยนจากการเปิดร้านกาแฟที่ย้ำว่าไม่ถนัด เพราะไม่ค่อยชอบพบปะผู้คน มาพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟออร์แกนิกทั้งแบบบดและแบบผงในแบรนด์ยอดดอย แล้วส่งขายในห้างสรรพสินค้า เปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจไปจากเดิม โดยมีฝันว่าสักวันแบรนด์ของเธอจะได้ไปวางขายในห้างต่างประเทศได้ในสักวันหนึ่ง
ชีวิตในวันนี้ยังเจอเรื่องท้าทายอยู่ตลอด ล่าสุดปีที่ผ่านมาผลผลิตที่ปลูกเองก็เพิ่งเสียหายจากพายุเข้า เงิน 5-6 หมื่นบาทที่ลงไป ต้องสูญสลายไปพร้อมกับพายุ แต่ถึงวันนี้เธอก็ยังมีแพสชั่นที่จะทำธุรกิจกาแฟอยู่เสมอ ไม่เคยท้อถอยเลยสักครั้ง เธอบอกว่าการเจอปัญหา ทำให้เธอกลายเป็นคนบ้างาน และขยันมากขึ้นกว่าเดิม เธอโฟกัสที่งาน อ่านหนังสือมากขึ้น เปิดโลกใหม่ๆ ในอินเตอร์เน็ต ทำให้เห็นโอกาสที่จะนำกาแฟแบรนด์ไทย ไปทำตลาดในต่างประเทศ เธอเริ่มหัดเขียนภาษาอังกฤษ โพสต์เรื่องราวของกาแฟ ได้เจอกับคนมากมายที่เห็นในความตั้งใจของเธอ
เธอจึงมุ่งที่จะกลับมาทำงานกับเกษตรกรมากขึ้น ควบคุมคุณภาพสินค้าให้ดีขึ้น แม้จะล้มมาหลายครั้ง แต่เธอไม่เคยมองสิ่งที่เจอว่าเป็นความล้มเหลว เธอว่าเป็นแค่บททดสอบที่เข้ามาท้าทาย และย้ำเตือนว่า เธออาจยังทำงานไม่พอ พยายามไม่มากพอ ต้องทำมากกว่านี้ ต้องแก้ปัญหาให้ดีกว่านี้
และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการสายบู๊อย่างเธอยังสู้มาจนถึงตอนนี้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี