‘ร้านสรรพรส’ ประตูเวทมนต์สู่โลกวีแกนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วยแพ็กเกจจิ้งรักษ์โลก

TEXT : ยุวดี ศรีภุมมา 
 

 
 
Main Idea
 
  • หลายคนมักจะมีกำแพงกับคำว่า อาหารสุขภาพ อาหารวีแกน คล้ายกับเป็นอาหารราคาแพง ดูเข้าถึงยาก ไม่สามารถรับประทานได้ทุกวัน
 
  • แต่มีร้านอาหารสุขภาพเล็กๆ ในย่านอารีย์ร้านหนึ่งที่เขาจะเข้ามาเปลี่ยนความคิดของคุณ ด้วยการทะลายกำแพงดังกล่าวและทำให้อาหารสุขภาพเป็นอาหารประจำวัน ที่ไม่ว่าใครก็สามารถกินได้


 
 
     หลายคนมักจะมีกำแพงกับคำว่า อาหารสุขภาพ อาหารวีแกน คล้ายกับเป็นอาหารราคาแพง ดูเข้าถึงยาก ไม่
สามารถรับประทานได้ทุกวัน หรือบางคนอาจมองไปถึงเรื่องของรสชาติที่ไม่อร่อย ไม่ถูกปาก แต่มีร้านอาหารสุขภาพเล็กๆ ในย่านอารีย์ร้านหนึ่งที่จะเข้ามาเปลี่ยนความคิดของคุณ ด้วยการทะลายกำแพงดังกล่าวและทำให้อาหารสุขภาพเป็นอาหารประจำวัน ที่ไม่ว่าใครก็สามารถกินได้ และนี่คือ ร้านสรรพรส 
 

     “สรรพรสคือ เวทมนต์ของอาหาร นอกจากที่ลูกค้าจะได้ทานอาหารที่ดี ราคาไม่แพง เหมือนกับเราเสกให้ได้ทุกอย่างแล้ว สรรพรสยัง Sharing ความสุขให้ลูกค้า ให้โลกและสังคมไปพร้อมกันด้วย”




     ประโยคสั้นๆ ที่นิยามคำว่า “สรรพรส” ของ “ชุติมณฑน์ ศิวาวุธ” เธอได้ก่อตั้งร้านแห่งนี้ร่วมกับ “ลลิตา มิตรวิจารณ์” โดยทั้งคู่ประสบปัญหาด้านสุขภาพ หลังจากที่ลลิตากลับมาจากประเทศจีน ก็มาคุยถึงปัญหาดังกล่าว จนทำให้พวกเธอเริ่มต้นทดลองทำอาหารสุขภาพกันในคอนโด 


     “เราสองคนเป็นเพื่อนสนิทตั้งแต่มัธยม หลังจากเรียนจบพักหลังๆ พอทำงานออฟฟิศ ก็เริ่มมีปัญหาสุขภาพกันคนละแบบ โดยเฉพาะเรื่องการกิน อย่างกิ๊ฟ (ลลิตา) อยู่ที่จีน ส่วนเราเป็นพนักงานออฟฟิศ จะต้องกินพวกอาหารตามสั่ง ผงชูรสเยอะ หลังๆ กินแล้วผมร่วง คันคอ ตุ่มขึ้น เราเลยปรับไปกินคลีนช่วงหนึ่งที่เป็นกระแส เราก็สั่งมากินตามโปรแกรมเขา แต่พอกินไปสัก 2-3 วันร่างกายมันเริ่มโหย แล้วรสชาติมันจืดๆ วันที่ 4 เท่านั้นแหละ ตบะแตก เอา 3 กล่องมารวมกันเป็นมื้อเดียว หลังจากกิ๊ฟกลับจากจีนเลยบอกว่าอยากกินอาหารแนวสุขภาพ แต่ไม่คลีน กินแล้วยังได้รสชาติ สารอาหารครบ ที่สำคัญต้องอิ่ม ก็เลยเริ่มทำอาหารในครัวที่คอนโด ลองผิดลองถูก จนได้ 2 เมนูแรก คือชุดหอมเคยและชุดละอ่อนคำ แต่ว่ายังไม่ได้เป็นหน้าตาเหมือนปัจจุบัน” ชุติมณฑน์ เล่าถึงจุดเริ่มต้น 








     ไอเดียการทำอาหารสุขภาพเริ่มต้นจากในครัวเล็กๆ และกระจายวงกว้างไปสู่เพื่อนๆ บอกกันปากต่อปาก ในที่สุดก็มีออเดอร์เข้ามาไม่ขาดสาย จากนั้นพวกเขาก็เปิดขายออนไลน์เป็นใบเบิกทางเล็กๆ ในขณะเดียวกัน ชุติมณฑน์ เล่าว่าพวกเธอเริ่มคิดว่าการทำอาหารขายทางเดลิเวอรี่คือหนึ่งในกระบวนการเพิ่มขยะพลาสติกให้แก่โลกใบนี้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ร้านสรรพรสหันมาใช้วัสดุจากธรรมชาติในการห่ออาหารเพื่อส่งให้ลูกค้า


     “ตอนเราทำข้าวกล่องก็มีการปรับแพ็กเกจจิ้ง เมื่อก่อนเราจะใช้กล่องกระดาษ มีใช้ช้อนส้อมพลาสติกด้วย แต่ตอนหลังเราสองคนไปดูวิดีโอพวกขยะพลาสติก มีเต่าที่โดนหลอดทิ่ม เราก็คิดว่า ถ้าเราขายของเดลิเวอรี่แล้วต้องสร้างขยะมันก็ไม่ดี ลูกค้ากินอาหารอร่อยแต่ต้องเพิ่มขยะให้เมือง เราเลยคิดว่าเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งกันดีกว่า เลยเสนอกันว่า เป็นใบตองไหม จุดพีคคือแล้วจะห่ออย่างไรสำหรับพวกเมนูของเหลว” ชุติมณฑน์ เล่า


     “ตอนนั้นเราก็ไปเปิดหนังสือเก่า ตำรับยาพระนารายณ์ ไปหาวิธีทำอย่างไรที่เราจะห่อของเหลวได้ เพราะคนสมัยก่อนเขาก็ไม่มีพลาสติก เราก็ลองดูว่ามีคุณสมบัติของพืชอะไรบ้างที่เป็นธรรมชาติและจะสมานกับใบตองได้โดยที่ยังคงสรรพคุณที่จะเก็บของเหลวได้อยู่ สุดท้ายใช้เวลา 3 วันก็ทำได้ กลายเป็นทรง 3 เหลี่ยม วิธีกินก็แค่ตัดปลายแล้วบีบ” ลลิตาเสริม 




     หลังจากนั้นไม่นานก็ถึงเวลาที่สรรพรสจะมีหน้าร้านเพื่อเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น พวกเธอเลือกอารีย์ โดยดูจากแนวโน้มของกลุ่มลูกค้าเดลิเวอรี่ก่อนหน้าเป็นหลัก ความตั้งใจของสรรพรสคืออยากให้เป็นร้านอาหารสุขภาพที่คนได้รับประทานอาหารดีๆ ในราคาจับต้องได้ อีกทั้งยังอยากให้คนรู้สึกเหมือนได้ทานอาหารฝีมือคุณแม่ อบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน 


     สำหรับเมนูของทางร้านสรรพรสในปัจจุบันจะเป็นเมนูวีแกน 70 เปอร์เซ็นต์ อาหารของทางร้านจะมีความฟิวชั่น ทั้งของคาว ของหวาน เบเกอรี่ เครื่องดื่ม สามารถกำเงิน 100 บาทแล้วอิ่มได้แบบจุกๆ หนึ่งมื้อเลยทีเดียว เมนูที่ขายดีที่สุดของทานร้านคือ ‘ไฉไล’ นอกจากนี้ยังมีชุดละอ่อนเคยกับชุดหอมคำที่ใครได้ลองเป็นต้องติดใจในความแซ่บ 





     “ตัวไฉไล มองแล้วเหมือเบอร์เกอร์เนื้อธรรมดา แต่มันไม่ใช่เนื้อ เป็น Plant-based meat เนื้อวัวที่เราทำมาจากธัญพืช เราจะเรียกว่า แสร้งว่าเนื้อ แสร้งว่าไก่ แสร้งว่าหมู ด้วยความที่เรากินเองด้วย เราเลยทำตามรสชาติที่เราชอบ คือพวกนี้หน้าตาเหมือนเนื้อสัตว์มาก เราทำเองทั้งหมด ตัวเนื้อ ขนมปัง น้ำปรุง มายองเนส ชีสวีแกนเราก็หมักเอง” ลลิตาเล่า 




     โดยทางร้านยังมีแนวคิดลดใช้แพ็กเกจจิ้งด้วยการลดราคาให้กับลูกค้าที่นำกล่องมาใส่อาหาร 5 บาท ส่วนถ้าใครใส่กล่องของทางร้านกลับบ้านคิดราคาเพิ่ม 5 บาทและทางร้านเปิดให้ลูกค้าสามารถนำกล่องของตัวเองมาผูกปิ่นโตเอาไว้ได้ด้วย ลลิตาเล่าว่าพวกเธอได้อัพเกรดวัสดุรักษ์โลกจากการใช้ใบตองมาเป็นการใช้กาบหมากเพื่อความคงทนมากขึ้น


     “ก่อนหน้านี้เป็นใบตอง มันหกเลอะเลอะ ทีนี้เราไปร่วมงานกับเกษตรกร เจอกล่องกาบหมาก ต้นทุนก็สูงอยู่ แต่จะให้เราคิดเงินลูกค้าเต็มๆ ก็ทำใจไม่ได้ เราเลยคนละครึ่งทาง เราแบกไว้ครึ่งหนึ่ง ถ้าลูกค้าเอากล่องของตัวเองมาใส่ เขาประหยัดได้ 10 บาทเลยนะ เพราะไม่ต้องจ่ายค่ากล่องเพิ่ม 5 บาทแถมยังได้ลดลงอีก 5 บาทด้วย คิดเป็นเงิน 10 บาททุกวันก็เยอะนะ”
 

     เพราะร้านอาหารดีๆ ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงเพื่อให้ดูมีคุณค่า หากแต่เป็นร้านเล็กๆ ที่ปรุงอาหารด้วยหัวใจเหมือนเสกเวทมนต์ผ่านวัตถุดิบที่ดี ผ่านกรรมวิธีที่เอาใจใส่ ผ่านความเข้าใจของลูกค้า แถมยังใส่ใจโลกใบนี้ไปพร้อมๆ กันด้วย เพียงเท่านี้ร้านของคุณก็จะกลายเป็นร้านอาหารที่ลูกค้ารักได้แล้วล่ะ 
 
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย