รู้จัก “พรรัตภูมิ” ฟาร์มไก่ไข่บ้านๆ ที่พลิกวิกฤตจากเกือบเจ๊ง! ให้โตรุ่งด้วย IoT

Text / Photo : นิตยา สุเรียมมา





Main Idea

 
  • “พรรัตภูมิ ฟาร์ม” ฟาร์มไก่ไข่ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 46 ปี แต่เกือบต้องปิดกิจการลง เพราะผลกระทบจากระบบทุนนิยม ที่ผู้เล่นรายใหญ่ ทุนหนากว่า มักได้เปรียบในต้นทุนที่ถูกกว่า แต่แข่งขันกันในราคาเท่าเดิม
 
  • แต่กลับพลิกฟื้นขึ้นมาได้ จากการนำระบบ IoT เข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ทำให้รู้และเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริงที่เกิดขึ้นได้ จนกลายเป็นเพิ่มยอดการผลิตและต้นทุนที่ถูกลง และสามารถแข่งขันได้ในที่สุด
 
 
 

     ด้วยเทคโนโลยีก้าวล้ำของโลกยุคสมัยนี้ หลายคนอาจมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย หากเราลองปรับวิธีคิด ประยุกต์ใช้กับสิ่งที่มีอยู่ จากเรื่องไกล ก็อาจกลายเป็นใกล้ แถมยังช่วยเพิ่มพูนสร้างมูลค่าเพิ่ม และในบางธุรกิจที่เกือบเจ๊ง! ก็พลิกฟื้นคืนกลับขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ


     เหมือนเช่นกับเรื่องราวของ “พรรัตภูมิ ฟาร์ม” ฟาร์มไก่ไข่ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 46 ปี ในพื้นที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา จากรุ่นพ่อที่ครั้งหนึ่งเคยเกือบล้มและไปไม่รอด จากปัจจัยแวดล้อมมากมายที่เข้ามาบีบคั้น แต่ก็สามารถพลิกฟื้นกลับคืนมาได้จากการกลับนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาใช้ ซึ่งได้มาจากลูกชายที่กลับมาช่วยสานต่อกิจการของครอบครัว และกลับมากอบกู้วิกฤติได้ทัน
 



 
  • เพราะผม คือ เลือดเกษตรกร
 
     พิสุทธิ์ ฆังคะมะโน ผู้จัดการพรรัตภูมิ ฟาร์ม คือ หนึ่งในลูกชายที่กลับมาช่วยกู้วิกฤตและสานต่อกิจการของครอบครัวที่ดำเนินมายาวนานกว่า 46 ปี ให้พลิกฟื้นกลับคืนขึ้นมาได้เล่าท้าวความเป็นมาให้ฟังว่า เดิมนั้นครอบครัวของเขาเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่มานานกว่า 46 ปี โดยเริ่มต้นกิจการครั้งแรกเมื่อปี 2517 ซึ่งเริ่มต้นจากการทำฟาร์มแบบเล็กๆ ก่อน เลี้ยงแบบพอดี ขายแบบพอดี ไม่ได้กู้หนี้ยืมสินใคร จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มกำลังการผลิตและพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ กระทั่งมาเจอกับจุดเปลี่ยนระบบทุนนิยมเริ่มเข้ามา ใครมีเงินเยอะกว่า ซื้อของได้เยอะ ต้นทุนก็จะถูกลง ทั้งที่เวลาขายก็ได้ราคาเท่ากัน แต่ต้นทุนกลับสูงกว่า ยิ่งถ้าไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานก็จะถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางอีก จึงทำให้เกือบหมดกำลังใจที่จะทำต่อไป






     “ตอนนั้นผมทำงานเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์อยู่บริษัทอินเดีย วันหนึ่งพ่อกับแม่โทรมาบอกว่า พ่อกับแม่ทำไม่ไหวแล้ว เราอยู่ไม่ได้แล้ว ไม่รู้จะเดินต่อไปยังไง ตอนนั้นผมเลยตัดสินใจเดินไปบอกหัวหน้างานว่าขอลาออกกลับไปช่วยงานที่บ้าน เพราะสุดท้ายเลือดผม คือ เกษตรกร ไม่ใช่คนในเมือง และปรึกษากับพี่ชายที่กลับไปทำก่อนหน้านี้ว่าจะกลับไปช่วยกันดูแล สร้างระบบและทำให้ดีขึ้น”


     หลังจากตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อกลับไปช่วยกู้วิกฤตให้กับกิจการของครอบครัว ก่อนกลับไปทำพิสุทธิ์มองเห็นว่าสิ่งที่เขาจะต้องตอบคำถามให้ได้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้กับฟาร์มไก่ไข่ของที่บ้านนั้นมีอยู่ 2 ข้อด้วยกัน คือ 1. ทำยังไงให้ไข่ไก่ของฟาร์มแตกต่างจากที่อื่น และ 2.การสร้างระบบการทำงานที่ได้มาตรฐาน สามารถตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้นำเทคโนโลยี IoT (Internet of Thing) เข้ามาใช้
 



 
  • เล็กพริกขี้หนู ทำฟาร์มเล็ก ให้สู้กับฟาร์มใหญ่ได้ด้วยเทคโนโลยี
                     
     “ตอนทำงานอยู่กรุงเทพฯ ผมเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ ทำให้เราเห็นระบบการทำงานต่างๆ ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยเฉพาะระบบ IoT ซึ่งนำไปจับไว้กับอุปกรณ์ต่างๆ เวลาเกิดปัญหาขึ้นมา ทำให้สามารถตรวจเช็คได้ว่าปัญหามาจากอุปกรณ์ตัวไหน หรือบางทีระบบก็แจ้งเตือนให้รู้ก่อน ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที เราเห็นว่ามีประโยชน์ จึงน่าจะนำมาใช้กับฟาร์มไกไข่ของตัวเองได้บ้าง อย่างน้อยๆ ก็ช่วยให้รู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่การทำแบบลองผิดลองถูกเหมือนแต่ก่อน”       
               

     โดยก่อนที่จะอธิบายการนำระบบ IoT เข้ามาใช้ยังไงบ้าง พิสุทธิ์อธิบายให้เห็นภาพก่อนว่าในระบบโรงเรือนของการเลี้ยงไก่ไข่หลักๆ แล้วจะต้องประกอบด้วย 1.ระบบทำความเย็น เพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือน 2.ระบบเครนให้อาหารไก่ 3.ระบบให้น้ำไก่ และ 4.ระบบแสงสว่าง โดยสิ่งที่ IoT เข้ามาช่วย คือ การนำเซ็นเซอร์เข้าไปแปะกับระบบทุกตัว เพื่อทำการควบคุมระบบต่างๆ ให้เป็นไปอย่างที่ต้องการและมอนิเตอร์เก็บข้อมูลการทำงาน โดยทำงานผ่านแอปพลิเคชันง่ายๆ ผ่านมือถือ ทำให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ
               




     นอกจากช่วยทำให้รู้ถึงปัญหาจริงที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปวางแผนกระบวนการผลิตได้แล้ว การนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาใช้ ยังช่วยให้เกิดการทุ่นแรง ประหยัดแรงงาน ถึงคนน้อยก็สามารถทำงานได้ เป็นแนวทางการทำเกษตรรูปแบบใหม่อีกหนึ่งอย่างที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทุ่นแรงลดการใช้แรงงานคนได้ด้วย
               

     โดยจากการนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาใช้ดังกล่าว ทำให้ฟาร์มไข่ไก่ของครอบครัวเขาผลผลิตดีขึ้น ได้ไข่ไก่ที่ได้มาตรฐานมีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ทำให้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเจ้าแรกๆ ให้กับลูกค้าในตลาด มีลูกค้ามาใช้บริการเยอะขึ้น
               




     “จากไข่ไก่ปกติเวลาเก็บมาขายจะอยู่ได้ประมาณ 2 สัปดาห์ถ้าอยู่ข้างนอกไม่ได้แช่ตู้เย็น แต่สำหรับไข่ไก่ของเรามีลูกค้าบอกว่าสามารถเก็บได้นานถึง 3 สัปดาห์ทีเดียว จึงทำให้ช่วยประหยัดต้นทุน เพราะสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานกว่า ไม่เสียไปก่อน แถมไข่ยังแดงดี ไข่แดง ไข่ขาว นูน กลมสวย ทำอาหารก็อร่อยกว่า หลายเจ้าที่ได้ลองใช้ก็ติดใจ โดยเฉพาะร้านอาหารเพื่อสุขภาพต่างๆ เขาสามารถนำไปใช้เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้ จนเปลี่ยนมาซื้อไข่ไก่ของเรามากขึ้น โดยทุกวันนี้เราเลี้ยงไก่ไข่ประมาณ 4 หมื่นตัว ได้ผลผลิตประมาณวันละ 3.5 หมื่นฟอง ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ คือ กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งฟาร์มไข่ไก่ทั่วไปที่ไม่ได้มีการควบคุมมาตรฐานอย่างเข้าใจ จะได้ผลผลิตต่ำกว่านี้มาก ซึ่งเมื่อได้ผลผลิตเยอะขึ้นในการลงทุนเท่าเดิมในเรื่องอาหารและการจัดสภาพแวดล้อม ก็ทำให้เราได้กำไรเพิ่มมากขึ้นด้วย”
 
 

 
  • ต่อยอดสร้างระบบ เปิดฮับสู่ DATA Center เกษตรกรไทย
               
     เมื่อสามารถแก้ไขปัญหาที่บ้านได้เห็นผลจริง พิสุทธิ์บอกว่าเขาไม่ได้มองแค่ตัวเอง และไม่หยุดเพียงเท่านั้น แต่ยังคิดนำเทคโนโลยีที่ได้ไปช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ด้วย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำเกษตรแบบเรียนรู้และเข้าใจมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่การเดาสุ่ม ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการทำอาชีพเกษตรของเกษตรกรไทยไปอย่างสิ้นเชิง


     “ทำไมเกษตรกรไทยถึงก้าวช้ากว่าเกษตรกรในประเทศอื่น เพราะเวลาเกิดอะไรขึ้นสิ่งหนึ่งที่เราใช้มาตลอด คือ เราลองถูกลองผิดมาตลอด โดยไม่มีข้อมูลรองรับที่แท้จริงว่าทำไมไก่ถึงป่วย ทำไมวันนี้ผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน เราจึงต้องการนำวิทยาศาสตร์เข้ามาให้เกษตรกรรู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาเกิดขึ้นว่าทำไมผลผลิตถึงตกต่ำ ไม่ได้มาตรฐาน และเมื่อเขาสามารถเข้าใจถึงหลักเหตุและผลได้อย่างแท้จริง ก็สามารถนำไปต่อยอดทดลองสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของตัวเองได้ เช่น บางแห่งอาจอยากลองเอาพืชบางชนิด หรือสารอาหารธรรมชาติบางชนิดให้ไก่กิน เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต เขาก็สามารถมาเปรียบเทียบข้อมูลที่เกิดขึ้นได้จากก่อนให้และหลังให้ ทำให้ทำเกษตรได้สนุกมากยิ่งขึ้นด้วย เกษตรกรรายย่อยเราต้องสู้ด้วยวิธีแบบนี้ เพราะเราไม่มีกำลังไปจ้างบุคลากรอย่างนักวิชาการหรือทีมสัตวแพทย์พร้อมเหมือนรายใหญ่ๆ ซึ่งการนำ IoT เข้ามาจะช่วยทำให้เกิดผลลัพธ์ดังกล่าวในราคาที่สามารถจับต้องได้ โดยหากแต่ก่อนเป็นระดับอุตสาหกรรมใหญ่อาจต้องลงทุนสร้างระบบเป็นหลักหลายแสนบาท แต่ด้วยเทคโนโลยีทุกวันนี้ทำให้เราสามารถทำได้ในราคา 4 หมื่นกว่าบาทต่อ 1 โรงเรือนในการนำ IoT เข้ามาติดตั้ง ซึ่งช่วยลดต้นทุนได้เยอะทีเดียว





     “ซึ่งเราไม่ได้คิดจะหยุดเพียงเท่านี้ อนาคตเราอาจต่อยอดเป็นบริษัทให้บริการดูแลฟาร์มต่างๆ ให้เกษตรกรด้วย ไม่ว่าจะฟาร์มไก่ไข่ ฟาร์มสัตว์เลี้ยงอื่นๆ หรือฟาร์มผัก อาจมีทั้งแบบไปช่วยวางระบบให้และให้เขาดูแลด้วยตัวเอง หรือสร้างบริการแบบดูแลให้ครบวงจร โดยสร้างดาต้า เซ็นเตอร์ขึ้นมา มีออฟฟิศคอยมอนิเตอร์ดูแลฟาร์มให้ลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง เวลามีปัญหาอะไรเราก็ส่งทีเซอร์วิสหรือติดต่อกับผู้มีความรู้ เช่น ทีมสัตวแพทย์ นักวิชาการเกษตรด้านต่างๆ ช่วยดูแลให้ เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นและมีมิติแบบนี้ในวงการเกษตรกรไทยมาก่อน”
 
               
     และนี่คือ เรื่องราวของหนึ่งในผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในด้านการทำเกษตรที่ได้มีการนำความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาธุรกิจที่เกือบเจ๊ง จนสามารถเพิ่มผลผลิต และทำให้มีความรู้ความเข้าใจในการทำธุรกิจของตนได้เพิ่มมากขึ้น จนอาจกลายเป็นผลพลอยได้ต่อยอดธุรกิจออกไปได้แบบที่ไม่คาดคิดมาก่อนทีเดียว
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย