ฟัง “อาริยะ คำภิโล” แห่ง โจนส์สลัด แนะวิธีทำธุรกิจท่ามกลางหมอกหนา..ไม่รู้อนาคต

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
  • วันนี้โลกการทำธุรกิจไม่เหมือนกับยุคก่อนที่เวลามองไปข้างหน้ายังพอเห็นทางที่ชัดเจนว่าควรจะเดินไปทางไหน แต่ตอนนี้เวลามองไปข้างหน้าจะเป็นทางที่มีหมอกหนาอยู่ตลอดเวลา ไม่มีใครล่วงรู้อนาคต และต่างหวาดกลัวว่า เมื่อไรจะมีอะไรมาดิสรัปต์ธุรกิจของตัวเอง
 
  • สำหรับ “อาริยะ คำภิโล” ผู้ก่อตั้งโจนส์สลัด แนะนำว่า วันนี้ทุกคนต้องมองในระยะที่ตัวเองพอทำได้ ต้องสร้างจุดขายที่คนอื่นทำไม่ได้ หาทางร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อต่อยอดธุรกิจไปในเส้นทางอื่น อย่าไปรอให้พร้อมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ต้องลงมือทำ และต้องเรียนรู้เพื่อเท่าทันโลกอยู่เสมอ นี่คือหนทางรับมือหมอกหนาแห่งอนาคต



      “ทำธุรกิจทุกวันนี้ไม่เหมือนกับยุคก่อนที่เวลามองไปข้างหน้ามันยังเห็นทางที่ชัดเจน แต่ตอนนี้เวลามองไปจะเป็นทางที่มีหมอกอยู่ตลอดเวลา แม้แต่บริษัทใหญ่ๆ เองก็ยังกลัวว่า จะมีอะไรมาดิสรัปต์ตัวเองหรือเปล่า ตอนนี้มันจึงเหมือนกับทุกคนต้องมองในระยะที่ตัวเองพอทำได้ และลองทำอะไรหลายๆ ทางมากขึ้น”
           




     นี่คือคำของ “กล้อง-อาริยะ คำภิโล” ผู้ก่อตั้งร้านอาหารโจนส์สลัด และเพจ Jones salad อันโด่งดัง ที่กล่าวไว้บนเวทีสัมมนา “SME จะก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในปี 2020 ได้อย่างไร?” ณ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผ่านมา
               

     เมื่อหมอกหนากำลังปกคลุมโลกธุรกิจ เส้นทางที่เดินเลยยากและท้าทายขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในระยะอันใกล้นี้
           





     เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์โลกธุรกิจ

               

     อาริยะ บอกเราว่า วันนี้สิ่งที่ถูกพูดถึงกันในทุกวงการคือการดิสรัปต์ของเทคโนโลยีที่ทำให้โลกการทำธุรกิจเปลี่ยนไป โดยเป็นยุคที่ผู้ประกอบการไม่สามารถจะวางแผนได้ว่า อีก 10-20 ปี ข้างหน้าบริษัทของเราจะเป็นอย่างไร เรียกว่า แค่ 5 ปี ก็ยังเป็นการคาดเดาที่ยากมาก เพราะไม่มีใครล่วงรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตอันใกล้


      “สมมติผมมีเป้าหมายว่าอยากจะขยายร้านโจนส์สลัดไป 200 สาขา ทั่วประเทศไทย แต่ผมไม่รู้เลยว่าแล้วในอีก 10 ปี ข้างหน้าร้านพวกนี้ยังอยู่กันหรือเปล่า หรือมันจะถูกดิสรัปต์ให้เป็นฟู้ดเดลิเวอรี่กันหมดแล้ว เราเดาไม่ออกเลย ผมว่านี่เป็นอุปสรรคหนึ่งที่เชื่อว่าทุกธุรกิจเจอเหมือนกันหมด คือทางที่เราเห็นมันไม่เหมือนยุคก่อนที่เวลามองไปข้างหน้ามันก็เป็นทางที่ชัดเจน แต่ตอนนี้เวลามองไปข้างหน้ามันเป็นทางที่มีหมอกอยู่ตลอดเวลา” เขาบอก
 

     แล้ว SME  จะรับมืออย่างไรกับสถานการณ์เช่นนี้ เขาบอกว่าสิ่งที่ทุกคนต้องทำคือ การมองในระยะที่ตัวเองพอทำได้ และลองในหลายๆ ทางมากขึ้น ซึ่งการเข้ามาของคำว่าดิสรัปชั่น ในทางหนึ่งอาจเป็นอุปสรรค แต่เขามองว่าในทางกลับกันมันเป็นจุดที่โชคดีมากของ SME เพราะว่า SME เวลาทำอะไรเราสามารถลองทำได้โดยที่ต้นทุนไม่สูงมาก สามารถศึกษา ลองผิดลองถูก หรือว่าแก้เกมอะไรต่างๆ ในธุรกิจของตัวเองได้เยอะกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ฉะนั้นในวันที่คลื่นความเปลี่ยนแปลงพัดผ่าน SME ก็แค่ล้อไปกับคลื่นดิสรัปต์ที่เกิดขึ้นให้ได้
 




      โลกเปลี่ยนไว อย่ารอที่จะลงมือทำ
               

     อาริยะบอกเราว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายในปี 2020 สิ่งหนึ่งที่อยากแนะนำ SME คือ อย่าไปรอให้พร้อมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วค่อยทำ เพราะสุดท้ายมันจะไม่ค่อยได้ทำ เนื่องจากจะมีคนอื่นทำไปก่อนหน้านั้นแล้ว


     “ผมอยากแชร์ประสบการณ์ของโจนส์สลัด เราเริ่มจากทำร้านก่อน ซึ่งร้านสลัดหลายๆ ร้าน เขามักเริ่มจากทำฟาร์มก่อน เหมือนหลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จ เป็นสูตรสำเร็จแบบแบรนด์อื่นๆ ที่เคยเห็นกันมา ซึ่งเอาจริงๆ ก็มีหลายคนมากที่สุดท้ายฟาร์มปลูกไม่ขึ้น ก็เลยไม่ได้ทำร้าน แต่ของผมกลับกัน เราไม่รอให้พร้อม เราอยากทำอะไรก็เริ่มทำเลย บางทีการที่เรามีร้านก่อน มันก็ทำให้เรามีวอลุ่มที่ต้องการใช้ชัดเจน อย่าง ผมเพิ่งไปฟาร์มออร์แกนิกเจ้าหนึ่งที่เป็นเกษตรกรซึ่งมีศักยภาพมาก เขาปลูกผักมาให้ผมชิมซึ่งมันกรอบอร่อยมาก ตอนแรกเขาอยากส่งห้าง แต่ติดปัญหาทำให้ยังขายเข้าห้างไม่ได้ ปลูกมาเลยไม่มีคนซื้อ ซึ่งผมจะใช้การไปโคกับฟาร์มต่างๆ แบบนี้นี่แหล่ะ โดยให้เขากันพื้นที่มาให้สำหรับโจนส์สลัดโดยเฉพาะ เขาปลูกแล้วก็ส่งให้เราได้ ซึ่งแบบนี้เราสบาย เพราะเรื่องนี้เขาเก่งกว่าเราอยู่แล้ว และมีใบรับรองออร์แกนิกพร้อม เราเองก็พร้อมอยู่แล้วที่จะรับผลผิตภัณฑ์จากเขามา ซึ่งสิ่งที่เกษตรกรจะแฮปปี้ที่สุดคือ เขาปลูกมาเท่าไรก็ขายได้หมด เราก็พยายามหาพาร์ทเนอร์เพื่อจะทำแบบนี้”


     เขาบอกว่า หากธุรกิจยังคิดว่าต้องเดินตามขั้นตอน 1-2-3-4 คือทำฟาร์มก่อน เพื่อให้มีสตอรี่ เสร็จแล้วไปทำร้าน ทำไป 5 ปี ก็อาจจะไม่ได้เริ่มเสียที ดังนั้นสิ่งที่ SME ต้องคิดใหม่คือ เราทำอะไรได้ก่อนก็ทำอย่างนั้น อย่างน้อยก็ได้เริ่มไปก่อน ได้ล้ม ได้เรียนรู้ แล้วดูว่าจะต่อยอดต่อไปได้อย่างไร เริ่มจากหาลูกค้า มียอดขายแล้วค่อยๆ หาวิธีไปเชื่อมต่อกับพาร์ทเนอร์ ซึ่งเขาย้ำว่า ไม่ว่าจะวิธีไหน ก็ถึงจุดหมายได้เหมือนกัน
 
 

 

     มองโอกาสใหม่ หาทางเติบโตด้วยพาร์ทเนอร์
               

     เขาบอกว่า ในสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาอนาคต ทำให้ SME ต้องหา Way ให้กับตัวเองใหม่ เขายกตัวอย่าง แผนในปี 2020 ของโจนส์สลัด จากเดิมมีอยู่ 10   สาขา ในปีนี้ก็อาจขยายเป็น 15 สาขา ที่เป็นการขยายด้วยตัวเอง เพราะบางครั้งการตั้งเป้าหมายที่เยอะเกินไปก็เป็นอะไรที่เหนื่อย


     “บางทีหัวเราอาจจะเห็นทาง แต่ขาเราวิ่งตามไม่ไหว ทีมงานเราอาจยังไม่แข็งแรงพอ เราเลยรู้สึกว่า ค่อยๆ ไปดีกว่า อย่างหาทำเลที่ดีจริงๆ แล้วค่อยไป” เขาบอก


     วันนี้โจนส์สลัดมีครัวกลาง เขาบอกว่าถ้าครัวกลางเสร็จ อาจจะขยายได้ถึง 20   สาขา ที่เป็นการบริหารเอง แต่หลังจากนั้นการเติบโตของธุรกิจจะต้องไปด้วยโมเดลอื่น โดยการไปร่วมทุน หรือพาร์ทเนอร์กับบริษัทที่มีจุดเด่นด้านอื่นๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจไปในเส้นทางอื่นที่ดีกว่า


     “อย่างสมมติถ้าเราไปโคกับธุรกิจอื่นที่เขาอาจจะเชี่ยวชาญการทำร้านอาหาร เราก็อาจจะโตไปจากที่เราทำเอง 20 สาขา เป็นร้อยสาขาได้เพราะเขามีทรัพยากรที่แข็งแรงอยู่แล้ว หรือถ้าเราไปโคกับแบรนด์อื่นที่อาจเก่งเรื่องผลิตภัณฑ์ หรือว่า    อุปกรณ์ออกกำลังกาย เราก็อาจจะโตไปอีกทางหนึ่งก็ได้ อะไรอย่างนี้เป็นต้น ผมว่ามันเป็นทางที่เรามองไปข้างหน้าว่ามันมีโอกาสอยู่หลายอย่าง และเราเองก็สามารถทำอะไรได้หลายทาง อยู่ที่ว่าจากนี้เราจะเลือกพาร์ทเนอร์กับใครที่จะไปด้วยกัน”

 



     สร้างจุดขายที่แตกต่าง ที่คนอื่นทำไม่ได้


     หนึ่งในสิ่งที่ผู้ประกอบการ SME จะต้องทำ ในยุคของการเดินทางท่ามกลางหมอกหนา คือ “ต้องหาจุดขายที่คนอื่นทำแบบเราไม่ได้” เนื่องจากวันนี้ใครๆ ก็อยากทำธุรกิจของตัวเอง ทำให้มีธุรกิจเกิดขึ้นเยอะแยะมากมาย แต่ถ้าลองไปดูในแต่ละปีธุรกิจที่โดดเด่นขึ้นมาไม่ว่าจะในออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ตาม มักจะเป็นธุรกิจที่มี “ลูกเล่น” บางอย่างเสมอ


     “ถ้าเราทำเหมือนกับคู่แข่งหมด บางทีเราก็ไม่สามารถที่จะเอากิมมิกอะไรพวกนั้นมานำเสนอแล้วมันจะดีได้ ออนไลน์มันไม่ใช่แค่ว่าคุณมีเงิน อัดเงินเข้าไปแล้วมันจะโตได้นะ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความคิดสร้างสรรค์ หรือว่าความแตกต่างบางอย่าง จุดนี้ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจอะไรอาจจะหาจุดแข็งที่คนอื่นเลียนแบบยากหน่อย ให้รู้สึกว่าเราไม่เหมือนคู่แข่ง ซึ่งจุดนั้นบางทีอาจจะเป็นจุดที่ดูไปไม่ค่อยได้กับร้านของเราเลยก็ได้ แต่บางทีเราทำได้ แล้วมันเป็นสิ่งที่เราชอบหรือถนัด บางทีมันก็โตของมันไปได้ เช่น ที่เคยเห็นกันอย่างร้านกาแฟที่กินกาแฟในหีบศพอะไรอย่างนี้เป็นต้น” เขาบอก


     สิ่งที่ต้องทำต่อมา เขาบอกว่า อยากแนะนำให้ SME ไปฟังพอดแคสต์ (Podcast) ซึ่งเป็นเทรนด์การเรียนรู้แบบใหม่ เพราะการทำธุรกิจในโลกที่ทุกอย่างไปเร็วมากอย่างทุกวันนี้ SME จำเป็นต้องเรียนรู้ให้เท่าทันโลก ซึ่งพอดแคสต์คือหนึ่งในแหล่งเรียนรู้ที่ทำให้เราได้เสพข้อมูลที่เร็วกว่าคนอื่น มันจะทำให้เราเข้าใจอนาคต รู้ว่าโลกอาจจะเปลี่ยนไปทางไหน ได้รู้เรื่องราวใหม่ๆ ก่อนใคร และทำให้เราสามารถรู้ว่า ควรไปพาร์ทเนอร์กับใคร จะขยับตัว หรือตั้งเป้าหมายไปทิศทางไหนได้ชัดเจนมากขึ้น


      “จากหมอกที่มันมัวๆ มันก็อาจจะพอเห็นทางที่รู้ว่าทางนี้มันมัวนะ แต่ว่ามีเชือกให้เราเดินตามได้” เขาบอกในตอนท้าย
 
               

     นี่คือหนึ่งในวิธีคิดแบบโจนส์สลัด ที่ทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นมาได้อย่างแข็งแกร่ง และไม่กลัวทางมัวๆ ในหมอกหนา ซึ่งSME ที่อยากเดินสู่อนาคตได้อย่างมั่นใจขึ้น ก็ลองเรียนรู้จากวิธีคิดเหล่านี้ได้
 




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย