รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ นักวิจัยไทยผู้สร้างฟาร์ม AI ไปตั้งบริษัทในญี่ปุ่น และทำเงินร้อยล้านใน 3 ปี!

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
  • แม้ไม่มีความรู้ด้านการทำธุรกิจ แต่การเป็นนักวิจัยที่มีความมุ่งมั่น เข้าใจ และแพสชั่นอย่างแรงกล้า ก็ทำให้ใครคนหนึ่งประสบความสำเร็จขึ้นมาได้
 
  • เช่นเดียวกัน “รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์”  CEO บริษัท ListenField  นักวิจัยไทยที่ไปตั้งบริษัทในญี่ปุ่น ด้วยแพสชั่นที่อยากนำเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปแก้ปัญหาให้กับภาคการเกษตร ใครจะคิดว่าจากกิจการเล็กๆ จะกลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าหลักร้อยล้านบาทได้ในเวลาเพียง 3 ปี!



     นี่คือเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่ง
               

      เธอเป็นอดีตนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology : AIT) ที่เคยร่วมทำวิจัยระบบเซ็นเซอร์ตรวจสอบสภาพดินฟ้าอากาศเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety) ใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2550  และมีผลงานวิจัยออกมาอย่างต่อเนื่อง
               




     ด้วยแพสชั่นที่อยากเห็นภาคเกษตรของไทยได้รับการพัฒนา เกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนญี่ปุ่น เธอจึงตัดสินใจไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกทางด้านเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ที่ Chubu University เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น โดยผลงานวิจัยที่ใช้ทำธีสิสในครั้งนั้น คือ API Integration Platform  สำหรับภาคการเกษตรโดยเฉพาะ ซึ่งทำการศึกษาและทดลองใช้กับเกษตรกรในญี่ปุ่น


     ใครจะคิดว่าผลงานดังกล่าวจะถูกรัฐบาลญี่ปุ่นนำไปใช้ในโครงการระดับชาติที่ชื่อ Agricultural Reform หรือการปฏิรูปภาคเกษตรของญี่ปุ่น เมื่อปี 2557  และจุดนั้นเองที่ปูทางการเป็นผู้ประกอบการไทยในประเทศญี่ปุ่นของเธอคนนี้          
               

      เรากำลังพูดถึง “รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์”  CEO บริษัท ListenField Inc. (www.listenfield.com ) ที่ก่อตั้งขึ้นในญี่ปุ่นเมื่อปี 2560  ด้วยฝีมือของคนไทย และการเป็นนักวิจัยเต็มสายเลือดไม่ใช่นักธุรกิจ


     เธอบอกว่าที่อยากตั้งกิจการในญี่ปุ่น เพราะอยากพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า การเป็นนักวิจัยนั้นก็สามารถเจริญเติบโตได้ และเด็กไทยที่จบจากญี่ปุ่นเองก็ไม่จำเป็นต้องไปเป็นลูกจ้างในบริษัทญี่ปุ่นเท่านั้น แต่สามารถเป็นผู้ประกอบการที่เติบโตในญี่ปุ่นได้เช่นกัน ขณะเดียวกันเมื่อทำไปถึงจุดหนึ่ง ก็ยังสามารถนำความรู้และประสบการณ์กลับมาพัฒนาประเทศเราได้อีกด้วย
 




     แต่ทว่าการเป็นผู้ประกอบการในญี่ปุ่นไม่ได้ง่าย เธอบอกว่า ต้องผ่านบททดสอบอะไรหลายๆ อย่าง เธอตัดสินใจไปชวนอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ซึ่งใบเบิกทางสำคัญที่ทำให้อะไรๆ ง่ายขึ้น ก็คือการเรียนจบจากญี่ปุ่น และทำโปรเจ็กต์ด้านนวัตกรรมซึ่งไปสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นในเวลานั้นพอดิบพอดี


     บริษัทเล็กๆ ที่ชื่อ ListenField จึงปรากฏตัวขึ้นบนแผ่นดินญี่ปุ่น  โดยทำเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล บริหารจัดการข้อมูลและสร้างโมเดลเพื่อประเมินความเสี่ยงของภาคเกษตรในญี่ปุ่น โดยมีลูกค้าหลักเป็นรัฐบาลญี่ปุ่นที่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือกลุ่ม Service Provider   (บริษัทผู้ให้บริการ)  ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นกลุ่มชุมชนเกษตรกรรม (Farm Community) ซึ่งเป็นลักษณะที่เกษตรกรเป็นเจ้าของที่นาตัวเอง มารวมกลุ่มกัน โดยมีผู้บริหารจัดการฟาร์มทำหน้าที่วางแผนการเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี สอดรับกับความต้องการของตลาด เรียกว่า เหมือนเป็นผู้ดูแลในฝั่งของธุรกิจให้กับเกษตรกรอีกทอดหนึ่ง ซึ่งนั่นคือลูกค้าเป้าหมายของเธอ






     จากกิจการเล็กๆ ปัจจุบัน ListenField มีนักวิจัยอยู่ 6 คน รวมพนักงานทั้งบริษัทมีอยู่ที่ 15 คน โดยรัสรินทร์ไม่ได้เป็นแค่ CEO เท่านั้น แต่เธอยังทำงานวิจัยที่เธอรักอย่างต่อเนื่อง ถามว่าคนจำนวนแค่นี้ แถม CEO ก็ยังเป็นนักวิจัยเสียด้วย แล้วธุรกิจจะโตไปได้แค่ไหน คำตอบคือ กิจการเล็กๆ โตต่อเนื่องมาตลอด 3 ปี และมีมูลค่าธุรกิจ ณ ปัจจุบัน ที่กว่าร้อยล้านบาท!


     ในปีที่ผ่านมาธุรกิจยังขยายจากประเทศญี่ปุ่น มาจดทะเบียนบริษัทในประเทศไทย และกำลังขยายธุรกิจมาสู่การทำฟาร์ม AI  (แอปพลิเคชัน FarmAI  ฟาร์มเอไอ-เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ) ให้กับภาคเกษตรของไทยได้ใช้ด้วย ซึ่งผลงานดังกล่าว ยังทำให้ ListenField  เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการเศรษฐกิจสีเขียว ที่ได้รับรางวัล SEED Low Carbon Award 2019 และร่วมแสดงผลงานใน งานประชุมเชิงวิชาการ SEED Symposium 2020 ที่ประเทศไทย ที่ผ่านมาอีกด้วย


     เมื่อถามว่า ทำไมนักวิจัยซึ่งไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจเลย ถึงสามารถทำกิจการให้ประสบความสำเร็จได้ เธอบอกว่าทุกอย่างล้วนผ่านการเรียนรู้ โดยเธอเริ่มทำธุรกิจด้วยความคิดที่ว่าทำสิ่งที่สนุกและเป็นประโยชน์ แต่พอวันหนึ่งที่กระโดดเข้ามาทำแบบเต็มตัว เธอบอกว่าต้องหาจุดร่วมที่จะสร้างความ วิน-วิน ให้เกิดขึ้นให้ได้ นั่นคือ ลูกค้าได้ประโยชน์ แต่เธอในฐานะคนทำธุรกิจก็ต้องอยู่ให้ได้ด้วยเช่นกัน นั่นคือต้องสร้างโมเดลในการหารายได้ที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ด้วย


     เธอย้ำว่า ตลอดเส้นทางที่เดินไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ต้องผ่านความยากลำบากมาทั้งนั้น ซึ่งสิ่งสำคัญคือ การทำงานในทุกวันต้องเรียนรู้ ต้องเข้าใจในสิ่งที่ทำ และต้องอยู่กับสิ่งที่ทำจริงๆ ที่สำคัญคือต้องไม่เอาผลลัพธ์ทางธุรกิจมาเป็นที่ตั้งอย่างเดียว เพราะเธอย้ำว่า ความสุขของคนเราอาจไม่ใช่อยู่ที่การได้เงินมาแล้วซื้ออะไรให้ตัวเอง แต่สุดท้ายแล้วคนเราจะหลั่งสารแห่งความสุขได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อเราได้ทำอะไรเพื่อคนอื่น เธอจึงมองว่า บางทีการได้ทำสิ่งที่ตัวเองรู้สึกสนุก แล้วสิ่งนั้นสามารถไปทำประโยชน์เพื่อใครได้ด้วย นั่นต่างหากคือความสำเร็จที่เธอปรารถนา  


     และบางที “มูลค่าทางธุรกิจ” ก็อาจเกิดจาก “มูลค่าความสุข” ที่เรามี เหมือนที่เธอและ ListenField พิสูจน์ให้เห็นแล้วในวันนี้


     การเป็นผู้ประกอบการในญี่ปุ่น สอนการทำงานเป็นเครือข่าย และเติบโตไปด้วยกัน ด้วยความร่วมไม้ร่วมมือกัน เธอบอกว่าในโลกปัจจุบันนี้ไม่มีใครที่จะชนะไปทุกสิ่ง แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จากการร่วมมือกัน โดยเราต้องรู้ตัวเองว่าตัวเรามีจุดเด่นอะไร แล้วก็ต้องมองให้ออกว่าเพื่อนของเรามีจุดเด่นอะไรที่เราไม่มี แล้วมาร่วมมือและแบ่งปันกัน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน โดยไม่ต้องเสียเวลาไปทำในสิ่งที่ไม่ถนัด เพราะทุกอย่างล้วนมีจำกัด ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรด้านเวลา เงิน และคน


     เมื่อถามถึงเป้าหมายในอนาคต เธอบอกแค่ว่า อยากเห็นว่าสิ่งที่พวกเธอทำ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ กับภาคเกษตรของประเทศไทย ซึ่งหากทำได้ นั่นเท่ากับความฝันและความตั้งใจของเธอตลอดที่ผ่านมาได้บรรลุผลสำเร็จแล้ว
 





Did you know
 

      รัสรินทร์ ตั้งชื่อบริษัทของเธอว่า “ListenField” (ลิสเซินฟิลด์) ซึ่งให้ความหมายว่า การฟังเสียงธรรมชาติ เธอบอกว่า นี่สะท้อน DNA ของพวกเธอที่เริ่มต้นจากการฟังเสียงของธรรมชาติด้วยระบบเซ็นเซอร์ เมื่อฟังจึงทำให้เข้าใจปัญหา และสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ จนก่อเกิดมาเป็นธุรกิจ เลยเป็นที่มาของการฟังเสียงธรรมชาติ ฟังสิ่งรอบๆ ตัว  


     นอกจากนี้เป้าหมายของ ListenField  คือการนำความสุขมาให้กับเกษตรกร ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ ก็ต้องเข้าใจเกษตรกรเสียก่อน เลยเป็นการฟังเสียงของธรรมชาติ เพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรด้วยความเข้าใจ


     ในอีกมุมหนึ่ง ListenField ต้องการเป็น Networking Nature by Innovation  การสร้างเครือข่ายธรรมชาติด้วยนวัตกรรม จึงเป็นการฟังธรรมชาติที่นำนวัตกรรมเข้ามาเสริม ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย มาเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกษตรกรรับรู้ และข้อมูลจากตัวเกษตรกรเอง เพื่อส่งต่อข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กลับไปให้เกษตรกรได้บริหารจัดการฟาร์มของพวกเขาได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย