Main Idea
- วงการแฟชั่นนั้นไปไกลกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการออกแบบที่มีความหลากหลายหรือสะท้อนมุมมองต่างๆ ได้อย่างแยบยล วัสดุที่นำมาใช้ในวงการแฟชั่นก็มีความสร้างสรรค์และโดดเด่นไม่แพ้ใคร ยิ่งถ้าแปลกหรือเป็นวัสดุที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะนำมาใช้ได้ก็ยิ่งทำให้เกิดความน่าสนใจเพิ่มเข้าไปอีก
- เช่นเดียวกับเสื้อผ้าชุด Biogarmentry ที่ทำจากสาหร่าย แถมยังมีความสามารถที่ทุกคนต้องรู้สึกว้าว อย่างการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นออกซิเจนผ่านการสังเคราะห์ด้วยแสง ที่จะเข้ามาทำให้วงการแฟชั่นที่รวดเร็วเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืนนั่นเอง
ปัจจุบันมนุษย์มักจะให้ความสนใจกับการเลือกสวมใส่เสื้อผ้าเป็นอย่างมาก ถึงขนาดมีการมองหาเสื้อผ้าสุดเก๋ให้กับสัตว์เลี้ยงของตนเองด้วย ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่าทำไมวงการแฟชั่นหรืออุตสาหกรรมสิ่งทอถึงได้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่าการที่ตลาดนั้นเติบโตก็หมายความว่ามีการแข่งขันสูง มีผู้เล่นหน้าใหม่ตบเท้าเข้าสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นมากขึ้น แบรนด์น้องใหม่ก็เกิดขึ้นมากมาย ถ้าหากคุณอยากโดดเด่นในตลาดนี้ได้ก็ต้องมีลูกเล่นสักหน่อย!
ฉะนั้น เสื้อผ้าตอนนี้นั้นไม่ได้มีเพียงความสวยงามอย่างเดียว แต่ยังมีความแปลกใหม่และสร้างสรรค์ เพื่อสร้างจุดสนใจให้แก่ผู้บริโภค เช่นเดียวกับเสื้อผ้าที่ชื่อว่า Biogarmentry ที่ถูกสร้างสรรค์โดย Roya Aghighi ดีไซเนอร์ชาวแคนาดา – อิหร่านที่ได้สร้างเสื้อผ้าสุดเก๋จากสาหร่ายซึ่งมีคุณสมบัติในการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นออกซิเจนผ่านการสังเคราะห์ด้วยแสง คล้ายกับกระบวนการทำงานของต้นไม้เลยล่ะ!
Biogarmentry จึงเข้ามาเติมเต็มช่องว่างของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยการนำเสนอทางเลือกใหม่ๆ ที่ยั่งยืนมากขึ้น ที่สำคัญยังสะกิดต่อมรักษ์โลกของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย!
จุดเริ่มต้นของเสื้อผ้า Biogarmentry นั้นมาจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย British Columbia (UBC) และ Emily Carr University of Art and Design ที่ได้จับมือกันสร้างสิ่งทอทางชีวภาพขึ้น โดยสิ่งทอทางชีวภาพนั้นมีสาหร่ายเป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่ง Roya Aghighi มองว่าสิ่งทอของเธอนั้นสามารถหายใจได้ด้วยการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นออกซิเจนหรือเรียกง่ายๆ ว่ามันสามารถเจริญเติบโตได้นั่นเอง
โดยเสื้อผ้า Biogarmentry สร้างมาจากสาหร่ายเซลล์เดียวชนิดหนึ่งที่ถูกปั่นรวมกับนาโนโพลีเมอร์ ซึ่งจะทำให้เนื้อผ้านั้นคล้ายกับผ้าลินิน ซึ่งความน่าสนใจของเจ้าเสื้อผ้าชิ้นนี้คือผู้สวมใส่จะต้องดูแลให้เหมือนกับว่าคุณกำลังดูแลต้นไม้สักต้น เพราะอย่างที่บอกในตอนแรกว่าเสื้อผ้าชิ้นนี้มีลมหายใจ หากคุณดูแลไม่ดี เสื้อผ้าชิ้นนี้อาจจะสลายหายไปจากคุณในเวลาไม่ถึงเดือน
อีกทั้งการดูแลเมื่อสวมใส่เสร็จแล้วคุณก็ไม่ต้องซักให้เสียแรงหรือเสียทรัพยากรอย่างอื่น คุณแค่ฉีดน้ำใส่สัปดาห์ละครั้ง และนำมันมาออกแดดในระหว่างที่คุณสวมใส่นั่นก็เป็นเหมือนการดูแลพวกเขาให้มีการสังเคราะห์แสงหรือมีชีวิตต่อไปแล้ว
แน่นอนว่าการหายใจของเสื้อผ้าก็จะช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมรอบตัวของผู้สวมใส่ในทันที เศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บก็จะไม่กลายเป็นขยะที่ต้องกำจัด เพราะมันสามารถย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยหมักได้เลย จากการทดลองพบว่าเสื้อผ้าชิ้นนี้สามารถอยู่ได้ประมาณ 1 เดือนและสามารถขยายต่อไปได้ถ้าได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง และหลักฐานที่ตอกย้ำความสำเร็จของเจ้า Biogarmentry สิ่งทอที่ทำด้วยเซลล์สิ่งมีชีวิตสังเคราะห์นี้ คือการได้รับการคัดเลือกให้เป็น Dezeen Awards 2019 ในหมวดการออกแบบที่ยั่งยืนได้อย่างสวยงาม
เรียกได้ว่าวงการแฟชั่นนั้นไปไกลกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การใช้วัสดุที่แปลกใหม่ การมีฟังก์ชันเสริมได้อย่างหลากหลายจนผู้สวมใส่รู้สึกว่ามันคุ้มกับเงินที่เสียไป หรือแม้กระทั่งกระบวนการผลิตที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมก็สามารถเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าได้อย่างมหาศาล ซึ่งผู้ประกอบการ SME สามารถนำแนวคิดดังกล่าวไปใช้เพื่อเพิ่มคุณสมบัติหรือเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้เลย!
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี