Main Idea
- ปี 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี! ที่ร้อยละ 2.0 ส่งออกสินค้าอาหารมีมูลค่าที่ 1.02 ล้านล้านบาท หดตัวลงที่ร้อยละ 3.8 จาก 3 ปัจจัยหลัก ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การแข็งค่าของเงินบาท และราคาอาหารโลกที่ปรับตัวลดลง
- จีนก้าวขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยมีมูลค่า 150,749 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.0 แทนที่กลุ่มประเทศ CLMV
- แนวโน้มปี 2563 การส่งออกในรูปเงินดอลล่าร์สหรัฐ ประเมินว่าจะมีมูลค่าราว 34,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ส่วนมูลค่าส่งออกในรูปเงินบาทยังคงขึ้นอยู่กับทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท โดยมีโอกาสหดตัวลงร้อยละ 0.3 จนถึงขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 คาดอยู่ระหว่าง 1.02 –1.06 ล้านล้านบาท
“ปี 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี! โดยลดลงร้อยละ 2.0 เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศที่อ่อนตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ รายได้ครัวเรือนลดลง และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น บวกกับภาคการส่งออกที่หดตัวลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว พิษจากเงินบาทแข็งค่า และราคาส่งออกสินค้าอาหารที่ลดลงกระทบต่อรายได้เข้าประเทศ”
นี่คือ สถานการณ์เบาะๆ เบาๆ ที่รายงานจาก 3 องค์กรด้านอุตสาหกรรมอาหาร อย่าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร ที่ผ่านมา สะท้อนถึงความสาหัสสากรรจ์ในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารของไทย ที่พ่นพิษมาตั้งแต่เมื่อสองปีก่อน จนล่วงเข้าสู่ปี 2563 นี้
สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME อยากรู้ ไม่ใช่แค่วันนี้พวกเขากำลังเจอกับอะไร แต่คือคำตอบและทางออกที่จะฟันฝ่าความสาหัสของสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปได้ วันนี้ SME Thailand จะพาทุกคนไปหาคำตอบกัน
- พิษ “ค่าเงินบาท” ฉุดตัวเลขส่งออกอาหารไทยลดลง
“อนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์” ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม บอกถึงสถานการณ์ด้านการส่งออกอาหารของไทยในปี 2562 ว่า มีมูลค่า 1,025,500 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 3.8 ในรูปเงินบาท แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ในรูปดอลล่าร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 401,300 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 0.1 โดยสินค้าอาหารส่งออกหลัก 6 รายการ ที่มีมูลค่าลดลง ได้แก่ ข้าว (-22.0 เปอร์เซ็นต์) น้ำตาลทราย (-13.7 เปอร์เซ็นต์) ปลาทูน่ากระป๋อง (-6.0 เปอร์เซ็นต์) แป้งมันสำปะหลัง(-2.8 เปอร์เซ็นต์) กุ้ง (-9.2 เปอร์เซ็นต์) และสับปะรด (-15.7 เปอร์เซ็นต์)
อย่างไรก็ดียังมีสินค้า 4 รายการ ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่ (+0.8 เปอร์เซ็นต์) เครื่องปรุงรส (+4.0 เปอร์เซ็นต์) มะพร้าว (+3.8 เปอร์เซ็นต์) และอาหารพร้อมรับประทาน (+4.6 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การแข็งค่าของเงินบาท และราคาอาหารโลกที่ปรับตัวลดลง เป็น 3 ปัจจัยหลักที่ฉุดมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารไทยให้ลดต่ำลง
“ในปี 2562 ที่ผ่านมา จีนก้าวขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แทนที่กลุ่มประเทศ CLMV โดยไทยส่งออกสินค้าอาหารไปจีนมูลค่า 150,749 ล้านบาท มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.0 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.7 ของมูลค่าการส่งออกอาหารทั้งหมด มีสินค้าส่งออกหลักที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าผักและผลไม้ ไก่สดแช่แข็ง รวมถึงกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง หากพิจารณาจากตลาดส่งออกหลักทั้ง 7 ตลาด ได้แก่ จีน CLMV ญี่ปุ่น อาเซียนเดิม สหรัฐฯ สหภาพยุโรป กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ(MENA) จะพบว่ามีเพียงตลาดจีน (+34.0เปอร์เซ็นต์ ) MENA (+3.7 เปอร์เซ็นต์) และสหรัฐฯ (+0.5 เปอร์เซ็นต์) ที่มีการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ส่วนตลาดอื่นๆ หดตัวลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยภาพรวมการค้าอาหารโลกในปี 2562 ประเมินว่ามีมูลค่าราว 1.318 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวลงร้อยละ 0.6” อนงค์กล่าว
- เตรียมรับความท้าทายต่อเนื่องในปี 2563
ผ่าน 2562 มาอย่างยากลำบากแล้วผู้ประกอบการอาหารยังจะเจอศึกหนักอะไรต่อในปี 2563 ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร บอกปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมอาหารในปีนี้ ได้แก่ 1.ต้นทุนการผลิตและการขนส่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงาน หากสงครามระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ ปะทุและลุกลาม 2.ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ Brexit เพราะจะเกิดความไม่ชัดเจนเรื่องกฎเกณฑ์สินค้า เงื่อนไขการค้า 3.ภัยแล้งจะกระทบทำให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรวัตถุดิบในประเทศลดลง ราคาปรับตัวสูงขึ้น กระทบต้นทุนอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป 4. สินค้าอาหารของไทยบางรายการได้รับผลกระทบจากการถูกสหรัฐฯ ตัด GSP โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปจำพวกพาสต้า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เกี๊ยว เป็นต้น 5. ภัยคุกคามจากการขยายตัวของสินค้าอาหารที่ผลิตจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์(Plant-based food product) ที่มีต่ออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และอาหารทะเล
“การที่ค่าเงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทาง จึงอาจเป็นได้ทั้งปัจจัยสนับสนุน หรืออาจเป็นปัจจัยเสี่ยง คือ 1. มีแนวโน้มอ่อนค่าตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนผ่อนคลายลง ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในเงินบาท และ 2.แนวโน้มแข็งค่าขึ้นหากเครื่องชี้วัดด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นผลประกอบการของภาคธุรกิจ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่บ่งชี้กำลังซื้อ ตลาดแรงงานและตัวเลขตำแหน่งงานใหม่ รวมทั้งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นต้น โดยค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลงไปทุกๆ 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะทำให้มูลค่าส่งออกอาหารไทยเปลี่ยนแปลงไปประมาณ 35,000 ล้านบาท”
- ปีแห่งการอยู่รอดด้วยความยาวของสายป่าน
“วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บอกเราว่า ในปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ SME ในกลุ่มอาหาร ถือว่าได้รับผลกระทบที่หนักหน่วง โดยสาเหตุหลักมาจากเรื่องการแข็งค่าของเงินบาท ที่ทำให้การส่งออกสินค้าอาหารเสียเปรียบประเทศคู่แข่งที่มีสินค้าใกล้เคียงกันอย่างมาก
“ปัญหาค่าเงินบาทส่งผลต่อราคาอาหาร เนื่องจากเวลาส่งออกไปขายต่างประเทศ มันไม่ใช่มีแค่สินค้าของประเทศไทยประเทศเดียว แต่เรายังมีเพื่อนบ้านที่ทำสินค้าคล้ายคลึงกับเราที่สามารถทดแทนกันได้ ซึ่งกดดันราคาตลาดส่งออก ทีนี้พอค่าเงินบาทของเราแข็งขึ้นซึ่งในความเป็นจริงก็ควรจะบวกราคาขึ้นไปตามค่างินบาทเพื่อที่จะไม่ให้ขาดทุน แต่กลายเป็นว่าพอโดนกดดันเรื่องราคาจากคู่แข่งเราก็ต้องยอมขายในราคาเดิมต่อไป ซึ่งนั่นแปลว่าผู้ประกอบการไทยได้เงินน้อยลง พูดง่ายๆ ว่า สองปีที่ผ่านมาสินค้าใดก็ตามที่ไม่เคยปรับราคาขึ้นเลย ยังขายราคาเดิมเป็นดอลลาร์สหรัฐ นั่นแปลว่า เงินคุณหายไปแล้ว 17-18 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในการส่งออกนั้นถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะว่าปกติแล้วมาร์จิ้นในการส่งออกใครทำได้เกินสองหลักนี่ถือว่าเก่งมาก ยิ่งกิจการใหญ่ที่เน้นผลผลิตเยอะๆ แล้วแข่งขันกันรุนแรง บางทีมาร์จิ้นแค่ 3-4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง” วิศิษฐ์ บอก
นั่นคือเหตุผลที่เขาบอกว่า ช่วงที่ผ่านมา SME ไทยหลายราย อยู่ได้ด้วยสายป่าน เรียกว่าใครสายป่านยาวก็ยืดอายุได้นานหน่อย ทว่าถ้าปีนี้หากสถานการณ์ยังมีความต่อเนื่องแบบนี้ต่อไป และยังแก้ปัญหาเรื่องค่าเงินไม่ได้ ในขณะที่ SME ไม่สามารถกู้เงินเพิ่มได้ เขาคาดการณ์ว่าจะมี SME ที่ต้องปิดตัวลงหรือเลิกกิจการมากขึ้น
“ในสองปีที่ผ่านมาเหมือนความพยายามดึงเวลาไว้ว่าเดี๋ยวมันคงจะดีขึ้น แต่ถ้ามันยังไม่ดีขึ้นอีกก็อาจจะมีหลายรายที่ต้องคิดใหม่ และมีโอกาสปิดตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ผ่านมา” เขาย้ำ
- เปลี่ยนเกมธุรกิจ มองโอกาสใหม่ที่ยังมีอยู่
วิศิษฐ์ บอกเราว่า ในการปรับตัวของผู้ประกอบการอาหารในวันนี้ต้องเป็นการคิดใหม่ หากผลิตภัณฑ์เดิมไม่เวิร์คก็ต้องหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ตลาดเดิมไม่ไหว ก็ต้องหาตลาดใหม่ที่ต่ออายุธุรกิจไปได้
“ในปีนี้ SME มีโอกาสปิดตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งการปิดตัวนี้อาจไม่ได้หมายถึงการปิดกิจการลง แต่เป็นการปิดตัวจากผลิตภัณฑ์เดิมที่ทำอยู่ซึ่งแข่งขันไม่ได้แล้ว เปลี่ยนมาทำธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ความถนัดเดิมที่เขามีและยังมีโอกาสในตลาด ส่วนหนึ่งคือเขาอาจจะต้องเปลี่ยนตลาดใหม่ จากเดิมขายต่างประเทศ เมื่อแข่งขันไม่ได้เพราะเรื่องค่าเงิน ก็อาจหันมาทำตลาดในประเทศมากขึ้น แต่สิ่งที่ท้าทายคือ ก็ต้องมาเจอภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นเดียวกัน แต่ด้วยความที่อาหารยังมีการเติบโตได้ดีโดยเฉพาะในแง่ของอาหารสด รวมถึงกลุ่มผลไม้สดต่างๆ พวกนี้ยังเติบโตได้ รวมดถึงกลุ่มร้านอาหารที่ยังคงเติบโตดี โดยได้อานิสงส์จากตลาดนักท่องเที่ยวที่ถึงแม้ว่าจะไม่ถึงเป้าที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจจากนี้ กลุ่มอาหารกับท่องเที่ยวจะต้องเข้าไปสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้น ฉะนั้น SME ที่ทำส่งออกในช่วงที่ผ่านมาแล้วเริ่มไม่ไหว ปรับกลยุทธ์ทุกทางแล้วยังไม่ดีขึ้น ยังเหลือช่องทางนี้ที่สามารถเอาความถนัดของตัวเองมาทำได้ แต่ก็คงต้องลดขนาดธุรกิจลงมา (Downsizing) และทำตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นกลุ่มสินค้าที่มีความสดมากขึ้น เพื่อที่จะยังพอไปต่อได้ในสถานการณ์เช่นนี้”
เมื่อถามว่าสถานการณ์นี้จะยาวนานหรือไม่ วิศิษฐ์บอกเราว่า การบริโภคของโลก และการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน คือ ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อชะตากรรมของอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยภายนอกที่คสบคุมไม่ได้ ฉะนั้นสิ่งที่ SME ไทยพอจะทำได้ ก็คือต้องปรับตัวเองอย่างเดียวเท่านั้น
- รู้ทันเทรนด์เปลี่ยนไปจับตลาดแห่งความหวัง
ด้าน อนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร บอกต่อว่า แม้ในปีนี้ยังมีปัจจับหลายอย่างที่ท้าทายการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ SME ในกลุ่มอาหาร แต่ก็ยังเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ พัฒนาตัวเองและนำพาตัวเองไปสู่โอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะการหันไปจับตลาดอาหารที่เป็นเทรนด์ของโลก เช่น สินค้าอาหารเกี่ยวกับสุขภาพ สินค้าด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสวัสดิภาพสัตว์ เป็นต้น
“ผู้ประกอบการอาหารบ้านเราต้องปรับตัวไปสู่ กลุ่มอาหารที่มีคุณสมบัติพิเศษ (Functional Food) อาหารสำหรับอนาคต พวกอาหารแปรรูป และกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) ที่สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคยุคนี้ที่ไม่มีเวลา ในกลุ่มที่เน้นส่งออก ต้องส่งเป็นวัตถุดิบให้น้อยลง แต่แปรรูปให้มากขึ้น และให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแต่ละกลุ่ม มากขึ้น รวมถึงการเจาะตลาดที่เฉพาะกลุ่ม (Niche Market) เช่น อาหารสำหรับผู้สูงอายุ หรืออาหารที่เฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคลมากขึ้น เช่น อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคต่างๆ เป็นต้น”
ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร บอกเราอีกว่า วันนี้ SME อาจเจอกับความท้าทาย แต่ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ปรับตัว และมองหาจุดเปลี่ยนที่จะพลิกธุรกิจของตัวเองให้ไปได้ไกลกว่าเดิม
“วันนี้ SME ต้องเรียนรู้ พัฒนาตัวเอง และต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองให้มากขึ้น ต้องมองหาสิ่งที่จะมาช่วยเสริมเติมแต่งและยกระดับตัวเองขึ้นไป กระตือรือร้น เข้าหาแหล่งทุนให้ได้ ซึ่งตอนนี้รัฐบาลก็มีทุนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนของ SME D Bank ที่มีเงินให้ไปเปลี่ยนเครื่องจักร พัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนเปลี่ยนแพ็กเก็จจิ้งต่างๆ รวมถึงของธนาคารออมสิน และ ธกส. ที่พร้อมเข้ามาช่วยเหลือ SME เพียงแต่ขอให้มีความกระตือรือร้น ใฝ่รู้ สอบถาม และหาข้อมูล พยายามบอกสิ่งที่ตัวเองต้องการ และพัฒนาตัวเองไปตลอด จะรอให้ใครมาช่วยเหลือตลอดคงไม่ได้ แต่วันนี้ SME ต้องช่วยเหลือตัวเองด้วย” เธอย้ำในตอนท้าย
นี่นับเป็นอีกปีที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่ยังมีโจทย์ใหญ่ให้ต้องรับมืออย่างหนักหน่วง แต่ในขณะเดียวกันก็นับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไทยจะได้ลุกมาเปลี่ยนขยับและปรับตัวเอง เพื่อออกจากบ่วงกับดักเก่าๆ ไปแสวงหาโอกาสในตลาดใหม่ๆ
เหมือนที่เขาว่ากันว่า ถ้าไม่มีอุปสรรค ไม่เจอกับปัญหา เราก็คงไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเสียที
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี