ถอดไอเดียเจน 2 ‘คิวบิค เจมส์’ กับวิธีเปลี่ยนธุรกิจรุ่นเก่าให้เก๋าด้วยคมคิดทายาทรุ่นใหม่

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : เจษฎา ยอดสุรางค์





Main Idea
 
  • “คิวบิค เจมส์” (Cubic Gems) คือผู้ผลิตอัญมณีคุณภาพสูง และงานประติมากรรมรูปปั้นมงคลสัญชาติไทยแท้ ที่อยู่ในสนามมานานถึง 25 ปี (ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2538) มีสินค้าส่งออกไปในหลายประเทศทั่วโลก ผลงานของ “พงศ์พศิน ธนสินตระกูล” ผู้ก่อตั้ง บริษัท คิวบิค เจมส์ จำกัด
 
  • วันนี้โลกใบเล็กของคิวบิค เจมส์ มีผู้บริหารรุ่นใหม่เข้ามาร่วมขับเคลื่อน เธอคือ  “พัชรลักษณ์  ธนสินตระกูล” ทายาทรุ่น 2 ที่กำลังจะเปลี่ยนภาพ คิวบิค เจมส์ ให้เป็นแบรนด์ที่ยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งในโลกยุคใหม่



     เว็บไซต์เรียบหรู (www.cubicgems.com) ดูงดงามตระการตา ลบภาพแบรนด์เก่าแก่ และยากจะเข้าถึง ให้ใกล้ชิดผู้คนได้มากขึ้น ซื้อขายได้ง่ายขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ นี่คือ ผลงานของ “พัชรลักษณ์  ธนสินตระกูล” ทายาทของ “พงศ์พศิน ธนสินตระกูล” ผู้ก่อตั้ง บริษัท คิวบิค เจมส์ จำกัด ที่กำลังนำความเป็นคนรุ่นใหม่ มาทำให้ธุรกิจของคนรุ่นหนึ่ง ดูสดใสและไฉไลขึ้น ภายใต้การขับเคลื่อนของทายาทรุ่น 2
 




      สานต่อธุรกิจครอบครัวด้วยองค์ความรู้จากการศึกษา


     ก่อนเข้ามาสานต่อธุรกิจที่พ่อสร้างไว้ พัชรลักษณ์  เรียนจบปริญญาตรีด้านการตลาดที่มหาวิทยาลัยมหิดล หลังเรียนจบเธอทำงานข้างนอกอยู่ประมาณ6 ปี ก่อนไปเรียนต่อปริญญาโท ที่เซี่ยงไฮ้ประเทศจีน และฝรั่งเศส ในสาขา Luxury Brand Management การจัดการสินค้าหรู ซึ่งตรงกับธุรกิจที่ครอบครัวทำอยู่ 


     “ธุรกิจนี้คุณพ่อท่านเริ่มต้นมาด้วยความที่มีโนว์ฮาวในการผลิตจากการที่เคยทำโรงงานจิวเวลรีมาก่อน ซึ่งในยุคนั้นเป็นยุคที่ยากลำบากมาก ท่านทำธุรกิจในยุคที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนั้นลำบากเพราะกู้เงินมาเยอะ ธุรกิจก็ไปได้ยาก แต่ท่านก็พยายามทำมาเรื่อยๆ เป็นสิบๆ ปี จนมาขยายธุรกิจจากเทคนิคการทำจิวเวลรีโดยใช้ความรู้ของช่างเดิมและวัตถุดิบเดิม  เปลี่ยนมาเป็นธุรกิจรูปปั้นมงคลจนพบว่าไปได้ดีกว่าจิวเวลรี ก็เลยพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ ซึ่งจุดพลิกจริงๆ  คือการมารู้จักตลาด B2B และขายพรีเมียม เลยทำให้ธุรกิจเริ่มที่จะไปได้ แต่ตอนนั้นก็ยังมีหนี้สินเยอะมากๆ” พัชรลักษณ์  เล่า


     และนั่นคือเหตุผลที่เธอตัดสินใจไปเรียน MBA ทางด้าน Luxury Brand Management เพราะอยากได้ความรู้มาช่วยธุรกิจครอบครัว  ซึ่งหลังทำงานข้างนอกมาก่อน พอพี่ชายขอความช่วยเหลือให้มาช่วยธุรกิจที่บ้าน เธอเลยตัดสินใจลาออกทันที โดยมีความมุ่งมั่น และต้นทุนความรู้ที่เล่าเรียนมา ใช้ในการสานต่อธุรกิจครอบครัว





     เติมสิ่งใหม่ ในธุรกิจเก่า



     จากแบรนด์กว่า 2 ทศวรรษ วันที่ทายาทเข้ามาสานต่อ คิวบิค เจมส์ ค่อยๆ เปลี่ยนภาพไป สู่แบรนด์ที่มีความทันสมัยขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น
               

     โดย พัชรลักษณ์  เข้ามาออกแบบกล่องบรรจุภัณฑ์ให้กับสินค้าหรูของครอบครัว โดยเธอมองว่า ความหรูหราและเป็นมงคลนั้นต้องไปคู่กันไม่ว่าจะกล่องที่ใส่หรือตัวสินค้า นอกจากนี้เธอยังมาปรับกลยุทธ์ด้านการตลาดใหม่ๆ ทำเรื่องของการสร้างแบรนด์ ขยายช่องทางขายใหม่ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์  เริ่มปรับหน้าตาเว็บไซต์ให้มีลูกเล่นมากขึ้น และยกระดับความมงคลและหรูหราให้สามารถทำตลาดออนไลน์ได้เป็นครั้งแรก
               

     “ตนเองเข้ามาในจุดที่ไม่รู้ว่าธุรกิจครอบครัวจะปี่หรือจะขลุ่ย แต่พอถึงจุดหนึ่งที่ได้ลองสร้างแบรนด์ และเอาไปขายตามห้างสรรพสินค้าในยุคที่รีเทลกำลังเฟื่องฟู รวมถึงขายไปยังตลาดทัวร์ ลูกค้าคนไทย ตลาดของพรีเมียม และออกงานแสดงสินค้าด้วย เรียกว่าทำตลาดทุกทิศทุกทาง ธุรกิจก็เริ่มดีขึ้นมา จนมีรายได้มาต่อเติมโรงงานและทำโชว์รูมให้ใหญ่ขึ้น” พัชรลักษณ์  บอกภาพที่เปลี่ยนไปของธุรกิจครอบครัว
                 

     หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่มาจากความคิดของคนรุ่นใหม่อย่างเธอ คือการทดลองขายสินค้าหรูในตลาดออนไลน์
               

     “อย่างที่ทุกคนเข้าใจดีว่า ตอนนี้ธุรกิจในรูปแบบเก่าๆ ค่อนข้างจะมีปัจจัยภายนอกที่ทำให้ไปได้ยากขึ้น ด้วยความที่ธุรกิจของเราเป็นรูปปั้นมงคลด้วยก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เราจึงพยายามทดลองที่จะขายออนไลน์ โดยปรับหน้าตาเว็บไซต์ใหม่ให้ใช้ง่ายขึ้น (User Friendly)  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสินค้าของเราเมื่อมาอยู่บนออนไลน์ มันจะขายได้ยากกว่าของถูก แต่ด้วยจุดแข็งที่เรามีคือ เรามีสินค้าที่ไม่เหมือนคนอื่น ในเว็บไซต์มีรูปสินค้าและบอกข้อมูลชัดเจน  ลูกค้าส่วนหนึ่งเขารู้จักเราผ่านช่องทางออฟไลน์อยู่แล้ว โดยอาจเคยมาซื้อของที่โชว์รูมของเรา จึงเกิดความเชื่อใจ คราวนี้อยากได้สินค้าแต่ไม่อยากเดินทางมาให้เสียเวลา ก็มั่นใจที่จะสั่งทางออนไลน์มากขึ้น บางคนดูสินค้าในออนไลน์ แล้วมาปิดการขายที่ออฟไลน์ก็มี วันนี้เราสามารถปิดการขายได้ทางไลน์  ใช้บริการขนส่งเดลิเวอรี่ให้ไปส่งสินค้าให้  พูดได้ว่าเทคโนโลยีช่วยให้เราเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น” เธอเล่า
 



               
     หัวใจของการต่อยอด คือรุ่นหนึ่งให้โอกาส “ลงมือทำ”
               

     พัชรลักษณ์  บอกเราว่า ที่ผ่านมาที่ทายาทอย่างเธอสามารถคิดและทำอะไรใหม่ๆ ให้กับธุรกิจครอบครัว เพราะคนรุ่นหนึ่งค่อนข้างจะเปิดรับ และชอบที่จะให้คิดและทำอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ

      “คุณพ่อท่านชอบให้เราลองทำอะไรใหม่ๆ อยู่แล้ว ท่านบอกว่า อยากทำอะไรก็ทำ ชิลล์ๆ  ทุกวันนี้ท่านยังออกแบบเฟอร์นิเจอร์เองเพื่อไปตกแต่งในร้านของเราในห้าง เพราะด้วยพื้นฐานท่านจะเป็นผู้สร้าง อย่าง เฟอร์นิเจอร์ ตอนแรกๆ เราก็จ้างคนอื่นทำ แต่พอเริ่มมีสาขาเยอะๆ ก็พบว่าทำเองสวยกว่า เร็วกว่า และถูกกว่าด้วย ท่านเลยออกแบบเอง ซึ่งการที่คุณพ่อเปิด ก็ทำให้เราสามารถลองทำอะไรได้เยอะมาก จนธุรกิจมาถึงวันนี้ได้” เธอเล่า


      ในความฝันของ พัชรลักษณ์   เธอแค่อยากเห็นธุรกิจครอบครัว สามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ให้สมกับความตั้งใจที่คนรุ่นหนึ่งสร้างไว้ให้ ซึ่งแม้วันนี้จะมีธุรกิจครอบครัวให้รับผิดชอบ แต่เธอยังได้แบ่งเวลาส่วนตัวไปทำความฝันเล็กๆ ของตัวเองด้วย โดยร่วมกับเพื่อนทำแบรนด์ชุดว่ายน้ำของตัวเองและส่งขายไปต่างประเทศอีกด้วย
               

     และนั่นก็อาจจะสะท้อนถึงการเป็น “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” ของทายาท คิวบิค เจมส์ คนนี้ได้ชัดเจนที่สุดแล้ว
 
 


               
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย