‘MaChillHome’ ที่พักไซส์จิ๋วที่อยากชวนคุณมาชิลล์สไตล์ Zero Waste

TEXT : ยุวดี ศรีภุมมา





Main Idea
 
  • ‘ลูกค้าไม่ได้เลือกเราอย่างเดียว แต่เราเลือกลูกค้าเช่นกัน’ เสียงบอกเล่าของสองหนุ่มสาว ผู้ก่อร่างสร้างที่พักไซส์จิ๋วสไตล์ Zero Waste ด้วยน้ำมือของตนเองจนกลายเป็น MaChillHome ในวันนี้ 
 
  • นี่คือที่พักไซส์จิ๋วที่มีบ้านพักเพียง 2 หลังและเปิดต้อนรับคนที่มีใจอยาก Zero Waste เหมือนกัน เพราะที่นี่มีกฎเหล็กที่คุณต้องรับให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดแอร์เป็นเวลา การไม่เอาขยะพลาสติกเข้ามาในที่พักแต่ถ้านำเข้ามาแล้วต้องจัดการล้างและนำขยะกลับไปด้วย โดยกฎเหล็กต่างๆ ของพวกเขาล้วนแต่มีเหตุผลที่ดีทั้งสิ้น



      “ลูกค้าไม่ได้เลือกเราอย่างเดียว แต่เราเลือกลูกค้าเช่นกัน”
 

     เสียงบอกเล่าของสองหนุ่มสาว ผู้ก่อร่างสร้างที่พักไซส์จิ๋วสไตล์ Zero Waste ด้วยน้ำมือของตนเองจนกลายเป็น MaChillHome หรืออ่านว่า “มาชิว” ที่มาจากคำขึ้นต้นของนามสกุลทั้งคู่ “กิรณา มาลีเลิศ” และ “ทศพร ชิวปรีชา” โดยทั้งคู่เป็นอดีตวิศกรในโรงงานที่มองว่าอาชีพของพวกเขาไม่ได้อยู่ยงคงกระพันอีกต่อไปเมื่อยุคของโรงงานกำลังสั่นคลอนและลดคนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งวงจรของมนุษย์เงินเดือนทำให้อยากเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเอง จนในที่สุดทศพรก็ตัดสินใจลาออกมาก่อนเพื่อสร้างรากฐานของ MaChillHome ให้แข็งแกร่งก่อนที่กิรณาจะตามออกมาเมื่อถึงเวลาที่พร้อม
               




     โดยทศพรเริ่มเปิดฉากเล่าจุดเริ่มต้นก่อนการมาของ MaChillHome ว่าเขาได้พื้นที่ที่ใช่ในจังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของตัวเขา จากนั้นก็ต้องปล่อยพื้นที่ดังกล่าวให้รกร้างถึง 3 ปีเพื่อปรับสภาพดิน จากเดิมที่เคยทำเกษตรเคมีมาก่อนให้พร้อมสำหรับการทำเกษตรอินทรีย์ ตัวทศพรเข้าไปอยู่โดยการตั้งแคมป์ มีเพียงอาคารหนึ่งหลังที่มีแค่เสากับหลังคาและห้องน้ำ 1 ห้องเท่านั้น  
               

      “เริ่มเลยเรามีอาคารที่มีเสาสี่ต้นกับหลังคา มีห้องน้ำหนึ่งห้อง แค่นั้น เราวางแผนไว้แต่แรกเลยว่าจะสร้างให้เป็นห้องครัว เพราะคิดมาแต่แรกว่าจะไม่ทำอาหารในบ้านแน่นอน เนื่องจากกลิ่นอาหารมันคละคลุ้ง พอมันมีแค่นั้น เราก็ค่อยๆ ปรับสภาพมาเรื่อยๆ ช่วงแรกดินตรงนั้นเป็นดินเหนียว ฝนตกทีหนึ่งก็มีแต่รถโฟร์วีลเท่านั้นที่เข้าได้” ทศพรเล่า
               




     หลังจากเวลาผ่านไป ด้วยแรงกายแรงใจของคนทั้งคู่ MaChillHome ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างด้วยบ้านพักน่ารักที่ใกล้ชิดธรรมชาติและอยากจะเชิญชวนทุกคนมาพักผ่อนเหมือนมาชิลล์ที่บ้านเพื่อน ซึ่งจุดเริ่มต้นก่อนเปิดบ้านรับลูกค้าจริงจัง พวกเขาใช้วิธีทดลองด้วย ‘Farm Dinner’ ซึ่งกิรณาเป็นผู้เล่าให้ฟังในจุดนี้ว่าพวกเขาต้องการลองเชิงและทำให้ที่พักของพวกเขาเป็นที่รู้จักก่อนในช่วงแรก
               




     “เราเริ่มจาก Farm Dinner ก่อนเพื่อทำให้คนรู้จักเรา ถ้าหากจะเปิดต้อนรับแขกให้เข้ามาพักเลย เราเองก็รู้สึกว่ายังใหม่มาก โดยเราทำ Soft Opening ด้วยชวนพ่อแม่มา แล้วก็จัดโต๊ะ Dinner ถ่ายภาพ โปรโมตในเฟซบุ๊ก จากนั้นก็มีคนจองมา ซึ่งจุดเด่นคือเราจะเน้นวัตถุดิบที่เป็นออร์แกนิก ถ้าวัตถุดิบไหนที่เราไม่มี ก็จะมีเครือข่าย ซึ่งเป็นพี่คนหนึ่งที่เราเจอด้วยความโชคดีจากตลาดสุขใจ สามพราน แล้วปรากฏว่าเขาอยู่ตรงข้ามบ้านเรานี่เอง จากนั้นเราก็จะแวะไปช่วยงานเขา เขาก็จะให้อาหารเรากลับมาเป็นการตอบแทน แลกเปลี่ยนกันโดยไม่มีเงิน” กิรณาเล่าถึงตัว Farm Dinner
               




     เมื่อทดลองทำ Farm Dinner ไปสักพักก็ถึงเวลาเปิดบ้านต้อนรับลูกค้า มีบ้านพักทั้งหมด 2 หลังถ้วน หลังแรกคือบ้านนก เป็นบ้านปูนธรรมดาแต่มีการตกแต่งอย่างน่ารักในสไตล์มาชิว ส่วนอีกหลังเป็นบ้านดิน ที่ให้คุณได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ส่วนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในที่พักก็เลือกใช้เป็นของรักษ์โลกที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ


     โดยพวกเขามีคอนเซ็ปต์หลักคือ ‘Zero Waste’ ทำอย่างไรก็ตามให้ขยะพลาสติกหรือแม้แต่อาหารนั้นเหลือทิ้งน้อยที่สุด ฉะนั้น พวกเขาจึงไม่รับลูกค้า Walk in โดยเด็ดขาด เพื่อเป็นการบริหารจัดการวัตถุดิบ ให้ลูกค้าได้รับประทานอาหารที่สดใหม่และไม่เหลือทิ้ง แถมยังทำให้พวกเขาสามารถบริการลูกค้าได้อย่างเต็มที่ด้วยกำลังคนแค่ 2 คนเท่านั้น
               




     กิรณาเล่าถึงตัวเซ็ตอาหารของทาง MaChillHome ว่าจะจัดไว้พอดีสำหรับมื้ออาหาร แต่หากใครที่ต้องการสั่งเพิ่มจริงๆ ก็สามารถทำได้ เพียงแค่คุณต้องสัญญาว่าจะรับประทานให้หมดโดยไม่เหลือไว้เป็น Food Waste
               

     “เราจะกะอาหาร 1 มื้อ 1 คน 1 จาน มีสลัดแกล้มน่าจะพอเหมาะแล้ว ถ้าเกิดอยากสั่งเพิ่มจริงๆ ต้องมั่นใจว่ากินหมด เพราะเราไม่อยากให้เหลือทิ้ง ทางเราเองก็จะไม่ได้สั่งวัตถุดิบเยอะๆ มาตุนไว้ แต่เราจะวางแผนล่วงหน้าในการไปเอาวัตถุดิบ ลูกค้าจะได้ทานของสดใหม่เสมอ”
               



     ส่วนทางด้านทศพรได้เสริมต่อถึงเรื่องของการบริหารจัดการที่พักให้เป็น Food Waste ด้วยการใช้กลยุทธ์ ‘500 บาท’ เพื่อจูงใจให้ลูกค้าไม่ทิ้งขยะเอาไว้และจัดการขยะของตัวเอง ซึ่งที่พักจะมีกฎเหล็กให้ลูกค้าอ่านก่อนจอง เพื่อเป็นการคัดกรองลูกค้าในเบื้องต้น เช่น เปิดปิดแอร์เป็นเวลา ปิดไฟก่อนออกจากที่พัก ห้ามนำขนมและอาหารรวมถึงถุงพลาสติกอื่นๆ เข้าที่พัก หากนำเข้ามาจะต้องมีการจัดการขยะด้วยการล้างถุง ตากให้แห้งจากนั้นนำกลับบ้าน ก็จะได้เงินคืน 500 บาท
               




     “เราใช้กลยุทธ์ตัวเงิน ง่ายๆ คือค่าที่พัก 1,500 บาท ค่าดินเนอร์ 399 บาท และเราจะมีค่า Trash Deposit อีก 500 บาท ให้ลูกค้าจ่ายก่อนเลย พอถึงตอนที่ลูกค้า Checkout แล้วไม่มีอะไรทิ้งไว้ เราก็ให้ 500 บาทคืน เป็นการ Win-win ทั้งคู่ ลูกค้าได้เงินคืน ส่วนเราไม่ต้องจัดการขยะที่เขาทิ้งไว้ ถ้าเกิดมีขยะทิ้งไว้ เราจะโทรถามเขาก่อนเลยว่าจะมารับกลับไปไหม ถ้าไม่มา เราขอหัก 500 บาทนี้ไว้นะ แล้วเราก็จะเอาเงิน 500 บาทนี้ไปทำบุญ ลูกค้าบางคนเก็บขยะกลับไปแล้วแต่ไม่รับเงิน 500 บาทก็มี เพราะเขามองว่าราคา 2,000 บาท เขาได้คุ้มแล้ว”





     แม้ว่าการทำที่พักสไตล์มาชิวอาจดูเหมือนสวนกระแส เพราะธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องการให้ลูกค้ามาพักจำนวนมากอีกทั้งยังอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ แต่สำหรับกิรณาและทศพร มีบางอย่างที่สำคัญมากกว่าปริมาณของลูกค้า


     “ตอนแรกกฎเราไม่ได้เยอะเท่านี้ แต่พอทำไปสักพักก็เหนื่อยใจ เพราะบางคนไม่เข้าใจแล้วจะเอาอย่างเดียว แต่พอเรามีกฎเข้ามา มันกลายเป็นการให้และรับที่เสมอกัน เรายอมรับเลยว่าไม่ต้องการเยอะ เราสนใจแค่ว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเรามีความสุขและลูกค้าที่มามีความสุข” กิรณาปิดท้าย
 

     นี่คือเรื่องราวที่พักสุดอินดี้ของอดีตมนุษย์เงินเดือนที่ผันตัวไปใช้ชีวิต Back to basic กลับคืนสู่ธรรมชาติและพวกเขาอยากชวนคุณไปทดลองใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายๆ อยากชวนไปเก็บผักมาทำพิซซ่า นอนเล่นในบ้านดิน ดมกลิ่นธรรมชาติ ฟังเสียงนกร้อง ดูพระอาทิตย์ตกดินและใช้ชีวิตแบบปลอดขยะพลาสติกกันดูสัก 2 วัน 1 คืน แล้วคุณจะรู้ว่าชีวิตของเรานั้นมีความสุขได้ง่ายกว่าที่คิด
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย