แสงชัย ธีรกุลวาณิช เงินหลักหมื่นสู่ธุรกิจหลายร้อยล้านด้วยการขาย “ความจริงใจ” และ “แตกต่าง”

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
 
  • “ไร้ท์ โซลูชั่น” คือธุรกิจที่เกิดจาการรวมตัวของพี่น้องและญาติสนิท 4 คน ที่มีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม โดยใช้เงินเริ่มต้นแค่หลักหมื่นบาท ผ่านมาสิบปีธุรกิจเติบโตเป็นกิจการหลายร้อยล้าน และหวังก้าวไกลสู่การเป็นบริษัทระดับโลกในอนาคต
 
  • สิ่งที่พวกเขาขาย ไม่ใช่ตัวสินค้าหรือบริการ แต่กำลังขายในสิ่งที่เรียกว่า “ความจริงใจ” และ “ความแตกต่าง” สองสิ่งนี้สร้างโอกาสให้กับธุรกิจได้อย่างไร ไปติดตามกัน!



     เมื่อกว่าสิบปีก่อน กลุ่มพี่น้องและญาติสนิท 4 คน ที่มีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม รวมตัวกันก่อตั้งบริษัทที่ชื่อ ไร้ท์ โซลูชั่น จำกัด ขึ้น โดยใช้เงินเริ่มต้นแค่หลักหมื่นบาท
               

     วันนี้ธุรกิจเล็กๆ เติบโตเป็นกิจการหลายร้อยล้าน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และหวังก้าวไกลสู่การเป็นบริษัทระดับโลกในอนาคต
               

     พวกเขาทำได้อย่างไร? ไปหาคำตอบกัน
               




     “แสงชัย ธีรกุลวาณิช” คือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท ไร้ท์ โซลูชั่น จำกัด เขารวมตัวกับกลุ่มพี่น้องทำธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายสารกรองน้ำให้กับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม  โดยมุ่งไปที่ ถ่านกัมมันต์ หรือ Activated Carbon ที่ผลิตจากกะลามะพร้าวเพราะขึ้นชื่อว่ามีประสิทธิภาพดีและเป็นที่นิยม
                 

     แน่นอนว่าพวกเขาไม่ใช่รายแรกที่เข้ามาในธุรกิจนี้ แต่จะทำอย่างไรที่จะทำตลาดได้และฉีกตัวเองออกจากผู้เล่นเก่าในสนาม คำตอบที่เด็กสายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมอย่างพวกเขาคิดได้ในตอนนั้นก็คือ “ต้องแตกต่าง”





     คนอื่นขายสินค้า พวกเขามีสินค้า แต่ขายการเป็น “ที่ปรึกษา” คนอื่นมีสินค้าและพัฒนาตัวสินค้าให้ดีขึ้น แต่พวกเขาต่อยอดไป “รับออกแบบระบบ” เพื่อให้ใช้สินค้านั้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยต่อยอดมาทำบริการออกแบบระบบบำบัดน้ำและอากาศให้โรงงานต่างๆ แก้ปัญหาให้ภาคอุตสาหกรรม เพราะเชื่อว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมสำคัญต่อการทำธุรกิจ


     คนอื่นให้ความสำคัญกับกำไร แต่พวกเขาให้ความสำคัญกับ “ความจริงใจ” ฉะนั้นหลายครั้งสิ่งที่ช่วยเหลือลูกค้าอาจไม่ส่งผลต่อธุรกิจ ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ทำ หรืออาจทำให้ต้องส่งต่อลูกค้าไปให้กับคนอื่น แต่ถ้าได้ช่วยด้วยความจริงใจ พวกเขาก็เลือกที่จะทำ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้น





     ทำธุรกิจทุกคนก็มุ่งกับการขาย แต่สไตล์ของ ไร้ท์ โซลูชั่น คือ “การขายแบบไม่ขาย” แต่ใช้ความเป็นเพื่อนและที่ปรึกษาที่ดีที่สุดมัดใจลูกค้า


     คนอื่นทำธุรกิจด้วยฝีมือ แต่พวกเขาทำธุรกิจ “ด้วยหัวใจ” โดยเลือกที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา อยากได้ลูกค้าหรือคู่ค้าแบบไหนก็ปฏิบัติตัวแบบนั้น เพื่อดึงดูดคนที่ใช่ให้เข้าหา


     คนอื่นการปิดการขายคือที่สุด แต่พวกเขา “การรักษาลูกค้า” ให้อยู่กับบริษัทตลอดไปหรือนานที่สุด เป็นสิ่งที่มีคุณค่าเกินกว่าอะไรทั้งนั้น


     คนอื่นมองคู่แข่งเป็นศัตรู แต่พวกเขา “คู่แข่งคือเพื่อนร่วมธุรกิจ” ที่คอยกระตุ้นให้เราตื่นตัวและอยากพัฒนาให้ดีขึ้นอยู่เสมอ


     คนอื่นสร้างธุรกิจ แต่พวกเขาเลือก “สร้างโนว์ฮาว” แม้แต่ในเรื่องของการบริการ เพื่อให้ใช้คนน้อยลง มีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น


     ค่าแรงเพิ่ม คนอื่นพยายามลดคนเพื่อลดต้นทุน แต่พวกเขาเลือกใช้เทคโนโลยีมาช่วยงานคน ให้คนทำงานน้อยลง เพื่อมีเวลาไปฝึกทักษะด้านอื่นให้เก่งขึ้น พวกเขาไม่ได้สร้างองค์กรธุรกิจ แต่กำลังสร้าง “องค์กรแห่งการเรียนรู้”


     พนักงานที่อื่นต่างคนต่างทำหน้าที่ แต่พนักงานที่นี่ทุกคนทำงานด้วยกัน เล่นเพลงคีย์เดียวกัน ขณะที่แต่ละคนถูกฝึกให้มีทักษะที่หลากหลาย  ไม่ต้องเชี่ยวชาญแค่ด้านใดด้านหนึ่ง




     คนอื่นซื้อนวัตกรรมเข้ามาใช้ แต่ที่นี่พวกเขาให้พนักงานได้มาคิดค้นนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาของตัวเอง มีการประกวดแข่งขัน มอบรางวัล ได้ทำงานร่วมกับเพื่อนต่างแผนกอยู่เสมอ


     คนอื่นเลือกทำสิ่งที่แตกต่าง แต่พวกเขาพยายามที่จะสร้างความแตกต่างมากขึ้นไปอีก โดยใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มี ไปเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ภายนอก ร่วมมือกับนักวิชาการ นำงานวิจัยบนหิ้งมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์


     คนอื่นทำโรงงาน แต่สิ่งที่พวกเขากำลังทำคือ โรงงานดิจิทัล (Digital Factory) นำเอาเทคโนโลยี IoT เข้ามาใช้บูรณาการในโรงงาน ใช้คนน้อยลง แล้วเอาคนไปอัพสกิลให้เก่งขึ้น เพื่อไปทำเรื่องที่อื่นๆ


      คนอื่นสร้างพนักงาน แต่พวกเขาเลือกสร้างความเป็นผู้ประกอบการให้กับพนักงาน ให้ทำงานด้วยหัวใจของเจ้าของ


     คนอื่นเน้นยอดขายที่โตขึ้น แต่สำหรับพวกเขา ยอดขายจะลดลงบ้างก็ได้ ถ้ายังมี “กำไร” อยู่  


      คนอื่นอาจมองแค่ตลาดในประเทศ แต่พวกเขาฝันที่จะเป็นบริษัทระดับโลก อยากผลิตสินค้าด้วยเทคโนโลยีของคนไทย ไปขายต่างชาติดูบ้าง ซึ่งพวกเขาไม่ใช่แค่ฝัน แต่ทุกอย่างที่ทำอยู่ในวันนี้กำลังปูทางไปสู่จุดนั้น


     แล้วทำแบบนี้จะได้อะไร?


     ทำให้กิจการเล็กๆ ที่เริ่มจากคน 4 คน และเงินหลักหมื่นบาท เติบโตมามียอดขายในระดับหลายร้อยล้านบาท มีพนักงานในกลุ่มร้อยราย ที่สำคัญลูกค้ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ยังเป็นลูกค้าเก่าที่อยู่กับพวกเขามากว่าสิบปีแล้ว


     ทุกการกระทำมีความหมายเสมอ และนี่ก็คือผลลัพธ์จากการขาย “ความจริงใจ” และ “ความแตกต่าง” ของพวกเขาที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วในวันนี้





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย