Main Idea
- วันที่ทุกคนกำลังตื่นตัวกับเรื่องรักษ์โลก งดใช้ถุงพลาสติก มีผู้ประกอบการครอบครัวหนึ่งกำลังเจอกับความท้าทายครั้งสำคัญ เมื่อสินค้าที่เป็นดั่งเส้นเลือดหลักถูกมองเป็นผู้ร้าย อนาคตธุรกิจครอบครัวที่อยู่มากว่า 2 ทศวรรษจึงถึงคราว “อวสาน”
- เมื่อหมดหนทางสู้ พวกเขาเลือกปรับธุรกิจให้เล็กลง ปิดการผลิตให้เหลือเพียงครึ่งเดียว อยู่ตามสภาพ รักษาลูกค้าเก่าเท่าที่มี ไม่ขยับขยาย ก้มหน้ายอมรับชะตากรรม ว่าวันหนึ่งธุรกิจที่สร้างมาอาจถูกเลือนหาย
ท่ามกลางกระแสรักษ์โลก ที่ปลุกความตื่นตัวของผู้คนในสังคมไทยตลอดหลายวันที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการครอบครัวหนึ่งกำลังเจอกับความท้าทายครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ “ถุงพลาสติก” สินค้าที่เป็นดั่งเส้นเลือดของพวกเขาถูกมองเป็นผู้ร้าย และกำลังฉุดอนาคตธุรกิจกว่า 2 ทศวรรษของครอบครัวให้ถึงคราว “อวสาน”
โรงงานถุงพลาสติกขนาดกลางย่านบางบอน มีเครื่องจักรอยู่ประมาณ 50 ตัว ครึ่งหนึ่งในนั้นถูกปิดใช้งาน ขณะที่คนงานซึ่งเคยมีประมาณร้อยคน วันนี้เหลือเพียงแค่หลักสิบ ลูกค้ารายใหญ่ที่เคยมีอยู่กว่า 10 เจ้า วันนี้เหลือต่อลมหายใจอยู่แค่ 2 เจ้า ตลาดหดเล็กลง โรงงานที่เคยคึกคักกลับถูกแทนที่ด้วยความเงียบสงัด ช่างแตกต่างจากช่วงไม่กี่ปีก่อนนัก
หนึ่งในคนที่รับรู้ถึงความหนักหน่วงในสถานการณ์นี้ดีคือ “ศีร์กุลนา ตันบุญเจริญ” ทายาทรุ่นสองโรงงานถุงพลาสติก ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวร่วมกับพี่น้องตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย ธุรกิจที่คนรุ่นพ่อริเริ่ม เติบโตเป็นกิจการร้อยล้านในรุ่นลูก ทว่าวันนี้สัญญาณชีพความคงอยู่ของพวกเขากำลังจะอ่อนแรงลงทุกที
ชะตากรรมโรงงานถุงพลาสติก เมื่อวันที่ธุรกิจถูกมองเป็น “ผู้ร้าย”
ศีร์กุลนา เล่าให้เราฟังว่า โรงงานของเธอ เป็นผู้ผลิตถุงพลาสติก ประเภทถุงหูหิ้ว ถุงร้อน และถุงใสโปร่ง ตราเพชรและปลาทอง เคยทำตลาดอยู่ทั่วประเทศ ปัจจุบันตลาดหลักอยู่ทางภาคอีสาน เป็นสินค้าที่คุ้นกันดีในกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า
โดยธุรกิจเริ่มต้นในยุคของพ่อ เมื่อประมาณ 25 ปีก่อน ภายหลังลูกๆ ได้เข้ามาสานต่อและช่วยกันพัฒนาจนกิจการขยายใหญ่ขึ้น กลายเป็นโรงงานขนาดกลางอย่างในปัจจุบัน
ในวันที่โรงงานยังทำงานได้เต็มกำลังการผลิต พวกเขาสามารถผลิตถุงได้ถึงประมาณ 10 ตันต่อวัน ด้วยศักยภาพของเครื่องจักรที่มีอยู่นับ 50 เครื่อง กับคนงานอีกร้อยคน
ทว่าตลอด 4 ปี ที่ผ่านมา ธุรกิจกลับต้องเจอความท้าทายรอบด้าน ที่เคยประคองตัวได้ และมีช่วงรุ่งเรือง ก็กลายเป็นธุรกิจขาลง ทั้งจากปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง สภาพการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงขึ้น มีการแข่งตัดราคาเป็นปกติวิสัย บวกปัญหาการปรับขึ้นค่าแรง กฎหมายการจ้างงานแรงงานต่างด้าวที่เข้มข้นขึ้น ซ้ำเติมด้วยความผันผวนของราคาเม็ดพลาสติกที่ยากต่อการรับมือ ตลอดจนต้นทุนด้านต่างๆ ทั้งค่าไฟ ค่าบำรุงรักษาเครื่องจักร ฯลฯ ที่ต้องแบกรับในแต่ละเดือน ทำให้ธุรกิจที่เคยคึกคักค่อยๆ หดตัวลีบเล็กลง
สิ่งที่เจอมาว่าหนักแล้ว ชะตากรรมที่กำลังเล่นงานพวกเขาในปีนี้ หนักหน่วงยิ่งกว่า เมื่อรัฐบาลมีนโยบายงดใช้ถุงพลาสติก ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา ขณะที่ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ต่างก็ขานรับทันควันด้วยการงดแจกถุง ผู้คนเริ่มถกเถียงกันถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม นั่นเองที่ทำให้โรงงานถุงพลาสติกอย่างพวกเขาได้มาตระหนักถึงความอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวอีกครั้ง
“เมื่อก่อนการทำถุงพลาสติก เราพอจะรู้ว่าเมื่อไรจะขายดีขายไม่ดี ช่วงไหนที่จะซื้อเม็ดพลาสติกมาตุนเพื่อทำกำไรได้ แต่วันนี้บอกตรงๆ ว่า เรากะเก็งอะไรไม่ได้เลย ช่วงปลายปีที่แล้วที่ยังไม่เข้าวันที่ 1 มกราคม เราไม่รู้เลยว่าถุงพลาสติกจะยังขายได้ต่อไปหรือเปล่า ตลาดจะไปได้ถึงไหน เพราะมันมีข่าวไปถึงลูกค้าปลายทางของเราซึ่งเป็นกลุ่มตลาดล่างด้วยว่า กฎหมายไม่ให้ใช้ถุงพลาสติกอีกแล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริงเขาห้ามแค่ในห้าง ซึ่งกระทบกับธุรกิจของเราไปด้วย มาวันนี้โรงงานใหญ่ที่ทำถุงให้ห้าง ก็หันกลับมาเป่าถุงตลาดแข่งกับเรา เพราะเขาขายเข้าห้างไม่ได้แล้ว เราก็เหนื่อยขึ้นอีก ทุกวันนี้ก็แค่ประคองตัว บีบตัวเองให้เล็กลง ทำเท่าที่มี ไม่คิดจะทำอะไรมากไปกว่านี้แล้ว”
การปรับตัวที่ไร้ความหวัง
ถามว่าธุรกิจของพวกเขาเคยคิดจะทำอะไรมาก่อนหน้านี้ไหม ศีร์กุลนา ยอมรับว่า เธอเห็นสัญญาณนี้มาตั้งแต่ประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว เมื่อผู้คนเริ่มตระหนักถึงการรักษ์โลก และมีความพยายามของหลายๆ หน่วยงานที่จะดูแลโลกและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เธอเองแม้จะขายถุงพลาสติก แต่ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่ต่างกัน จึงพยายามปรับตัวโดยทดลองทำพวกถุงไบโอ หรือถุงที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพ ย่อยสลายได้ แต่พบว่าต้นทุนสูงมากกว่าเดิมเท่าตัว แถมยังมีน้ำหนักต่อใบสูง ทำให้ส่งผลต่อการขาย และถุงประเภทนี้ยังมีระยะเวลาในการเก็บรักษาน้อย เพราะย่อยสลายได้ด้วยตัวเอง และตลาดก็ยังไม่นิยมมากเท่าไรอีกด้วย
ครั้นจะเปลี่ยนไปทำพลาสติกอย่างอื่นก็ไม่ง่าย เพราะเครื่องจักรนับ 50 ตัวในโรงงาน เป็นเครื่องเป่าถุงพลาสติก ถ้าไม่ให้ทำถุงแล้วจะให้พวกเขาไปทำอะไร จะขายเครื่องจักรทิ้งไป แล้วใครจะซื้อเพราะโลกวันนี้แทบไม่มีพื้นที่ให้ถุงพลาสติกได้เฉิดฉายอีกต่อไปแล้ว
“ถ้าเราทำโรงงานฉีดพลาสติก ก็คงหาทางไปขึ้นรูปอย่างอื่นได้ แต่เครื่องเป่ามันเป็นเครื่องเฉพาะ ทำได้แค่เป่าถุง ถ้าวันนี้ทำถุงพลาสติกไม่ได้ ก็ไปทำอย่างอื่นไม่ได้แล้ว เครื่องจักรเรามีอยู่ประมาณ 50 เครื่อง เครื่องละประมาณ 5 แสน แต่ตอนนี้มันไม่มีค่าแล้ว ถ้าเราไม่ทำโรงงานของทุกอย่างในโรงงานก็คือเศษเหล็กเท่านั้นเอง” ศีร์กุลนา บอก
ศีร์กุลนา เล่าว่า ถ้าวันนี้โรงงานต้องเจ๊งด้วยสภาพเศรษฐกิจ โดยไม่มีเรื่องของการอนุรักษ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อถึงจุดที่รู้ว่าไปต่อไม่ไหว พวกเธอก็จะยังเบรกตัวเองได้ทัน เพราะวันนี้โรงงานไม่ได้มีหนี้สินอะไร ก็แค่ขายธุรกิจทิ้งไป ถ้าถุงพลาสติกยังมีอนาคต ก็สามารถขายเครื่องออกไปได้ ขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ ขายของในโรงงานทั้งหมด ก็ยังพอมีเงินเหลือใช้สบายๆ แต่ว่า ณ วันนี้ แม้กิจการครอบครัวจะไม่มีหนี้ก็จริง แต่คนที่จะมาซื้อเครื่องจักรก็ไม่มีเช่นเดียวกัน เพราะไม่มีใครจะมาลงทุนทำถุงพลาสติกที่ไม่มีอนาคตอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นสินทรัพย์ที่สั่งสมมา ก็แค่เศษเหล็กไร้ค่าเท่านั้น
ปรับธุรกิจให้เล็ก อยู่ตามกำลัง รอวันถูกเลือนหาย
ก่อนหน้านี้ที่ยังอยู่ระหว่างการพยายามปรับตัว เธอเล่าว่าครอบครัวเริ่มปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี จะไปดูงานที่จีน จะขึ้นรูปพลาสติก หรือเบนเข็มไปทำอย่างอื่น แต่สุดท้ายก็ได้คำตอบว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในตอนนี้ การอยู่นิ่งๆ จะเจ็บตัวน้อยกว่า
จึงเริ่มบีบโรงงานให้เล็กลง โดยจากคนงาน 100 คน ก็ทยอยลดลงมาเหลือที่ 80 คน ปัจจุบันอยู่ที่ 70 คน ใครออกก็ไม่รับเพิ่ม จากเครื่องจักร 50 เครื่อง ปัจจุบันลดการผลิตเหลือเพียงครึ่งเดียว ด้านตลาดก็ทำเท่าที่มี รักษาลูกค้าเดิมไว้ โดยไม่ไปวิ่งหาลูกค้าเพิ่ม เธอบอกว่า ต่อให้ขยาย ไปทำการตลาดเชิงรุกมากขึ้น ก็เท่ากับไปตีโรงงานอื่นเท่านั้นเอง เพราะวันนี้ชิ้นเค้กเหลือเล็กลง และทุกคนต่างก็ต้องดิ้นรนเพื่ออยู่รอด สุดท้ายต้องไปแข่งขันตัดราคากัน ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีทางสู้รายใหญ่ ที่หนีตายจากตลาดเดิม เข้ามาเล่นในตลาดเดียวกับพวกเขาแน่นอน
“วันนี้สิ่งที่ทุกคนเคยคิดว่ามั่นคง มันไม่มั่นคงอีกต่อไปแล้ว รายใหญ่ที่เคยทำให้กับห้าง ก็มาเล่นในตลาดเรา เพราะเครื่องของเขาก็เอาไปทำอะไรอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเป่าถุงเช่นกัน คู่แข่งของเราก็เยอะขึ้น แถมยังเป็นเจ้าใหญ่ที่จะมาเล่นราคาได้อีก แต่เขาต้องทำเพราะหนีตาย วันนี้ทุกคนต่างหนีตาย และไม่ใช่แค่โรงงานถุงพลาสติกเท่านั้นที่ตาย แต่มันตายกันเป็นทอดๆ โรงหลอมตาย โรงพิมพ์ถุงตาย ทุกคนต่างหนีตาย โรงงานเล็กๆ ที่สายป่านสั้นเขาตายไปแล้ว โดนเจ้าใหญ่กินตลาดหมดแล้ว เราเองทุกวันนี้ที่ยังอยู่ได้ เพราะลูกค้าเก่าเท่านั้นเอง ลูกค้าเก่าเจ้าใหญ่ๆ แค่ไม่กี่เจ้า แต่อันตรายตรงที่ว่า ถ้าเขาไปเมื่อไรเราก็ตายเมื่อนั้น ถ้าลูกค้าเราตาย เราตายเหมือนกัน”
เธอเล่าปัญหาที่ดูเหมือนจะไม่มีทางออก เพราะถึงวันนี้ก็ยังไม่มีนโยบายหรือมาตรการใดๆ ออกมาช่วยเหลือหรือชี้แนะทางรอดให้กับผู้ประกอบการถุง สิ่งที่ผู้ประกอบการอย่างเธอทำได้จึงเป็นเพียงการ “ยอมรับชะตากรรม” ในสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้เท่านั้น
อวสานโรงงานถุงพลาสติก โจทย์สาหัสของทายาทรุ่น 2
การที่ธุรกิจหนึ่งต้องปิดกิจการลงอาจเป็นเรื่องปกติเหมือนที่หลายคนพูดกัน มันเป็นเรื่องธรรมดา ที่ SME ทุกคนมีสิทธิ์พบเจอได้ เหมือนที่ศีร์กุลนา ย้ำกับเราตลอดการสนทนาว่า ไม่เคยโทษว่าเป็นความผิดของใคร และยังรู้สึกดีด้วยซ้ำที่หากธุรกิจจะต้องปิดตัวไปเพราะเป็นเรื่องของการอนุรักษ์ ไม่ใช่ปิดเพราะล้มละลาย หรือการบริหารที่ผิดพลาดหรือล้มเหลว
“ถ้าเป็นช่วงก่อนเรายังสู้ต่อ เพราะว่ามันเห็นอนาคต แต่ตอนนี้มันรู้อยู่แล้วว่าโรงงานจะต้องปิดตัวลงในไม่ช้า เพราะฉะนั้นจะสู้ไปทำไม มันเหมือนคนรู้เวลาตาย ฉะนั้นการที่เรารู้เวลาตาย เราจะตายแบบขมขื่น หรือใช้ช่วงเวลาเหล่านี้ให้มันซอฟต์ที่สุด เรายังมีเงินเหลือ ป๊ายังสบายอยู่ มีเงินก้อนให้ป๊า เพื่อที่เวลาท่านต้องเข้าโรงพยาบาลยังได้รักษาในโรงพยาบาลดีๆ ส่วนเราพี่น้องยังมีเงินที่พอจะไปทำธุรกิจอย่างอื่นที่เล็กๆ เพราะเราไม่ได้สร้างให้ใครแล้ว ธุรกิจนี้ป๊าสร้างให้ลูก แต่วันนี้เราคงต้องให้ลูกเป็นอย่างอื่น ต้องลงทุนเรื่องการเรียนให้ลูกเพื่อเป็นอนาคตแทน มากกว่าธุรกิจ เพราะเทรนด์มันเปลี่ยนไปแล้ว”
แต่สิ่งเดียวที่ยังหน่วงในใจในฐานะทายาทธุรกิจ คือ การต้องปล่อยให้ธุรกิจที่พ่อสร้าง มรดกหนึ่งเดียวของครอบครัว ต้องล่มสลายไปในยุคของพวกเธอ
“วันที่รู้ว่าต้องปิดเครื่องจักรก็นอนคิดทั้งคืน เราจะทำอะไรกันดีที่จะดูแลป๊าได้ ธุรกิจนี้ป๊าสร้างขึ้นมา ห่วงแต่ความรู้สึกป๊า รู้สึกแค่ว่า...ป๊ายังไม่ได้ใช้เงินของเขาเลย”
น้ำเสียงขาดหายไปในตอนท้าย แทนการปิดบทสนทนาที่แสนหนักหน่วง และจุกอก กระทบหัวใจของทั้งคนฟังและคนเล่าในวันนี้
นี่คงไม่ใช่ SME รายเดียวที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีธุรกิจครอบครัวอีกจำนวนมาก ที่ต้องรับมือกับพายุลูกใหญ่เช่นนี้ สำหรับพวกเขาหากสู้ต่อไม่ไหว ก็แค่ยอมรับชะตากรรม แต่เราจะปล่อยให้ผู้ประกอบการที่เคยสู้ เป็นกำลังสำคัญของประเทศ ต้องทยอยล้มหายตายจากไปแบบนี้จริงๆ หรือ?
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี