“น้ำพริกน้ำย้อย” ธุรกิจจากความผิดพลาดของทายาทนิธิฟู้ดส์

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : กิจจา อภิชนรจเรข





Main Idea
 
 
  • หลายธุรกิจเกิดจากความตั้งใจที่อยากสร้างสรรค์อะไรบางอย่างออกมาในตลาด แต่ก็มีธุรกิจอีกจำนวนไม่น้อยที่เกิดจาก “ความผิดพลาด”
 
  • เช่นเดียวกับ”น้ำพริกน้ำย้อย” หนึ่งในผลิตภัณฑ์ของบริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตเครื่องเทศอุตสาหกรรม ที่เกิดจากการทำสินค้าให้ลูกค้าผิดสเปค ต้องสูญเสียกันไปนับล้านบาท จนต้องหาวิธีดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังทำเงินสู่ธุรกิจได้



     ทุกคนมีโอกาสผิดพลาด แต่เชื่อไหมว่าแม้แต่ “ความผิดพลาด” ก็อาจเกิดเป็นโอกาสธุรกิจได้!
               

       เช่นเดียวกับที่มาของแบรนด์ “ย้อย” น้ำพริกน้ำย้อยสูตรเมืองแพร่ ผลิตภัณฑ์น้องใหม่ของนิธิฟู้ดส์ ผู้ผลิตเครื่องเทศอุตสาหกรรมที่หลายคนคุ้นชื่อดี     
               




       เบื้องหลังของไอเดีย มาจาก “สมิต ทวีเลิศนิธิ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ทายาทรุ่นสองที่เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว เขาเป็นอีกหนึ่งนักคิดนักพัฒนา ที่มักจะหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจครอบครัวอยู่เสมอ แม้แต่ขณะที่เกิดเหตุการณ์ผิดพลาดครั้งใหญ่ ที่สร้างความเสียหายให้ธุรกิจอยู่มาน้อย
               

        เริ่มจากการที่โรงงานนิธิฟู้ดส์  ได้เร่งผลิตหอมทอดกระเทียมทอดเพื่อส่งให้กับลูกค้าที่อเมริกา โดยทอดกันโครมๆ เพราะหอมแดงต้องแข่งกับฤดูกาล หากทอดช้าไปหอมแดงจะหมดจนไม่มีของส่ง ทุกคนเลยต้องทำงานอยู่บนความรีบเร่ง เพื่อผลิตให้ได้ตามเป้า
               

         โจทย์ของการทอดคือห้ามทอดไม่สุก เพราะราจะขึ้น ฉะนั้นหนทางป้องกันคือทอดให้สุกไว้ก่อน กรอบหน่อยแต่ยังพอทำอะไรต่อได้ ปรากฏการเข้าใกล้คำว่าสุกมากไปนิด ทำให้สีของหอมกับกระเทียมเข้มเกินไปจนลูกค้าตกอกตกใจ แม้จะยังกินได้แต่เข้มเกินสเปค ถามว่าทำเกินสเปคไปเท่าไร เบาะๆ เบาๆ แค่ 12 ตัน คิดเป็นค่าเสียหายที่กว่า 2 ล้านบาท!
               





     ถ้าเป็นคนอื่นแก้ปัญหาอาจตัดขายให้ลูกค้าในราคาถูกๆ ไป แต่กับสมิต เขาตัดสินใจคืนเงินมัดจำลูกค้า และรับสินค้าทั้งหมดมาค้างเติ่งอยู่ในโรงงาน เขาบอกว่า ชื่อเสียงของนิธิฟู้ดส์มันสำคัญมากกว่าแค่เงินมัดจำ สิ่งที่เขาต้องทำ ก็คือหาวิธีแก้ไขเพื่อผ่านเหตการณ์นี้ไปให้ได้
               

     เขาตัดสินใจผลิตสินค้าล็อตใหม่ส่งให้กับลูกค้า เสร็จแล้วก็มานับศพทหาร พบว่า มีหอมแดงทอดสีเข้มอยู่ 12 ตัน กองอยู่ในโรงงาน ซึ่งขายทิ้งก็ไม่ได้ เพราะไม่มีใครเอา จะขายถูกก็ไม่กล้าเพราะเสียดาย เลยคิดจะไปขายให้โรงงานทำน้ำพริกเผา พอลูกค้าถามกลับมาว่ามีของเท่าไร ก็บอกไป 12 ตัน เลยได้คำตอบกลับมาว่า ถ้ามีเยอะขนาดนั้นทำไมไม่ทำน้ำพริกขายเองเสียเลยล่ะ
               

     สมิตกลับมาปรึกษากับทีม R&D ว่ามีน้ำพริกอะไรบ้างที่ใช้หอมแดงเยอะๆ  โดยที่สีเข้มก็ไม่เป็นปัญหา สุดท้ายเลยมาลงตัวที่น้ำพริกน้ำย้อย ซึ่งเป็นน้ำพริกขึ้นชื่อของจังหวัดแพร่  โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า “ย้อย” เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและนึกถึงชนิดของน้ำพริกได้แจ่มชัด ซึ่งปัจจุบันสามารถหาทานได้แล้วในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น
               





     นี่เป็นตัวอย่างของคำว่า Fail Forward หรือการล้มไปข้างหน้า ที่อาจเริ่มต้นจากความไม่ตั้งใจ แต่สิ่งที่ได้กลับมาไม่เพียงการแก้ปัญหาที่อยู่ตรงหน้าได้ แต่ทว่ายังก่อเกิดเป็นโอกาสธุรกิจใหม่ ซึ่งสร้างรายได้อย่างงดงามให้กับพวกเขาอยู่ในวันนี้
               

     ความผิดพลาดอาจไม่ใช่คำที่สวยหรู หรือใครอยากพบเจออยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อต้องเจอกับความผิดพลาด ถ้ารู้จักพลิกมุมมอง รับมือกับปัญหาด้วยสติ คุณก็อาจสร้างสรรค์ธุรกิจดีๆ ขึ้นมาได้ เหมือนที่แบรนด์ย้อยพิสูจน์ให้เห็นแล้วในวันนี้
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย