SEEDA ชาดาวอินคา ปรับลุค Cool Cool ตอบโจทย์ความ “ใช่” ผู้บริโภคยุคใหม่

Text : เจษฎา      
 
 

 
Main Idea
 
  • ถ้ายังทำอะไรแบบเดิมๆ ไม่คิดพัฒนาตัวเอง วันหนึ่งก็คงเลือนหายไปจากตลาด แต่ถ้ารู้จักพัฒนาต่อยอดจากสินค้าธรรมดาๆ ก็อาจกลายเป็นอย่างแบรนด์ SEEDA (สีดา) เครื่องดื่มสมุนไพรชาดาวอินคา ที่ปรับลุคตัวเองให้สดใหม่ น่าสนใจ จนสร้างกำไรเพิ่มขึ้นได้เกินเท่าตัว
 
  • พวกเขาใช้กลยุทธ์สร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้โดดเด่น ปรับจูนการตลาดให้ใช่ให้โดน และต่อยอดช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ สู่โลกออนไลน์ จนกลายเป็นแบรนด์ที่ใช่ของผู้บริโภคยุคนี้
 
 
               
     จากผลิตภัณฑ์ชาดาวอินคา แบรนด์ไร่ครูชื่น ของ ปัทมา  สีดาวงษ์ ที่เน้นขายผ่านช่องทางการจำหน่ายออฟไลน์อย่างงานแสดงสินค้าเป็นหลัก พัฒนาสู่เครื่องดื่มสมุนไพรดาวอินคา แบรนด์ SEEDA (สีดา) ซึ่งปรับลุคผลิตภัณฑ์เดิมให้มีความใหม่ น่าสนใจ และขยายช่องทางการจำหน่ายจนสร้างกำไรเพิ่มขึ้นได้มากกว่าเดิมเกินเท่าตัว เขามีเคล็ดลับหรือแนวทางในการชูจุดเด่นและสร้างจุดขายอย่างไรให้ลูกค้าต้องบอกว่า “ใช่เลย” มาพบคำตอบเหล่านี้โดยเริ่มต้นรู้จักผลิตภัณฑ์ชาดาวอินคากันดีกว่า
               



     เดิมที ผลิตภัณฑ์ชาดาวอินคา ผลิตจากใบชาดาวอินคาที่นำไปผ่านกระบวนการผลิต ทำความสะอาด ตากให้แห้ง คั่วอบด้วยความร้อน ก่อนจะนำมาบรรจุในซองพลาสติกเพื่อจำหน่าย เรื่องคุณประโยชน์นั้นมีมากมาย แต่สิ่งที่กลุ่มเป้าหมายมีความกังวลกันก็คือหากซื้อผลิตภัณฑ์ไปชงดื่มแบบชาแล้วจะพบ สารไซยาไนด์ จากดาวอินคาที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่ดีต่อร่างกายและสุขภาพหรือเปล่า ความสงสัยนี้เองที่ส่งผลกระทบเกี่ยวเนื่องถึงช่องทางการจำหน่าย และยอดขายไปพร้อมๆ กัน
               

     แนวทางการแก้ไขของปัทมา ก็คือ สร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ก่อนเป็นอันดับแรก ต่อด้วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม ปรับจูนแนวคิดผลิตภัณฑ์กับกลุ่มเป้าหมายด้วยการตลาด และปิดท้ายด้วยการขยายช่องทางการจำหน่าย ซึ่งทุกอย่างทำอย่างเป็นขั้นตอนจนสามารถตอบโจทย์ความ “ใช่” ให้กับกลุ่มเป้าหมายยุคใหม่ ใน 4 เรื่อง นั่นคือ
 
     
      

     1. สร้างความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์

                 

     โดยผู้บริโภคและกลุ่มเป้าหมายในยุคนี้ มีความต้องการในเรื่องของความสะอาด และความปลอดภัยสูงมาก ปัญหาเดียวที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายคาใจกับผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องสารไซยาไนด์ ปัทมาจึงส่งผลิตภัณฑ์ (ที่ชงด้วยน้ำร้อนแล้ว) ไปตรวจหาสารไซยาไนด์กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จนได้รับรายงานผลการทดสอบว่า “ไม่พบสารไซยาไนด์” ซึ่งสามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และแบรนด์ รวมถึงสามารถนำไปประชาสัมพันธ์บนโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างจุดขายได้อีกด้วย
 
           



     2. พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้โดดเด่น

               

     สำหรับบรรจุภัณฑ์เก่าจะเป็นถุงชงชาซีลความร้อนด้วยถุงพลาสติกใส และบรรจุ 20 ซองภายในถุงซิปล็อก แต่ถูกแทนที่ด้วยบรรจุภัณฑ์ใหม่แบบกล่องขนาดเล็กสีขาวลุค Clean and Clear มีความเป็นธรรมชาติ และดูโดดเด่นแต่ไกล พร้อมกันนั้นบนกล่องบรรจุภัณฑ์ยังมีรายละเอียดจุดขายที่น่าสนใจมากมาย ตั้งแต่คุณประโยชน์ วิธีการชง วิธีการเก็บรักษา เรียกได้ว่าใครหยิบขึ้นมาดูก็ต้องอยากได้กลับบ้านไปชงดื่มอย่างแน่นอน
      

      

     3. ปรับจูนการตลาด

               

     ทุกวันนี้เราจะพบว่าบนซองผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะมีรายละเอียดบอกว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ รับประทานคู่กับอะไรได้บ้าง  เช่น มันฝรั่งแบบแผ่นทอดรับประทานคู่กับแยมผลไม้หรือทูน่ามายองเนส หรือโอริโอ้ที่เคยบอกว่าให้ลองบิด ชิมครีม แล้วจุ่มนม หรือพวกคอร์นเฟล็กที่อธิบายตัวเองว่าเหมาะสมกับการรับประทานคู่กับนมหรือโยเกิร์ต ซึ่งตัวชาดาวอินคาแบรนด์สีดา ก็ใช้การตลาดแบบเดียวกันนี้ นอกจากนั้นยังเพิ่มดีกรีความน่าสนใจเข้าไปอีกนิดด้วยการบอกว่า ควรซื้อในช่วงเทศกาลไหนเพื่อส่งมอบความสุขให้กับใครบ้าง รวมถึงพัฒนาบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบ Gift Set สังฆทานเพื่อให้เหมาะสมต่อการนำไปทำบุญที่วัด เป็นต้น การตลาดจากซื้อไปชงดื่มเองจึงเพิ่มเป็นการซื้อไปฝาก ซื้อไปเพื่อส่งมอบความสุขให้คนรอบตัว แถมยังซื้อไปทำบุญได้อีกต่างหาก
 
         



     4. ต่อยอดช่องทางการจัดจำหน่าย

               

     แรกเริ่มเดิมที แบรนด์สีดา ขายเฉพาะช่องทางออฟไลน์ แต่หลังจากปรับลุคตัวเองใหม่ทั้งข้อมูล สร้างความน่าเชื่อถือด้วยผลทดสอบ และบรรจุภัณฑ์ ก็สามารถเชื่อมต่อแบรนด์กับผลิตภัณฑ์เข้าสู่การตลาดออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายยุคใหม่ที่ชื่นชอบการช้อปปิ้งออนไลน์ ทำให้ช่องทางอย่าง Facebook และ Line กลายเป็นช่องทางหลักที่เข้ามาเติมเต็มรายได้ได้เป็นอย่างดี
 
           



     นี่คือตัวอย่างของ SME นักคิดและลงมือทำที่สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้เราทันเกม ทันโลก และอยู่ในวงจรธุรกิจนี้ได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง     
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย