Main Idea
- หลายคนอาจมองว่าการทำธุรกิจโดยสานต่อจากครอบครัวนั้นเป็นเรื่องง่ายกว่าการเปิดธุรกิจใหม่ที่เริ่มต้นจากศูนย์ เพราะมองว่าต้นทุนทุกอย่างมีพร้อม ฉะนั้นเพียงแค่คุณสานต่อก็สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างสบายแล้ว
- แต่ใครจะรู้บ้างว่าการเป็นทายาทธุรกิจนั้นมีความยากไม่ต่างจากการเปิดธุรกิจใหม่เลย ทั้งยังมีสารพัดปัจจัยเข้ามาท้าทายตลอดการเดินทางสู่ความสำเร็จของธุรกิจใจมือคนรุ่นหลัง
การทำธุรกิจไม่ว่าจะยุคใดก็ล้วนมีความยากง่ายแตกต่างกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการรับมือของเจ้าของกิจการว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้นหรือจะเป็นการแก้ไขที่อาจส่งผลให้แย่ไปกว่าเดิม โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาโดยทายาทผู้ที่เข้ามาสืบทอดกิจการที่มักจะถูกเพ่งเล็งจากผู้ริเริ่ม จากลูกน้องในปกครอง รวมไปถึงจากลูกค้าเก่าใหม่ที่จะคอยดูว่าคุณมีความสามารถในการพัฒนาธุรกิจให้ดีและแตกต่างจากรุ่นก่อนได้มากน้อยแค่ไหน
ในวันนี้เราจะมาแชร์มุมมองและความคิดของคนรุ่นใหม่ ในฐานะทายาทที่ต้องเข้ามาบริหารกิจการต่อจากครอบครัว ว่าพวกเขามีแนวคิดอย่างไรที่จะทำให้ธุรกิจเดินต่อได้อย่างไม่สะดุด พร้อมเติบโตสู่ความสำเร็จได้อย่างน่าภาคภูมิใจไม่ต่างจากคนรุ่นก่อตั้ง
จากเสื่อผืนหมอนใบรุ่นปู่สู่ทายาทรุ่นที่ 3 อ้วยอันโอสถ
อ้วยอันโอสถ ธุรกิจอันดับต้นๆ ของตลาดสมุนไพรไทย ที่ดำเนินกิจการมากว่า 70 ปี ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของ ชนรรค์ สมบูรณ์เวชชการ ทายาทรุ่น 3 แน่นอนว่าการเป็นทายาทที่เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เขาก็ทำได้เพราะแนวคิดสำคัญ 3 เรื่อง ที่นำพาความสำเร็จให้ไปได้ไกลกว่าเก่า นั่นคือ ความรักในครอบครัว การลด EGO ของตนเองลง และ ความกล้า ไม่กลัวที่จะล้มเหลว
“ถ้ามองถึงหัวใจสำคัญของการเป็นทายาทธุรกิจ ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่ใจที่อยากจะพัฒนา ต่อยอดธุรกิจเดิมของครอบครัวที่ได้เห็นมาตั้งแต่เกิดให้ดีขึ้น โดยสานต่อเจตนารมณ์และค่านิยมของคนรุ่นก่อนๆ เอาไว้ เพราะผมคิดว่ามันคือ DNA หรือ แม่พิมพ์ที่เป็นเสน่ห์ของบริษัท สินค้า เพื่อครองใจลูกค้า”
ทายาทรุ่น 2 ผู้พลิกฟื้นกระเป๋ารุ่นเก๋าให้ไฉไลในโลกยุคใหม่
ในการสืบสานธุรกิจนั้นสิ่งหนึ่งที่มักจะมีปัญหาจนเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ จะมาจากความเปลี่ยนแปลงที่ทายาทต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้เข้ากับผู้บริโภคในยุคสมัยใหม่ เช่นที่ รวิวรรณ วรสินศิริ ทายาทรุ่น 2 เจ้าของโรงงานกระเป๋าผู้ที่นำไอเดียในการสร้างสรรค์กระเป๋าแบบเดิมที่มีคุณภาพมาผสมผสานกันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น จนกลายเป็นแบรนด์กระเป๋าอย่าง VARA และ Bangkok Tales หรือ กระเป๋าโชคดีที่ใครหลายคนรู้จัก ซึ่งเธอได้ให้แนวคิดในการทำงานระหว่างคนสองรุ่นไว้ว่า
“การเข้ามาสืบทอดรุ่นต่อรุ่นนั้นมีรอยต่อและรอยต่อนั้นมีความละเอียดอ่อน ดังนั้นการที่ทายาทจะเข้ามาบริหารธุรกิจต่อ จึงต้องใช้พลังงานในการเริ่มต้นค่อนข้างมาก และอย่าสุดโต่งปรับเปลี่ยนทุกอย่างแบบรวดเร็วในทันที แต่ต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป จะทำให้ราบรื่นทั้งสองฝ่าย”
ความฝันสู่เวทีโลกพันธกิจทายาทรุ่น 4 บางกอก บู๊ทเทอร์รี่
ทายาทรุ่น 4 ผู้ก้าวผ่านคำสาปว่า “ปู่สร้าง พ่อขยาย ลูกหลานทำเจ๊ง!” ได้อย่างสง่างามและยิ่งใหญ่กับการขยายพื้นที่แบรนด์ทั่วประเทศจาก 3 สาขาสู่ 27 สาขาในปัจจุบัน เรากำลังพูดถึง บางกอก บู๊ทเทอร์รี่ แบรนด์เครื่องหนังสัญชาติไทยที่อยู่ในตลาดมานานถึง 83 ปี โดยผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรง จิรทศ ถิรนุทธิ ทายาทรุ่น 4 ผู้อยากให้เครื่องหนังของครอบครัวก้าวไกลสู่เวทีโลก
“รุ่นพ่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ทายาทอย่างผมจึงคิดนำพาแบรนด์ให้ไปได้ไกลกว่านั้น โดยอยากทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก อยากนำพาแบรนด์ไทยโกอินเตอร์ เทียบชั้นแบรนด์ดังระดับโลก ผมจึงเริ่มศึกษาตลาดส่งออก และเตรียมความพร้อม โดยทำการรีแบรนด์ และเปลี่ยนโลโก้ใหม่ เพื่อทำให้แบรนด์ชัดเจน พร้อมสำหรับการโบยบินสู่ตลาดโลก”
ความไว้ใจสู่ความสำเร็จแบรนด์เต่าเหยียบโลกในมือทายาทรุ่น 2
จากความไว้ใจของคนรุ่นแรกสู่การพัฒนาการตลาดของคนรุ่น 2 อย่าง นพวิทย์ จันทิพย์วงษ์ ทายาทผู้ทำให้คนไทยได้ใช้ของดีและถูกไปทั่วประเทศอย่าง แบรนด์เต่าเหยียบโลก หรือ ผงแป้งสมุนไพรระงับกลิ่นกายที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นอย่างเงียบๆ ด้วยกลยุทธ์เข้าถึงลูกค้าแบบปากต่อปากจากประสบการณ์ผู้ใช้งานจริง
“ในเวลา 15 ปีที่ป๊าสร้างเต่าเหยียบโลกขึ้นมา เราไม่เคยทำการตลาดเลย แล้วตอนนั้นก็เริ่มมีเสียงถามหาจากลูกค้าว่าจะซื้อเต่าเหยียบโลกได้จากที่ไหน เพราะตอนนั้นมีขายแค่ในร้านเสริมสวยเท่านั้น เราก็เลยคิดว่าเป้าหมายแรกจะต้องเข้าเซเว่นฯ ให้ได้ก่อน พอเข้าที่นี่ได้แล้ว ที่อื่นๆ ก็จะตามมาง่ายขึ้น ตอนนั้นก็คุยกับป๊าว่าจะของบมาทำการตลาดสัก 5 ล้านบาท ตอนแรกก็คิดกลัวกันอยู่ว่าป๊าจะไม่ให้ หรือเต็มที่ก็คงให้มาแค่ 1-2 ล้านก็เยอะแล้ว เพราะจากที่คุยกับเพื่อนๆ ที่จบออกมาช่วยกิจการของที่บ้าน ส่วนใหญ่มักมีปัญหาเรื่องแนวคิดที่ไม่ตรงกันระหว่างคนสองวัย จะห่วงห้ามไม่ให้เข้ามาเปลี่ยนแปลงโน่นนี่นั่น แต่ปรากฏว่าป๊าเซ็นเช็คให้เลย เพราะไว้ใจเรา”
ทายาทรุ่น 2 ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงสู่ธุรกิจเครื่องเทศ นิธิฟู้ดส์
สิ่งที่ท้าทายของทายาทไม่ว่าจะรุ่นไหนก็ตามคือการพัฒนาอย่างไรให้ไกลกว่าจุดเริ่มต้น โดยเฉพาะในยุคที่ธุรกิจมีการแข่งขันกันอย่างหนักหน่วง ซึ่งทายาทรุ่นที่ 2 ของ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด อย่าง สมิต ทวีเลิศนิธิ ผู้สานต่อธุรกิจเครื่องเทศอบแห้งเพื่อส่งเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมอาหาร จนกลายมาเป็นผู้ผลิตเครื่องเทศอุตสาหกรรมรายใหญ่ในปัจจุบัน ผู้ส่งต่อวัตถุดิบสำหรับร้านอาหาร และสินค้าในแบรนด์ตัวเอง รวมไปถึงบริการอุตสาหกรรมอาหารในไทยให้ไปไกลทั่วโลก
“ตอนไปอยู่เมริกาผมจะกลับบ้านทุกปี เห็นอาม่าตัวเล็กลงทุกครั้ง เลยถามตัวเองว่าไปอยู่เมืองนอกได้เงินเยอะก็จริง แต่ครอบครัวที่เลี้ยงดูเรามาล่ะ จะได้ดูแลเขาเมื่อไร อีกอย่างถ้าอยู่เมืองนอกต่อสิ่งที่ผมทำได้คือ Employee (ลูกจ้าง) แต่สิ่งที่พ่อให้ผมคือ Employer (นายจ้าง) นั่นหมายความว่าความรู้จากการที่ผมเรียนบริหารธุรกิจมา จะได้ใช้ทุกอย่างกับธุรกิจที่บ้าน”
นี่คือแนวคิดและมุมมองของเหล่าทายาทผู้พัฒนาแบรนด์ของตนเองเหล่านี้ เราเชื่อว่าจะเป็นผลสำเร็จที่อาจทำให้ใครหลายคนที่กำลังมีปัญหาการทำงานระหว่างคนสองรุ่นให้สามารถนำไปปรับใช้จนสามารถประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกับพวกเขาทุกคน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี