Main Idea
- บางครั้งที่มาของการทำธุรกิจ ก็อาจไม่ได้เริ่มต้นจากเงินเพียงอย่างเดียวเสมอไป แต่ความเชื่อ ความศรัทธา อาจกลายมาเป็นตัวกำหนดให้เกิดธุรกิจขึ้นมาได้
- “ณ สัทธา อุทยานไทย” อุทยานหุ่นขี้ผึ้ง จังหวัดราชบุรี คือ อีกหนึ่งตัวอย่างของสถานที่และธุรกิจที่เกิดขึ้นจากความเชื่อและศรัทธา อยากถ่ายทอดเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของไทยออกมาให้คนภายนอกได้รู้จัก
ปลายเดือนธันวาคมที่ลมหนาวกำลังพัดโบกโบยพอให้รู้สึกเย็นสบาย ณ สถานที่แห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรีกำลังมีการจัดแสดง แสง สี เสียง ดวงไฟหลากสีจากหลอดไฟประดิษฐ์และหลอด LED จำนวนมาก กำลังส่องสว่างให้เมืองเล็กๆ แห่งนี้เฉิดฉายขึ้นมาในยามค่ำคืน
“ณ สัทธา อุทยานไทย” หรือชื่อเดิม คือ อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม ที่กลับมาเริ่มต้นเปิดดำเนินการขึ้นอีกครั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา หลังปิดปรับปรุงอยู่นานกว่า 3 ปี เพื่อปรับมุมมองภาพลักษณ์ใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยและไลฟ์สไตล์ผู้คนยุคปัจจุบันมากขึ้น
เพราะศรัทธา
บนพื้นที่ 40 กว่าไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 98 ไร่ ตำบลวังเย็น อำเภอบ้านเพ จังหวัดราชบุรี คือ ที่ตั้งของ “ณ สัทธา อุทยานไทย” ที่เปิดดำเนินการขึ้นมาเมื่อปี 2549 (ชื่อในตอนนั้น คือ อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม) จุดเริ่มต้นดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากความตั้งใจของ “ไพโรจน์ ศิริพรเลิศ” ช่างหล่อพระแห่งบ้านช่างหล่อ บางกอกน้อย ย่านฝั่งธนบุรี ผู้เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงผันตัวเองจากอาชีพคนหล่อพระมาเป็นผู้ก่อตั้ง ณ สัทธา อุทยานไทย เพียงเพราะอยากสร้างสถานที่ให้ผู้คนได้มีโอกาสมาสักการะพระอริยสงฆ์ เยี่ยมชมบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ พร้อมกับเรียนรู้เรื่องราวความเป็นไปต่างๆ ของโลกและสังคมไปพร้อมกันด้วย
“พื้นฐานครอบครัวเรามาจากคนหล่อพระ เดิมทีเราอาศัยอยู่ที่บ้านช่างหล่อ บางกอกน้อย จุดเริ่มต้นที่ทำให้หันมาทำหุ่นขี้ผึ้ง มาจากคุณพ่อ คือตอนนั้นท่านไปกราบรูปเคารพหลวงปู่แหวนที่วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหุ่นขี้ผึ้งที่สร้างขึ้นโดยสถาบันมาดามทุสโซ่ จึงเกิดความศรัทธาเลื่อมใสและอยากสร้างขึ้นมาบ้าง จึงไปปรึกษากับ อ.ดวงแก้ว พิทยากรศิลป์ ซึ่งเป็นเพื่อนว่าสามารถลองทำได้ไหม ก็ใช้เวลาทดลองกันอยู่นานหลายปี เพราะเมืองไทยเป็นเมืองร้อน ไม่สามารถปั้นเป็นหุ่นขี้ผึ้งได้ อ.ดวงแก้วจึงพยายามหาวัสดุอื่นมาทดแทน จนมาลงตัวที่ไฟเบอร์กลาส ซึ่งทำให้หุ่นมีความแข็งแรงคงทน ขณะเดียวกันก็ประณีตสวยงามเหมือนจริง เราจึงเรียกว่า “หุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาส” และได้ทดลองปั้นหุ่นรูปแรกขึ้นมา คือ หลวงปู่โต๊ะ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่วัดประดู่ฉิมพลี ท่าพระ จากนั้นคุณพ่อจึงตัดสินใจกับเพื่อนเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทยแห่งแรกขึ้นที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม จนเมื่อปี 2549 จึงได้มาเปิดเพิ่มอีกแห่งของตนเองที่ราชบุรี ซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า ทำให้สามารถขยายพื้นที่จัดแสดงได้มากขึ้นกว่าเดิม”
ณปภา ศิริพรเลิศ หนึ่งในทายาทผู้สานต่อเจตนารมณ์ ณ สัทธา อุทยานไทย เล่าความเป็นมาให้ฟัง
พ่อสร้าง ลูกสืบสาน
“สิ่งที่เราเห็นมาตลอดตั้งแต่เด็กก็คือ ก่อนจะปั้นหุ่นขี้ผึ้งทุกรูปในพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะพระอริยสงฆ์เราก็ได้มีโอกาสไปกราบหลวงปู่หลายท่านกับคุณพ่อ อาทิ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่ครูบาวงศ์ , หลวงปู่ชา สุภัทโท ฯลฯ เราเห็นความตั้งใจในการทำงานของคุณพ่อมาตลอด ท่านตั้งใจอยากทำขึ้นมา เพื่อให้คนที่ไม่มีโอกาสได้ไปกราบด้วยตัวเอง ไม่สามารถไปกราบพระไกลๆ ได้ สามารถมากราบท่านแทนที่ ณ สัทธา อุทยานไทย จุดประสงค์มีอยู่แค่นั้นจริงๆ ทุกอย่าง คือทำมาจากความศรัทธาจริงๆ” ณปภาเล่าถึงการทำงานกว่าจะได้หุ่นขึ้นมาแต่ละรูป”
โดยในยุคแรก หลังจากได้สร้าง ณ สัทธา อุทยานไทย (เดิม อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม) แห่งใหม่ขึ้นมาในจังหวัดราชบุรี ทั้งคุณพ่อและณปภารวมถึงพี่น้องคนอื่นๆ ที่เข้ามาช่วยดูแลร่วมกัน ได้พยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้อุทยานหุ่นมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยการขยายพื้นที่จัดแสดงแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงพื้นที่สีเขียวของต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ความชุ่มชื่นแก่ผู้เข้าเยี่ยมชม
“พอได้มีโอกาสมาสร้างที่นี่ใหม่ เราพยายามขยายส่วนต่างๆ ออกมาให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยใช้ทั้งประสบการณ์ที่มีมาจากงานหล่อพระและทำหุ่นขี้ผึ้ง สร้างพื้นที่ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น นอกจากมาเยี่ยมชมหุ่นขี้ผึ้งแล้ว เขายังได้เรียนรู้เรื่องของสถาปัตยกรรมและเรื่องราวทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นด้วย เรามีการสร้างวิหารสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ 3 สมัยขึ้นมา (อู่ทอง,สุโขทัย, เชียงแสน) มีการสร้างเรือนไทย 4 ภาค กุฏิพระสงฆ์ เพื่อจัดแสดงหุ่นพระอริยสงฆ์ที่น่าเลื่อมใสในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้ผู้คนได้มากราบท่านอย่างใกล้ชิด และถ้ำชาดกได้จำลองบรรยากาศภายในของถ้ำอชันตาในประเทศอินเดียมาไว้ที่นี่ พร้อมเผยแพร่เรื่องราวขององคุลีมาลมหาโจรกลับใจผู้มีดวงตาเห็นธรรมมาจัดแสดงไว้ด้วย ไปจนถึงการจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาสของบุคคลสำคัญต่างๆ ที่ภูมิใจมากที่สุด คือการได้ปั้นพระรูปหุ่นขี้ผึ้งของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่าฯ ) ในพระอิริยาบถและพระจริยาวัตรต่างๆ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ”
ถึงแม้จะมีการสร้างพื้นที่จัดแสดงและปรับปรุงให้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปการบอกเล่าเรื่องราวในรูปแบบเดิมๆ อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการหรือสนใจกับผู้บริโภคยุคใหม่ได้ ในครั้งนั้นอุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยามจึงได้ตัดสินใจปิดปรับปรุงกิจการอีกครั้งเมื่อปี 2558 เพื่อวางตัวเองใหม่ และก่อนจะกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้งเมื่อกลางปี 2561 ที่ผ่านมา
ยุคสมัย คือ การปรับตัว
หลังกลับมาเริ่มต้นเปิดให้บริการอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2561 ภาพลักษณ์ใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามาสำหรับอุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยามที่ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ณ สัทธา อุทยานไทย ก็คือ เทคนิคการเล่าเรื่องที่ดูแปลกตา มีความทันสมัย และน่าสนใจเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เป็นการเชื่อมต่อระหว่างจิตนาการและโลกยุคดิจิทัลได้อย่างลงตัว
“โครงสร้างหลักจริงๆ แล้วยังคงเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามา คือ รายละเอียดกิมมิกต่างๆ ยุคนี้เป็นยุคของดิจิทัล เราจึงมีการปรับปรุงโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้เล่าเรื่องมากขึ้น เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของเนื้อหา มีการสร้างแอปพลิเคชันของ ณ สัทธา อุทยานไทย ขึ้นมา เพื่อใช้นำทางและสแกนคิวอาร์โค้ดตามจุดต่างๆ เพื่อเล่าเรื่องผ่านวิดีโอคลิป รวมถึงตัวการ์ตูนแอนิเมชัน และเทคนิค AR หรือภาพจำลองเสมือนจริง ไปจนถึงกิจกรรมไฮไลต์อย่างเทคนิคการเล่าเรื่องผ่านสื่อผสม Projector Mapping 270 องศา ระบบเสียงรอบทิศทางเหมือนในโรงภาพยนตร์ หรือการเล่าเรื่องประติมากรรมหุ่นในบรรยากาศจำลองเสมือนจริง Light & Sound เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมและเข้าถึงเนื้อหาจัดแสดงได้มากขึ้น ถามว่ามีคนใช้บริการเยอะไหม อย่างตัวคิวอาร์โค้ด ถ้าเป็นผู้ใหญ่อาจจะยังไม่ค่อยได้ใช้ แต่สำหรับเด็กๆ คนรุ่นใหม่ ก็ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้เขาเข้าถึงเรื่องราวที่เราอยากสื่อสารได้มากขึ้น
“เราพยายามเปลี่ยนภาพการนำเสนอแบบเดิมที่ใครๆ เคยรู้จัก ขณะเดียวกันเราเก็บรักษาของเดิมเอาไว้ด้วย จึงเป็นที่มาให้คิดกันว่าทำยังไงคนถึงจะชอบมาที่นี่ มาแล้วรู้สึกมีอะไรให้ดู มีอะไรให้น่าค้นหา น่าสนใจน่าตื่นตา แปลกกว่าเดิม” ณปภากล่าว
คนเบื้องหลังหุ่น
ณปาภา เล่าว่า การดูแลกิจการของ ณ สัทธาในทุกวันนี้มาจากทุกคนในครอบครัวช่วยกัน ตั้งแต่ลูกไปจนถึงหลาน รวมถึงญาติพี่น้อง โดยแต่ละคนก็มีหน้าที่แตกต่างกันไปตามความถนัด ในส่วนของเธอเองทุกวันนี้ก็ไม่ได้มีหน้าที่หรือตำแหน่งตายตัว เพียงแต่ช่วยดูแลให้ดี ตั้งแต่พนักงาน สถานที่ การสรรหากิจกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้เข้ามาเยี่ยมชม
“ทุกวันนี้เราพยายามทำทุกอย่างที่คิดว่าเต็มที่และเหมาะสม การทำงานของที่นี่เราจะช่วยกันคิด ช่วยกันทำตามความถนัดของแต่ละคน โจทย์การทำงาน คิดไว้เสมอว่าเวลาไปในที่ต่างๆที่ไหน เราอยากเห็นอะไร อยากสัมผัสกับอะไร มาแล้วควรได้อะไรกลับไป เราใช้เป็นหลักในการทำทุกอย่าง แล้วก็ถ่ายทอดออกมา”
จากการปรับปรุงภาพลักษณ์ใหม่ของ ณ สัทธา อทุยานไทย ณปภายอมรับว่าส่วนหนึ่งสามารถตอบโจทย์ลูกค้าคนรุ่นใหม่ได้ดีเพิ่มขึ้น
“ทุกวันนี้นอกจากพื้นที่จัดแสดงแล้ว เราพยายามจัดงานอีเวนต์ในช่วงเทศกาลวันสำคัญต่างๆ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาเพิ่มมากขึ้นด้วย อย่างในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เราก็มีจัดกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ มีอุโมงค์ดอกไม้ให้เข้ามาถ่ายรูปได้ วันเข้าพรรษาก็มีการจัดแห่เทียน หรือในช่วงสิ้นปีแบบนี้ก็จะมีการจัดงานแสง สี เสียง แสดงไฟด้วย เราพยายามลงมาดูเองทุกอย่าง ตั้งแต่ธีมงานไปจนถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้ทุกอย่างออกมาดีที่สุด เพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่าย แต่ถ้าถามเราสู้ต่อไหม เราสู้ต่อ การทำตรงนี้ ไม่ใช่แค่ธุรกิจ แต่คือ หน้าที่อย่างหนึ่ง ถามว่าเหนื่อยไหม ยังไงมันคงไม่เหนื่อยทั้ง 365 วันหรอก”
สำหรับเป้าหมายของธุรกิจต่อไปที่วางกันเอาไว้นั้น ณปภากล่าวว่า ทำตามเป้าหมายตามแผนด้วยสติ เพียงทำวันนี้ให้ดี คิดให้รอบคอบ ไม่ประมาท
“การทำงานอยู่ตรงนี้ ถามว่าคาดหวังให้มีใครมาสานต่อไหม จริงๆ ก็มีนะ แต่จะได้แค่ไหน เราไม่สามารถรู้อนาคตได้ ถ้าวันหนึ่งข้างหน้าจะเป็นยังไง เราไม่ยืดติด หน้าที่ของเรา คือทำวันนี้ให้ดีก็พอ”
ทิ้งท้ายก่อนจากกันในวันนั้นณปภายังได้เล่าถึงที่มาของชื่อว่า ณ สัทธา อุทยานไทย ให้ฟังด้วยว่า
“คำว่า สัทธา จริงๆ แล้วมีความหมายเดียวกันกับคำว่า ศรัทธา ต่างกันแค่เป็นภาษาบาลีและสันสฤตเท่านั้น ที่ตั้งชื่อนี้ เพราะทุกอย่างเกิดขึ้น มาจากความเชื่อ, ความเลื่อมใส, ความเชื่อมั่นในสิ่งดีงาม, ความศรัทธาจริงๆ ในสิ่งที่เราได้รับ” เธอบอกในตอนท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนยรวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี