“ฟาร์มดอกไม้” เทรนด์ธุรกิจสุดฮอตที่กำลังบานสะพรั่ง ตอบโจทย์ผู้บริโภคสายแชะ!

TEXT : กองบรรณาธิการ 




Main Idea
 
  • หากจะพูดถึงธุรกิจที่ฮอตอยู่ในขณะนี้ ต้องขอมอบมงให้กับเหล่าฟาร์มดอกไม้หรือว่าคาเฟ่ที่ปลูกดอกไม้ไว้เป็นกิมมิก เพราะผู้บริโภคยุค 2019 -2020 กำลังต้องการสิ่งนี้อย่างแรง!
 
  • และนี่คือเทรนด์ฮอตที่กำลังบานสะพรั่งอยู่ในตอนนี้ ถ้าใครที่อยากดึงดูดลูกค้า ก็ลองมองดอกไม้เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะช่วยให้ธุรกิจของคุณมีสีสันมากขึ้น




     หากจะพูดถึงธุรกิจที่ฮอตอยู่ในขณะนี้ ต้องขอมอบมงให้กับเหล่าฟาร์มดอกไม้หรือว่าคาเฟ่ที่ปลูกดอกไม้ไว้เป็น   กิมมิก เพราะผู้บริโภคยุค 2019 -2020 กำลังต้องการสิ่งนี้อย่างแรง! แล้วเหตุใด ทำไมฟาร์มดอกไม้ถึงได้กลายเป็นธุรกิจฮอตฮิตอยู่ในตอนนี้ แถมยังมีบางฟาร์มที่เปิดจองกันข้ามปี ลองตามเราไปหาคำตอบพร้อมกัน
 


 
  • ทำไมฟาร์มดอกไม้ถึงมาแรงสุดในปีนี้!

     ความจริงแล้วการปลูกดอกไม้หรือทำฟาร์มดอกไม้เป็นธุรกิจที่อยู่คู่เคียงคนไทยมายาวนานแล้ว อาทิ Jim Thompson Farm ที่เปิดให้บริการมาหลายสิบปี ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปชมความสวยงามของดอกไม้และวิถีชีวิต วัฒนธรรมของสถาปัตยกรรมทางภาคอีสาน นอกจากนี้ก็ยังมีสวนดอกไม้ของชาวบ้านหรือคนในชุมชนที่ปลูกเพื่อส่งขายให้แก่ธุรกิจร้านดอกไม้


     แต่ด้วยเทคโนโลยีและการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านทางโลกออนไลน์ จุดประกายให้สถานที่ที่เคยเป็น Hidden Place สวนดอกไม้ที่ไม่เคยอยู่ในสายตากลับกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ อีกทั้งกระแสแห่ง Travel Blogger, Influencer, ดาราหรือแม้แต่ Micro Influencer ที่ช่วยกันทำให้ฟาร์มดอกไม้ฮอตสุดๆ ภายในช่วงเวลาแค่พริบตาเดียว


     อย่างล่าสุดที่ดาราชื่อดังอย่างอั้ม พัชราภา ใหม่ ดาวิกาและญาญ่าได้เช็กอินสวนดอกไม้ที่ชื่อ I love flower Farm ท่ามกลางบรรยากาศที่สวยงาม มีดอกไม้สีสวยสดใสรายล้อม ก็ทำให้ผู้คนเข้าไปตามหาว่าที่นั่นชื่ออะไร อยู่ที่ไหน ในที่สุดก็เกิดปรากฎการณ์สวนดอกไม้คิวเต็มยาวข้ามปี จองตอนนี้ไปอีกที 2-3 เดือนข้างหน้า แถมยังมีกระแสรีวิวของ Travel Blogger ตามมาอีก เลยทำให้ฟาร์มดอกไม้แห่งนี้กลายเป็นที่พูดถึงอย่างรวดเร็วและเทรนด์นี้ยังลามไปยังสวนดอกไม้อื่นๆ ที่อยู่ในสถานที่ต่างๆ กลายเป็นเทรนด์ธุรกิจร้อน หากว่าตอนนี้คุณมีสวนดอกไม้ก็คือช่วงเวลาทองของคุณเลยทีเดียว
 



 
  • ถอดกลยุทธ์ฟาร์มดอกไม้ชื่อดัง I love flower Farm ที่สร้างปรากฎการณ์คิวยาวข้ามปี

      I love Flower Farm คือฟาร์มที่ปลูกดอกไม้มายาวนานกว่า 20 ปี แต่เพิ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปชมสวนดอกไม้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และสิ่งที่ตามมาคือกระแสการพูดถึงบนโลกออนไลน์อย่างล้นหลามแถมยังจองคิวกันข้ามปี เพราะว่ารับนักท่องเที่ยวจำกัดในแต่ละวัน อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ I love flower Farm กลายเป็นแหล่งเช็กอินสุดชิคที่ใครๆ ก็อยากไป



 
  1. จำกัดนักท่องเที่ยว


      ถ้ามองในแง่ธุรกิจ การจำกัดนักท่องเที่ยวต่อวันคือการสูญเสียรายได้ แต่แท้จริงแล้ว การจำกัดนักท่องเที่ยวนี่แหละคือการที่คุณจะได้รายได้เพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้นมาจากความประทับใจของนักท่องเที่ยวที่ไม่ต้องแออัดกันจนเกินไปในส่วนดอกไม้ ยังมีพื้นที่ว่างให้ได้ถ่ายรูปสวยๆ โดยไม่ติดคนอื่น แถมยังไม่เป็นการรบกวนดอกไม้และธรรมชาติจนเกินไปด้วย






      2.ชมดอกไม้แบบ
Full Service


     หากคุณเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมสวนดอกไม้ ถ่ายรูป แล้วกลับ พวกเขาอาจจะได้ภาพสวยๆ ไปโพสต์ลงบนโลกออนไลน์เท่านั้น แต่ถ้าคุณมีบริการอื่นๆ ที่นอกเหนือจากนั้น สิ่งที่ผู้บริโภคจะได้รับคือความประทับใจและพวกเขาจะพูดกันปากต่อปากโดยที่คุณไม่ต้องเสียค่าการตลาดแม้แต่บาทเดียว อย่าง I love flower Farm ที่นอกเหนือจะเปิดให้คนเข้าไปชมความงามของดอกไม้แล้วยังมี Welcome Set ขนมพื้นบ้านและน้ำสมุนไพรที่ทำให้เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว แถมภายในสวนดอกไม้ยังถูกจัดไว้อย่างดีเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปแบบสวยที่สุด มีพร็อพ มีโต๊ะจิบน้ำชาเก๋ๆ มีโซนต่างๆ ให้ถ่ายรูปกันอย่างจุใจ


     3.กระจายรายได้สู่ชุมชน


     แน่นอนว่า I love flower Farm คือผู้จุดประกายแหล่งท่องเที่ยวตรงนั้นให้เป็นที่รู้จัก แต่เขาก็ยังไม่ได้ทิ้งชุมชนโดยรอบ อาทิ การนำรถพ่วงชาวบ้านมาใช้ในการรับส่งจากลานจอดรถสู่สวนดอกไม้ หรือหากว่าลูกค้าอยากชมสวนอื่นๆ อีกก็ยังมีสวนของชาวบ้านหลายสวนในละแวกนั้น มองได้ว่า I love flower Farm คือ Magnet ในการดึงดูดลูกค้าแต่พวกเขาไม่ได้ต้องการมีรายได้แค่คนเดียว โดยมีการแบ่งปันและส่งต่อลูกค้าไปยังชุมชนโดยรอบด้วย
 


 
  • ไอเดียต่อยอดดอกไม้ให้กลายเป็นกลยุทธ์
 


     1.ฟาร์มดอกไม้ที่เปิดให้คนเข้าไปถ่ายรูป : หากว่าคุณทำฟาร์มดอกไม้อยู่แล้ว ก็สามารถต่อยอดธุรกิจได้ด้วยการเปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้าไปเที่ยวชมสวน ถ่ายรูป อาจมีการจัดพื้นที่ ตกแต่งให้กลายเป็นมุมถ่ายรูปสวยๆ อาทิ I love flower Farm


     2.ร้านกาแฟหรือร้านอาหารที่ใช้ดอกไม้มาดึงดูดลูกค้า : มีร้านกาแฟ คาเฟ่หรือร้านอาหารจำนวนไม่น้อยที่จากเดิมทำธุรกิจร้านอาหารธรรมดา แต่ต่อมามีการดึงดูดลูกค้าด้วยการปลูกสวนดอกไม้หรือใช้ดอกไม้เป็นธีมหลักในการนำเสนอ อาทิ กระเพรา & coffee จังหวัดลพบุรี ที่ปลูกสวนดอกคอสมอสเอาไว้หลังร้านแถมยังสร้างสะพานไม้ให้คนเดินเข้าไปถ่ายรูปจนกลายเป็นจุดเช็กอินที่มาแรงมากๆ ในตอนนี้ นอกจากนี้ยังมีคาเฟ่ที่ใช้ดอกไม้ในการตกแต่ง อาทิ  Floral Cafe' at Napasorn, The Blooming Gallery, Thongyoy Café เป็นต้น


      3.ดอกไม้กินได้ : นอกจากการปลูกดอกไม้ให้เป็นสวนเพื่อเที่ยวชมหรือใช้เป็นกิมมิกในการตกแต่งร้านแล้ว ยังสามารถดึงดูดลูกค้าด้วยการสร้างสรรค์เมนูจากดอกไม้ซึ่งเป็นอีกเทรนด์อาหารที่มาแรงมากหรือที่เรียกกันว่า Edible Flowers มีหลายฟาร์มที่ริเริ่มปลูกดอกไม้กินได้และส่งให้ร้านอาหารโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารหลายแห่งที่เริ่มคิดค้นเมนูจากดอกไม้ อาทิ ร้าน A Little While กับเมนูสลัด A little While ร้าน Baannai (สามเสน) เมนูยำดอกไม้ เป็นต้น
 




     และนี่คือเทรนด์ฮอตที่กำลังบานสะพรั่งอยู่ในตอนนี้ ถ้าใครที่อยากดึงดูดลูกค้า ก็ลองมองดอกไม้เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะช่วยให้ธุรกิจของคุณมีสีสันมากขึ้นได้
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย