Main Idea
- สิทธิชัย เรืองจรุงพงศ์ คือชายคนนั้นที่มีความตั้งใจอยากทำให้เมืองไทยมีร้านราเมงราคาไม่แพงแต่คุณภาพเทียบเท่ากับร้านราเมงที่เขาเคยเจอครั้งที่ไปเยือนประเทศญี่ปุ่น
- นี่คือร้านราเมงชื่อ Ramenga (ราเมงอะ) ที่เขาบอกว่า ‘เราไม่ได้ทำเป็นธุรกิจ ผมทำร้านราเมงเพราะมันคือความสุขของผม’
...นายราเมงมีความเชื่อว่าการให้เป็นพื้นฐานสำคัญ ที่จะทำให้สังคมและชุมชนอยู่อย่างมีความสุข..
.ข้อความนี้ถูกเขียนอยู่บนกระดานหน้าร้านที่เล่าถึงโครงการปั่นอิ่มซึ่งเปิดโอกาสให้คนที่อยากกินราเมงแต่มีกำลังทรัพย์ไม่พอสามารถหยิบป้ายรูปชามราเมงที่ติดอยู่บนกระดานมาแลกรับราเมงได้ฟรี และนี่คือร้านราเมงชื่อ Ramenga (ราเมงอะ) ที่เจ้าของร้านบอกว่า ‘เราไม่ได้ทำเป็นธุรกิจ ผมทำร้านราเมงเพราะมันคือความสุขของผม’
สิทธิชัย เรืองจรุงพงศ์ คือชายคนนั้นที่มีความตั้งใจอยากทำให้เมืองไทยมีร้านราเมงราคาไม่แพงแต่คุณภาพเทียบเท่ากับร้านราเมงที่เขาเคยเจอครั้งที่ไปเยือนประเทศญี่ปุ่น
“ตอนเราไปญี่ปุ่นจะเห็นร้านราเมงที่เป็นรถเข็นเล็กๆ เหมือนที่เมืองไทยมีร้านขายบะหมี่เกี๊ยว แต่พอร้านราเมงมาอยู่ที่ไทยมันกลายเป็นร้านหรู ขึ้นห้าง ราคาจะแพงไปเลย เราจึงอยากทำราเมงที่คุณภาพดีเหมือนญี่ปุ่นแต่ขายราคาไม่แพงให้คนไทยที่ไม่มีความสามารถซื้อราเมงราคาแพงๆ ได้ทานกัน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากทำ แต่พอเริ่มลงมือทำแล้วก็มีอุปสรรคหลายอย่างที่จะทำให้เราได้ของที่มีคุณภาพดี ในราคาไม่แพง”
โดยปัญหาหลักของการทำราเมงให้ดีเทียบเท่าญี่ปุ่นต้องใช้ต้นทุนสูงมาก ฉะนั้น การทำร้านราเมงนี้จึงเป็นการทำโดยไม่ได้คาดหวังกำไรเป็นที่ตั้ง แต่สิ่งที่สิทธิชัยคาดหวังสูงสุดคือการให้คนไทยเข้าถึงราเมงคุณภาพดีในราคาแค่ 80 บาท เขามองว่าสิ่งที่ทำเหมือนเป็นงานอดิเรกที่มอบความสุขให้แก่คนอื่นในการได้ทานของอร่อยและยิ้มได้
“พอเราทำก็พบว่าต้นทุนในการทำให้ราเมงอร่อยนั้นสูงมาก พอสูงก็คิดว่าทำไปต้องไม่มีกำไรแน่เลย เพราะไหนจะขั้นตอนการทำน้ำซุป การต้มหมู การทำเส้น ไม่เหมือนการทำบะหมี่เกี๊ยว แต่ต้นทุนเส้นก็ต่างกัน 2-3 เท่าแล้ว แต่ด้วยความตั้งใจแรกสุด ผมจึงไม่อยากลดคุณภาพอาหาร เราไม่ได้สนใจตรงนั้น แต่เราอยากให้ราเมงของเราคุณภาพดีเท่าญี่ปุ่น เราอยากทำอาหารอร่อยๆ ให้คนไทยได้กิน จึงตัดสินใจทำโดยไม่ได้มองว่าเป็นธุรกิจ แต่มองเป็น Passion ในการให้คนได้กินของอร่อยๆ ภาษาที่ผมบอกกับเพื่อนคือการทำให้มันเป็นงานอดิเรกมากกว่า ปกติผมก็มีงานประจำอยู่แล้ว และงานอดิเรกมันต้องใช้เงิน เหมือนคุณเลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ สะสมของ สิ่งที่ได้คือความสุขในการทำ บางทีเราต้องเสียเงินไปแลกความสุขมา ผมทำร้านราเมงมันคือความสุขของผมที่คนจะได้กินของอร่อยๆ ถ้าจะต้องควักเงินบ้าง ก็ไม่เป็นไร” เขาเล่า
สาขาแรกของเขาเป็นร้านรถเข็นเล็กๆ ที่สิทธิชัยลงมือวาดและออกแบบเอง ตั้งอยู่แถวอ่อนนุชในลานจอดรถ ในช่วงแรกๆ ขายได้แค่วันละ 8 – 10 ชามเท่านั้น หลังจากนั้นก็ย้ายร้านไปอยู่ที่พระราม 9 ซอย 49 ก่อนที่จะย้ายมาลงหลักปักฐานที่พระราม 9 ซอย 57 ช่วงที่ร้านตั้งอยู่พระราม 9 ซอย 49 นั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการปันอิ่มที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบันและกลายเป็นหัวใจสำคัญของร้าน Ramenga
“ช่วงนั้นที่ทำ ในซอย 49 ก็จะมีชุมชนที่มีคนกำลังทรัพย์น้อย แถวนั้นจะมีเด็กๆ วิ่งเล่นกัน ผมก็จะเรียกเด็กๆ มาทานราเมงตลอด ทานฟรี เจอเมื่อไหร่ก็เรียก กินแล้วอร่อย มีความสุขกัน ผมก็บอกเขาว่าถ้าผมไม่อยู่มาทานได้เลยนะ แต่เด็กๆ ก็จะไม่กล้า เราเลยคิดว่าทำยังไงดีให้เด็กๆ สามารถทานราเมงได้โดยที่ผมไม่ต้องอยู่เรียก เราเลยเอาวิธีการจากต่างประเทศมาปรับใช้นั่นคือ Suspended Coffee ส่วนใหญ่ทำกับร้านกาแฟที่ให้คนที่มีกำลังทรัพย์ซื้อเอาไว้ให้ก่อน แล้วคนที่ไม่มีกำลังทรัพย์ก็สามารถมาใช้สิทธิ์นั้นได้ แต่เราปรับคือคนที่ใช้สิทธิ์ไม่ได้รู้สึกเหมือนเขามาขออย่างเดียว ต้องมีการตอบแทนคนที่ให้ เราจึงมีกระดาษโพสต์-อิทให้คนที่มาใช้สิทธิ์ทานได้เขียนขอบคุณคนที่ให้สิทธิ์นั้น คนมาทานก็จะเริ่มขอบคุณ ขอบคุณ จนในที่สุดก็เต็มกระดานที่เรียกว่ากระดานปันอิ่ม”
ในปัจจุบันร้าน Ramenga มีทั้งหมด 10 สาขา ซึ่งมีทั้งร้าน Ramenga ธรรมดาที่ขายเฉพาะเมนู Original เริ่มต้นที่ 80 บาทและร้าน Ramenga Gold ร้านพิเศษ นั่งสบาย มีเมนูที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการใช้บริการยาวนานขึ้น โดยการขยายสาขาของร้าน Ramenga เกิดจากกลุ่มเพื่อนและคนสนิทของสิทธิชัยได้เข้ามาสัมผัสรูปแบบธุรกิจแล้วเกิดความชื่นชอบและอยากกระจายโมเดลความสุขนี้ออกไปให้กว้างมากขึ้น
“ร้านที่ผมทำเองแรกๆ ต้องบอกว่าไม่ได้กำไรหรอก เพราะมีค่าใช้จ่ายเยอะ แต่ขาดทุนนิดๆ หน่อยๆ ไม่เป็นไร แต่พอมีคนอื่นเริ่มไปทำ ผมก็ต้องเปลี่ยนนิดหนึ่ง จากขาดทุนนิดหน่อยต้องกลายเป็นการทำโดยไม่ขาดทุน โดยตัวผมเองจะรองรับต้นทุนบางอย่างเอาไว้ ผมก็บอกร้านอื่นๆ ว่าถ้าคุณเริ่มมีกำไรเยอะขึ้นก็ต้องแบ่งปันกลับคืนสู่คนอื่นนะ เช่น การแบ่งปันคืนสู่พนักงาน เพราะคนที่ช่วยให้เรามีกำไรคือพนักงาน ถ้าของดียังไงแต่พนักงานไม่มีความสุข ก็จะไม่สามารถถ่ายทอดความสุขออกไปถึงลูกค้าได้ ถ้ากำไรเยอะขึ้นอีก ก็แนะนำให้ปันอิ่มเยอะๆ โมเดลธุรกิจแบบนี้ ถ้าทำกำไรเหลือสู่เรา เท่ากับกำไรที่ให้ลูกค้าหรือคนอื่นในห่วงโซ่ก่อนถึงเราจะหายไป เราได้น้อยหน่อย แต่ระหว่างทาง คนอื่นเขามีความสุขก็เป็นกำไรแล้ว ถ้าถามว่าผมได้อะไรไหม ผมมองว่านี่คือโมเดลธุรกิจในระยะยาว ผมอาจไม่ได้อะไรในตอนนี้ แต่ถ้าวางคอนเซ็ปต์ให้ดี เมื่อไหร่ที่ทุกคนในห่วงโซ่ได้รับอย่างเต็มอิ่มแล้ว มันก็จะเหลือกลับมาให้ผมเอง”
สิทธิชัยได้ปิดท้ายว่าหัวใจสำคัญที่สุดของการทำร้านราเมงร้านนี้คือการทำให้คนอื่นมีความสุข เมื่อไหร่ก็ตามที่คนอื่นมีความสุข เดี๋ยวความสุขนั้นก็จะย้อนมาหาเราเอง
“ทุกวันนี้ที่โตได้ก็เพราะว่าผมไม่ได้คิดถึงตัวเองว่าจะได้อะไร เราคิดถึงแต่คนอื่นว่าจะได้อะไร คิดแค่นั้น มันเลยทำให้คนที่มาทานราเมงเขารับรู้ว่าร้านของเราให้อะไรเขาแค่ไหนต่อสิ่งที่เขาจ่ายเงินไป”
นี่คือเรื่องราวของร้านราเมงที่ไม่ได้เอากำไรเป็นตัวตั้งใจการดำเนินธุรกิจ แต่เอารอยยิ้ม ความสุขและความอร่อยเป็นโจทย์สำคัญ กำไรของสิทธิชัยเลยกลายเป็นความอิ่มสุขเมื่อลูกค้าอิ่มท้อง และสิ่งนี่มันกลายเป็นกำไรที่ไม่สามารถตีออกมาเป็นมูลค่าได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี