เปิดตำราไคเซ็นสอนธุรกิจเล็ก ขยับ “วิสาหกิจข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์” สู่ธุรกิจยั่งยืน




Main Idea
 
  • “ไคเซ็น” ถือเป็นหนึ่งในองค์ความรู้ด้านระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System) ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล อันนำไปสู่การผลิตสินค้าคุณภาพได้มาตรฐานในเวลาที่สั้นที่สุด เพื่อเพิ่มกำไรผ่านการลดต้นทุนการผลิต
 
  • วิธีการของโตโยต้าไม่ใช่สูตรตายตัว แต่สามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจอื่นๆ ได้ แม้กระทั่งธุรกิจขนาดเล็กในอุตสาหกรรมที่แตกต่างจากโตโยต้าโดยสิ้นเชิง
 
  • “วิสาหกิจข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์” คือตัวอย่างการนำไคเซ็นมาปรับใช้พัฒนาธุรกิจ จนสามารถแก้ปัญหาการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ และลดของเสียได้สำเร็จ จนกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่พร้อมส่งต่อแนวคิดและวิธีการให้กับ SME ในภูมิภาคต่อไป



 
     ลองนึกภาพกระบวนการบริหารจัดการการผลิตในองค์กรใหญ่อย่างโตโยต้าที่สามารถสร้างผลลัพธ์ออกมาในระดับมาตรฐานโลก วันหนึ่งวิถีและวิธีคิดแบบฉบับองค์กรใหญ่ขนาดนั้นจะถูกนำมาปรับใช้ในการผลิต “ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์” วิสาหกิจชุมชนเล็กๆ ในจังหวัดขอนแก่น ภายใต้โครงการ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ให้สามารถพัฒนาธุรกิจได้ก้าวไกล ทั้งยังยกระดับกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อีกด้วย


 

     “ปัญหาที่เราเจอมีเยอะมาก ตั้งแต่การปั้นข้าวแล้วติดมือ แผ่นข้าวไม่ได้มาตรฐาน เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง โรยน้ำตาลโยนทำให้ขนมแตกหัก ไม่มีการวางแผนรับงาน ไม่มีการวางแผนสต็อกแผ่นดิบ ไม่มีการเช็กสต็อกสินค้า ไม่มีการตรวจคุณภาพ สรุปคือไม่มีระบบการจัดการที่ดี ส่งงานล่าช้า ผิดนัดลูกค้า” สายทิพย์ ลามา ประธานกลุ่มวิสาหกิจ ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ บอกเล่าปัญหาตลอดการทำธุรกิจเล็กๆ ในชุมชนมาเกือบ 10 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งธุรกิจในปี พ.ศ.2541 จากความตั้งใจดีที่อยากให้ชุมชนมีรายได้เสริม เธอชักชวนเพื่อนฝูงในหมู่บ้านมาทำข้าวแตนจากวัตถุดิบในชุมชนที่มีอยู่แล้วใกล้ตัวอย่างข้าวเหนียว แล้วใส่ส่วนผสมที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นคือ ใช้สมุนไพรที่ชื่อว่า ใบเถากระพังโหมแทนผงฟู ทำให้ลูกหลานและคนซื้อได้รับประทานขนมที่ปลอดสาร และเป็นการเพิ่มมูลค่าข้าวให้มีราคาสูงขึ้นจากราคาขายข้าวเปลือกกิโลกรัมละ 10 บาท เมื่อแปรรูปแล้วสามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละ 200-250 บาทเลยทีเดียว





     เมื่อมีฝีมือและภูมิปัญญา แต่ยังขาดความรู้ด้านการบริหารจัดการทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาเดิมๆ ซ้ำๆ มาตลอดระยะเวลาหลายปี จนกระทั่งโตโยต้าอาสา ยกทีม “ป๋า” เข้ามาช่วยเหลือ 


     ป๋า คือ บุคลากรโตโยต้าที่เกษียณอายุแล้ว แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ในไลน์ผลิตและการพัฒนาธุรกิจ ทั้งด้านการพัฒนาคุณภาพคนและกระบวนการผลิต พวกเขารวมตัวกันอาสามาเป็นพี่เลี้ยงค้นหาต้นตอของปัญหาในการทำธุรกิจ และร่วมกับคนในชุมชนคิดค้นกระบวนการแก้ไข




     สุปรียา ไม้มณี ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และกิจกรรมสังคม บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เล่าให้ฟังถึงแนวคิดการพาทีมป๋าลงพื้นที่ ผ่านโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ว่า “เราเล็งเห็นว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กหลายธุรกิจไม่สามารถไปต่อได้ หรือบางส่วนล้มหายตายจากไป เราจึงคิดว่าเมื่อเรามีองค์ความรู้เรื่องการพัฒนาคน พัฒนากระบวนการผลิตที่สามารถผลิตรถคุณภาพขึ้นมาได้ ก็น่าจะเอามาใช้พัฒนาธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ได้ โดยหัวใจหลักที่โตโยต้าต้องการแนะนำคือ การทำให้ทุกธุรกิจสามารถมองเห็นปัญหาในธุรกิจของตัวเองและหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม อันนำมาซึ่งการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลกำไร และสามารถปรับปรุงพัฒนาธุรกิจของตัวเองได้อย่างต่อเนื่องไม่มีสิ้นสุด”




     ทีมป๋าถ่ายทอดจิตวิญญาณแห่งไคเซ็น (KAIZEN Spirit) ให้กับคนในชุมชน ซึ่งเป็นวิถีการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผ่านแนวความคิด 4 ประการ คือ รู้-เห็น-เป็น-ใจ 


     เริ่มจาก “รู้” คือ รู้ปัญหาที่เกิดขึ้นว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริง “เห็น” คือ เห็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาว่าเกิดที่กระบวนการหรือขั้นตอนไหน จากนั้น  “เป็น” คือ ลงมือแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองให้เป็น โดยวางแผนการผลิตทุกจุดอย่างเป็นระบบ และสุดท้าย “ใจ” คือ สิ่งสำคัญที่คนทำงานจะต้องเปิดใจและใส่ใจในการดำเนินงาน จึงจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรม 




     ทุกกระบวนการทำงานของโตโยต้าสามารถนำมาปรับใช้ได้กับธุรกิจเล็กได้ทั้งหมด เพราะหัวใจของระบบการผลิตแบบโตโยต้าคือ การผลิตสินค้าให้เสร็จตามคุณภาพมาตรฐานในเวลาที่สั้นที่สุด และพัฒนาให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นการเพิ่มกำไรผ่านการลดต้นทุนในกระบวนการผลิต 


     กลุ่มวิสาหกิจข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์นำแนวคิดที่ว่ามาใช้แก้ปัญหา เช่น ใช้แม่พิมพ์แทนการปั้นแผ่นข้าวแตน จึงได้แผ่นที่ได้มาตรฐานเท่ากันทุกแผ่นและไม่แตกหักง่าย รวมถึงมีการวางแผนการจัดการธุรกิจ อย่าง การสต็อกแผ่นข้าวแตนดิบทำให้มีวัตถุดิบเพียงพอกับความต้องการของลูกค้า


     “ป๋าๆ เขามาในลักษณะเอาองค์ความรู้ แนวความคิด และนวัตกรรมทางความคิดมาสอนให้แม่บ้านเอาไปต่อยอด แต่ก่อนเราไม่เคยตรวจคุณภาพของสินค้า แต่ตอนนี้ข้าวแตนของเรามีการตรวจสอบคุณภาพทุกชิ้นก่อนส่งมอบให้ลูกค้า มีการวางระบบจัดส่งทำให้ส่งของได้ตรงตามเวลาลูกค้าพึงพอใจ เราเอาระบบการไคเซ็นมาใช้ในกระบวนการผลิต ทำให้เราลดต้นทุน เพิ่มกำไร ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความสุขอย่างยั่งยืน” สายทิพย์ขยายความให้เห็นภาพชัดขึ้น




     นอกเหนือไปจากการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานได้ ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ยังพัฒนาต่อเนื่อง โดยพยายามคิดสูตรใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า ขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่เป็นศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 2 ต่อจากกลุ่มตัดเย็บเสื้อโปโล ฮาร์ท โอทอป จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งได้รับคัดเลือกจากวิสาหกิจชุมชนในโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์กว่า 30 แห่ง และยังจะดำเนินโครงการต่อเนื่องไปทุกปี 
SME ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ www.toyota.co.th และแจ้งความจำนงขอเข้าร่วมโครงการโดยติดต่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์โตโยต้าในพื้นที่ได้  




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย