แกะรอย “แดรี่ โฮม” นมออร์แกนิกเจ้าแรกของไทยที่ยืนหยัดบนวิถีอินทรีย์มากว่า 20 ปี




Main Idea

 
  • จากกระแสการบริโภคของผู้คนยุคใหม่ที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ทำให้กลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ ปลอดสารพิษ สินค้าออร์แกนิก ดูจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นตามมา
 
  • แต่เคยรู้ไหมว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ได้นั้นไม่ง่ายเลย เหมือนเช่นเส้นทางของ “แดรี่ โฮม” นมออร์แกนิกเจ้าแรกของไทยที่ยืนหยัดต่อสู้มานานกว่า 20 ปีด้วยความเชื่อที่ว่าอยากให้คนไทยได้ดื่มนมดีๆ  
 
  •  ลองมาอ่านวิธีคิด ค้นลึกวิธีทำของ “พฤฒิ เกิดชูชื่น” ผู้ชายที่สร้างอาณาจักรฟาร์มโคนมออร์แกนิกให้เกิดขึ้นในเมืองไทยด้วยตัวคนเดียวเพียงลำพัง จนวันนี้มีผู้เล่นรายใหญ่เล่นรายใหญ่เข้ามาลงแข่งขัน ช่วยขยายตลาดนมออร์แกนิกให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นกัน
 

 

     จากข่าวการแบน 3 สารเคมีเกษตรของไทย ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส ที่มีมติยกเลิกการนำมาใช้งานเนื่องจากเป็นวัตถุอันตราย ที่หลายคนมองว่าอาจส่งผลกระทบเชื่อมโยงมาสู่ประเด็นการเมืองระหว่างประเทศในการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ GSP กับสินค้าไทยกว่า 573 รายการจากสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ไม่มีใครรู้ความจริงในข้อนี้ แต่ที่แน่ๆ คือ ได้ทำให้หลายคนหันมาตระหนักให้ความสำคัญกับวิถีเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งในประเทศเรามีผู้ประกอบการหลายคนที่เลือกใช้วิถีเกษตรอินทรีย์ในการทำธุรกิจ หนึ่งในนั้นมีชื่อของ “แดรี่ โฮม” แบรนด์นมออร์แกนิกเจ้าแรกของไทยที่ก่อตั้งมานานกว่า 20 ปี รวมอยู่ด้วย
 

     “แดรี่ โฮมเกิดขึ้นจากความตั้งใจของเราที่จะผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด จากกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด ดังนั้นน้ำนมของเราจึงมาจากฟาร์มโคนมที่เลี้ยงระบบอินทรีย์ ที่ไม่มีการใช้สารเคมีเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและแม่โค” นี่คือ ปณิธานที่ พฤฒิ เกิดชูชื่น ผู้ปลุกปั้นแบรนด์นแดรี่ โฮม ได้กล่าวไว้บนหน้าเว็บไซต์ของ        แบรนด์ ซึ่งกว่าจะต่อสู้และยืนหยัดทำธุรกิจมาจนถึงทุกวันนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย และนี่คือกลยุทธ์ที่ทำให้เขาเปลี่ยนจากความเชื่อให้กลายเป็นจริงขึ้นมาได้ ลองมาดูแนวคิดทำเกษตรอินทรีย์ให้ ‘โต’ และ ‘รอด’ แบบแดรี่ โฮมกัน
 




สร้างตลาดให้แข็งแกร่ง มุ่งให้ความรู้สู่ผู้บริโภค
               

     ก่อน หรือหลังจากเปิดตัวสินค้าให้เป็นที่รู้จัก สิ่งที่แดรี่ โฮม ทำมาตลอดจนถึงทุกวันนี้ ก็คือการให้ความรู้กับผู้บริโภคถึงคุณค่าของนมออร์แกนิก เพราะเมื่อผู้บริโภคมีความเข้าใจในผลิตภัณฑ์มากขึ้น ก็ย่อมส่งผลให้ตลาดเติบโตขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในส่วนนี้พฤฒิ มองว่า รัฐบาลควรมีส่วนมาช่วยผลักดัน สร้างการรับรู้ในการบริโภคสินค้าออร์แกนิกหรืออินทรีย์แก่ผู้บริโภคให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากสามารถทำได้ราคาสินค้าก็จะถูกลง ตลาดก็จะขยายใหญ่ขึ้น เกษตรกรก็สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ไม่เป็นหนี้ ไม่ถูกกดราคา สามารถพึ่งพาตนเองได้
               

     “สิ่งหนึ่งที่ขาดสำหรับเมืองไทยในตอนนี้ คือ เรามีการส่งเสริมให้ผลิตสินค้าอินทรีย์หรืออร์แกนิก แต่ยังขาดการสร้างการรับรู้ที่จริงจัง ซึ่งตรงนี้ผู้ประกอบการรายย่อยเอง อาจไม่มีทุนพอที่จะทำโฆษณาหรือประกาศออกไปได้ในวงกว้าง รัฐบาลจึงต้องเข้ามามีส่วนช่วยในตรงนี้ ซึ่งถ้าจะเริ่มต้นผมอยากให้ลองกินข้าวออร์แกนิกก่อน เพราะเป็นอาหารหลักของคนไทย วันหนึ่งเมื่อเขากินข้าวออร์แกนิกแล้ว ไม่มีทางที่เขาจะเลือกดื่มนมที่เลี้ยงโดยใช้สารเคมี หรือกินผักที่ปลูกด้วยปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงแน่นอน ซึ่งถ้ามีกลุ่มคนแบบนี้เยอะขึ้น ราคาสินค้าออร์แกนิกก็จะถูกลงตามไปด้วย ตลาดก็เติบโตขึ้น เกษตรกรก็สามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่ต้องเป็นหนี้สิน”
 




สร้างฟาร์มต้นแบบ กระจายองค์ความรู้
               

     ในอีกด้านหนึ่งของการจะขยายสินค้าให้เติบโตได้ นอกจากกระตุ้นตลาดให้เกิดความต้องการเพิ่มมากขึ้นแล้ว การสร้างฐานการผลิตให้มากขึ้น ก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน นอกจากลงมือทำเองคนเดียว พฤฒิใช้วิธีสร้างฟาร์มต้นแบบขึ้นมาในแต่ละพื้นที่เพื่อกระจายองค์ความรู้ออกไป เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาทำเกษตรอินทรีย์ เลี้ยงโคนมแบบออร์แกนิกเพิ่มมากขึ้น


     “นอกจากมีฟาร์มของตัวเอง เรายังมีฟาร์มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกอีกในหลายพื้นที่ ซึ่งเขาไม่ได้อยู่รวมกันเป็นกระจุก แต่กระจายออกไปตามจุดต่างๆ อาทิ ปากช่อง ลพบุรี มวกเหล็ก หนองย่างเสือ มวกเหล็กใน ฯลฯ ฉะนั้นฟาร์มเหล่านี้ คือ ฟาร์มต้นแบบที่ช่วยเผยแพร่องค์ความรู้เกษตรอินทรีย์ให้กว้างขวางขึ้น จนในที่สุดก็จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  และสามารถเชื่อมต่อกันได้ โดยที่เราจะได้นมออร์แกนิกเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่เขาได้ทันทีเลย คือ ตัวเขาเอง  ฟาร์มได้พึ่งพาตนเอง ได้ลดต้นทุน ระบบนิเวศดีขึ้น ตัวเองสุขภาพดีขึ้น วัวสุขภาพดีขึ้น นมขายได้ราคาดีขึ้น เพราะคุณภาพเพิ่มขึ้น การทำนมแบบออร์แกนิกอาจทำให้ผลผลิตลดลง 30 - 40 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราไม่ได้ใช้สารเร่ง แต่ราคาที่ขายได้ดีกว่าแน่นนอน อย่างนมธรรมดาเราอาจได้กำไรลิตรละ 4 บาท แต่ถ้าเป็นนมออร์แกนิกเราสามารถขายได้ราคาและได้กำไรเพิ่มขึ้นมาถึงลิตรละ 10 บาทเลยทีเดียว แถมยังช่วยต้นทุน ไม่ต้องไปซื้อสารเคมีมาใช้ เกษตรกรแฮปปี้ ผู้บริโภคก็แฮปปี้ ทุกฝ่ายได้เหมือนกันหมด”
 




เพิ่มยอดขาย เพิ่มผลผลิต หาพันธมิตรมาช่วยรับซื้อ

               

     เมื่อให้ความรู้กับผู้บริโภคมากขึ้นและสร้างฐานการผลิตที่ดีแล้ว อีกสิ่งที่ผู้บริหารแดรี่ โฮมพยายามทำเพื่อช่วยให้ตลาดนมออร์แกนิกสามารถเติบโตและขยายต่อไปได้ คือ การเข้าไปช่วยหาพันธมิตรหรือคู่ค้ามาช่วยรับซื้อผลิตผลจากเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมให้หันมาทำฟาร์มโคนมแบบออร์แกนิก ทำให้ตลาดสามารถรันต่อไปได้เรื่อยๆ


     “จริงๆ ที่ทำตรงนี้เราไม่ได้อยากผูกขาดหรือทำคนเดียว แต่เราอยากส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนมาทำกันเยอะๆ โดยเราไม่กังวลเลยว่าเขาต้องขายเราแค่เจ้าเดียว ใครก็สามารถติดต่อเข้ามาซื้อที่เกษตรกรได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านเรา เราแค่อยากทำหน้าที่เชื่อมประสานและเป็นผู้ดูแลอยู่ห่างๆ เท่านั้น อย่างน้อยก็เพื่อไม่ให้เขาโดนเอาเปรียบ โดย ณ ตอนนี้เรา คือ ผู้กำหนดราคามาตรฐานของนมออร์แกนิกของไทย”
 




ทำระบบให้น่าเชื่อถือ ตรวจสอบได้
               

     ในเมื่อเลือกที่จะผลิตสินค้าที่ดีต่อสุขภาพและปลอดภัยจากสารเคมีเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคแล้ว อีกสิ่งที่จะช่วยสร้างให้เกิดความมั่นใจได้ ก็คือ การสร้างระบบที่มีมาตรฐาน สามารถตรวจสอบและรับรองจากหน่วยงานหรือผู้เชี่ยวชาญได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นอีกข้อที่ผู้บริหารแดรี่ โฮมให้ความสำคัญ
               

     “เราไม่สามารถดูได้ด้วยตาเปล่าว่า นี่คือ นมออร์แกนิกหรือไม่ แม้แต่การนำมาตรวจสอบก็ไม่สามารถรู้ได้ชัด แต่สิ่งที่จะทำให้รู้ได้ คือ การตรวจสอบระบบกระบวนการผลิต การเลี้ยงต่างๆ ซึ่งต้องทำมาตั้งแต่ต้นทาง ดูตั้งแต่อาหารที่ใช้ว่า เป็นออร์แกนิกหรือไม่ มีการใช้ยาฆ่าแมลง หรือปุ๋ยเคมีในฟาร์มหรือเปล่า ทุกอย่างต้องถูกบันทึก ซึ่งตรงนี้เรามีการตรวจสอบฟาร์มเครือข่ายอยู่เป็นประจำ โดยทุกปีจะมีเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์เข้ามาตรวจปีละ 2 ครั้ง แต่เราจะเข้าไปตรวจเองด้วยทุกเดือน ดังนั้นจึงค่อนข้างมั่นใจได้ว่านมที่เข้ามาที่เราเป็นออร์แกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์ และที่สำคัญ คือก่อนเข้าระบบ เราจะคัดคนที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความคิดไปในทิศทางเดียวกับเรา ซึ่งถ้าได้ตามนี้แล้ว เขาก็จะปฏิบัติตามอย่างไม่มีซิกแซก ไม่มีข้อแม้” พฤฒิบอก
 



ขยายตลาดโต ต้องดึงผู้เล่นรายใหญ่มาลงสนามด้วย


     ในตลาดที่ยังมีขนาดเล็ก ปริมาณความต้องการของผู้บริโภคไม่มากพอ สิ่งที่พฤฒิมองว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นตลาดให้เติบโตเพิ่มมากขึ้นได้ ก็คือการเข้ามาแข่งขันของผู้เล่นให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้เล่นรายใหญ่ที่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในตลาดได้


     “เดิมเราเป็นเจ้าเดียวในไทยที่ทำนมออร์แกนิก แต่ทุกวันนี้เริ่มมีผู้เล่นรายใหญ่ลงมาเล่นด้วยแล้ว เช่น ไทยเดนมาร์ก ผมมองว่าเกษตรอินทรีย์ หรือออร์แกนิก คือเมกะเทรนด์ของโลกที่กำลังมา ซึ่งการที่เราจะทำให้มันเกิดได้เร็วขึ้น ก็อาจต้องอาศัยผู้เล่นรายใหญ่ให้เขาเข้ามาช่วยกระจายสินค้า ทำสินค้าให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคได้กว้างขึ้น เรามองว่ายิ่งมีการแข่งขัน จะยิ่งทำให้ตลาดบูม มีคนสนใจเพิ่มมากขึ้น รู้จักนมออร์แกนิกได้มากขึ้น เพราะแดรี่ โฮมเองเราเป็นส่วนที่เล็กมากคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่ให้เกิดขึ้นได้ในเวลารวดเร็ว ทุกวันนี้ในฝั่งยุโรปรู้จักและมีการบริโภคนมออร์แกนิกแล้วกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ของไทยยังไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ ไม่ใช่แค่นมนะ แต่คือสินค้าออร์แกนิกทุกอย่าง ตั้งแต่ข้าว ผัก จนถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพราะเรายังไม่เห็นถึงคุณค่า และให้ความสำคัญกับตรงนี้น้อยเกินไป ซึ่งความจริงแล้วหากสามารถทำได้ มันสามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้บริโภคเองด้วย” พฤฒิ กล่าวในตอนท้าย
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย