ฉัตรชัย วชิระเธียรชัย เด็กขับเวสป้าส่งของที่ต้องออกจากมหาลัยกลางคันสู่ธุรกิจเครื่องปรุงร้อยล้าน!

TEXT :  กองบรรณาธิการ
PHOTO : ปกรณ์ พลชัย





Main Idea

 
  • จากเด็กหนุ่มวัย 18 ปี ที่ต้องออกจากมหาวิทยาลัยกลางคัน เพื่อมาเป็นเสาหลักของครอบครัวแทนผู้เป็นพ่อที่เสียชีวิตลง มีวุฒิติดตัวแค่ ม.6 และไม่เคยมีชีวิตวัยรุ่นที่สนุก วันนี้เขาคือเจ้าของ เอื้ออารี ฟู้ด โปรดักท์  ธุรกิจพริก กระเทียมร้อยล้าน ที่ป้อนโรงงานอุตสาหกรรม และร้านอาหารเชนต่างๆ ทั่วประเทศ
 
  • หาก เอื้ออารี ฟู้ด เปรียบเสมือนครอบครัว  องค์กรก็คือคุณแม่ของเขา แบรนด์ Yamu ก็คือลูกชายคนโต หรือพี่ชายของเขา ส่วน Pepperr-G  ก็คือตัวเขา น้องชายที่เลือกเสียสละตัวเอง และนำพาครอบครัวเล็กๆ มาสู่ความสำเร็จได้ในวันนี้



     การจะเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ทำยอดขายระดับร้อยล้านได้นั้น ต้องมีคุณสมบัติแบบไหน?
               

     เกิดมาในตระกูลที่ดี มีการศึกษาสูงๆ เฉลียวฉลาดเป็นอัจฉริยะ หรือมีต้นทุนชีวิตที่ดีกว่าคนอื่น


     ถ้าได้รู้จักกับชายที่ชื่อ “ฉัตรชัย วชิระเธียรชัย” กรรมการผู้จัดการบริษัท เอื้ออารี ฟู้ด โปรดักท์ จำกัด คุณอาจจะเปลี่ยนความคิดนั้น...
               




     ฉัตรชัยเกิดมาในครอบครัวที่ทำพริกแกง พริกป่น พริกดอง ขายอยู่ตรงปากคลองตลาด ตอนอายุประมาณ 11 ขวบ เขาและพี่ชายต้องตื่นตี 5 เพื่อเข็นรถไปรับของแถวริมคลองหลอดมาขายที่ปากคลองตลาด พออายุ 15 ก็เริ่มขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งของ เรียกว่าทำงานทุกอย่างที่กำลังของเด็กคนหนึ่งพอจะช่วยเหลือครอบครัวได้
           

     จนอายุ 18 ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 ก็ต้องพบกับข่าวร้ายเมื่อคุณพ่อผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็ง เขาตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อทำหน้าที่แทนพ่อผู้จากไป โดยมีวุฒิติดตัวแค่ ม.6 ไม่เคยมีชีวิตวัยรุ่นที่สนุก เพราะทุกวันต้องตื่นตี 5 ไปส่งของ รับออร์เดอร์มาจัดของส่งให้ลูกค้า เข็นของเอง วันไหนที่ต้องโม่พริกกับลูกจ้างก็ทำงานจนถึงตี 1 ตี 2
               

     จากขายพริกป่นพริกดอง ก็เริ่มมาทำข้าวคั่วขาย ทำอยู่นานเกือบ 10 ปี จึงขยับมาขายกระเทียม หลังได้ห้องแถวทำเลดีใกล้ปากคลองตลาดมาขยายธุรกิจ เริ่มจากรับกระเทียมจากแถวทรงวาดมาขายต่อ จากนั้นก็ค่อยๆ ขยับมารับตรงจากพ่อค้าคนกลาง ก่อนไปรับตรงจากไร่ด้วยปริมาณที่มากขึ้น แล้วเริ่มขายให้กับโรงงานผลิตเครื่องแกง ก่อนขยับไปเป็นอุตสาหกรรมผลิตอาหารสำเร็จรูปในเวลาต่อมา โดยทำทั้งกระเทียมสด กระเทียมปอกเปลือก กระเทียมบด และกระเทียมเจียวส่งให้กับโรงงานอุตสาหกรรม และเชนร้านอาหารต่างๆ
               

     กลยุทธ์ที่คนจบม.6 ใช้ เพื่อให้โรงงานขนาดใหญ่ยอมรับในสินค้าและเดินมาหาเขา คือการทำสินค้าให้เป็นที่รู้จักและชื่นชอบของผู้บริโภคปลายทางเสียก่อน  โดยเริ่มจากทำแบรนด์ของตัวเองในชื่อ เปปเปอร์-จี (Pepperr-G) และยามุ (Yamu) ออกมา เพื่อสื่อสารให้คนรู้ว่า เอื้ออารี ฟู้ด ไม่ได้ทำแค่กระเทียมอย่างเดียว แต่ยังมีสินค้าที่เป็นนวัตกรรมอีกด้วย  โดยวางตัวเองเป็นผู้ผลิตสินค้าเครื่องปรุงรสคุณภาพระดับสากลโดยใช้นวัตกรรม ตั้งเป้าเป็นที่รู้จักทั้งตลาดไทยและตลาดโลกภายใน 5 ปี
                 




     วันนี้เอื้ออารี ฟู้ด โปรดักท์ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นธุรกิจร้อยล้าน ทั้งที่เจ้าของจบแค่ ม.6 และไม่เคยมีความรู้ในเรื่องการทำธุรกิจมาก่อน เขาบอกว่าแรกๆ ก็ทำไปแบบไม่มีทิศทาง รู้แค่ว่าจะผลิตสินค้า แต่ไม่เคยคิดว่าลูกค้าจะเป็นใคร แต่เวลานี้เขาเริ่มรู้จักวางแผนตลาด คิดตั้งแต่ สินค้าตัวนี้มีจุดเด่นอะไร จะไปขายใคร ขายที่ไหน


      แม้จะเริ่มจากไม่มีความรู้ แต่ฉัตรชัยก็ไม่ได้ปิดโลกของตัวเอง เขาเริ่มไปหาความรู้เพิ่ม ด้วยการเข้าคอร์สเรียนเสริมต่างๆ เขาบอกว่า แรกๆ ก็มีมึนบ้างเพราะต้องเจอศัพท์แสงการตลาดที่ฟังไม่เข้าใจ แต่พอเรียนไปๆ ก็ชักไปไวกว่าคนอื่น เพราะสิ่งที่เขามีคือ “ประสบการณ์จริงในการทำธุรกิจ” และการรู้ทฤษฎีเพิ่มก็สอนให้รู้จักจัดระเบียบความคิด รู้วิธีสื่อสารและทำงานเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น เพื่อเดินตรงไปสู่เป้าหมายได้แม่นยำขึ้นนั่นเอง





      พอมาเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้จึงทำให้เข้าใจว่า สิ่งที่เขาทำตลอดที่ผ่านมา ก็คือหลักการตลาดเช่นกัน เพียงแต่คนไม่มีความรู้เรียกชื่อมันไม่ถูกเท่านั้น
                 

     เมื่อมีคนถามว่า เอื้ออารี ฟู้ด เป็นใคร ฉัตรชัยจะบอกทุกคนไปว่า แม่ของเขาชื่ออารี เพราะฉะนั้นสินค้าทุกตัวที่ทำออกมาจึงต้องการสื่อถึงแม่ที่ปรารถนาดีต่อลูก เหมือนอาหารที่แม่ปรุงให้ลูกกิน ทำให้ลูกกินอย่างไร ก็ทำสินค้าออกมาอย่างนั้น


      โดยหาก เอื้ออารี ฟู้ด เปรียบเสมือนครอบครัว  องค์กรก็คือคุณแม่ แบรนด์ Yamu ก็คือลูกชายคนโต หรือพี่ชายของเขา ส่วน Pepperr-G  ก็คือตัวเขา
               

      น้องชายที่เลือกเสียสละตัวเองเมื่อวัยเพียง 18 ปี และนำพาครอบครัวเล็กๆ มาสู่ความสำเร็จในวันนี้นั่นเอง  
 
 


               
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย