เปิดกลยุทธ์สุดแซ่บ ผู้พลิกธุรกิจบ้านๆ ให้ทะยานสู่ร้อยล้านในสิบปี

Text : พิมพ์ใจ พิมพิลา





Main Idea
 
  • ใครจะคิดว่าคนที่ไม่เคยทำร้านอาหารมาก่อน แค่เริ่มจากความชอบและหลงใหลในอาหารอีสาน และเห็นว่าในอนาคตจะโกอินเตอร์กับเขาได้ เลยลองมาเปิดร้านส้มตำที่มีรสชาติและหน้าตาเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองดู วันหนึ่งจะกลายมาเป็นธุรกิจร้อยล้านขึ้นมาได้
 
  • เรากำลังพูดถึง “บ้านส้มตำ” ธุรกิจร้านอาหารอีสานที่อยู่ในสนามมานาน 14 ปี พกพาความเป็นอีสานต้นตำรับมาเสิร์ฟลูกค้าทั่วกรุงเทพและปริมณฑล ด้วยความอร่อยที่มาพร้อมบรรยากาศเหมือนนั่งกินข้าวอยู่ที่บ้าน จนอยากกลับมาเยือนอีกบ่อยครั้ง
 
  • กว่าจะมาเป็นบ้านส้มตำที่มียอดขายถึง 300 ล้านบาทในวันนี้ ต้องผ่านการคิดค้น พัฒนา และสร้างสรรค์มาอย่างหนักเพื่อส่งมอบความสุขที่มาพร้อมความอร่อยให้กับลูกค้า และในปี 2563 ที่หลายคนยังหวาดหวั่นกับเศรษฐกิจ แต่บ้านส้มตำกลับตั้งเป้าที่จะขยายสู่ 10 สาขา พร้อมทำรายได้ทะยานสู่ 500 ล้านบาท



      อาหารอีสานเป็นอาหารที่มาพร้อมกับความสนุก ความแซ่บ ความนัว กินได้ทุกมื้อ ทุกงานสังสรรค์ เป็นธุรกิจที่เปิดได้ทุกภาคทุกจังหวัด และหลายร้านก็ประสบความสำเร็จ มีลูกค้าติดอกติดใจให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง
แต่ถามว่าจะมีสักกี่ร้าน ที่ทำรายได้แตะระดับร้อยล้านบาท!


     ท่ามกลางร้านอาหารอีสานที่มีอยู่มากมาย ตั้งแต่ในห้างสรรพสินค้า ร้านแบบสแตนด์อโลน หรือแม้แต่รถเข็นริมทาง มีร้านอาหารแห่งหนึ่งชื่อ บ้านส้มตำ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 14 ปีก่อน ปัจจุบันพวกเขาสามารถขยายมามี 8 สาขา ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล และประสบความสำเร็จด้วยยอดขายแตะ 300 ล้านบาท!





     เบื้องหลังความไม่ธรรมดาคือผู้หญิงเก่งที่ชื่อ “สุภาพร ชูดวง”  ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท บ้านส้มตำ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของร้าน “บ้านส้มตำ” ที่คออาหารอีสานคุ้นเคยดี เธอบอกจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจให้ฟังว่า ไม่เคยเปิดร้านอาหารมาก่อน อาศัยแค่ความชอบและหลงใหลในเสน่ห์ของอาหารอีสาน ทั้งยังมองว่ามีโอกาสที่จะไปสู่ตลาดอินเตอร์ได้ในอนาคต จึงเริ่มมาทำธุรกิจนี้ โดยใช้ชื่อว่า “บ้านส้มตำ”






     “คำว่าบ้านส้มตำ มาจาก 3 เรื่องด้วยกัน นั่นคือ หนึ่งความเป็นผู้เชี่ยวชาญ (Specialist) ด้านส้มตำ โดยเราจะรวมส้มตำที่หลากหลายมาไว้ที่นี่ ซึ่งตอนนี้เรามีเมนูส้มตำมากถึงกว่า 20 เมนู สองการเป็นโฮมเมด (Homemade) เหมือนการทำอาหารกินที่บ้านเรา ซึ่งเราจะเลือกแต่สิ่งที่ดีให้กับคนที่เรารัก เพราะฉะนั้นวัตถุดิบต่างๆ ที่เข้ามาสู่บ้านส้มตำก็จะเป็นสิ่งที่เราคัดสรรมาแล้วว่าดี สุดท้ายคือคำว่า บ้าน ก็คือการเหมือนได้กลับมาพักพิงกับคนที่เรารัก เพื่อน ครอบครัว เพราะฉะนั้นการออกแบบร้านบ้านส้มตำ เราจึงเน้นการเป็นบ้าน เน้นพื้นที่สีเขียวที่จะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า เหมือนบ้านของเราที่จะได้กลับมาสนุกกับเพื่อนๆ หรือว่าคนที่รัก” สุภาพรเล่าความหมายที่ซ่อนอยู่ในชื่อร้าน


     ด้วยความที่เมนูส้มตำเป็นอาหารที่เรียบง่าย มีขายในทุกที่ เรียกว่าถ้าไม่มาที่นี่ก็ไปซื้อที่อื่นได้ ฉะนั้นพวกเขาจึงให้ความสำคัญกับการรังสรรเมนูอาหารแต่ละจาน ให้คงรสชาติและหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์ ใส่ใจในการทำกระทั่งการคัดสรรวัตถุดิบที่เน้นวัตถุดิบที่ดีที่สุดและมาจากแหล่งกำเนิด เช่น น้ำตาลปิ๊บที่เป็นส่วนผสมหลักของส้มตำที่ใช้ของ จังหวัดสมุทรสงคราม และเป็นน้ำตาลปี๊บแท้เท่านั้น โดยบ้านส้มตำได้เข้าไปสนับสนุนและส่งเสริมชุมชนผู้เป็นแหล่งผลิตน้ำตาลปี๊บอันขึ้นชื่อของอัมพวา ทำการศึกษาและทำโรงงานผลิตน้ำตาลปี๊บที่มาจากธรรมชาติโดยร่วมมือกับชาวบ้านเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชน และส่งเสริมให้ธุรกิจบ้านส้มตำก้าวหน้าไปได้ในอนาคตอย่างมั่นคง
นอกจากนี้วัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของอาหารแต่ละจาน ยังผ่านการชั่งตวงทั้งหมด มีครัวกลางคอยจัดส่งวัตถุดิบสู่สาขาต่างๆ เพื่อรักษามาตรฐานของอาหารให้คงไว้




     “การทำธุรกิจบ้านส้มตำมีอยู่ 3 ปัจจัย อย่างแรกเป็นเรื่องของรสชาติที่ต้องตรงตามมาตรฐานในทุกสาขา แม้กระทั่งเสียงและจังหวะในการตำก็จะต้องมีมาตรฐานเดียวกันด้วย ซึ่งส่งผลให้รสชาติดีจนติดปากและสามารถทานได้ในสาขาใกล้ๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ส่วนการรักษามาตรฐานอาหารของบ้านส้มตำ คือการที่เรามีครัวกลางเป็นพื้นที่ในการคิดค้น พัฒนาและสร้างสรรค์ในทุกเมนูเพื่อที่จะควบคุมคุณภาพของอาหารในทุกสาขา รวมไปถึงการคัดเลือกวัตถุดิบเพื่อส่งไปในสาขาต่างๆ ตลอดจนมาตรฐานการบริการที่มีการฝึกฝน อบรม พนักงานให้มีมาตรฐานการดูแลลูกค้าที่ดีในรูปแบบเดียวกัน นอกจากนั้นเรายังมีการสนับสนุนการทำงานเป็นทีมและให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน อย่างการดูแลคุณภาพชีวิต สวัสดิการหรือการเลี้ยงสังสรรค์ที่บ้านส้มตำได้มอบให้กับพนักงานทุกคนอีกด้วย” เธอบอกเบื้องหลังมาตรฐานในแบบบ้านส้มตำที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน






     ทุกเมนูของทางร้านคิดค้นขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ “ส่งมอบอาหารที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า” ที่มาของหลายเมนูเด็ดซึ่งอยู่ในความนิยมชมชอบ โดยเฉพาะเมนู “ตำหลวงพระบาง”  ที่เปิดขายเป็นเจ้าแรกๆ ในประเทศไทย ซึ่งนับถึงวันนี้พวกเขาสามารถขายไปได้แล้วถึง 2 ล้านจาน ในระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา


     ในส่วนของการดีไซน์ร้านในแต่ละสาขาของร้านบ้านส้มตำ จะเน้นพื้นที่สีเขียว โดยบางสาขามีพื้นที่สีเขียวถึงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ และพื้นที่ร้านอาหารเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อต้องการให้บ้านส้มตำเป็นพื้นที่อิสระสามารถผ่อนคลายเหมือนอยู่บ้านที่ทุกคนสามารถมาใช้เวลาร่วมกันได้





     วันนี้บ้านส้มตำมีทั้งหมด 8 สาขา ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล โดยมีแผนจะขยายสาขาในปีหน้าเป็น 10 สาขา ซึ่งนับเป็นการลงทุนในสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นความเสี่ยง แต่เธอกลับบอกว่า การลงทุนของบ้านส้มตำนั้น จะยึดหลักความพอเพียง และทำในกำลังของตัวเองเท่านั้น จะไม่ทำอะไรที่เกินตัว


     “ในการลงทุนทุกๆ ด้าน เราจะทำเท่าที่กำลังของเราจะสามารถดูแลได้ โดยเราจะยืนบนขาของเราเอง ซึ่งการเติบโตแบบนี้มันมั่นคงและยั่งยืนมากกว่า ถามว่าในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้การขยายสาขาของเราจะเป็นการลงทุนสวนกระแสกับคนอื่นหรือเปล่า อยากบอกว่าเราไม่ได้ทำอะไรเกินตัว แต่บ้านส้มตำทำในสิ่งที่คิดว่าจะทำได้ ซึ่งทำเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า และการลงทุนของเราไม่ได้ยืนอยู่บนความเสี่ยง” เธอย้ำ





     เพราะการทำธุรกิจอย่างมีแผน และเติบโตขึ้นมาด้วยกำลังขาของตัวเอง ให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐาน ทั้งในเรื่องของรสชาติและการบริการ ที่คำนึงถึงสิ่งที่ดีที่สุดที่จะมอบให้แก่ลูกค้า ทั้งยังคิดถึงสังคมส่วนร่วม ทำให้ธุรกิจบ้านส้มตำ ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าที่จะไปสู่ยอดขาย 500 ล้านบาทในปีหน้า





     แนวคิดเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่ SME ในทุกธุรกิจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนเหมือนธุรกิจที่ชื่อ…บ้านส้มตำ


 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย