‘VARNI CRAFT’ กระจูดงามเมืองใต้ที่อยู่เบื้องหลังกระเช้าปีใหม่ของ Starbucks




Main Idea
 
  • เชื่อว่าในแต่ละชุมชนมักจะมีเรื่องเล่าจากผู้คนที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน และนี่เอง คือ สิ่งที่ผูกผู้คนในชุมชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกทั้งพวกเขายังคงรักษาสิ่งที่เรียกว่า ‘ภูมิปัญญา’ กันไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
 
  • ‘VARNI CRAFT’ คือ แบรนด์สินค้ากระจูดไลฟ์สไตล์ที่ได้หนุ่มยุคใหม่เข้ามาพัฒนาต่อยอด เล่าเรื่องของชุมชนจนทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักในวงกว้างแถมยังเพิ่มยอดขายได้หลายเท่าตัว
 
  • กระทั่งแบรนด์ใหญ่อย่าง Starbucks หรือสยามพารากอน ยังหยิบเอากระจูดจาก VARNI CRAFT ไปเป็นส่วนหนึ่งของการมอบความสุขในช่วงปีใหม่



     เชื่อว่าในแต่ละชุมชนมักจะมีเรื่องเล่าจากผู้คนที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน และสิ่งนี่เองที่ผูกผู้คนในชุมชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกทั้งพวกเขายังคงรักษาสิ่งที่เรียกว่า ‘ภูมิปัญญา’ กันไว้ได้อย่างเหนียวแน่น แต่สิ่งที่พวกเขาไม่ถนัด นั่นคือ การเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้คนภายนอกได้เข้าใจ


     ทำให้คนรุ่นใหม่อย่าง มนัทพงศ์ เซ่งฮวด ผู้ที่เติบโตมาในชุมชนทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง เข้ามาเป็นกระบอกเสียงในการเล่าเรื่อง ‘กระจูด’ ให้ทุกคนได้รู้จักมากขึ้น จนตอนนี้เรื่องราวของกระจูดจากทะเลน้อยที่ใช้ชื่อแบรนด์ว่า VARNI CRAFT นั้นเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย กระทั่งแบรนด์ใหญ่อย่าง Starbuck หรือสยามพารากอน ยังหยิบเอากระจูดจาก VARNI CRAFT ไปเป็นส่วนหนึ่งของการมอบความสุขในช่วงปีใหม่
               



     
     กระเช้าของขวัญปีใหม่สีสันสดใสถูกสานจากกระจูดโดยฝีมือของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนที่สั่งสมฝีไม้ลายมือมายาวนานหลายปี จากนั้นก็จะถูกส่งต่อไปยังองค์กรใหญ่ๆ มากมายและ Starbuck คือ หนึ่งในนั้น หากคุณเดินเข้าไปในร้าน Starbuck ช่วงเวลานี้ คงได้เห็นกระเช้าสีสวยของ VARNI CRAFT ตั้งอยู่บนชั้นวางที่เชิญชวนให้คนผ่านไปผ่านมาซื้อไปเป็นของฝากในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ที่จะถึงนี้
               




    โดยจุดเริ่มต้นของ VARNI CRAFT มาจากชายหนุ่มที่ชื่อ มนัทพงศ์ ผู้เรียนจบด้านการออกแบบ สิ่งที่เขาถนัด คือเรื่องของการดีไซน์ เมื่อมนัทพงศ์นำสิ่งที่ตนมีมาจับกับสิ่งที่ชุมชนมีก็กลายเป็น กระจูดที่ทันสมัย ใส่ความเป็นคนรุ่นใหม่เข้าไป แถมยังอัดแน่นด้วยเรื่องเล่าจากชุมชน จนได้เป็น ‘VARNI CRAFT’ แบรนด์สินค้าจากกระจูดที่มีทั้งกระเป๋า ของตกแต่งบ้าน แถมมนัทพงศ์ยังต่อยอดให้ชุมชนกลายเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวด้วยการสร้างโฮมสเตย์สุดคูล กระจูดวรรณีโฮมสเตย์ ที่ใช้สินค้าจากกระจูดมาตกแต่งทั้งหมดเพื่อให้ทุกคนได้มองเห็นว่ากระจูดของพวกเขาทำอะไรได้บ้าง
               




     “กระจูดของเราเริ่มต้นมานานแล้วตั้งแต่รุ่นทวดของทวด เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาในชุมชน สมัยก่อนคนในชุมชนก็ทำกันเอง ไม่ได้มีรูปแบบการขายอะไร ทำเป็นเสื่ออย่างเดียว ราคาขายก็ค่อนข้างน้อย วางขายกันที่ทะเลน้อย รอนักท่องเที่ยวผ่านไปผ่านมา บางวันได้แค่ 100 บาท หักต้นทุน หักค่ากระจูด ได้ไม่ถึง 50 บาทด้วยซ้ำไป เพราะสมัยก่อนเรายังไม่มีช่องทางการจัดจำหน่ายและคนก็มองกระจูด งานหัตถกรรมเป็นเรื่องของผู้สูงอายุ เราจึงเข้ามาพัฒนา ใส่ดีไซน์เป็นรูปแบบสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น ก็เริ่มมีคนสนใจ พร้อมกับที่เราใส่เรื่องเล่าลงไป มีการทำตลาด สร้างแบรนด์ให้เป็นที่น่าจดจำ ทำให้กระจูดของเรากลับมามีคุณค่า สามารถสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนได้ด้วย”
              


 

     สิ่งที่เขาทำ คือ การจัดตั้งกลุ่มอย่างจริงจังเพื่อให้ชาวบ้านมารวมตัวกันอย่างเป็นกลุ่มก้อน มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการออกแบบให้ชาวบ้าน เพื่อให้พวกเขาสามารถสร้างสรรค์สินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาดได้ ทางด้านมนัทพงศ์จะเป็นผู้หาลูกค้า ทำการตลาดและรับออเดอร์กลับมาให้คนในกลุ่มผลิตสินค้าและนี่คือ วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี
               




     “เริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2553 เรารวบรวมชาวบ้านเพื่อจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน เพราะเมื่อก่อนต่างคนต่างทำ ไม่เป็นองค์กร ต่างคนต่างขายก็ไม่เกิดการสร้างมูลค่า แต่พอเรารวมกลุ่มขึ้น เริ่มทำแบรนด์สินค้าก็เริ่มมีการพัฒนา ตัวเราเองนำความรู้สมัยใหม่ไปรวมกับภูมิปัญญาชาวบ้านให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ นอกจากนี้ประโยชน์ของการรวมกลุ่มคือชาวบ้านจะได้เรื่องของสวัสดิการ เงินปันผล ได้แชร์ความคิดกัน มีการช่วยเหลือกันมากขึ้น”
               




     กลยุทธ์สำคัญที่ทำให้แบรนด์ VARNI CRAFT กลายเป็นกระจูดที่ไม่ธรรมดา นั่นคือ การใส่เรื่องเล่าพร้อมกับโปรโมตสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ อย่างสม่ำเสมอก็ส่งผลให้มีลูกค้าจากต่างประเทศเข้ามา อาทิ ชาวญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส ตลอดจนองค์กรใหญ่อย่าง Starbucks
               




     “ตอนนี้มีคนพูดถึงกระจูดมากขึ้น มีการพูดกระจายไปในวงกว้างมากขึ้น ก็จะมีคนติดต่อมาเพื่อนำสินค้าไปวางขาย โดยสินค้าของเราเข้ากับตลาดโลกในปัจจุบันที่เน้นสินค้าจากธรรมชาติ ดีต่อสิ่งแวดล้อมแถมสินค้าเรายังเป็นงาน Craft ที่ช่วยเหลือชุมชนได้ด้วย อย่าง Starbucks เราทำให้เขามา 3 ปีแล้ว เขาจะมาสั่งให้เราทำกระเช้าใส่ของช่วงปีใหม่ เดือนธันวาคม ตอนแรกเขาเห็นเราจากที่ทำโปรโมตผ่านออนไลน์และเจอตามที่ต่างๆ ก็เลยติดต่อเข้ามา อีกอย่าง คือ การที่เราใช้กลยุทธ์สร้างเรื่องเล่าผ่านตัวสินค้า เพราะถ้าวางไว้เฉยๆ ไม่บอกเรื่องราวอะไร คนก็คงไม่สนใจ แต่เราเล่าว่าเราเป็นใคร มาจากไหน มีคุณค่ายังไง ก็ทำให้คนสนใจเรามากขึ้น”
               

     หลังจากที่มนัทพงศ์เข้ามาปรับเปลี่ยนและพัฒนาภูมิปัญญาของชุมชน ก็ส่งผลให้กระจูดจากบ้านทะเลน้อยกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง มีการนำไปวางขายอยู่ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำหลายแห่งในเมืองไทย ที่สำคัญ คือ รอยยิ้มของคนในชุมชนที่ได้เห็นว่าสินค้าของพวกเขาไปไกลได้มากกว่าที่คิด แถมยังทำให้ยอดขายกระจูดเพิ่มขึ้นได้เป็นสิบเท่าตัว
               

     “เราต้องกล้าเปลี่ยนและพัฒนาตัวเอง กล้าที่จะยอมรับสิ่งใหม่ อย่างเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เข้ามาเราต้องยอมรับและทำให้มันสอดคล้องกัน ตัวสินค้าของเราต้องปรับให้เข้ากับคนยุคใหม่ ต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าเรายังอยู่ที่เดิม ทำอะไรแบบเดิม เราก็อาจจะขายสินค้าไม่ได้ ตอนนี้เราสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น สินค้ามีมูลค่ามากขึ้น มีการกระจายรายได้สู่ชาวบ้าน ทุกคนก็มีความสุขเพราะรายได้ของทุกคนมาจากการที่ทุกคนร่วมมือกัน”
 
               
     เพราะพลังของเรื่องเล่านั้นสร้างคุณค่าให้สินค้าได้มากกว่าที่คุณคิด แต่ยิ่งไปกว่านั้น คือ ความกล้าที่จะออกจากกรอบ กล้าทำสิ่งใหม่ กล้าริเริ่มตลอดจนกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง สุดท้ายแล้วธุรกิจที่ยั่งยืน คือ ธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงโดยไม่เสียความเป็นตัวเองอย่างกระจูดเมืองใต้แบรนด์ VARNI CRAFT แบรนด์นี้...
 
 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย