Photo : Rabbit Chan
Main Idea
- ใครจะคิดว่า มะปี๊ด หรือ ส้มจี๊ด พืชครัวประจำถิ่นของจันทบุรีที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ และมีความเปรี้ยวไม่แพ้มะนาว วันหนึ่งจะกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์คูลๆ ที่ชื่อ แรบบิท จันท์ (Rabbit Chan) ได้
- มาดูไอเดียแจ้งเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่ธรรมดาของ “วรพชร วงษ์เจริญ” ผู้เริ่มต้นแปรรูปผลมะปี๊ดสดให้กลายเป็นน้ำมะปี๊ดภายใต้แบรนด์ Rabbit Chan กับกลยุทธ์สร้างแบรนด์ให้รุ่ง ดัง ปัง ที่ SME เรียนรู้ได้
มะปี๊ด หรือ ส้มจี๊ด พืชครัวประจำถิ่นจันทบุรีที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ และมีความเปรี้ยวไม่แพ้มะนาว ชาวจันท์จึงมักนำ “มะปี๊ด” มาใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหารแทนมะนาว เนื่องจากหาทานได้ง่าย และมีราคาถูกกว่า จากกลุ่มคนที่เคยใช้มะปี๊ดเพียงไม่กี่คน ก็เริ่มบอกกันปากต่อปากถึงรสชาติ และสรรพคุณ จนประมาณ 4-5 ปีก่อน ชาวจันท์ได้ใช้มะปี๊ดกันอย่างแพร่หลาย เพียงแต่ราคาของมะปี๊ดกลับไม่สูงและไม่มีมูลค่าอย่างที่ควรจะเป็น
ด้วยความที่ครอบครัวมีความรู้ด้านการเกษตร มีต้นมะปี๊ด พร้อมกับมีแนวคิดที่ต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับมะปี๊ด และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น “วรพชร วงษ์เจริญ” หรือนุ่ม จึงได้เริ่มต้นแปรรูปผลมะปี๊ดสดเป็นน้ำมะปี๊ดภายใต้ แบรนด์แรบบิท จันท์ (Rabbit Chan) ในปี พ.ศ. 2560 โดยเป็นน้ำมะปี๊ดบรรจุในขวดพลาสติกธรรมดา และกระบวนการผลิตยังเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน ทำให้มีอายุการเก็บรักษานอกตู้เย็นเพียง 1-2 วัน ขณะที่ในตู้เย็นจะมีอายุ 7-14 วันเท่านั้น
ปัญหาเรื่องอายุการเก็บรักษา ส่งผลกระทบต่อการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพราะเมื่อผลิตภัณฑ์เป็นน้องใหม่ในตลาด เป็นแบรนด์ใหม่ มี Shelf Life สั้น ขนส่งลำบาก (ทั้งเรื่องน้ำหนักและอายุผลิตภัณฑ์) ต้องสร้างการรับรู้ ต้อง Educate ตลาด และอีกสารพันปัญหาที่โถมเข้าใส่ผู้ประกอบการป้ายแดงให้หาวิธีแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งวิธีแรกที่ผู้ประกอบการสาวรุ่นใหม่คิดได้ก็คือ เมื่อไม่ชำนาญในบางเรื่อง ก็ต้องหาผู้รู้มาช่วย จึงเข้าร่วมโครงการของมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อขอคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาตามศาสตร์ต่างๆ ทั้งด้านการตลาด วิทยาศาสตร์การอาหาร ออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา
ภายใต้การถ่ายทอดองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์น้ำมะปี๊ด แบรนด์ Rabbit Chan ไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เริ่มต้นจาก
1. กระบวนการผลิต
ผู้ประกอบการได้รับแนวทางการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีมาตรฐาน และความสะอาดมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบ การพัฒนาสถานที่ผลิต การวัดค่า pH การเลือกใช้อุปกรณ์และวิธีทำความสะอาดขวดและฝาก่อนนำไปใช้งาน ทั้งหมดนี้ส่งผลให้มีจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ตั้งต้นลดลงในสถานที่ผลิตและผลิตภัณฑ์ รวมถึงน้ำมะปี๊ดที่ผลิตในแต่ละครั้งมีความสะอาดและมีคุณภาพในแต่ละขวดใกล้เคียงกันมากยิ่งขึ้น จนสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ต่อเนื่องไปจนถึงการสร้างแบรนด์ได้ในระยะยาว
2. อายุการเก็บรักษา
การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเดิม ไปเป็นการผลิตแบบพาสเจอไรซ์เพื่อฆ่าเชื้อ รวมถึงเพิ่มบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่เป็นขวดแก้ว ผ่านกระบวนการผลิตด้วยระบบสเตอริไรซ์ ทำให้มีอายุการเก็บรักษาได้ไม่ต่ำกว่า 12 เดือน จึงสามารถส่งไปฝากขาย และวางจำหน่ายได้ตามร้านค้าชั้นนำมากมาย
3. การขนส่ง และช่องทางการจำหน่าย
เนื่องจากขวดแก้วที่สามารถส่งไปจำหน่ายต่างจังหวัดได้นั้น มีน้ำหนักค่อนข้างมาก จึงได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์เป็นแบบถุงเพาช์ (Pouch) ขนาดใหญ่ และเปิดตลาดใหม่เป็นร้านอาหารที่ต้องการซื้อไปเพื่อแบ่งจำหน่ายภายในร้าน เมื่อมีผลิตภัณฑ์ทั้งขวดพลาสติกที่จำหน่ายหน้าร้าน ขวดแก้วที่ฝากขายตามร้านค้าและร้านอาหารแบบพรีเมียม ถุงเพาช์ที่เจาะตลาดร้านอาหาร และช่องทาง Online อย่าง Facebook กับ Line ทำให้น้ำมะปี๊ด แบรนด์ Rabbit Chan เดินหน้าเกมรุกไปตามช่องทางการจำหน่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. เครื่องหมายการค้า
เพื่อป้องกันสินค้าลอกเลียนแบบและสร้างความโดดเด่นให้กับแบรนด์มากกว่าเดิม วรพชร จึงตัดสินใจจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในชื่อ Rabbit Chan กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาในเวลาต่อมา
5. การรับรู้แบรนด์
เริ่มจากการออกงานแสดงสินค้าทั้งระดับจังหวัด และระดับประเทศ ต่อเนื่องด้วยการสร้าง Facebook และเดินหน้าเข้าหาสื่อต่างๆ ทุกช่องทาง พร้อมกับสมัครเป็นสมาชิกหน่วยงานต่างๆ เช่น สสว. เพื่อรับสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกอบการสามารถรับข่าวสาร และข้อเสนอที่จะช่วยพัฒนาธุรกิจได้อย่างรอบด้าน ทันกระแส และทันเวลา
ผู้ประกอบการหลายคนมักบอกว่า การทำธุรกิจ ก้าวแรกคือก้าวที่ยากและท้าทายที่สุด แต่อย่าลืมว่าพอก้าวแรกออกไปได้แล้ว ก้าวต่อๆ ไปก็มีปัญหาและอุปสรรครออยู่เหมือนกัน สิ่งสำคัญคือเรามีตัวช่วยมาคอยสนับสนุนให้ลุกขึ้นมาและปีนกำแพงที่เรียกว่า “ปัญหา” กับ “อุปสรรค” ได้หรือเปล่ามากกว่า เท่านั้นเอง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี