Raming’s School of Tea โรงเรียนสอนทำชาแห่งแรกของไทย ใบเบิกทาง ‘ชา’ ให้ฮิตตามรอยกาแฟ

Text & Photo : นิตยา สุเรียมมา






Main Idea

 
  • แม้ตลาดธุรกิจร้านกาแฟจะเติบโตเพิ่มมากขึ้น แต่ในมุมหนึ่งของผู้บริโภค แม้จะเดินเข้าร้านกาแฟ ก็ใช่ว่าทุกคนจะเลือกดื่มกาแฟเสมอไป ‘ชา’ คือ หนึ่งในครื่องดื่มที่อยู่ในความสนใจไม่แพ้กัน แต่เนื่องจากยังไม่มีการเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักมากนัก ตลาดชา จึงยังคงเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่พ่วงอยู่ในร้านกาแฟทั่วไป
 
  • ด้วยเหตุนี้ “ชาระมิงค์” แบรนด์ชาไทยที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 77 ปี จึงมองเห็นโอกาสและอยากสร้างมิติใหม่ให้กับการบริโภคเครื่องดื่มชาในเมืองไทย ด้วยการเปิดโรงเรียนสอนทำชาแห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทยขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ให้มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น



                
     เพราะพฤติกรรมการบริโภคสินค้าของผู้คนยุคปัจจุบันนี้มักมีตัวเลือกเพิ่มขึ้นมากมาย ทำให้เกิดความต้องการที่หลากหลาย ส่งผลต่อการแข่งขันที่เพิ่มสูง แต่ขณะเดียวกันก็กลับเป็นโอกาสให้สามารถมองหาช่องว่างเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในตลาดได้


     เหมือนเช่นธุรกิจเครื่องดื่มในปัจจุบันนี้ หากพูดถึงเบอร์หนึ่งต้องยกให้กับกาแฟ มีการเปิดคาเฟ่ร้านกาแฟเกิดขึ้นมากมาย แต่ในมุมหนึ่งของความต้องการเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ คนเข้าร้านกาแฟ ก็ไม่ใช่เพราะต้องการดื่มกาแฟทุกคนเสมอไป เพียงแต่ยังไม่มีตัวเลือกที่น่าสนใจนำเสนอออกมาอย่างโดดเด่นเท่านั้น ซึ่งหากพูดถึงเครื่องดื่มที่พอจะสูสีแข่งขันกันได้ ชา คือ หนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย

               



     แต่จากการสร้างการรับรู้วัฒนธรรมการดื่มชาในสังคมไทยเอง ที่อาจมีอยู่น้อยเกินไป จึงทำให้ถึงแม้มีความต้องการอยู่ แต่ก็ไม่ได้มีการแสดงออกที่ชัดเจนออกมา บวกกับตัวเลือกของร้านชาเองที่ไม่ได้มีอยู่มากนักหรือแทบจะมีน้อยมากๆ การเติบโตของตลาดบริโภคเครื่องดื่มชาจึงยังไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร ทั้งที่ควรจริงแล้วทั้งชาและกาแฟต่างเป็นเครื่องดื่มระดับสากลของโลกด้วยกันทั้งคู่
               

     ด้วยเหตุนี้ “ชาระมิงค์” แบรนด์ชาไทยที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 77 ปี ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของทายาทรุ่นที่ 3 จึงมองเห็นโอกาสและอยากสร้างมิติใหม่ของการบริโภคเครื่องดื่มชาในเมืองไทยและตอบโจทย์วิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น จึงได้จับมือร่วมกับ Asian School of Tea สถาบันผู้เชี่ยวชาญเรื่องชาจากประเทศอินเดียเปิดหลักสูตรสอนการเรียนรู้การบริโภคชา ชงชา และทำธุรกิจเกี่ยวกับชาขึ้นครั้งแรกในเมืองไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
               







     วงเดือน วังวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาระมิงค์ จำกัด ได้เล่าถึงการจัดทำโครงการดังกล่าวว่า
               

     “เดี๋ยวนี้คนนิยมบริโภคดื่มชากาแฟกันเยอะขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมกาแฟที่เติบโตขึ้นมาก มีร้านกาแฟเกิดขึ้นมากมาย แต่สิ่งที่เรามองเห็น คือ ชาเหมือนเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับผู้บริโภค สัดส่วนการขายกาแฟมีเยอะกว่าชามาก  ร้านชาเฉพาะที่มีการพรีเซนต์ชงชาดื่มชาแบบจริงจัง ก็แทบจะไม่มีเลย เราจึงอยากค้นหาจิ๊กซอว์บางอย่าง เพื่อมาเติมเต็มให้กับวงการอุตสาหกรรมชาไทย ซึ่งเราเชื่อว่าจริงๆ แล้วมีผู้บริโภคที่ชื่นชอบการดื่มชาอยู่มาก เพียงแต่ยังไม่มีร้านไหน หรือใครมาจุดประกาย แนะนำ สร้างให้เกิดพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมา เราเองในฐานะผู้ผลิตที่อยู่กับวงการชามานาน จึงอยากเข้ามาช่วยเป็นสื่อกลางด้วยการเปิดโรงเรียนสอนเกี่ยวกับทำชาขึ้นมา ซึ่งเชื่อว่าถ้าผู้บริโภคปลายน้ำได้รู้เรื่องราวของชาและดื่มชาเป็นมากขึ้น มูลค่าของตลาดก็จะขยับเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ได้ช่วยแค่เรา แต่คือ วงการชาทั้งหมด"
               

     โดยให้เหตุผลว่าที่เลือกจับมือร่วมกับสถาบันจากประเทศอินเดีย เป็นเพราะว่าที่นี่ คือ แหล่งต้นกำเนิดชาอัสสัม ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ทางชาระมิงค์นำมาใช้ทำชาดำ (Black Tea) ที่สำคัญเนื้อหาของการเรียนการสอนก็ตรงกับที่ต้องการ คือ เน้นทั้งองค์ความรู้พื้นฐาน วัฒนธรรมการดื่มชาที่ถูกต้อง ชุมชนแหล่งปลูกชา มีครบหมดทุกอย่าง ขณะที่ทางฝั่งยุโรปหรืออเมริกาจะเน้นที่ทฤษฏีมากกว่า
 




     “เราไม่ได้ต้องการเป็นสถาบันที่เน้นความเชี่ยวชาญ แต่เราอยากให้คนได้รู้จักเรื่องราวของชามากยิ่งขึ้น ทั้งผู้บริโภคทั่วไป คนที่สนใจดื่มชา ไปจนถึงผู้ที่ต้องการทำธุรกิจเกี่ยวกับชา เพื่อนำความรู้ตรงนี้ไปต่อยอด ไปบอกต่อ ได้เรียนรู้ถึงกระบวนการทำชา แหล่งผลิต ชุมชนในพื้นที่ปลูกชา จนถึงการบริโภคชาที่ถูกต้อง ชาตัวไหนต้องกินเวลาไหน กินคู่กับขนมหรืออาหารอะไรถึงจะอร่อยและได้สุขภาพ ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งชา กาแฟ และไวน์ต่างก็มีศาสตร์และศิลปะในการดื่มที่ไม่ได้แตกต่างกัน แต่สำหรับชากลับมีการนำมาเผยแพร่ให้ความรู้น้อยมากในบ้านเรา ทั้งที่ผู้บริโภคบางส่วนก็ชื่นชอบการดื่มชา เพียงแต่มีตัวเลือกให้เขาน้อย และไม่มีพื้นที่แสดงเอกลักษณ์ ความพิเศษของชาที่เกิดขึ้นจริงๆ ได้”


    หลักสูตรที่ทางชาระมิงค์ หรือ Raming’s School of Tea เปิดขึ้นมา มีทั้งหมด 3 หลักสูตรด้วยกัน ได้แก่


     1.Tea Sommelier สอนเกี่ยวกับภาคทฤษฏีและปฏิบัติ ผู้เรียนจะได้เข้าไปเรียนรู้กระบวนการทำชาตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ วิธีการปลูก การผลิต การเก็บรักษา การ Blending การชงชา การชิมชา เรียกว่าศาสตร์พื้นฐานเกี่ยวกับชาทั้งหมดที่จำเป็นต้องรู้ เพื่อที่จะนำไปแนะนำหรืออธิบายบอกต่อได้ว่า ชาประเภทไหน ควรดื่มเวลาไหน กินกับขนมหรืออาหารอะไร เป็นคอร์สที่เหมาะสำหรับผู้ประกอบการ หรือผู้ที่สนใจอยากรู้จัก เรียนรู้เรื่องราวของชาแบบจริงจังมากขึ้น โดยผู้ที่เรียนจบจะได้รับประกาศนียบัตร Tea Sommelier Certificate กลับไปด้วย โดยจะใช้ระยะเวลาในการเรียนประมาณ 3 – 4 วัน





     2. Raming’s Art School of Tea เป็นหลักสูตรที่เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจอยากศึกษาเรื่องราวของชาและได้ท่องเที่ยวในแหล่งกำเนิดชาจริงด้วย เป็นหลักสูตร 2 วัน 1 คืน โดยผู้เข้าร่วมจะได้เดินทางท่องเที่ยวไปลองเก็บใบชาด้วยตนเอง ได้เยี่ยมชมชุมชนชาวเขาที่มีวิถีชีวิตในการปลูกและเก็บชา จนถึงการได้ลองเพนต์เครื่องปั้นดินเผาศิลาดล เรียนชิมชา ชงชา และเบลนด์ชาด้วยตัวเอง


     3. Personalized สำหรับกลุ่มบุคคล ธุรกิจโรงแรม หรือร้านอาหารที่ต้องการให้จัดสอนพิเศษในหลักสูตรเฉพาะของตนเอง เพื่อฝึกอบรมพนักงาน หรืออยากได้องค์ความรู้เฉพาะเจาะจงเป็นเรื่องๆ ไป
โดยหลักสูตรทั้งหมดจะเริ่มเปิดสอนในต้นเดือนพฤษภาคมปีหน้า ตรงกับฤดูกาลแรกของการเก็บชาพอดี
               

               




     วงเดือนได้กล่าวทิ้งท้ายว่า แนวคิดดังกล่าวไม่เพียงช่วยเชื่อมให้ชื่อของชาระมิงค์กลับเข้ามาใกล้ชิดผู้บริโภครุ่นใหม่มากขึ้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการบริโภคชาของคนไทยให้เด่นชัดมากยิ่งขึ้น เปิดพื้นที่สำหรับคนชอบดื่มชา ไม่ดื่มกาแฟให้มีทางเลือกมากขึ้นด้วย


     และนี่คือ เรื่องราวมิติใหม่ของวงการธุรกิจเครื่องดื่มไทยที่จะเติบโตไปอีกก้าวหนึ่ง และทำให้เราได้รู้จักกับเครื่องดื่มสุดคลาสสิกของโลกชนิดนี้ได้ดีมากยิ่งขึ้น ไปจนถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตลาดชาให้เติบโตในแบบที่ควรจะเป็นได้ทัดเทียมไม่แพ้กับกาแฟเลย
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย