พลิกธุรกิจรอด! ด้วยกลยุทธ์ SME Transformation “คิดมาก คิดดี คิดไว” เติบโตไกลในยุคดิจิทัล

TEXT : กองบรรณาธิการ






Main Idea
 
  • หลายธุรกิจอาจต้องปิดตัวลง เพียงเพราะไม่สามารถปรับธุรกิจให้ตรงกับตามความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันได้ ซึ่งหนึ่งปัจจัยสำคัญคือการถูก Disruption ซึ่งหลายคนมองว่าไกลตัวและเป็นแค่เรื่องที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเท่านั้น ทว่าในความจริงแล้วไม่ใช่แค่นั้น
 
  • “วีรพล สวรรค์พิทักษ์” กูรูด้านการตลาด CMO บริษัท La Nature จำกัด ขึ้นเวทีสัมมนาแห่งปี “Next Trends 2020” ซึ่งจัดโดยนิตยสาร SME Thailand ร่วมกับ นิตยสาร SME STARTUP ในหัวข้อ “SME Transformation พลิกธุรกิจอย่างไรให้รอดในยุคดิจิทัล” เพื่อเปิดเคล็ดลับคิดอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอดได้ท่ามกลางพายุ Disruption ที่จะหนักหน่วงขึ้นในปี 2020  พร้อมแนวทางสำคัญในการปรับตัวที่ SME ต้องรู้
 
  • เขาเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ SME สามารถอยู่รอดปลอดภัย ผ่านพ้นสถานการณ์ที่ท้าทายไปได้ คือ การมี Mindset ที่ดี หาก SME อยากอยู่รอดได้ยุคนี้ก็ต้อง คิดมาก คิดดี และคิดไว



                
     โลกการทำธุรกิจทุกวันนี้มีปัจจัยท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจโลกตลอดจนเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา จนบางธุรกิจก็อาจปรับตัวไม่ทัน ถึงขั้นต้องปิดกิจการไปก็มี ทว่าเมื่อยังมีลมหายใจอยู่ก็ต้องสู้กันต่อไป แต่จะสู้แบบไหน และอยู่อย่างไรให้รอด “วีรพล สวรรค์พิทักษ์” กูรูด้านการตลาด ผู้บริหาร บริษัท อีมิแน้นท์แอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และ CMO บริษัท La Nature จำกัด จะมาแนะแนวทางในการปรับตัวของธุรกิจในปี 2020 เพื่อให้ผู้ประกอบการพร้อมรับมือ ในหัวข้อ “SME Transformation พลิกธุรกิจอย่างไรให้รอดในยุคดิจิทัล” หนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจในงานสัมมนา “Next Trends 2020” ซึ่งจัดโดยนิตยสาร SME Thailand ร่วมกับนิตยสาร SME STARTUP ที่ผ่านมา
               




     โดยกูรูนักการตลาดได้เกริ่นเป็นแนวทางไว้ว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ SME สามารถอยู่รอดปลอดภัยผ่านพ้นทุกสถานการณ์ไปได้ คือ การมี Mindset ที่ดี หาก SME จะอยู่รอดได้ในยุคนี้ต้อง คิดมาก คิดดี คิดไว
 

“คิดมาก” คิดอย่างไร
               

     วีรพลอธิบายว่า การคิดมาก เป็นการคิดว่าใครที่เกี่ยวข้องกับกิจการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ซัพพลายเออร์จนถึงลูกค้า เพราะการริเริ่มหรือการพัฒนานั้น เริ่มจากการมองเห็นองค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ที่เราต้องให้ความสำคัญ เพราะไม่แน่ว่าสิ่งเล็กที่เราไม่เห็นค่าอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดหรือเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปก็ได้
               

     และสุดท้ายในการคิดให้มากที่หลายคนอาจจะมองข้ามไป คือ การเข้ามาของเทคโนโลยีที่เราเผลอหลงลืมนั่นคือ การสร้างคุณค่าเพื่อผู้เกี่ยวข้องทุกคน เพราะปัจจุบันคนทำธุรกิจต้องขายคุณค่าของสินค้าและการบริการ เช่น ร้านรับซักรีดไม่ได้ขายเสื้อผ้าที่สะอาดเพียงเท่านั้น แต่กำลังขายความง่าย สะดวก สบาย โจทย์คือ SME จะต้องหาคำตอบให้ได้ว่าสิ่งที่จะขายนั้นสามารถเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาหรือทำให้ลูกค้าสะดวกและสบายขึ้นอย่างไร
 




“คิดดี” คิดแบบไหน

               

     เขากล่าวว่า ในยุคต่อจากนี้ SME ต้องคิดเผื่อถึงสิ่งที่ดีต่อโลกด้วย ไม่ใช่คิดแค่ว่าจะต้องขายของหรือทำอย่างไรให้กำไรมากขึ้นเพียงเท่านั้น แต่ต้องคิดว่าถ้าเราทำดีต่อสังคม สุดท้ายสิ่งเหล่านั้นจะกลับคืนสู่ธุรกิจของตัวเอง ตัวอย่างเช่น รองเท้านันยางที่ทำจากขยะ ซึ่งสามารถขายได้มากกว่าพันคู่ในหนึ่งวัน เนื่องจากเป็นรุ่นพิเศษ Limited Edition แน่นอนว่าทุกคนที่ซื้อล้วนแล้วแต่มีรองเท้าแตะของตัวทั้งสิ้น แต่สิ่งที่ทำให้ทุกคนซื้อเป็นเพราะมันทำให้เขารู้สึกรักโลกนั่นเอง เพราะฉะนั้นการทำดีกับโลกจะตอบกับสิ่งที่ดีต่อตัวเราเสมอ
 




“คิดไว” คิดเช่นไร

               

     เขาอธิบายต่อว่า วันนี้ SME จะอยู่รอดได้ต้องคิดให้ไว เพราะในยุคนี้ทุกอย่างเป็นดิจิทัล ฉะนั้นถ้าชักช้า SME ก็จะต้องพ่ายให้กับบริษัทใหญ่ เพราะทุกวันนี้ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็กอีกต่อไป แต่คือ ยุคของปลาไวกินปลาที่ช้ากว่า ฉะนั้นถึงแม้ว่า SME จะเป็นปลาเล็ก แต่ถ้าเร็วก็สามารถกินปลาใหญ่ได้เช่นกัน ดังนั้น จึงต้องคิดแบบ Moonshot ที่เริ่มต้นจากการสร้างเป้าหมายระยะยาวกว่าที่เคยเป็นมา คิดล่วงหน้าถึงโลกในอีก 10-20 ปีข้างหน้า แล้วทำธุรกิจที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและคนรุ่นถัดไป จึงจะเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนและสร้างมูลค่าได้สูงขึ้นในยุคนี้
               

     “วันนี้อะไรที่คิดว่ามันดีให้รีบทำเลย อย่าไปรอหรืออย่าไปคิดว่ามันจะล้มเหลว หรือประสบความสำเร็จ เพราะถ้าเราล้มเราก็ยังได้รู้ว่ามันไม่ใช่ เพื่อจะได้ไปหาทางเริ่มใหม่ให้เร็วขึ้น” วีรพลกล่าว
               




5 วิธีลงมือทำเพื่อไปสู่ความสำเร็จในปี 2020

               

     นอกจากนี้วีรพลยังฝากข้อแนะนำสำหรับการตั้งเป้าหมายธุรกิจในปีถัดไป (New Year’s Plan) ด้วย 5 สิ่งต่อไปนี้
 

     1. ตั้งเป้าหมายและทำให้ได้ โดยเขาบอกว่าต้องเพิ่มอะไรบางอย่างลงไป เช่น อาจเพิ่มยอดขาย เพิ่มความภักดีต่อแบรนด์ เป็นต้น ทั้งนี้โดยปกติแล้วการเพิ่มยอดขายเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจจะต้องคิดและวางแผนให้มีอะไรเพิ่มขึ้นมา ฉะนั้น SME ต้องอย่าไปคิดว่าเศรษฐกิจไม่ดีแล้วจะสามารถลดเป้าหมายบางอย่างลงได้ หรือมองว่าปีหน้าขายเท่าเดิมก็พอ เพราะพนักงานยังต้องการเงินเดือนเพิ่มขึ้น ถ้าเราไม่เพิ่มให้คนเก่งๆ ก็จะไม่อยู่กับบริษัท เพราะฉะนั้นเป้าหมายด้านยอดขายต้องเพิ่มขึ้นทุกปี จึงควรต้องตั้งเป้าว่าธุรกิจของเราจะต้องเติบโตขึ้นเท่าไหร่ในปีหน้า ต้องคิดให้ไวและคิดให้ไกล


     2. ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงธุรกิจด้วย Digital Transformation วีรพลบอกว่า ทุกธุรกิจต้องเตรียมพร้อมกับการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา โดยทุกวันนี้ SME ยังถือสมุดบัญชีไปธนาคารหรือไม่ ยกหูโทรศัพท์คุยกับคนอื่นน้อยลงหรือไม่ หรือใช้ LINE สื่อสารกันมากขึ้น ขณะที่การจองตั๋วหนัง ต้องเดินไปจองหรือกดจองผ่านเว็บไซต์ นี่คือสิ่งที่สะท้อนว่า วันนี้ทุกอย่างรอบตัวเราล้วนเป็นดิจิทัลหมดแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ SME จะต้องเท่าทัน Digital Transformation





     3. Disrupt ตัวเองก่อนจะโดนคนอื่น Disrupt
เขาอธิบายให้เห็นภาพว่า SME ต้องลองตั้งคำถามท้าทายกับตัวเองว่า ถ้าวันนี้ไม่มีธุรกิจของเรา และเราไม่ทำธุรกิจเดิมแล้วจะไปทำอะไรต่อ นี่คือความคิดง่ายๆ ที่จะทำให้ SME สามารถดิสรัปต์ตัวเองได้


     4. คิดสิ่งที่ดีคืนสู่โลกและสังคม เขาบอกว่า SME ต้องพยายามคิดอะไรที่ดีต่อโลกและสังคมมากขึ้น ซึ่งจะส่งเสริมให้ภาพลักษณ์ของเราดีขึ้นในมุมมองของผู้บริโภค สะท้อนถึงความรับผิดชอบ ซึ่งยุคนี้ใครๆ ก็หันมาดูแลใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยกันทั้งนั้น
               

     5. หยุดหาแรงบันดาลใจ แล้วหาอะไรใหม่ๆ และลงมือทำ วีรพลบอกว่า วันนี้ถ้า SME ลงมือทำแล้วล้มเหลวก็ต้องลุกให้ไวและลงมือทำใหม่ ต้องเลิกนั่งหาแรงบันดาลใจ และเปลี่ยนจากคนคิดเป็นคนทำ โดย SME ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่ และการจะอยู่รอดได้ต้อง “คิดมาก คิดดี คิดไว” รู้ว่าคุณค่า คือ อะไร เราจึงจะสามารถอยู่รอดได้ในยุคดิจิทัล
 
 

www.smethailand
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย