Main Idea
- ในช่วงเวลาที่ทุกคนเกิดวิกฤต ธุรกิจชะงักงัน แต่ใครคนหนึ่งสามารถสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาได้ ด้วยการขายสิ่งที่ทุกคนมองข้ามอย่าง “เถ้าลอย” ที่เกิดจากกระบวนการเผาถ่านหินในโรงไฟฟ้า ซึ่งสามารถทดแทนปูนซีเมนต์
- วันนี้ธุรกิจยังเจอวิกฤตเป็นระลอกๆ แต่ทุกครั้งเขาสามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ ขึ้นมาได้แม้ในยามวิกฤต โดยการหยิบจับสิ่งที่ผู้คนมองข้ามมาสร้างมูลค่า มองวิกฤตเป็นโอกาส เลือกพัฒนาตัวเองไม่หยุดนิ่ง และไม่ยอมยกธงขาวให้กับปัญหา
- มาทำความรู้จัก “สุรพล พฤกษานุกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทอรัส พอซโซลานซ์ จำกัด วิศวกรโลว์โพรไฟล์ ผู้สร้างความสำเร็จได้ไม่ธรรมดาในทุกวิกฤต
เวลาคนตกงานมักจะถูกแซวว่า “ออกไปวิจัยฝุ่น” แต่ใครจะคิดว่าวันหนึ่งจะมีใครบางคนลุกขึ้นมาสร้างธุรกิจใหม่ในวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 ด้วยการ “ขายฝุ่น” กับเขาจริงๆ
ใครคนนี้มีชื่อว่า “สุรพล พฤกษานุกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทอรัส พอซโซลานซ์ จำกัด มาทำความรู้จักเขาไปด้วยกัน
ก่อนปี 2540 สุรพลเคยรวมตัวกับเพื่อนตั้งบริษัททำพวกคอนกรีตผสมเสร็จ ธุรกิจกำลังไปได้ดีและมีแววขยับขยาย ทว่าต้องมาล้มไม่เป็นท่าเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งรู้กันดีว่าธุรกิจก่อสร้างเจอก็ศึกหนักไม่ต่างจากสถาบันการเงิน
ในยามที่เกิดวิกฤตทุกคนต่างแสวงหาหนทางที่จะลดต้นทุน และนั่นเองที่ทำให้สุรพลเริ่มคิดหาวัตถุดิบที่จะมาใช้ทดแทนปูนซีเมนต์ ด้วยประสบการณ์ที่เคยร่ำเรียนและทำงานในต่างประเทศมา เคยอยู่แล็บวิจัย และเคยไปดูงานโรงไฟฟ้า จึงเห็นโอกาสจาก “เถ้าลอย” หรือเถ้าที่เกิดจากกระบวนการเผาถ่านหินในโรงไฟฟ้า ซึ่งสามารถทดแทนปูนซีเมนต์ได้ แต่ ณ เวลานั้นที่บ้านเรายังไม่มีใครเอามาใช้ ส่วนใหญ่ก็ฝังกลบอย่างเดียว ปล่อยให้เถ้าลอยหลายล้านตันปลิวว่อนเป็นฝุ่นผง และมีมูลค่าเท่ากับ “ศูนย์”
พวกเขาจึงพลิกวิกฤตเป็นโอกาส โดยนำสิ่งที่ทุกคนมองข้ามมาสร้างให้เกิดประโยชน์ และเป็นรายแรกในประเทศไทยที่นำเถ้าลอยมาใช้ในเชิงอุตสาหกรรมการผลิต ก่อนก่อตั้งบริษัท ทอรัส พอซโซลานซ์ จำกัด ขึ้นในปี 2542 ยุคที่วิกฤตยังไม่ผ่านพ้น แต่ธุรกิจใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว
ยุคเริ่มต้น เถ้าลอยเป็นของฟรี ต้นทุนในธุรกิจหลักๆ จึงมาจากค่าขนส่ง แต่วันนี้เถ้าลอยเป็นของที่ใครๆ ก็ต้องการ รายใหญ่เข้ามาแข่งขันกันมากขึ้น และซื้อขายกันในระบบประมูล ของที่เคยฟรีกลับมีราคาสูงขึ้นทุกปี คุณภาพและปริมาณก็น้อยลงเรื่อยๆ แต้มต่อที่เคยมีในยุคเริ่มต้นวันนี้ต้องนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง
ถามว่าพวกเขาทำยังไง?
สุรพล เริ่มหาโอกาสในวิกฤตอีกครั้งโดยนำเถ้าลอยคุณภาพต่ำที่นำมาใช้ไม่ได้ มาศึกษาวิจัย ใส่สารปรับคุณภาพ เข้าเครื่องจักร ปรับกระบวนการเพื่อทำให้คุณภาพดีขึ้นเพื่อขายต่อ เริ่มขยายจากเถ้าถ่านหิน ไปสู่เถ้าอื่นๆ เช่น เถ้าจากการเผาปาล์ม เผาแกลบ ที่ยังไม่มีใครทำเพื่อต่อสายป่านธุรกิจให้ยาวขึ้น
แต่เท่านั้นยังไม่พอ ในยุคที่เถ้าลอยมีปริมาณน้อยลง เรื่องสิ่งแวดล้อมถูกให้ความสำคัญมากขึ้น พวกเขามาเริ่มพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรม จนนำมาสู่ K Block เทคโนโลยีผลิตภัณฑ์มวลเบา ภายใต้ บริษัท เค บล็อค เทคโนโลยี จำกัด ส่งขายไปทั้งในและต่างประเทศ
แต่โอกาสใหม่ก็อยู่ได้ไม่นาน เมื่อวันหนึ่งมีข่าวยักษ์ใหญ่เทคโอเวอร์ผู้ผลิตนวัตกรรมอิฐมวลเบา ซึ่งด้วยศักยภาพสามารถสนองตลาดได้ทั้งประเทศด้วยซ้ำ แถมยังมีคู่แข่งรายอื่นตามมาไม่หยุดหย่อน จนของใหม่กลายเป็นตลาดที่ “โอเวอร์ซัพพลาย” คนที่เก่งผลิตไม่เก่งการตลาด ซ้ำยังตัวเล็กกว่ารายใหญ่หลายเท่า จึงต้องเปลี่ยนเกมรุก
วันนี้อดีตคนขายฝุ่นเลิกขายอิฐบล็อก แต่หันมามุ่งด้านงานวิจัยและพัฒนาอย่างเต็มตัว จนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีมวลเบาให้ความแข็งแรงอยู่ในระดับที่เป็นโครงสร้างได้ และเริ่มนำไปใช้ที่หน้าไซต์งานก่อสร้าง สร้างโอกาสในตลาดที่ยังไม่มีใครทำ
ยังไม่จบเพียงแค่นั้น เมื่อเก่งผลิต เก่งนวัตกรรม พวกเขาจึงขยายธุรกิจมาสู่การขายโนว์ฮาว และโรงงาน เพราะมีน้ำยาที่ใช้ในการทำบล็อกมวลเบาที่วิจัยขึ้นมาเอง มีเครื่องจักรที่พัฒนาเอง มีโรงงานมวลเบาที่ทันสมัยที่สุด มีระบบเซ็นเซอร์ควบคุมการทำงาน โดยทั้งโรงงานใช้คนแค่ไม่ถึง 10 คน ซึ่งธุรกิจใหม่ขายในราคาตั้งแต่ โรงงานขนาดเล็กที่ประมาณ 5 ล้านบาท ขนาดกลางที่ 10-20 ล้านบาท ไปจนขนาดใหญ่ที่หลัก 100 ล้านบาท! และปัจจุบันก็ขายไปได้แล้วในต่างประเทศ
นี่คือเรื่องราวความสำเร็จของคนธรรมดาที่สุดแสนจะโลว์โพรไฟล์ และเริ่มทำธุรกิจโดยการหยิบจับสิ่งที่ผู้คนมองข้ามมาสร้างมูลค่า มองวิกฤตเป็นโอกาส และเลือกที่จะพัฒนาตัวเองไม่หยุดนิ่ง ไม่ยอมยกธงขาวให้กับปัญหา เลยก่อเกิดธุรกิจขึ้นมาได้แม้ในช่วงเวลาที่ทุกคนเรียกว่า “วิกฤต”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี