อาทิตย์ จันทร์นนทชัย สร้างธุรกิจจากการเป็นเกษตรกรวันหยุด มนุษย์เงินเดือนวันธรรมดา




Main Idea
 
  • “อาทิตย์ จันทร์นนทชัย” คือตัวแทนของมนุษย์เงินเดือน ที่เลือกใช้เวลาวันหยุดของตัวเองไปอยู่ในโลกอีกใบที่แตกต่างจากชีวิตประจำวันโดยสิ้นเชิง เขาเลือกไปเป็นเกษตรกร เพราะสนใจด้านการเกษตร และมีแนวคิดที่อยากจะช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยให้เติบโตไปด้วยกัน
 
  • จากความมุ่งมั่นนั้นเองที่นำมาสู่ FARM•TO (ฟาร์มโตะ) แพลตฟอร์มเครือข่ายเกษตรกรที่เชื่อมโยงเกษตรกรกับลูกค้าเข้าด้วยกัน ด้วยระบบการขายสินค้าเกษตรออนไลน์ โดยให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ไปทำความรู้จักเขาคนนี้กัน

 


     เพราะความฝันที่แตกต่าง ทำให้คนเราเลือกเส้นทางชีวิตที่ต่างกัน แต่หากยังไม่หยุดฝัน แล้วเลือกที่จะลงมือทำ ไม่ว่าฝันนั้นจะยิ่งใหญ่แค่ไหนก็เป็นจริงขึ้นมาได้
               

     เช่นเดียวกับมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งที่ทำงานด้านการออกแบบ เขาเลือกใช้เวลาวันหยุดของตัวเองไปอยู่ในโลกอีกใบ โลกใบใหม่ที่แตกต่างจากโลกในชีวิตประจำวันโดยสิ้นเชิง คนหนุ่มเลือกไปเป็นเกษตรกร


     วันนี้โลกในวันหยุดของเขา กลายเป็นธุรกิจธุรกิจหนึ่งที่ไม่ได้ทำแค่เพื่อตัวเอง หรือกำไรในเชิงธุรกิจเพียงเท่านั้น แต่กำลังเปลี่ยนโลกทั้งใบของเกษตร คนซื้อ และคนขาย ให้แตกต่างไปจากเดิม



               

     เรากำลังพูดถึง  “อาทิตย์ จันทร์นนทชัย” หนึ่งในหุ้นส่วน FARM•TO (ฟาร์มโตะ) แพลตฟอร์มเครือข่ายเกษตรกรที่เชื่อมโยงเกษตรกรกับลูกค้าเข้าด้วยกัน ด้วยระบบการขายสินค้าเกษตรออนไลน์ โดยให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ
               

     อาทิตย์เล่าว่า วันธรรมดาเขาคือหนุ่มออฟฟิศ พอถึงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็ไปเป็นเกษตรกรที่จังหวัดปทุมธานี โดยเรียนรู้การทำเกษตรจากพ่อแม่และเพื่อนๆ ที่เป็นกลุ่มแก๊งค์วัยเกษียณ เขาเริ่มจากซื้อที่นา โดยใช้แปลงนาบนพื้นที่ 4 ไร่เป็นห้องเรียนทำนาข้าวออร์แกนิกและเกษตรผสมผสาน


     คนเมืองบางคนอาจเลือกทำเกษตรแค่เพราะความชอบ อยากชิลล์ เหมือนหนังสือโลกสวยที่เคยอ่าน แต่กับอาทิตย์ แพสชั่นของเขามันไปไกลกว่านั้น เขาสนใจด้านเกษตรกรรม และมีแนวคิดที่อยากจะช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่ทำเกษตรอินทรีย์ให้เติบโตไปด้วยกัน สร้างโอกาสและอนาคตให้กับคนทำเกษตร สนับสนุนผู้ปลูกเกษตรอินทรีย์ให้มีตลาดรองรับที่แน่นอนและได้ราคาที่เป็นธรรม และสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันให้เกิดขึ้นได้จริงบนโลกนี้





     อาทิตย์เริ่มจากทำเฟซบุ๊กแฟนเพจ โดยใช้ชื่อ “บ้านฉันออร์แกนิค” เล่าถึงนาข้าวของตัวเองและคุณอา ตอนนั้นเขาทำนา 2-3 ไร่ บวกกับนาของอาอีก 1 ไร่ ก็เริ่มทดลองให้คนมาร่วมเป็นเจ้าของ ด้วยการจองผลผลิตล่วงหน้าตั้งแต่ข้าวยังไม่ปลูก และมานัดวันหว่าน เล่าเรื่องเพาะกล้า ดำนา เก็บเกี่ยว ระหว่างทางก็เล่าเรื่องโรคและแมลง บอกให้รู้ว่าเป็นอินทรีย์อย่างไร


     จากจุดเล็กๆ จุดนั้น กลายเป็นฝันก้อนที่แข็งแรงและชัดเจนขึ้น เมื่อมีเพื่อนอีกสองชีวิตที่สนใจในเรื่องเดียวกันมาร่วมเติมเต็มความฝันให้เป็นธุรกิจจริง โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหา นั่นคือที่มาของฟาร์มโตะ แพลตฟอร์มจับคู่เกษตรกรและผู้บริโภคให้อยู่ในโลกใบเดียวกัน โดยมี Brand Passion ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างโอกาสและอนาคตให้กับเกษตรกร รวมทั้งสร้างชุมชนเกษตรอินทรีย์ให้มีตลาดรองรับที่แน่นอนให้เกิดขึ้นจริง





     ฟาร์มโตะ เกิดขึ้นจากต้นทุนความตั้งใจมากกว่าเงินทุน แต่ธุรกิจจะอยู่ได้ก็ต้องใช้เงินทุนในการขับเคลื่อน พวกเขาเริ่มจากใช้เงินที่เก็บหอมรอมริบของแต่ละคนมาเริ่มต้นธุรกิจ จากนั้นก็เริ่มเข้าสู่เวทีประกวด และมีเงินรางวัลมาช่วยเกื้อหนุนธุรกิจให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ โดยงานประกวดแรกได้เงินรางวัล 1,500,000 บาท และเป็นมูลค่ารางวัลสูงสุดที่เคยได้รับ ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พวกเขาเดินสายประกวดในหลายเวที และคว้ามาได้ถึง 8-9 รางวัล


     แต่การล่ารางวัลไม่ใช่คำตอบของการทำธุรกิจ เพราะสิ่งที่คาดหวัง คือทำให้โมเดลนี้อยู่อย่างยั่งยืนได้ นั่นคือที่มาของการมามุ่งพัฒนากับฟาร์มโตะอย่างเต็มที่ ทำในสิ่งที่ควบคุมได้ ทำให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างมั่งคง พร้อมๆ กับค่อยๆ เปลี่ยนทัศนคติของผู้บริโภคและเกษตรกร จนก่อเกิดเป็นสังคมแห่งการแบ่งปันที่คนปลูกและคนกินได้ช่วยเหลือและดูแลผลผลิตไปด้วยกัน เปิดโอกาสให้เกษตรกรได้ตั้งราคาขายผลผลิตด้วยตัวเอง ได้พัฒนาตัวเองและเรียนรู้ที่จะสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเอง ขณะที่ผู้บริโภคก็จะได้ความมั่นใจในคุณภาพที่สดใหม่เพราะร่วมดูแลและเห็นการเจริญเติบโตไปจนถึงได้รับผลผลิต





     หนึ่งความน่ารักที่ใครหลายคนคงรู้สึกเหมือนกัน นั่นคือการที่เกษตรกรจะส่งภาพผลผลิตจากฟาร์มมาให้ผู้ซื้อดูอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับมีป้ายชื่อผู้จองปักไว้ ไม่ได้แค่ประกาศความเป็นเจ้าของ แต่คือการได้ร่วมติดตามผลผลิตที่ค่อยๆ เจริญเติบโตและงอกงามในแต่ละช่วงเวลาไปด้วยกัน แม้ไม่ได้เข้าไปในพื้นที่เอง แต่จะได้เห็นภาพความประทับใจนี้ไปพร้อมกับเกษตรกรผู้ปลูกผ่านระบบออนไลน์แบบเรียลไทม์
               

     จากจุดเริ่มต้นที่มีเกษตรกรเข้าร่วมเพียง 10 ราย หลังเปิดใช้แพลตฟอร์มในปีแรก พบว่ามีเกษตรกร 1,000 รายที่ทดลองใช้ และคาดว่าจะมีเกษตรกรเข้ามาถึง 1,500 ราย ส่วนยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นมี 2,000 คน ในจำนวนนี้เป็นลูกค้าจริงประมาณครึ่งหนึ่ง และมีแฟนเพจเพิ่มขึ้นราว 15,000 คน


     แม้รายได้ในธุรกิจนี้ไม่ได้หวือหวาเหมือนกับหลายธุรกิจ แต่ความสำเร็จที่มีค่าไปกว่าตัวเงิน ก็คือการได้ทำตามความฝันและความมุ่งมั่นที่เคยมี ได้พิสูจน์ตัวเอง และลงมือทำ  ซึ่งผลของความสำเร็จไม่ได้มีให้แค่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนที่เกี่ยวข้องล้วนมีส่วนร่วมกับความสำเร็จนี้
                 


               
 
Did you know
 
  • อาทิตย์ คือเกษตรกรในวันหยุด วันธรรมดาเขายังคงทำงานประจำด้านการออกแบบ
 
  • อาทิตย์เปิดเพจเฟซบุ๊กแรกเมื่อกว่า 4 ปีก่อน ในชื่อ “บ้านฉันออร์แกนิค”
 
  • การทำแอปพลิเคชั่น การซื้อสื่อโฆษณาทั้งเพื่อโปรโมทเพจและเว็บไซต์ใช้เงินลงทุนสูง เมื่อไม่มีทุนจึงต้องเดินสายประกวดเพื่อหาเงินมาสนับสนุน โดยกว่าสองปีที่ผ่านมาฟาร์มโตะได้รับรางวัลจากการประกวด 8-9 รางวัล
 
  • จุดเริ่มต้น FARMTO มีเกษตรกรเพียง 10 ราย
 
  • กาแฟป่า คือสินค้าขายดีอันดับหนึ่ง รองลงมาได้แก่ ชาป่า น้ำผึ้งป่า อโวคาโด ลูกพลับ โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เข้าร่วมจำหน่ายเกือบ 100 รายการ
 
  • เกษตรกรที่เข้าร่วมเป็นหนึ่งในฟาร์มโตะส่วนใหญ่จะเป็นผู้สานต่อธุรกิจ หรือเป็นคนรุ่นใหม่ที่หันมาทำเกษตร
 
  • กลุ่มเกษตรกรของฟาร์มโตะ หลักๆ อยู่ในภาคเหนือและภาคกลาง
 
  • เกษตรกรที่เข้าร่วมฟาร์มโตะต้องสร้างแบรนด์สินค้า เพราะฟาร์มโตะเชื่อว่าจะนำไปสู่ความยั่งยืนและเพื่อให้เกิดความรู้สึกในการเป็นเจ้าของแบรนด์ไม่ใช่แค่ผู้ปลูก
 
  • กลุ่มผู้บริโภค (ลูกค้า) หลักอยู่ใน กรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่
 
  • รายได้ของฟาร์มโตะส่วนหนึ่งมาจากการประกวด และจากราคาสินค้าที่บวกเพิ่ม 20 เปอร์เซ็นต์
 
  • 3 โครงการของฟาร์มโตะ 1. ขายสินค้าล่วงหน้าเป็นรายปี 2.เป็นมาร์เกตเพลสสั่งสินค้าพร้อมส่งทันที และ 3.ออกแบบโปรแกรมท่องเที่ยว+กิจกรรมร่วมกับชุมชนและเกษตรกร เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการเยี่ยมชมและพักค้าง         
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย