Main Idea
• ผู้ประกอบการ SME ทุกคนต่างมีจุดมุ่งหมายในการทำธุรกิจ แต่ด้วยภาวะการแข่งขันที่สูงมากขึ้น พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผลักดันให้ SME ต้องปรับตัวอยู่เสมอ การแสวงหาความรู้เพื่อนำไปต่อยอดปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น
• แต่ด้วยองค์ความรู้เพียงอย่างเดียว บางครั้งอาจไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการให้กับผู้ประกอบการได้ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้โครงการเสริมศักยภาพนักธุรกิจมือโปร (SCB Intelligent Entrepreneur Program - IEP) โดย SCB SME โครงการที่เน้นต่อยอดองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจในยุคนี้ ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 16 จึงได้เพิ่มพูนรูปแบบการจัดอบรมสัมมนา โดยเน้นเจาะลึกลงรายละเอียดเฉพาะรายอุตสาหกรรมมากขึ้น
• นอกจากจะได้รับเนื้อหาความรู้ที่เข้มข้น ยังสร้างให้เกิดระบบนิเวศน์ทางธุรกิจ ไปจนถึงผลักดันให้เกิดการสร้างเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจที่เข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยกลุ่มอุตสาหกรรมแรกที่ได้จัดอบรมสัมมนา คือ กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการตลาดออนไลน์ และการใช้เครื่องมือ Digital ซึ่งนับเป็นสิ่งจำเป็นและตอบโจทย์การทำธุรกิจของ SME ในยุคนี้
ภายใต้ภาวการณ์แข่งขันที่สูงขึ้น อีกทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอและเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ต่างมองหาวิธีการต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจพร้อมทั้งการปรับตัวอย่างท้าทายและยั่งยืนเพื่อให้ธุรกิจยังคงพร้อมเติบโตได้ในสถานการณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น โครงการอบรมให้ความรู้แก่ SME นับเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพยายามจัดขึ้นมาเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ SME แต่บางครั้งก็อาจยังไม่เพียงพอกับความต้องการ หรือแก้ไขปัญหาให้ได้ไม่ตรงจุด โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมีการแข่งขันค่อนข้างสูง และมีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนกับกลุ่มธุรกิจอื่น
ด้วยเหตุนี้ โครงการเสริมศักยภาพนักธุรกิจมือโปร - SCB IEP (Intelligent Entrepreneur Program) ซึ่งจัดขึ้นโดย SCB SME ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 16 โดยนับเป็นปีแรกที่เปิดหลักสูตรอบรมแบบเจาะจงเป็นรายอุตสาหกรรมสำหรับกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มขึ้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ครอบคลุมในทุก ๆ เรื่องตามที่ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ตั้งจุดมุ่งหมายในการทำธุรกิจไว้ และยังช่วยในการสร้างระบบนิเวศ ผลักดันให้เกิดการสร้างเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นด้วย โดยได้รับความสนใจมีผู้เข้าร่วมอบรมตั้งแต่ผู้ผลิตซึ่งเป็นต้นน้ำเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารรวมถึงผู้นำเข้าส่งออกวัตถุดิบอาหาร ไปจนถึงปลายน้ำอย่างผู้ประกอบการแบบ OEM จนไปถึงร้านอาหารเลยทีเดียว
จุดเด่นของโครงการ นอกเหนือจากการเป็นหลักสูตรเข้มข้นสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มโดยเฉพาะแล้ว ยังมีเนื้อหาซึ่งครอบคลุมการเสริมสร้างศักยภาพในด้านต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญและนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ ช่วยให้ SME กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มสามารถปรับกลยุทธ์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เช่น การลดต้นทุนทางการผลิต การสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ การใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนากลยุทธ์การขาย และการบริหารการตลาดและช่องทางจัดจำหน่าย เป็นต้น ที่สำคัญ SME แต่ละรายจะมีโปรเจกต์เป็นของตนเอง เมื่อจบโครงการอบรมแล้วจะสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ธุรกิจได้จริง ภายใต้การให้คำปรึกษาจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญ (Mentors) จาก SCB SME อย่างใกล้ชิด ตลอดจนที่ปรึกษาด้านการบริหารการเงินจากทางธนาคารอีกด้วย
ทั้งนี้ การใช้เครื่องมือดิจิทัล นับว่ามีความจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ SME ในยุคปัจจุบัน ดังนั้น หนึ่งในเนื้อหาที่สำคัญของโครงการ SCB IEP ก็คือ การตลาดออนไลน์ ซึ่งแม้ว่า SME ส่วนใหญ่จะมุ่งทำการตลาดออนไลน์กันมากขึ้น แต่ก็ดูเหมือนจะยังเข้าไม่ถึง เพราะยังไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เพื่อจะให้การทำการตลาดออนไลน์มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลมากที่สุด
คอนเทนต์ หัวใจสำคัญการตลาดออนไลน์
ดังนั้น ภายใต้โครงการ SCB IEP สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มครั้งนี้ จึงมีวิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมอบรม เพื่อตอบโจทย์ความเป็นผู้ประกอบการ SME ยุคใหม่
อาริยะ คำภิโล เจ้าของร้านและแอดมินเพจ “Jones’ Salad” ผู้ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการสร้างแบรนด์ และเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจจนประสบความสำเร็จ คือ หนึ่งในวิทยากรที่เข้ามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในโครงการ SCB IEP เขากล่าวว่า การทำตลาดออนไลน์นั้นมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้ประกอบธุรกิจในปัจจุบัน แต่ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละรายจะเลือกใช้อย่างไร สำหรับ Jones’ Salad เลือกที่จะสร้างคอนเทนต์ใน 2 รูปแบบ คือ เนื้อหาที่มุ่งเสริมภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ หรือการสร้างแบรนด์ และเนื้อหาที่มุ่งเพิ่มยอดขายโดยเฉพาะ
โดยได้ทำการเผยแพร่เนื้อหาด้านสุขภาพผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ปัจจุบันมียอดผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านบัญชี จนเกิดเป็นชุมชนคนรักสุขภาพบนเพจได้สำเร็จ และยังสามารถสร้างรายได้จากเพจเฟซบุ๊กอีกช่องทางหนึ่งด้วย
“ในการผลิตคอนเทนต์แต่ละชิ้นนั้น เราจะดูก่อนว่าทำเพื่อจุดประสงค์อะไร เพื่อจะเลือกใช้กลยุทธ์การตลาดที่ถูกต้อง เช่น หากเราต้องการเนื้อหาประเภทที่ให้คุณค่า เราไม่จำเป็นต้องซื้อโฆษณาใดๆ ก็ยังได้ยอดกดไลก์และยอดแชร์เป็นจำนวนมาก แต่หากเป็นเนื้อหาที่ต้องการเพิ่มยอดขาย เราอาจจำเป็นต้องซื้อโฆษณา เพื่อต้องการสื่อสารให้กว้างขึ้น แต่เราก็ต้องเลือกสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้องด้วย” ผู้ก่อตั้ง Jones’ Salad แนะนำ
เล็งให้ถูกจุด กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน
ด้าน “อุกฤษฎ์ ตั้งสืบกุล” ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท Minted Images ที่ปรึกษาด้านการตลาดออนไลน์ และยังเป็น Mentor ให้กับโครงการ SCB IEP กล่าวว่า เจ้าของธุรกิจมีความจำเป็นจะต้องเข้าใจถึงวิธีการทำตลาดออนไลน์ด้วยตนเองก่อน จากนั้นจะทำด้วยตนเองหรือจ้างผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยทำการตลาดให้ก็ได้ ซึ่งการตลาดออนไลน์นั้นไม่ได้หมายถึงการขายสินค้าทางออนไลน์ แต่หมายถึงการเข้าถึงกลุ่มคนจำนวนมาก หากสามารถทำได้ถูกต้องก็จะช่วยในการขยายผลให้กับธุรกิจได้อย่างมาก ในทางตรงข้ามหากทำไม่ถูกต้องก็จะไร้ผล เพราะยอดกดไลก์ ยอดแชร์ในปัจจุบันนี้ไม่ได้มีนัยสำคัญต่อการทำการตลาดออนไลน์อีกต่อไป
สำหรับกลยุทธ์การทำตลาดออนไลน์นั้น ต้องเริ่มที่การกำหนดเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน เช่น กำหนดว่าต้องการเพิ่มยอดขายเท่าไหร่ เพื่อจะนำไปสู่การวางกลยุทธ์ที่ถูกต้องและการกำหนดงบประมาณ จากนั้นจึงกำหนดว่า เมื่อไหร่ และอย่างไร เพราะแม้ว่าจะมีเนื้อหาที่ดีอยู่แล้ว แต่การเลือกว่าจะลงในสมรภูมิไหนก็มีความสำคัญมากเช่นกัน
รู้จักสินค้า รู้จักเครื่องมือ มีชัยไปกว่าครึ่ง
ส่วนอีกหนึ่ง Mentor ที่มาร่วมเผยกลยุทธ์การทำตลาดออนไลน์ ได้แก่ บุรินทร์ เกล็ดมณี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด และวิทยากรด้านการตลาดดิจิทัล เว็บไซต์ โฆษณาออนไลน์ กล่าวแนะนำว่า หัวใจสำคัญของการตลาดออนไลน์ คือ การเพิ่มยอดการเข้าถึง (Reach) ซึ่งต้องดูก่อนว่าสินค้านั้นๆ จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าประเภทใด หากอยู่ในกลุ่มสินค้าจำเป็น การใช้เครื่องมือกูเกิลจะมีความเหมาะสมกว่า เพราะคนที่ต้องการซื้อสินค้าอยู่แล้วมักจะใช้กูเกิลในการเซิร์ชหาข้อมูลสินค้านั้นๆ โดยตรงขณะที่เฟซบุ๊ก คือ เครื่องมือที่จะช่วยทำให้เข้าถึงกลุ่มคนได้กว้างและแม่นยำมากขึ้น
“ถัดมา คือ การเปลี่ยนจากยอด Reach ให้เป็นยอดซื้อสินค้า ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าการสร้างแบรนด์ของสินค้านั้นๆ เป็นอย่างไร หากเป็นแบรนด์ที่คนรู้จักและได้รับความเชื่อถืออยู่แล้วโอกาสที่จะเกิดยอดซื้อก็จะมีมากกว่าแบรนด์ที่คนรู้จักน้อยกว่า สุดท้าย คือ การทำให้เกิดยอดซื้อซ้ำ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า หรือ CRM ของตัวผู้ประกอบการเอง” บุรินทร์ กล่าว
และนี่คือ สิ่งที่ SCB IEP นำมาช่วยเติมเต็มให้กับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งนอกจากจะได้รับความรู้เพิ่มเติม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสให้ได้พบปะผู้ประกอบการอื่นๆ ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน เพื่อช่วยเหลือ แลกเปลี่ยน ไปจนถึงอาจนำมาสู่การต่อยอดธุรกิจให้เติบโตได้มากขึ้นด้วย ซึ่งในอนาคตจะแบ่งปันกับกลุ่มธุรกิจอื่นใดอีกบ้างนั้นต้องรอติดตามกันต่อไป โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ scbsme.scb.co.th หรือ SCB SME Community
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี