Moreloop แพลตฟอร์มพลิกโลกธุรกิจสิ่งทอไทย

Text : กองบรรณาธิการ Photo : เจษฎา ยอดสุรางค์




Main Idea
 
  • ในการสั่งผลิตผ้าเพื่อนำมาใช้ในระบบอุตสาหกรรม มักต้องมีการผลิตเผื่อไว้เพื่อกันเสียหรือผ้ามีตำหนิ จึงทำให้มีผ้าที่เกินความจำเป็นจำนวนมากสต็อกไว้ในโกดัง เป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจสิ่งทอไทย ในขณะที่ SME รายเล็กกลับไม่สามารถเข้าถึงผ้าที่มีคุณภาพและหลากหลายเทียบเท่าอุตสาหกรรมใหญ่ได้
 
  • Moreloop จึงเกิดขึ้นโดยเป็นแพลตฟอร์มค้าผ้าออนไลน์ ตัวกลางนำผ้าคุณภาพดีที่เหลือใช้จากฝั่งธุรกิจใหญ่มาจำหน่ายให้แก่ลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ SME ให้เข้าถึงวัตถุดิบผ้าที่หลากหลายในราคาที่เป็นธรรม
 
  • นี่คือแนวคิดและนวัตกรรมที่ไม่จำเป็นต้องสร้างขึ้นมาใหม่ เพียงแต่หยิบเอาสิ่งที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาให้กับธุรกิจเล็ก ธุรกิจใหญ่ และโลกใบนี้ได้พร้อมกัน นั่นเองที่ทำให้ Moreloop คว้ารางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม จาก SME Thailand Inno Awards 2019 มาครอบครองได้สำเร็จ



      ในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปขนาดใหญ่ มักต้องสั่งผลิตผ้าเผื่อใช้เอาไว้ 1-3 เปอร์เซ็นต์เพื่อกันเสียหรือมีตำหนิ นั่นทำให้มีผ้าเหลือใช้เกินความจำเป็นมากมายคงเหลือค้างเป็นสต็อคกองพะเนินในโกดัง รอวันโละล้างสต็อคขายชั่งกิโลเป็นผ้าโหลในราคาเพียงไม่กี่บาท อาจจะไม่เท่ากับต้นทุนที่ซื้อมาด้วยซ้ำ
ในอีกมุมหนึ่ง SME รายเล็กกลับไม่สามารถเข้าถึงผ้าที่มีคุณภาพและหลากหลายเทียบเท่าอุตสาหกรรมใหญ่ เพราะต้องสั่งในปริมาณมากเกินความจำเป็นของธุรกิจ ได้แต่ใช้ผ้าที่มีขายทั่วไปไม่ได้แตกต่างจากคู่แข่ง






     จากการมองเห็นปัญหา 2 มุมของทั้งธุรกิจเล็กและใหญ่ ทำให้ อมรพล หุวะนันทน์ อดีตนักการเงินและนักวิเคราะห์ และ ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ ทายาทโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นผู้ที่มองเห็นปัญหาในโรงงานใหญ่มาจับมือกันสร้างแพลตฟอร์มขายผ้าออนไลน์ www.moreloop.ws ตัวกลางนำผ้าคุณภาพดีที่เหลือใช้จากการผลิตของฝั่งโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและโรงทอผ้ามาจำหน่ายให้แก่ลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ SME
 




      ตัวกลางส่งต่อผ้าจากโรงงานใหญ่ถึงธุรกิจเล็ก


      อมรพลเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ Moreloop ให้ฟังว่า เกิดจากการที่สนใจอยากแก้ปัญหาเกี่ยวกับของเหลือใช้ที่อยู่ในกระบวนการผลิตต่างๆ มาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด


      “ผมเป็นนักการเงินและนักวิเคราะห์มาก่อน จึงทำให้ได้เห็นข้อมูลต่างๆ ว่าแท้จริงแล้วในแต่ละภาคการผลิตล้วนก่อให้เกิดของเหลือขึ้นมากมาย ทั้งของเหลือระหว่างการผลิตและขยะที่เกิดจากการใช้งานบวกกับเคยทำ Startup มาก่อน จึงทำให้รู้วิธีในการแปลงสิ่งของเหล่านั้นให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ”


      Moreloop คิดค้นกระบวนการทำงานเพื่อเป็นตัวกลางนำผ้าส่วนเกินที่เหลือจากฝั่งผู้ผลิตมาส่งต่อให้กับลูกค้ารายย่อยที่ต้องการเข้าถึงผ้าคุณภาพดีในราคาจับต้องได้ โดยเริ่มต้นจากติดต่อโรงงานผู้ผลิตเพื่อรวบรวมสต็อกผ้าที่มี และจัดทำเป็นแคตตาล็อกออนไลน์ (www.moreloop.ws) สามารถซื้อขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ได้นำผ้ามาเก็บไว้กับตัวเอง เพียงนำตัวอย่างออกมาและถ่ายรูป ให้ข้อมูลรายละเอียดของผ้าแต่ละผืน ตั้งราคาที่เป็นธรรม จากนั้นเมื่อมีลูกค้าให้ความสนใจ Moreloop จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานพูดคุยและติดต่อกลับไปยังโรงงานผู้ผลิต เพื่อให้ส่งผ้าออกมาขาย และเป็นผู้จัดส่งให้จนถึงมือลูกค้า ซึ่งนอกจากจะสามารถเข้าถึงแหล่งผ้าคุณภาพดีได้แล้ว สิ่งที่ลูกค้าจะได้รับคือ ข้อมูลคุณสมบัติของผ้าอย่างครบถ้วน ตั้งแต่เส้นใยที่ใช้ ลักษณะการทอที่ใช้เรียกในอุตสาหกรรม ทำให้หากอยากได้ผ้าชนิดเดียวกันอีก ก็สามารถเรียกได้ถูกต้อง



  

      จากการทำงานดังกล่าวประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับ คือ โรงงานผลิตได้ระบายสินค้าออกมาจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม โดยไม่ต้องยุ่งยากกับการขาย ในฝั่งลูกค้าก็สามารถเข้าถึงแหล่งผลิตคุณภาพดีเทียบเท่าแบรนด์ใหญ่ในราคาและปริมาณที่จับต้องได้ ได้เลือกใช้วัตถุดิบที่มีความหลากหลาย และยังได้รับข้อมูลรายละเอียดของผ้าอย่างครบถ้วน ซึ่งไม่สามารถหาได้จากตลาดผ้าทั่วไป เช่น เส้นด้ายที่ใช้ ลักษณะการทอ เพื่อนำไปใช้ต่อยอดในอนาคตได้
 




      ผลักดันแนวคิดให้เป็นจริงได้ด้วยนวัตกรรม
               

      Moreloop นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอแล้ว ทั้งคู่กล่าวว่าการหมุนเวียนทรัพยากรให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งหนึ่ง ยังเป็นการช่วยลดการผลิต ทดแทนการสร้างวัตถุดิบใหม่ ที่ต้องใช้ทรัพยากรและพลังงานจำนวนมาก รวมถึงยังเป็นการช่วยลดสารเคมีอีกมากมายที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อโลกด้วย
               

      “ในวงจร (Loop) ของธรรมชาติไม่เคยมีของเหลือ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนส่งต่อประโยชน์ให้กับผู้หนึ่งไปยังอีกผู้หนึ่งเสมอ สิ่งที่  Moreloop พยายามทำคือ การเลียนแบบธรรมชาติ คือนำของเหลือที่ยังใช้ประโยชน์ได้ ให้ถูกนำกลับขึ้นมาใช้งานอีกครั้ง เพราะทุกวันนี้ทุกอย่างถูกผลิตเป็นเส้นตรง ไม่มีการย้อนกลับ เราถูกสอนให้ซื้อ แล้วก็ทิ้งจนดูเป็นเรื่องปกติธรรมดา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีของเหลือเกิดขึ้นมากมาย โดยหากเราสามารถที่จะบริหารจัดการทรัพยากรเหล่านั้นได้ โอกาสทางธุรกิจ โอกาสในการเติมคุณค่าให้กับเศรษฐกิจก็มีค่อนข้างสูง” อมรพลบอกเล่าถึงการนำแนวคิดแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้สร้างธุรกิจใหม่





      สิ่งที่ Moreloop ทำ สะท้อนให้เห็นว่าการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่จำเป็นต้องผลิตออกมาเป็นสิ่งของเพียงอย่างเดียว แต่การสร้างกระบวนการที่ดี โดยหยิบเอาปัญหาที่เกิดขึ้นและนำมาแก้ไขให้เกิดเป็นรูปธรรม นำสิ่งของมีค่าที่อีกคนไม่ใช้มาส่งต่อให้อีกคนได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ขณะเดียวกันก็ส่งผลตอบแทนกลับไปสู่ต้นทางให้ได้ประโยชน์ด้วย จึงนับเป็นการแก้ไขปัญหาที่ได้ด้วยกันทุกฝ่าย ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ตัวธุรกิจเองก็เข้มแข็งเติบโตต่อไปได้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันช่องทางการหารายได้ของ Moreloop ไม่ได้มีแค่ตลาดค้าผ้าออนไลน์เพียงอย่างเดียว แต่ยังแตกไลน์มารับผลิตสินค้าให้กับลูกค้าโดยใช้วัตถุดิบผ้าจาก Moreloop รวมถึงผลิตสินค้าสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์ Moreloop ออกมาจำหน่ายเวลาไปออกบูธในอีเวนต์ต่างๆ เพื่อช่วยในการสื่อสารถึงธุรกิจของพวกเขา
 
               
      Moreloop เริ่มต้นธุรกิจโดยไม่ได้มีเงินทุนมากมาย แต่เกิดจากแนวคิดและนวัตกรรมที่ไม่จำเป็นต้องสร้างขึ้นมาใหม่ เพียงแต่หยิบเอาสิ่งที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
               




      “หากไม่มีนวัตกรรมเหล่านี้ ทุกวันนี้เราอาจต้องเช่าโกดังเก็บผ้า ลงทุนเปิดหน้าร้านอยู่ทั่วประเทศ แทนการเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้นมา ซึ่งไม่สามารถเป็นไปได้เลยสำหรับ SME รายเล็กๆ ที่ต้องใช้เงินทุนสูงขนาดนั้น แต่ในวันนี้ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับใครที่คิดอยากลองสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา”
               



      สิ่งที่พวกเขาคิดเป็นรูปแบบธุรกิจที่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้กลายเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ตั้งแต่โรงงานผู้ผลิต ลูกค้าไปจนถึงสิ่งแวดล้อมของโลก ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่จะทำให้ Moreloop ได้รับรางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม จาก SME Thailand Inno Awards 2019 มาครอบครอง
 
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 


 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย